สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ม.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ม.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,584 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ การส่งออก . JD Sports (บ. ขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาของ สอ. ซึ่งมียอดขายใน EU ในปี ๖๓ มากถึง ๑.๖ พันล้านปอนด์) วางแผนตั้งศูนย์กระจายสินค้าสำหรับ EU ในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ . Hornby ซึ่งเป็น บ. ขายรถไฟของเล่นของ สอ. ที่มีฐานการผลิตในจีน ได้ตั้งศูนย์กระจายสินค้าขึ้นใหม่ใน EU แล้ว โดยจะขนส่งสินค้าทางเรือส่วนหนึ่งไปยัง EU โดยตรงเพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและต้นทุนในระยะยาวจากการเสียภาษีนำเข้าซ้ำซ้อนภายใต้กฎ “Rules of origin” ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจขนาดเล็ก (Federation of Small Businesses – FSB) ของ สอ. ให้ข้อมูลว่า ร้อยละ ๒๕ ของธุรกิจขนาดเล็กประมาณ ๖ ล้านรายใน สอ. มีการนำเข้าและส่งออกสินค้า/วัตถุดิบกับ EU โดยขั้นตอนการส่งออกสินค้าจาก สอ. ไป EU ภายใต้กฎระเบียบใหม่ที่ต้องใช้เอกสาร/หลักประกันเพิ่มเติม กอปรกับภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เพิ่มขึ้นหลัง Brexit (รวมแล้วอีกประมาณร้อยละ ๒๐ – ๒๕) ทำให้บริษัทของ สอ. หลายรายได้รับผลกระทบและต้องสูญเสียรายได้จากตลาด EU เนื่องจากต้องระงับให้บริการจัดส่งสินค้าไปยัง EU ชั่วคราวจนกว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าใน EU ได้ (โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์ที่กำลังได้รับความนิยมจากธุรกิจ สอ. เนื่องจากมีที่ตั้งเหมาะสำหรับการเป็น hub ใน EU) เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคดังกล่าวในระยะยาว ในขณะที่บางรายอาจต้องยกเลิกการส่งสินค้าไป EU อย่างถาวรเนื่องจากไม่สามารถรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
         อนึ่ง ผลจากการที่มีผู้ประกอบการ สอ. จำนวนมากไม่สามารถปรับตัว/เตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการทำธุรกิจระหว่าง สอ. กับ EU ได้ทัน รบ. สอ. ได้ให้บริการเว็บไซต์ใหม่ที่เรียกว่า Brexit Checker Tool (https://www.gov.uk/transition) เพื่อช่วยตรวจสอบข้อมูลและให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นสำหรับการช่วยประคับประคองความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการใน สอ. ต่อไป
    ๑.๒ การเงิน . Mastercard ประกาศแผนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตชำระเงินเพิ่มจากร้อยละ ๐.๓ เป็นร้อยละ ๑.๕ ต่อรายการ (ประมาณ ๕ เท่า) และบัตรเดบิตเพิ่มจากร้อยละ ๐.๒ เป็นร้อยละ ๑.๑๕ ต่อรายการ สำหรับการซื้อขายสินค้า/บริการออนไลน์ใน สอ. จากบริษัทที่ตั้งอยู่ใน EU ผ่านบัตรเครือข่าย Mastercard โดยมีผลตั้งแต่ ๑๕ ต.ค. ๖๔ เป็นต้นไป ทั้งนี้ บ. Mastercard ชี้แจงว่า Brexit ทำให้การทำธุรกรรมระหว่าง สอ. และ EU เป็นการทำธุรกรรมข้ามภูมิภาค (inter-regional) บริษัทจึงต้องดำเนินการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยน (interchange fee) ตามกฎข้อบังคับของ EU ซึ่งแผนดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้แก่ธนาคาร สอ. ที่ออกบัตร โดยเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจากต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นแทน สำหรับบัตรในเครือของ Visa ซึ่งครองตลาดบัตรเดบิตใน สอ. มากกว่า Mastercard ยังไม่มีแผนการเปลี่ยนค่าธรรมเนียมในขณะนี้ ในขณะที่ Amazon UK เตรียมย้ายที่ตั้งระบบการรับชำระเงินและการจัดส่งสินค้าสำหรับคำสั่งซื้อใน สอ. จากลักเซมเบิร์กมาอยู่ใน สอ. เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการรับชำระเงินข้ามเขตดังกล่าวแล้ว
