สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 28 ก.พ. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 28 ก.พ. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,236 view

๑. ผลกระทบจาก Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ ไอร์แลนด์เหนือ ความน่าสนใจในการลงทุนในไอร์แลนด์เหนือมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องหลัง Brexit จากผลของพิธีสารไอร์แลนด์เหนือที่ทำให้ไอร์แลนด์เหนือสามารถเป็นจุดติดต่อทางธุรกิจได้ทั้งกับไอร์แลนด์ (รวมถึง EU) และ สอ. (เกาะบริเตนใหญ่) ล่าสุด . KPMG เตรียมลงทุนสร้าง “centre of excellence” มูลค่า ๑๔ ล้านปอนด์ในเมือง Belfast ของไอร์แลนด์เหนือเพื่อเป็นจุดให้บริการด้านดิจิทัล และ cyber security แก่ลูกค้าใน สอ. และไอร์แลนด์เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสการเป็นแหล่งที่ตั้งทางธุรกิจที่สำคัญหลัง Brexit และจะจัดตั้งโครงการ Assured Skills Training Programme ร่วมกับวิทยาลัย Belfast Met เพื่อฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้แก่นักศึกษาจบใหม่ในช่วงสามปีข้างหน้านี้ โดยคาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มทั้งหมดจำนวน ๒๐๐ ตำแหน่ง ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมทักษะดังกล่าวได้รับการสนับสนุน งปม. จาก รบ. แคว้นไอร์แลนด์เหนือจำนวน ๑.๓ ล้านปอนด์ในระยะเวลา ๓ ปี และจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในไอร์แลนด์เหนือ (Invest NI) จำนวน ๑ ล้านปอนด์เพื่อเป็นการปรับทักษะแรงงานในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทด้าน IT และโปรแกรมซอฟท์แวร์ใน สอ. ที่ขยายการลงทุนเพิ่มเติมในไอร์แลนด์เหนือด้วย เช่น Anaeko และ Elemental Software โดยได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงาน Invest NI [1]
    ๑.๒ การเงิน . Bovill ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทาง กม. ด้านการเงินใน สอ. รายงานว่า บริษัท/สถาบันการเงินของ EU จำนวนเกือบ ๑,๕๐๐ ราย ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการใน สอ. หลัง Brexit ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่วางแผนเปิด สนง. แห่งแรกใน สอ. ประมาณ ๑,๐๐๐ ราย โดยมีบริษัทจากไอร์แลนด์มากที่สุด (๒๓๐ ราย) ตามด้วยฝรั่งเศส (๑๘๖ ราย) และเยอรมนี (๑๖๘ ราย) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขดังกล่าวสะท้อนการคงความสำคัญของกรุงลอนดอนในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกหลัง Brexit และตอกย้ำความจำเป็นที่ สอ. กับ EU ต้องหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับการยอมรับกฎระเบียบ (regulatory equivalence) ด้านการบริการทางการเงินระหว่างกันเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่ายและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
          อย่างไรก็ดี นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England – BoE)ให้ความเห็นว่า แนวโน้มที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันได้มีไม่มากเนื่องจาก สอ. ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงกฎการควบคุมเงินทุนสำรองในสถาบันการเงินของฝ่าย EU ที่อนุญาตให้สถาบันการเงินคำนวนเงินลงทุนในระบบ IT หรือ Software ต่าง ๆ (software assets) เป็นมูลค่าทรัพย์สินที่รองรับการขาดทุนได้ (loss-absorbent capital) [2] ซึ่ง BoE มองว่า จะทำให้มีความอ่อนไหวเพิ่มขึ้นต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีกำหนดเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการยอมรับกฎระเบียบระหว่างกันภายในเดือน มี.