สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ก.พ. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ก.พ. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,403 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ การนำเข้าส่งออก Road Haulage Association (RHA) ให้ข้อมูลว่า ปริมาณสินค้าส่งออกจากท่าเรือ สอ. ไปยัง EU ในช่วงเดือน ม.ค. ๖๔ มีจำนวนลดลงมากถึงร้อยละ ๖๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยจากความล่าช้าในกระบวนการผ่านแดนระหว่าง สอ. กับ EU ส่งผลให้สินค้าจาก สอ. บางรายการในร้านค้าของ EU ขาดแคลน รวมถึงบริษัท สอ. บางรายได้ยกเลิกการส่งออกสินค้าไป EU ชั่วคราวหรือถาวรด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รบ. สอ. มีนโยบายอะลุ่มอล่วยให้มีการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จาก EU ได้ตามปกติจนถึงวันที่ ๓๑ มี.ค. ๖๔ (grace period) ผลกระทบส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจึงตกอยู่ในภาคการส่งออกของ สอ. เป็นหลักเนื่องจากฝ่าย EU ไม่มีนโยบายต่างตอบแทนในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ดี รบ. สอ. กำลังจะเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ในการนำเข้าสินค้าจาก EU รอบแรกในเดือน เม.ย. ๖๔ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์และพืชต่าง ๆ และรอบที่สองในเดือน ก.ค. ๖๔ สำหรับรายการสินค้าที่เหลือเกือบทุกรายการ ซึ่ง RHA คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงซ้ำเติมให้แก่ภาคธุรกิจของ สอ. โดยผู้บริโภคอาจต้องรับภาระจากต้นทุนของสินค้าที่เพิ่มขึ้นในที่สุด จึงได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. ทบทวนนโยบายการขยาย grace period ไปจนถึงสิ้นปีนี้ (ธ.ค. ๖๔) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมพร้อมมากขึ้นและเพิ่มจำนวน จนท. ให้คำปรึกษากับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพิธีการศุลกากรใหม่โดยเร็ว ทั้งนี้ นาย Dominic Raab รมว. กต. สอ. มีความเห็นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวว่า เป็นเพียงความตะกุกตะกักระยะสั้นส่วนหนึ่งซึ่ง รบ. ได้พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อพิจารณาผลของ Brexit ในภาพกว้าง สอ. ถือว่ามีสถานะและจุดยืนที่เข้มแข็งกว่าเดิมในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทาง ศก. ได้ทั่วโลก หากจะประเมินผลกระทบของ Brexit ต่อ สอ. อย่างสมดุลต้องใช้การศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวมในรอบ ๑๐ ปีจากนี้จึงจะเหมาะสมกว่าการดูปัญหาระยะสั้นเป็นจุด ๆ[1]
    ๑.๒ ไอร์แลนด์เหนือ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏข่าวว่า รบ. สอ. ร่วมกับนาง Arlene Foster ผู้นำ รบ. แคว้นไอร์แลนด์เหนือและ หน. พรรค DUP ได้พยายามเจรจาหารือกับ EU เพื่อขอขยายช่วง grace period ในการบังคับใช้มาตรการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจาก สอ. (อังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์) ไปยังไอร์แลนด์เหนือ ณ ท่าเรือของไอร์แลนด์เหนือ จาก ๓ - ๖ เดือน เป็น ๒ ปี เพื่อลดผลกระทบต่อกระบวนการนำเข้าสินค้าจาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไอร์แลนด์เหนือประสบปัญหาการขาดแคลนสินค้าอาหารสดจาก สอ. หลายรายการในขณะนี้ นอกจากนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ข่มขู่ จนท. ประจำจุดตรวจสินค้าของ EU ในไอร์แลนด์เหนือเนื่องจากไม่พอใจที่มีการตั้งจุดตรวจสินค้าจนฝ่าย EU ต้องประกาศปิดจุดตรวจชั่วคราวในช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาด้วย ทั้งนี้ การตั้งจุดตรวจสินค้าระหว่าง สอ. และไอร์แลนด์เหนือถือเป็นการดำเนินการตามข้อกำหนดในพิธีสารไอร์แลนด์เหนือภายใต้ คตล. UK-EU Withdrawal Agreement ที่มีผลให้ไอร์แลนด์เหนือยังคงอยู่ใน EU Single Market เฉพาะด้านสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งด่านตรวจสินค้าที่พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งล่าสุดฝ่าย EU ยังไม่มีท่าทีต่อเรื่องดังกล่าว