    ๑.๓ รถยนต์ . Nissan มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตแบตเตอรี่บางส่วนสำหรับรถยนต์ระบบไฟฟ้ารุ่น Leaf จากญี่ปุ่นมายังโรงงานในเมือง Sunderland ของ สอ. เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใน คตล. การค้า สอ. – EU ที่กำหนดให้รถยนต์จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร (zero tariff) ต้องมีส่วนประกอบการผลิตภายใน สอ. หรือจากใน EU อย่างน้อยร้อยละ ๕๕ ของมูลค่าของรถยนต์ ทั้งนี้ Nissan ส่งออกรถยนต์ที่ผลิตใน สอ. ประมาณร้อยละ ๗๐ ไปยัง EU แผนดังกล่าวจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวและรักษาการจ้างงานใน สอ. ได้ประมาณ ๗๐,๐๐๐ ตำแหน่งในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มการลงทุนและสะท้อนความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ สอ. อีกครั้งหลังจากเมื่อปี ๖๓ ได้ลดการลงทุนลงโดยยกเลิกสายการผลิตบางส่วนกลับญี่ปุ่นเนื่องจากมียอดขายลดลงใน สอ. และ EU ท่ามกลางความกังวลของ No-deal Brexit ในขณะนั้น

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ ธนาคาร HSBC ประกาศปิดสาขาถาวรจำนวน ๘๒ แห่ง (จากทั้งหมด ๖๗๕ แห่งทั่ว สอ.) ภายในเดือน เม.ย. - ก.ย. ๖๔ และย้าย พนง. บางส่วนไปทำงานในกิจการ/สาขาอื่นแทน ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเกิดจากปัจจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์และทางโทรศัพท์มากขึ้นในช่วง ๕ ปีหลัง กอปรกับปัจจัยวิกฤตโควิด-๑๙ เป็นตัวกระตุ้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ ๓ ของปี ๖๓ HSBC ได้เคยประกาศแผนปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อลดต้นทุนและประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓๕,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก
ด้วยแล้ว
        ๒.๒ การค้าปลีก . Arcadia (ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการร้าน Topshop, Burton, Dorothy Perkins, Miss Selfridge, Wallis และ Outfit) ได้ปิดกิจการถาวรเพิ่มอีก ๓๑ แห่ง (จากทั้งหมด ๔๔๔ แห่งทั่ว สอ.) โดยจะส่งผลให้เลิกจ้าง พนง. อีก ๗๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๑๓,๐๐๐ ตำแหน่ง) โดยก่อนหน้านี้ บ. Arcadia ได้นำกิจการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเพื่อหาผู้ลงทุนใหม่เข้าซื้อกิจการแทนเมื่อเดือน พ.ย. ๖๓ ล่าสุด . Boohoo (ซึ่งเป็นบริษัทเว็บไซต์ขายเสื้อผ้าแฟชั่น) ได้ทำข้อตกลงมูลค่า ๕๕ ล้านปอนด์เพื่อซื้อกิจการของ Debenhams (เฉพาะยี่ห้อต่าง ๆ ภายใต้กิจการของ Debenhams รวมถึงเว็บไซต์และฐานข้อมูลลูกค้าออนไลน์ ยกเว้นในส่วนของอสังหาริมทรัพย์และห้างสรรพสินค้า) ซึ่งจะส่งผลให้ห้าง Debenhams จำนวน ๑๒๔ แห่งทั่ว สอ. จะต้องปิดกิจการถาวรและเลิกจ้าง พนง. ทั้งหมดจำนวน ๑๒,๐๐๐ คนภายในกลางปีนี้ นอกจากนี้ บ. Boohoo ได้เข้าซื้อกิจการของ Warehouse, Oasis, Coast และ Karen Millen เฉพาะในส่วนของยี่ห้อและเว็บไซต์ควบคู่ไปด้วยเพื่อขยายฐานธุรกิจสินค้าแฟชั่นออนไลน์ใน สอ. ทั้งนี้ ข้อมูลจาก บ. Centre for Retail Research สะท้อนว่า ปัจจัยจากวิกฤตโควิด-๑๙ ส่งผลให้มีการเลิกจ้าง พนง. ในภาคธุรกิจค้าปลีกรวมจำนวนอย่างน้อย ๑๗๗,๐๐๐ ตำแหน่งในปี ๖๓ และคาดว่าจะมีการเลิกจ้าง พนง. เพิ่มอีกกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ตำแหน่งในปี ๖๔ เนื่องจากแนวโน้มการยืดเยื้อของวิกฤต