ค. ๖๔ หากไม่สำเร็จ BoE เตรียมเสนอแผนการใช้กฎระเบียบการควบคุมเงินทุนสำรองของสถาบันการเงินใน สอ. ที่แตกต่างจากแนวทางของ EU กล่าวคือ จะไม่อนุญาตให้นำ software assets มาใช้คำนวณเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่รองรับการขาดทุนได้ โดย BoE เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินใน สอ. เสียเปรียบคู่แข่งใน EU ในด้านขีดความสามารถในการลงทุนและโอกาสในการทำกำไรในระดับหนึ่งในระยะสั้นแต่จะช่วยรักษาเสถียรภาพ (prudent) ระบบการเงินของ สอ. ภาพรวมในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังจะฟื้นฟู ศก. สอ. หลังวิกฤต

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ อสังหาริมทรัพย์ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) รายงานว่า ราคาบ้านพักอาศัย (เป็นหลัง) ใน สอ. ในปี ๖๓ ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ในอัตราร้อยละ ๘.๕ ทำให้ราคาโดยเฉลี่ยในเดือน ธ.ค. ๖๓ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ ๒๕๒,๐๐๐ ปอนด์ โดยมีปัจจัยจากนโยบายการยกเลิกภาษี Stamp Duty ชั่วคราว (ที่เดิมจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. ศกนี้ แต่ขยายเวลาออกไปอีกจนถึงเดือน มิ.ย. ๖๔ เพื่อช่วยกระตุ้น ศก. สอ.) และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่ำ ทำให้ปริมาณการซื้อขายบ้านเพิ่มขึ้นมากในปีที่แล้ว นอกจากนี้ผลของวิกฤตโควิดและการล็อกดาวน์ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ ปชช. จำนวนมากต้องการบ้านที่มีพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากราคาบ้านเดี่ยว (detached house) ที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย (ประมาณร้อยละ ๑๐) ในขณะที่ราคาบ้านแบบ flat และ maisonette ปรับตัวขึ้นไม่เกินร้อยละ ๕ ทั้งนี้ ราคาบ้านในเวลส์ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในอัตราร้อยละ ๑๐.๗ (ราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๘๔,๐๐๐ ปอนด์) อังกฤษร้อยละ ๘.๕ (๒๖๙,๐๐๐ ปอนด์) สกอตแลนด์ร้อยละ ๘.๔ (๑๖๓,๐๐๐ ปอนด์) และไอร์แลนด์เหนือร้อยละ ๕.๓ (๑๔๘,๐๐๐ ปอนด์) สำหรับกรุงลอนดอนราคาบ้านปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ ๓.๕
    ๒.๒ ธนาคาร . HSBC ย้ายเป้าหมายทางการตลาดและการลงทุนไปยังเอเชีย โดยเฉพาะในฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดที่สร้างผลกำไรส่วนใหญ่ให้แก่ธนาคาร และวางแผนขายกิจการในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และฝรั่งเศสในอนาคตเพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ของตลาดในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ล่าสุด HSBC ได้ประกาศแผนลดพื้นที่ สนง. ทั่วโลกในอัตราเกือบร้อยละ ๔๐ ภายใน ๓ ปีนี้เพื่อลดต้นทุนหลังมีผลกำไรน้อยลงกว่าร้อยละ ๓๔ (ยังไม่ขาดทุน) ในปี ๒๕๖๓ โดยมีนโยบายให้ พนง. บางส่วนทำงานที่บ้านต่อไปได้และคาดว่าจะมีการเลิกจ้าง พนง. เพิ่มเติมอีกในปีนี้ (ในปี ๒๕๖๓ HSBC ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวนไม่เกิน ๓๕,๐๐๐ ตำแหน่งภายใน ๓ ปี และขณะนี้ได้ดำเนินการเลิกจ้าง พนง. แล้วจำนวน ๑๑,๐๐๐ ตำแหน่ง) ทั้งนี้ HSBC มีกิจการใน สอ. ทั้งหมดจำนวน ๖๖ แห่ง โดยนาย Noel Quinn หน. ฝ่ายบริหารของ HSBC ให้ข้อมูลว่า บริษัทไม่มีแผนปิดหรือลดพื้นที่ สนง. ใหญ่ของ HSBC ในเขต Canary Wharf ของกรุงลอนดอน แต่คาดว่าจะปิด สนง. ย่อยแห่งอื่นในกรุงลอนดอนแทน