         ในขณะเดียวกันนาย Kevin Holland หน. ฝ่ายบริหารของ Invest NI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการส่งออกและส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในไอร์แลนด์เหนือเปิดเผยว่า ข้อกำหนดดังกล่าวในพิธีสารไอร์แลนด์เหนือเสมือนเป็นการให้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดของทั้ง สอ. และ EU Single Market (dual market access) หากเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้แก่ไอร์แลนด์เหนือโดยปริยาย โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายบริษัทจากนิวซีแลนด์ สหรัฐฯ สอ. (อังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์) และ ปท. EU แสดงความสนใจในการเข้ามาทำธุรกิจในไอร์แลนด์เหนือจำนวนมาก
    ๑.๓ การเงิน นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารกลาง สอ. (Bank of England – BoE) แสดงความกังวลว่า EU อาจกำลังพยายามตัด สอ. ออกจากการเข้าถึงตลาดการเงินใน EU เนื่องจากทั้งสองฝ่ายซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาการยอมรับกฎระเบียบการเงิน (equivalence) ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้แม้ว่าใกล้จะครบกำหนดเวลาการเจรจาในเดือน มี.ค. ๖๔ แล้วก็ตาม ทั้งนี้ ภาคการเงินไม่ได้เป็นสาขาความร่วมมือที่ครอบคลุมใน คตล. การค้า สอ. – EU ที่มีผลกำหนด คสพ. ทาง ศก. ระหว่าง สอ. กับ EU หลัง Brexit ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ โดยภาคการเงินคิดเป็นร้อยละ ๗ ของ GDP ของ สอ. และกว่าร้อยละ ๔๐ เป็นธุรกรรมการเงินและการลงทุน รปท. ของ สอ. ใน EU ในขณะที่ข้อมูลจาก CBOE Europe[2] รายงานว่า กรุงลอนดอนได้สูญเสียตำแหน่งศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ (share trading) ที่ใหญ่ที่สุดของ EU ให้แก่กรุงอัมสเตอร์ดัมในเดือน ม.ค. ๖๔ โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ของเนเธอร์แลนด์ (Euronext Amsterdam) โดยเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่า ๘ พันล้านปอนด์ต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่าจากเดือน ธ.ค. ๖๓ และมีสัดส่วนตลาดมากเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ ๑๘.๕) ในขณะที่การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของ สอ. (London Stock Exchange) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่มูลค่า ๗.๕ พันล้านปอนด์ต่อวัน (มีสัดส่วนตลาดร้อยละ ๑๗.๖) อย่างไรก็ดี นาย Bailey ให้ข้อมูลว่าในช่วงปีที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ย้ายตำแหน่ง พนง. ออกจากจากกรุงลอนดอนเพียง ๗,๐๐๐ ตำแหน่งไปยังเมืองหลวงต่าง ๆ ของ EU ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่จำนวน ๕๐,๐๐๐ ตำแหน่ง และเชื่อว่ากรุงลอนดอนจะสามารถคงสถานะหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ ของโลกไว้ได้ต่อไปในระยะยาว