    ๒.๓ อสังหาริมทรัพย์ . Rightmove เว็บไซต์ซื้อขายและเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของ สอ. ให้ข้อมูลว่าปัจจัยจากวิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้ ปชช. บางส่วนย้ายไปอยู่ในบริเวณชานเมืองมากขึ้น และมีบ้านว่างในตัวเมืองให้เช่าจำนวนมากขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี ๖๒ ทำให้ราคาบ้านเช่าในบริเวณใจกลางเมืองหลักต่าง ๆ ของ สอ.  ปรับตัวลดลงในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑๒ โดยในบริเวณใจกลางเมืองของกรุงลอนดอนปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๒.๔ เมือง Edinburgh ร้อยละ ๑๐ และเมือง Manchester ร้อยละ ๕.๓ ในทางตรงกันข้าม ราคาบ้านใน ตจว. และในย่านชานเมืองปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในเมือง Durham (ปรับขึ้นร้อยละ ๑๖.๔) เมือง Keighley ในเขต West Yorkshire (ร้อยละ ๑๔.๖) และเมือง Wigan ซึ่งอยู่ในย่านชานเมืองของแมนเชสเตอร์ (ร้อยละ ๑๑.๒) เป็นต้น ในขณะที่ บ. Zoopla เว็บไซต์ซื้อขายและเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของ สอ. อีกรายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลจากการชะลอตัวของค่าเช่าบ้านในตัวเมืองและการมีบ้านเช่าในตลาดมากขึ้นดังกล่าวทำให้มี ปชช. ในกรุงลอนดอนและนอกกรุงลอนดอนมองหาหรือย้ายบ้านในตัวเมืองมากขึ้นเช่นกัน

๓. นโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๓.๑ เมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศจัดสรร งปม. มูลค่า ๒๓ ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมการประมงที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ และการปรับตัวตามกฎระเบียบการส่งออกใหม่หลัง Brexit [1] ซึ่งปรากฏเป็นข่าวใน สอ. ต่อเนื่องว่าเกิดปัญหาด้านเอกสารและการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ด่านทำให้เกิดความเสียหายและขาดทุนแก่ผู้ประกอบการหลายราย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นมา สามารถแสดงหลักฐานเพื่อขอรับเงินชดเชยได้ไม่เกินรายละ ๑๐๐,๐๐๐ ปอนด์ [2] รวมทั้งจะให้บริการคำแนะนำและช่วยเหลือเกี่ยวกับขั้นตอนการส่งออก การขอใบรับรองเพื่อการส่งออก (Catch Certificates and Export Health Certificates – EHCs) และการเตรียมเอกสารทางศุลกากร โดยตรงจาก ก. สิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท (DEFRA) และกรมภาษี สอ. (HM Revenue and Customs) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รบ. สอ. โดย นรม. Boris Johnson ได้ประกาศจะจัดสรร งปม. เพิ่มอีกจำนวน ๑๐๐ ล้านปอนด์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประมงในระยะยาวผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปปลาและสัตว์น้ำมีเปลือก (shellfish) รวมถึงการปรับปรุงเรือและอุปกรณ์การจับปลาให้ทันสมัยยิ่งขึ้นโดย งปม. ดังกล่าวจะเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเงินสนับสนุนประจำปีจำนวน ๓๒ ล้านปอนด์ต่อปีที่ รบ. สอ. ชดเชยให้แทน EU หลัง Brexit