    ๒.๓ การบิน . Heathrow รายงานว่า ปัจจัยจากวิกฤตโควิดทำให้สนามบิน Heathrow ขาดทุนในปี ๒๕๖๓ เป็นจำนวน ๒ พันล้านปอนด์ โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการลดลงถึงร้อยละ ๗๓ และมีปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงร้อยละ ๒๘ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นาย John Holland-Kaye หน. ฝ่ายบริหารของสนามบิน Heathrow ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้โดยสังเกตได้จากรายงานของบริษัทท่องเที่ยวและสายการบิน ได้แก่ EasyJet, Ryanair, Tui และ Thomas Cook ว่าปริมาณการซื้อบัตรเครื่องบินโดยสารและโรงแรมที่พักโดยเฉพาะในสเปนและกรีซเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่ รบ. สอ. ประกาศแผนผ่อนคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ ๒๒ ก.พ. ๖๔ โดยคาดว่าจะอนุญาตให้ ปชช. สามารถเดินทางไปท่องเที่ยว ตปท. ได้ในเดือน มิ.ย. ๖๔ เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี Heathrow คาดการณ์ว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๓ ปี (๒๕๖๗) กว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด จึงมีข้อเรียกร้องให้ รบ. สอ. พิจารณาขยายมาตรการช่วยเหลือทางภาษีธุรกิจ(business rates relief) ให้ครอบคลุมธุรกิจสนามบินขนาดใหญ่ในแผน งปม. ปี ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ด้วย (ปัจจุบันสนามบิน Heathrow ได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการ Furlough Scheme ของ รบ. สอ. แต่ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการด้านภาษีธุรกิจ)
     ๒.๔ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Asda ประกาศแผนฟื้นฟูโครงสร้างธุรกิจโดยคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ้าง พนง. ประมาณ ๕,๐๐๐ ตำแหน่งทั้งในส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ตและ สนง. ใหญ่ ในขณะเดียวกัน Asda มีแผนจ้าง พนง. ระดับปฏิบัติเพิ่มจำนวน ๔,๕๐๐ ตำแหน่ง เช่น พนง. ขับรถจัดส่งสินค้า และ พนง. จัดสินค้าตามรายการสั่งซื้อ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจทางออนไลน์ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งนี้ นาย Roger Burnley หน. ฝ่ายบริหารของ Asda มีความเห็นว่า ปัจจัยจากวิกฤตโควิดทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นแต่เป็นช่องทางการจำหน่ายที่ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการจำหน่ายบนชั้นวางเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและจัดส่งสูงกว่า อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ จะใช้วิธีการแข่งขันกันด้านราคามากขึ้นเพื่อแย่งชิงลูกค้า จึงอาจทำให้ธุรกิจค้าปลีกใน สอ. เติบโตได้ไม่มากดังที่หลายฝ่ายประเมิน ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) พบว่า ยอดขายในภาคค้าปลีกในเดือน ม.ค. ๖๔ ลดลงร้อยละ ๘.๒ เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. ๖๓ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ภาคค้าปลีกหดตัวลงในเดือนแรกของปีโดยเป็นผลจากการล็อกดาวน์ตลอดทั้งเดือน ม.ค. ๖๔ [3]

๓. ด้านนโยบายของ รบ. สอ.