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ การค้าปลีก บ. Asos ได้ทำข้อตกลงมูลค่า ๒๙๕ ล้านปอนด์เพื่อซื้อกิจการ Topshop, Topman, Miss Selfridge และ HIIT (ซื้อเฉพาะแบรนด์ไม่รวมร้านค้า) ซึ่งเป็นยี่ห้อหลักของ บ. Arcadia โดย Asos มองว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะช่วยเร่งให้ Asos กลายเป็นศูนย์กลางสินค้าแฟชั่นอันดับหนึ่งสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ ๒๐ - ๒๙ ปีทั่วโลก ล่าสุด บ. Boohoo ได้ทำข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการยี่ห้อ Dorothy Perkins, Wallis และ Burton ของ บ. Arcadia ในมูลค่า ๒๕.๒ ล้านปอนด์ด้วยแล้ว ทั้งนี้ การซื้อกิจการข้างต้นที่ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า แนวโน้มตลาดแฟชั่นของ สอ. จะอยู่ในช่องทางออนไลน์มากขึ้นและการเปิดร้านค้าจะมีจำกัดจากผลกระทบของวิกฤตทางด้านโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีก อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวด้วยว่า รบ. สอ. อาจพิจารณาเรียกเก็บภาษีจากการขายสินค้าออนไลน์ (online sales tax) เพิ่มขึ้นเพื่อเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นในระยะต่อไปและเพื่อให้ภาคค้าปลีกแบบเดิมยังสามารถแข่งขันได้ ทำให้มูลค่าหุ้นของ บ. Boohoo ปรับตัวลดลงร้อยละ ๓.๙ ในขณะที่มูลค่าหุ้นของ บ.Asos ปรับตัวลดลงร้อยละ ๒.๙
    ๒.๒ อุตสาหกรรมรถยนต์ ปัจจัยจากการล็อกดาวน์ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ของ สอ. ในเดือน ม.ค. ๖๔ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๔๐ ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ โดยสมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ของ สอ. (Society of Motor Manufacturers and Traders – SMMT) รายงานว่า จำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. ๖๔ มีเพียง ๙๐,๐๐๐ คัน (เทียบกับจำนวน ๑๔๙,๐๐๐ คัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวน ๖,๒๐๐ คัน และรถยนต์ hybrid จำนวน ๖,๑๐๐ คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ๖๓ ร้อยละ ๕๐ และร้อยละ ๓๓ ตามลำดับ ทั้งนี้ SMMT มีความเห็นว่า หาก รบ. สอ. ขยายระยะเวลาการล็อกดาวน์ออกไปเกินกว่าต้นเดือน มี.ค. จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เนื่องจากเดือน มี.ค. เป็นเดือนที่มีการซื้อขายรถสูงที่สุดในรอบปี โดยมียอดขายโดยเฉลี่ยคิดเป็น ๑ ใน ๕ ของยอดขายทั้งปี ล่าสุด SMMT ได้ปรับการคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในปีนี้ลงมาอยู่ที่จำนวนต่ำกว่า ๑.๙ ล้านคัน (จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่จำนวน ๒ ล้านคัน)

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๓.๑ เมื่อวันที่ ๘ ก.พ. ๖๔ กค. สอ. ประกาศขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ภายใต้นโยบาย Pay as You Grow (PAYG) จาก ๑๒ เดือนเป็น ๑๘ เดือน โดยผู้ประกอบการสามารถขอชำระเงินงวดแรกหลังจากวันที่กู้ยืมแล้ว ๑๘ เดือน นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้จาก ๖ ปีเป็น ๑๐ ปี โดยผู้ประกอบการยังสามารถผ่อนชำระดอกเบี้ยอย่างเดียวได้เป็นเวลา ๖ เดือนด้วย ทั้งนี้ นาย Rishi Sunak รมว. กค. สอ. ได้กล่าวว่า รบ. สอ. มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจของ สอ. ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ เป็นหลักต่อไป โดยหวังว่ามาตรการผ่อนคลายการชำระหนี้ข้างต้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวขึ้นได้ในครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ กค. สอ. ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนกว่า ๑.๔ ล้านรายที่กู้ยืมเงินรวมแล้วเกือบ ๔.๕ หมื่นล้านปอนด์จากโครงการ Bounce Back Loan Scheme ของ รบ. สอ. อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจ Hospitality ใน สอ. ยังมองว่า มาตรการช่วยเหลือของ รบ. สอ. ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอซึ่งหลายรายได้ปิดตัวถาวรไปแล้วเนื่องจากภาคธุรกิจ Hospitality ได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีแนวโน้มต้องปิดตัวในระยะยาวกว่าภาคส่วนอื่น ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการ UK Hospitality จะติดตามการประกาศแผน งปม. ของ รบ. สอ. ครั้งถัดไปในเดือน มี.ค. ๖๔ ก่อนจะมีข้อเรียกร้องในรายละเอียดต่อไป
    ๓.๒ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ล่าสุด เมื่อวันที่ ๔ ก.พ. ๖๔ มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้และการเตรียมความพร้อมด้านระบบปฏิบัติการ (operational readiness) ของสถาบันการเงิน (สง.) เพื่อรองรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้น ศก. และสนับสนุนนโยบายกู้ยืมเงินของ รบ. สอ. ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งก่อนหน้านี้ BoE ได้ส่งแบบสำรวจความพร้อมให้แก่ สง. ภายใต้การกำกับดูแลเมื่อเดือน ต.ค. ๖๓ พบว่า ระบบ Wholesale banking มีความพร้อมเนื่องจากมีประสบการณ์ในการรับมือกับอัตราดอกเบี้ยติดลบจากลูกค้าธุรกิจในประเทศอื่นมาแล้ว ในขณะที่ Retail banking ต้องใช้เวลา ๖ เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมระบบ แบบชั่วคราว และ ๑๒-๑๘ เดือนแบบถาวร อย่างไรก็ดี สนง. ธปท./ลอนดอน ประเมินว่า BoE จะยังไม่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในระยะนี้เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสทำกำไรของภาคธุรกิจการเงินที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit และโควิด-๑๙ อยู่แล้ว BoE น่าจะพิจารณาใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินอื่นที่มีก่อน เช่น การเพิ่มสภาพคล่องโดยการซื้อคืนพันธบัตรภายใน สอ. (Quantitative Easing - QE) ที่เคยใช้ในปี ๒๕๖๓ เป็นต้น

๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๔.๑ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) [3] รายงานว่า ศก. สอ. ในปี ๖๓ หดตัวมากที่สุดใน ปวศ. หลังสงครามโลกครั้งที่สองในอัตราร้อยละ ๙.๙ (มากกว่าในช่วงวิกฤต ศก. เมื่อปี ๒๕๕๒ กว่าสองเท่าตัว) จากผลของการล็อกดาวน์จำนวน ๒ ครั้ง โดย สอ. ถือเป็น ปท. ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมากที่สุดในกลุ่มสมาชิก G7 อย่างไรก็ดี ศก. สอ. ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ ๑.๒ ในเดือน ธ.ค. ๖๓ หลังจากที่หดตัวร้อยละ ๒.๓ ในเดือนก่อนหน้าจากปัจจัยการล็อกดาวน์รอบที่สอง ทำให้ในภาพรวม ศก. สอ. ในไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๖๓ ยังคงขยายตัวได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑ ในขณะที่ล่าสุด บ. PWC[4] วิเคราะห์ว่า แนวโน้มที่ ศก. สอ. ในไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๖๓ ที่ยังเติบโตได้แม้มีการล็อกดาวน์รอบที่สองสะท้อนพื้นฐานการบริโภคภายใน สอ. ที่เข้มแข็งและน่าจะเป็นปัจจัยเสริมให้ ศก. ในปี ๒๕๖๔ ฟื้นตัวได้ในอัตราร้อยละ ๒.๒ – ๔.๘ แม้จะมีการล็อกดาวน์ในเดือน ม.ค. – ก.พ. ๖๔ โดยความรวดเร็วของการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น แผนการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ของ รบ. สอ. ที่จะประกาศในวันที่ ๒๒ ก.พ. ๖๔ ประสิทธิผลของแผนการฉีดวัคซีนให้กับ ปชก. สอ. ส่วนใหญ่ การแถลงแผน งปม. ประจำครึ่งแรกของปี ๖๔ (Spring Budget) ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ๖๔ และการปรับตัวของ คสพ. การค้า สอ. – EU