    ๓.๒ มท. สอ. (Home Office) ประกาศมาตรการอนุญาตคนเข้าเมืองใหม่สำหรับชาวบริติชโพ้นทะเล (หรือผู้ถือหนังสือเดินทาง British National Overseas (BNO) ในเกาะฮ่องกง) รวมถึงบุคคลในครอบครัวและผู้ติดตาม ครอบคลุมผู้มีสิทธิประมาณ ๓ ล้านคน สามารถสมัครขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) เพื่อพำนักอาศัยถาวร ศึกษาต่อ หรือทำงานใน สอ. ได้ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นไป [3] โดยหลังจากเข้ามา สอ. ด้วยวีซ่าดังกล่าวไม่ต่ำกว่า ๕ ปี จะสามารถขอสถานะผู้มีถิ่นที่อยู่ใน สอ. (settlement visa) และการถือสัญชาติบริติชได้ต่อไปด้วย ทั้งนี้ การใช้มาตรการดังกล่าว รบ. สอ. ประสงค์ให้เป็นการสะท้อนถึงความจริงจังของ สอ. ในการยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อชาวฮ่องกงภายใต้นโยบาย Global Britain และมีนัยทางการเมืองเพื่อตอบโต้ รบ. จีนต่อการประกาศใช้ กม. ความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเมื่อเดือน มิ.ย. ๖๓ ซึ่ง สอ. มองว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีตามสนธิสัญญาส่งมอบเกาะฮ่องกงระหว่าง สอ. กับจีนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๔ ในขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ทางการเงินมองว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อ ศก. สอ. โดยเฉพาะสำหรับการฟื้นฟู ศก. หลังวิกฤตโควิดที่ สอ. มีโอกาสจะได้รับการย้ายเงินลงทุนจากฮ่องกงโดยกลุ่มผู้มีสิทธิขอวีซ่าดังกล่าวที่มาตั้งรกรากถาวรจากการนำเงินลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์และการออมทรัพย์เพื่อการลงทุนใน สอ. มากขึ้นต่อไป โดยคาดว่าในปีนี้จะมีปริมาณเงิน ตปท. ไหลเข้า สอ. มากกว่า ๒.๖ หมื่นล้านปอนด์จากนโยบายดังกล่าว [4] อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นมาฝ่ายจีนได้ประกาศไม่รับรองสถานะของหนังสือเดินทาง BNO เพื่อตอบโต้พัฒนาการดังกล่าวของ สอ. แล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามาตรการโต้ตอบของจีนดังกล่าวจะส่งผลยับยั้งการไหลออกของชาวฮ่องกงและเงินทุนได้มากน้อยเพียงไร
    ๓.๓ ก. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade - DIT) ประกาศความคืบหน้าล่าสุดในการเข้าร่วมเป็นภาคีใน Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ของ สอ. โดยเมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ๖๔ ซึ่งเป็นโอกาสการครบรอบ ๑ ปีหลัง สอ. ออกจาก EU นาง Liz Truss รมว. การค้า รปท. ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ รมว. การค้าของนิวซีแลนด์และญี่ปุ่นเพื่อแจ้งคำขอของ สอ. ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือ CPTPP ซึ่งหลังจากการสนทนา ฝ่าย สอ. ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการต่อนาย Damien O’ Connor รมว. การค้านิวซีแลนด์ ในฐานะที่นิวซีแลนด์เป็น ปท. ผู้เก็บรักษาสัญญา (Depository) ของ CPTPP เพื่อนำไปสู่การเริ่มกระบวนการเจรจาในโอกาสแรกต่อไป ซึ่งฝ่าย สอ. คาดหวังให้เกิดการเจรจาภายในปีนี้ (สำเนาข้อความในหนังสือฯ ของ สอ. ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ DIT ปรากฏตามเอกสารแนบ)