    ๓.๑ เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ. ๖๔ UK Export Finance (UKEF) เปิดตัวโครงการ Standard Buyer Loan Guarantee (SBLG) [4] ซึ่งเป็นโครงการให้สินเชื่อใหม่เพื่อช่วยผู้ประกอบการต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดสามารถซื้อสินค้าส่งออกของ สอ. ได้ต่อไป โดย รบ. สอ. จะค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บริษัทที่ต้องการนำเข้าสินค้าและบริการของ สอ. ในวงเงินไม่เกินร้อยละ ๘๕ ของมูลค่าสัญญาการซื้อขาย หรือไม่เกินมูลค่า ๓๐ ล้านปอนด์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจส่งออกของ สอ. หลัง Brexit และเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายย่อยของ สอ. ด้วยโดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสถานะของ สอ. ในการเป็น ๑ ใน ๕ ปท. ที่มีการส่งออกมากที่สุดในโลกเอาไว้ ตลอดจนสนับสนุนการจ้างงานเพิ่มเติมใน สอ. ด้วย
    ๓.๒ นาง Liz Truss รมว. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT) กล่าวสุนทรพจน์ใน กปช. National Farmers Union (NFU) Conference ทางออนไลน์เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ. ๖๔ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ผลิตอาหารและปศุสัตว์ของ สอ. ขยายการส่งออกหลัง Brexit ไปยัง ปท. Non-EU ให้มากขึ้นโดยเฉพาะตลาดในสหรัฐฯ และเอเชีย โดยประเมินว่าผู้บริโภคที่มีรายได้ขนาดกลางในเอเชียจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๖๖ ของโลกภายในช่วงสิบปีข้างหน้านี้ โดย รบ. สอ. มีนโยบายส่งเสริมให้ สอ. เป็น ปท. ผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรแนวหน้าในโลกและพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นผ่านโครงการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เรียกว่า “Open Doors” โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง รบ. สอ. กับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ สอ. ตั้งแต่การให้คำปรึกษาในการกระบวนการผลิต การกู้ยืมเงินเพื่อปรับปรุงมาตรฐานจากกองทุนของ  UKEF และการชี้ช่องตลาดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและปรับโครงสร้าง ศก. สอ. ในระยะยาว [5]

๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๔.๑ ค่าครองชีพใน สอ. มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ โดย ONS รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index – CPI) ของ สอ. ในรอบ ๑๒ เดือน (ม.ค. ๖๓ - ม.ค. ๖๔) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๗ [6] โดยมีปัจจัยจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหาร เฟอร์นิเจอร์-อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และค่าขนส่ง รวมทั้งแนวโน้มที่ต้นทุนในภาค Hospitality จะสูงขึ้นหลังการล็อกดาวน์ เป็นต้น ในขณะที่ BoE ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของ สอ. ในปีนี้มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงเกินกว่าร้อยละ ๒ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์จาก บ. JP Morgan Asset Management ที่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวสูงเกินกว่าร้อยละ ๒ ภายในสิ้นปีนี้เนื่องจากแผนปรับขึ้นเพดานราคาพลังงานในครัวเรือนจะมีผลในเดือน เม.ย. ศกนี้ กอปรกับมาตรการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวและ Hospitality กำลังจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. ๖๔ ซึ่งจะทำให้ค่าบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในที่สุด