    ๔.๒ ข้อมูลจาก Barclaycard ระบุว่า ยอดการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนในเดือน ม.ค. ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๖.๓ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ๖๓ แม้ว่ายอดขายออนไลน์โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ ๗๓ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถชดเชยยอดขายที่หายไปจากปัจจัยการล็อกดาวน์ได้ ในขณะที่ BoE คาดการณ์ว่า ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งจะ
หดตัวประมาณร้อยละ ๔.๒ แต่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่สอง เนื่องจาก ปชช. ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-๑๙ ในวงกว้างมากขึ้นและอัตราการแพร่ระบาดปรับตัวลดลงตามลำดับ ทำให้ รบ. ผ่อนคลายการล็อกดาวน์ได้
    ๔.๓ องค์กรวิจัยNational Institute of Economic and Social Research (NIESR)[5] ได้ปรับรายงานการประเมินอัตราการขยายตัวทาง ศก. ของ สอ. ในปี ๒๕๖๔ ลงมาอยู่ที่ร้อยละ ๓.๔ (จากเดิมที่ประเมินไว้ในเดือน พ.ย. ๖๓ ที่ร้อยละ ๕.๙) และคาดว่าจะใช้เวลาเกือบ ๓ ปี (ถึงปลายปี ๒๕๖๖) ในการฟื้นตัวให้เทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ (BoE ประเมินไว้ที่ต้นปี ๒๕๖๕) เนื่องจากผลกระทบระยะยาวของวิกฤตโควิดที่มีต่ออัตราการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗ หรือจะมีผู้ว่างงานเพิ่มเติมประมาณ ๒.๕ ล้านคนในปีนี้ ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงและระดับการลงทุนของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำ

. นัยสำคัญต่อไทย
    - ข้อมูลจาก สคต. ณ กรุงลอนดอน (โดยอิงผลสำรวจตลาดใน สอ. ของ บ. Kantar) พบว่าในช่วงเดือน ม.ค. ๖๔ ผู้บริโภคนิยมซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากช่องทางออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารมังสวิรัติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ ๒๕ สะท้อนว่าความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพใน สอ. ยังเติบโตต่อเนื่อง กอปรกับการมีค่านิยมด้านการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารมังสวิรัติ อาหารเจ และอาหารเสริม plant-based มีเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงอาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยใน สอ. ในการปรับเมนูเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ทั้งในรูปแบบการบริการส่งอาหารสำเร็จถึงบ้านและการขายชุดประกอบอาหาร รวมถึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกสินค้าประกอบอาหารเพื่อสุขภาพของไทยมาทำตลาดใน สอ. ด้วย แต่ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายและประเด็นมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านสุขภาพพืช (plant health) และความรับผิดชอบต่อสังคม (สิทธิแรงงาน/สิทธิสัตว์) เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวโน้มการมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของ สอ. ในระยะยาว

 

[1]https://www.theguardian.com/politics/2021/feb/14/raab-shrugs-off-brexit-troubles-urging-people-to-take-10-year-view
[2]https://www.cboe.com/europe/equities/overview/
[3]https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpfirstquarterlyestimateuk/latest
[4]https://www.pwc.co.uk/services/economics/insights/uk-economic-update-covid-19.html
[5]https://www.niesr.ac.uk/publications/uk-economic-outlook-february-2021-brexit-britain-covid-recovery-ward