          อนึ่ง นับตั้งแต่ สอ. มุ่งผลักดันนโยบายการออกจาก EU ตามผลการลงประชามติเมื่อปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา รบ. สอ. ให้ความสำคัญกับการมุ่งขยายโอกาสทาง ศก. ของตนกับ ปท. และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี ๖๓ ที่ สอ. สามารถออกจาก EU ได้สำเร็จและมีการเจรจาจัดทำ คตล. การค้าใหม่รวมทั้งการคงสภาพการค้ากับ ปท. ที่เดิม สอ. ได้รับประโยชน์ผ่าน EU รวมมากกว่า ๖๐ ปท. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าการออกจาก EU เป็นการเปิดโอกาสและขยายบทบาทของ สอ. ในเวทีโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนภายใต้ EU โดยกรอบความร่วมมือ CPTPP ถือเป็นกรอบความร่วมมือทาง ศก. ในระดับภูมิภาคที่ สอ. ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกโดยมองว่า จะช่วยขยายโอกาสของสินค้าประเภทเครื่องดื่มและอาหาร ศก. ดิจิทัล และภาคการบริการของ สอ. ในภูมิภาคใหม่ ๆ เช่น แปซิฟิก รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ของ สอ. ในการเป็น global hub of trade and business ที่แท้จริงภายใต้นโยบาย Global Britain ซึ่งที่ผ่านมาในปี ๖๓ สอ. มีมูลค่าการค้ากับ ปท. สมาชิก CPTPP ปัจจุบัน ๑๑ ปท. (ออสเตรเลีย บูรไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม) รวมประมาณ ๑.๑ แสนล้านปอนด์ต่อปี (หรือร้อยละ ๑๐ ของมูลค่าการค้า ตปท. ของ สอ. ทั้งหมด) [5] ทั้งนี้ สอ. ถือเป็น ปท. แรกที่เป็น non-founding member ที่ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และหากได้รับเข้าเป็นสมาชิก สอ. จะกลายเป็นสมาชิกที่มีขนาด ศก. ใหญ่เป็นลำดับ ๒ รองจากญี่ปุ่น ซึ่ง สอ. มุ่งหวังที่จะเข้ามามีบทบาทนำในการกำหนดกฎระเบียบการค้าในระดับภูมิภาคดังกล่าวให้มีความเสรีและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนมากขึ้น ในขณะเดียวกันการเร่งเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ก่อนจีนและสหรัฐฯ ก็น่าจะช่วยรักษาความได้เปรียบและส่งสัญญาณทางการเมืองในการทานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่ง สอ. กำลังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ดี สอ. ยังจำเป็นต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นภายใน สอ. เพื่อจัดทำกรอบการเจรจาและขอความเห็นชอบจากรัฐสภา สอ. ก่อน จึงน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถเริ่มเจรจากับฝ่าย CPTPP ได้

๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๔.๑ ศก. สอ. ในภาพรวมของเดือน ม.ค. ๖๔ หดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ๖๓ โดยสะท้อนให้เห็นจากดัชนีบ่งชี้ทาง ศก. (Purchasing Managers’ Index – PMI) โดยรวมที่จัดทำโดย IHS Market ปรับตัวลงมาอยู่ที่ ๔๐.๖ จากเดิม ๕๐.๔ ในเดือน ธ.ค. ๖๓ (ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ ๔๕.๕) โดยมีปัจจัยจากวิกฤตโควิด-๑๙ กอปรกับสถานการณ์ Brexit ที่เป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในระบบห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากขั้นตอนการดำเนินการตามกฎระเบียบใหม่ ส่งผลให้ยอดการส่งออกปรับตัวลดลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ๖๓ โดยสะท้อนให้เห็นได้จากดัชนี PMI ของภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. ๖๔ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ ๕๒.๙ จาก ๕๗.๕ ในเดือน ธ.ค. ๖๓ ในขณะที่ ดัชนี PMI ของภาคบริการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ ๓ จาก ๔๙.๔ มาอยู่ที่ ๓๘.๘ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ศก. สอ. ในไตรมาสที่หนึ่งจะหดตัวประมาณร้อยละ ๓.๕ และคาดว่าในไตรมาสที่สองจะขยายตัวในอัตราร้อยละ ๖ โดยหวังว่าการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ให้กับ ปชช. ในวงกว้างมากขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุน
    ๔.๒ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. ๖๓ ซึ่งถือเป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยหลักประจำปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๐.๓ ต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ ๑.๒ แม้ว่าปัจจัยจากวิกฤตโควิดและการล็อกดาวน์จะทำให้ยอดขายสินค้าออนไลน์ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมากถึงร้อยละ ๔๖.๑ (สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๑) และยอดขายอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๓ (สูงที่สุดในรอบ ๒๐ ปี) แต่ภาพรวมของภาคธุรกิจค้าปลีกปี ๖๓ ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ ๑.๙ ทั้งนี้ ธุรกิจเสื้อผ้าเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยมียอดขายลดลงกว่าร้อยละ ๒๕ [6] นอกจากนี้ ข้อมูลจาก บ. CGA และ AlixPartners ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในภาคธุรกิจ Hospitality รายงานว่า ร้านอาหาร ผับ และบาร์ใน สอ. (ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือ) มีจำนวนลดลงคิดเป็นร้อยละ ๕.๑ โดยกิจการที่ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในเมือง Birmingham, Leeds, London และ Glasgow ตามลำดับ [7]
    ๔.๓ . City of London Corporation ได้ทำการสำรวจเพื่อจัดอันดับเมืองหลวง/ประเทศทั่วโลกที่มีศักยภาพทางการแข่งขันและเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจและการลงทุนโดยจัดให้กรุงลอนดอนเป็นฐานการทำธุรกิจและการลงทุนที่ดีที่สุดในโลก (๖๒ คะแนน) ตามมาด้วยกรุงนิวยอร์ก (๕๔คะแนน) สิงคโปร์ (๕๓ คะแนน) นครแฟรงก์เฟิร์ต (๔๑ คะแนน) และฮ่องกง (๔๐ คะแนน) ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า กรุงลอนดอนและ สอ. มีศักยภาพทางการแข่งขันในหลายด้านที่สำคัญ ได้แก่ ความเป็นผู้นำด้านบริการทางการเงินและบริการระดับมืออาชีพ เป็นศูนย์กลางด้าน fintech และ green finance รวมถึงมีกรอบของระเบียบและข้อ กม. ที่มีมาตรฐานสากล และเป็นแหล่งของบุคลากรคุณภาพที่มีการศึกษาและทักษะในระดับสูง เป็นต้น อย่างไรก็ดี รบ. สอ. ควรเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคโดยเฉพาะในส่วนของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและการกระจายความรู้และทักษะอาชีพ โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลให้แก่ ปชช. อย่างทั่วถึงมากขึ้น เพื่อส่งเสริมศักยภาพของ สอ. หลัง Brexit [8]

. นัยสำคัญต่อไทย
    ๕.๑ ข่าวสารเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการผ่านเข้าออกของสินค้าที่เกิดจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of origin) ภายใต้ คตล. การค้า สอ. – EU มีปรากฏอย่างต่อเนื่องในช่วง ๑ เดือนแรกหลัง Brexit สะท้อนว่าการค้า สอ. – EU มีความซับซ้อนและมีความท้าทายมากขึ้นกว่าเดิมมากแม้จะมีการยกเว้นภาษีระหว่างแทบทุกรายการก็ตามแต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดที่ต้องศึกษาเชิงลึก โดยเฉพาะในประเด็นการต้องสำแดงเอกสารที่ถูกต้องและโอกาสที่จะต้องเสียภาษีนำเข้าหรือ VAT เพิ่มขึ้นด้วย จึงกลายเป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการรายย่อยใน สอ. เป็นส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำได้เอง จนเป็นเหตุให้ รบ. สอ. ต้องเร่งมีบทบาทช่วยเหลือในการให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นผลจาก Brexit ซึ่งในชั้นนี้ธุรกิจไทยใน สอ. ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มภาคบริการและร้านอาหารที่ดำเนินธุรกิจใน สอ. เป็นหลัก ไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเงื่อนไขของ คตล. การค้า สอ. – EU ดังกล่าวแต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมในเชิงต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนหรือเครื่องมือจาก EU ที่ผู้ประกอบการ สอ. นิยมผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ลูกค้าก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้ค่าครองชีพใน สอ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการสังเกตของ สอท.ฯ พบว่า ราคาสินค้าอาหารสดและผลไม้ที่มีการนำเข้าจาก EU และวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๐ – ๒๐ แล้วโดยคาดว่าเป็นผลจากความยุ่งยากในการกระบวนการผ่านเข้าออกสินค้าระหว่าง สอ. กับ EU
    ๕.๒ อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกของไทยมายัง สอ. โดยตรงน่าจะได้รับโอกาสมากขึ้นจากปัจจัยความยุ่งยากในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่าง สอ. กับ EU ดังกล่าว โดยรายงานการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ปัจจัยจากนโยบายภาษีนำเข้าใหม่ของ สอ. (UK Global Tariff - UKGT) ที่ใช้กับ ปท. สมาชิก WTO ที่ สอ. ไม่มี คตล. ด้วย (รวมทั้งไทย) อาจช่วยให้การส่งออกของไทยไป สอ. ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ ๐–๓ ในปี ๖๔ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและสินค้าที่จำเป็นหลัก อาทิเช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี และเครื่องปรุงรสอาหาร ในขณะที่การส่งออกสินค้าในหมวดหมู่อื่นอาจมีแนวโน้มในระดับต่ำเนื่องจากปัจจัยจากวิกฤตโควิด-๑๙ ยังคงส่งผลให้ ศก. สอ. โดยรวมชะลอตัว ทำให้ปริมาณความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด นอกจากนี้ หากไทยกับ สอ. สามารถจัดทำ คตล. การค้าเสรีระหว่างกันได้ ก็น่าจะเอื้อให้สินค้าไทยมีต้นทุนการนำเข้าสู่ สอ. ลดลงยิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพเป็นองค์ประกอบในห่วงโซ่การผลิตของ สอ. ได้มากขึ้นจากราคาสินค้าที่ต่ำลงเพราะการปรับลดภาษี [9]

 

[1] https://www.gov.uk/government/news/new-financial-support-for-the-uks-fishing-businesses-that-export-to-the-eu
[2] https://www.gov.uk/government/news/new-financial-support-for-the-uks-fishing-businesses-that-export-to-the-eu
[3]https://www.gov.uk/government/news/hong-kong-bno-visa-uk-government-to-honour-historic-commitment
[4] https://www.theguardian.com/world/2021/jan/31/leave-hong-kong-before-its-too-late-say-those-who-now-call-britain-home
[5] https://www.gov.uk/government/news/uk-applies-to-join-huge-pacific-free-trade-area-cptpp
[6] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/december2020
[7] https://www.theguardian.com/business/2021/jan/22/britain-lost-almost-6000-licensed-premises-in-2020-pubs-covid
[8] https://news.cityoflondon.gov.uk/london-leads-global-finance-rankings-in-new-benchmarking-research/
[9] https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/BREXIT-z3176.aspx