    ๔.๒ ข้อมูลจาก กค. สอ. (HM Treasury) ระบุว่า จำนวน พนง. ที่ได้ขอรับเงินช่วยเหลือค่าจ้างภายใต้โครงการ Furlough Scheme ของ รบ. สอ. จนถึงเดือน ม.ค. ๖๔ มีทั้งหมดประมาณ ๔.๗ ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ ๑๖ ของแรงงานทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ๖๓ มากกว่า ๗๐๐,๐๐๐ คน โดยคาดว่าเป็นผลจากปัจจัยการล็อกดาวน์รอบที่สามในเดือน ม.ค. ๖๔ โดยในจำนวนนี้มี พนง. ของภาคธุรกิจ Hospitality ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจำนวน ๑.๑๕ ล้านคน ทั้งนี้ ข้อมูลของ Office for Budget Responsibility (OBR) [7] ระบุว่า ในปี ๒๕๖๓ จนถึงกลางเดือน ก.พ. ๖๔ รบ. สอ. ได้ใช้ งปม. ช่วยเหลือค่าจ้างแล้วทั้งหมดประมาณ ๕.๓ หมื่นล้านปอนด์ และคาดว่าในปีนี้จะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสะสมประมาณ ๓.๕๕ แสนล้านปอนด์ (หรือประมาณร้อยละ ๑๗ ของรายได้ ปท.) ซึ่งสูงสุดใน ปวศ. ของช่วงภาวะที่ไม่มีสงคราม จึงประเมินได้ว่า รบ. สอ. ไม่มีทางเลือกมากนักและจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บภาษีเงินได้ แม้จะขัดกับนโยบายของพรรคอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐในระยะต่อไปหลัง ศก. ฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่งแล้ว
          อนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ มี.ค. ๖๔ นาย Rishi Sunak รมว. กค. ได้แถลงแผน งปม. ประจำปี (Budget Statement) ต่อรัฐสภา สอ. ซึ่งในภาพรวมได้มีการประกาศขยายมาตรการช่วยเหลือการจ้างงานและภาคธุรกิจเช่นเดิมต่อไปอีกจนถึงเดือน ก.ย. ๖๔ ซึ่งจะต้องใช้การกู้ยืมเงินเพิ่มเติมอีกกว่า ๒.๓๔ แสนล้านปอนด์จนถึงปีหน้า ในขณะเดียวกัน กค. สอ. ได้ประกาศแผนเพิ่มอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทขนาดใหญ่ในอีก ๒ ปีข้างหน้า (ปรับขึ้นเป็นร้อยละ ๒๕ จากร้อยละ ๑๙ ของกำไรในปี ๒๕๖๖ เป็นต้นไป) โดยไม่ปรับอัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเพื่อปรับสมดุลระดับหนี้สาธารณะและฟื้นฟูความเข้มแข็งทางการคลังของ สอ. ด้วยแล้ว

. นัยสำคัญต่อไทย
    - หลังจากที่ สอ. ใช้อัตราภาษีนำเข้าแบบใหม่ภายใต้นโยบาย UK Global Tariff – UKGT) สำหรับ ปท. คู่ค้าที่ สอ. ยังไม่มี คตล. การค้าด้วยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลังออกจาก EU สคต. ณ กรุงลอนดอน ได้ทำการประเมินผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย พบว่า นโยบายของ UKGT มีส่วนช่วยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ามากถึงร้อยละ ๖๐ ของรายการสินค้าที่ สอ. นำเข้าทั้งหมด และสำหรับสินค้าที่ยังมีภาษีนำเข้า มีอัตราภาษีต่ำลงเมื่อเทียบกับอัตราที่ EU เรียกเก็บ (เนื่องจากใช้สกุลเงินปอนด์ในการคำนวณและการปัดเศษทศนิยมลง) ซึ่งข้อดีดังกล่าวส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยที่นำเข้ามายัง สอ. จำนวน ๒๔ รายการ (จากสินค้านำเข้าจากไทย ๕๐ ลำดับแรก) เช่น เครื่องปรับอากาศ ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชื้นส่วนเครื่องจักร และเครื่องประดับทำจากเงิน เป็นต้น ได้รับประโยชน์จากการมีต้นทุนการนำเข้ามายัง สอ. ที่ถูกลง รวมถึงสินค้าประเภทอาหารและเครื่องปรุง ดังนั้น การปรับอัตราภาษีดังกล่าวจึงเอื้อต่อธุรกิจอาหารไทยใน สอ. ด้วยถึงแม้ว่า สอ. จะยังคงอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ไว้คงเดิมที่ร้อยละ ๑๐ และร้อยละ ๖ ตามลำดับเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศไว้ แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยมายัง สอ. ดังมีรายละเอียดปรากฏตามรายงานของ สคต.ฯ ที่แนบมาพร้อมนี้

 

[1] https://www.investni.com/media-centre/news
[2] https://www.ft.com/content/e8186e08-0f1c-4d03-b630-21bf1a3cc9ba
[3] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/january2021
[4] https://www.gov.uk/government/news/ukef-overhauls-buyer-finance-support-to-boost-sme-exports
[5] https://www.gov.uk/government/speeches/secretary-of-state-for-international-trade-nfu-conference-speech
[6] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/january2021
[7] https://obr.uk/efo/economic-and-fiscal-outlook-march-2021/