วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 พ.ย. 2566

| 821 view

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สหราชอาณาจักร

  • ไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ทางการค้ากันมาอย่างยาวนาน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จะมีการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างทั้งสองประเทศ
    เมื่อปี 2398 ซึ่งถือเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ และพัฒนาเรื่อยมาจนนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน

การค้ารวม

  • ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจถือเป็นมิติที่โดดเด่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหราชอาณาจักร ปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคยุโรป โดยในปี 2565
    มีปริมาณการค้าทวิภาคีรวมประมาณ 5,000 ล้านปอนด์ ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรประมาณ 3,300 ล้านปอนด์ และนำเข้าสินค้าจากสหราชอาณาจักรประมาณ 1,766 ล้านปอนด์
  • สินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ได้แก่ ไก่แปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ ขณะที่สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจาก
    สหราชอาณาจักร ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่มและสุรา สินค้าเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ฯลฯ

การลงทุน

  • เมื่อปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ให้แก่โครงการลงทุนของบริษัทสหราชอาณาจักรที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวน 12 โครงการ
    โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมคิดเป็น 11 ล้านปอนด์
  • ที่ผ่านมา นักลงทุนชาวบริติชได้เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของไทย อาทิ สาขาพลังงาน การค้าปลีก บริการทางการเงิน การบิน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ฯลฯ โดยบริษัทสำคัญของ
    สหราชอาณาจักรที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท บู๊ทส์ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด, ยูนิลีเวอร์, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน), พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), เอชเอสบีซี (HSBC) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น, บริษัท บีพี - คาสตรอล (ประเทศไทย) จำกัด, จีเคเอ็น แอร์โรสเปซ ทรานส์พาเรนซี ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด,
    ไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชียจำกัด, ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จำกัด, แกล็กโซสมิทไคลน์ และไมย์เออร์ อินดัสตรีส์ จำกัด เป็นต้น
  • ขณะเดียวกัน บริษัทแนวหน้าของไทยหลายแห่งก็ได้เข้าไปดำเนินกิจการในสหราชอาณาจักรและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์, ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กลุ่มเซ็นทรัล ฯลฯ 

กลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจทวิภาคี

  • ภาคเอกชนไทยและสหราชอาณาจักรได้มีบทบาทอย่างยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้น โดยการก่อตั้งกลไกที่สำคัญคือสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร
    เมื่อปี 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อธุรกิจและเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

  • อีกหนึ่งกลไกของภาครัฐที่มีความสำคัญและเพิ่งมีการก่อตั้งเมื่อไม่นานมานี้ คือ คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยเป็นการประชุมหารือในระดับรัฐมนตรีเพื่อสำรวจลู่ทางและโอกาส ตลอดจนพัฒนาแผนงานต่าง ๆ เพื่อการขยายความร่วมมือทวิภาคีด้านการค้า การลงทุนต่อไป
  • สหราชอาณาจักรได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องถึงความร่วมมือใน 6 สาขา (ด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข อาหารและเครื่องดื่ม ดิจิทัล การค้าและการลงทุน และบริการทางการเงิน) และเห็นชอบแผนปฏิบัติการร่วมในกรอบระยะเวลา 12-18 เดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าของระหว่างกัน
    ให้กลับมาอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านปอนด์ต่อปี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นชอบในหลักการที่จะทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่สถานะการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น เพื่อเป็นพื้นฐาน
    ในการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างกันในระยะต่อไป

  • การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ครั้งที่ 2 คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 โดยฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่าง
    การพิจารณาผลลัพธ์ของการประชุม ซึ่งอาจรวมถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกระดับไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้นด้วย