วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ก.พ. 2567

| 436 view

ความสัมพันธ์ไทย - ไอร์แลนด์

ไทยและไอร์แลนด์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2518 และในปี 2568 จะดำเนินมาครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูต ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเมื่อปี 2545 นางแมรี แมคอัลลิส (Mary McAleese) ประธานาธิบดีไอร์แลนด์ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ไอร์แลนด์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ในส่วนของไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน มีเขตอาณาครอบคลุมไอร์แลนด์ ทำหน้าที่ประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ไอร์แลนด์ ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายมีการประชุมหารือทางการเมือง (Political Consultations) เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินความสัมพันธ์ โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่กรุงดับลิน

ในด้านการค้า เมื่อปี 2566 ไทยและไอร์แลนด์มีมูลค่าการค้ารวม 1,000.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปไอร์แลนด์ 496.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากไอร์แลนด์ 503.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียเปรียบดุลการค้ากับไอร์แลนด์ 6.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในด้านการลงทุนที่สำคัญของไทยในไอร์แลนด์ ประกอบด้วย 4 กลุ่มบริษัท ได้แก่ (1) กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (Thai Union Frozen Products) ประกอบกิจการอาหารแช่แข็ง (2) กลุ่มบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส (Indorama Ventures) ประกอบกิจการเคมีภัณฑ์พลาสติกและโพลีเอสเตอร์ (3) กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าหลักของไอร์แลนด์ 2 แห่ง คือ Brown Thomas และ Arnotts และ (4) กลุ่ม Minor Group ประกอบกิจการโรงแรม Anantara the Marker กรุงดับลิน ในขณะที่ภาคเอกชนไอร์แลนด์ลงทุนในไทยสูงเป็นอันดับ 10 ของประเทศในสหภาพยุโรป มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ (1) กลุ่มเคอร์รี (Kerry) ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมอาหาร มีธุรกิจใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร อาหาร เครื่องปรุง และเครื่องปรุงรสสังเคราะห์ โดยก่อตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ (2) บริษัทไวซ์เทค โซลูชั่นส์ (Wisetek Solutions) ประกอบกิจการเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดสาขาต่างประเทศสาขาแรกในประเทศไทยที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และ (3) บริษัท ซินเนอร์ยี่ เฟลเวอร์ส (Synergy Flavours) เป็นบริษัทในเครือคาร์เบอรี (Carbery) ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมอาหาร มีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ

ในส่วนการมีปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนนั้น ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) มีนักท่องเที่ยวชาวไอริชเดินทางไปประเทศไทยเฉลี่ยปีละประมาณ 65,000 คน ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไอริชเดินทางไปประเทศไทยลดลงเหลือ 2,756 คนในปี 2564  ต่อมา เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ได้คลี่คลายลง ชาวไอริชได้ทยอยเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 67,638 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีชาวไอริชเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567

สำหรับชุมชนไทยที่อาศัยอยู่ในไอร์แลนด์ ปัจจุบันมีประมาณ 3,818 คน ส่วนใหญ่พำนักอยู่ในกรุงดับลิน เมืองคอร์ก และเมืองลิเมอร์ลิค โดยชุมชนไทยรวมตัวกันในนามสมาคมไทย – ไอร์แลนด์ เพื่อช่วยเหลือพึ่งพากันและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมท้องถิ่น ซึ่งช่วยแสดงความมีตัวตนของชุมชนไทยในไอร์แลนด์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีวัดไทยในไอร์แลนด์ จำนวน 3 วัด ได้แก่ (1) วัดพุทธมหาธาตุ ไอร์แลนด์ เมืองคอร์ก (2) วัดไทยไอร์แลนด์ กรุงดับลิน และ (3) สำนักสงฆ์สุญญตาราม เมืองลิเมอร์ลิค

ในด้านความร่วมมือด้านการศึกษาและการอุดมศึกษา ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในภาษาราชการ และมีมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมากที่มีความเชี่ยวชาญและได้มาตรฐานระดับโลกในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเกษตรศาสตร์ ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาของไอร์แลนด์มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่ง เช่น ความร่วมมือระหว่าง Dublin City University กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ด้านการเรียนการสอน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ด้านการวิจัย) และความร่วมมือระหว่าง Trinity College Dublin กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ด้านการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 สำหรับการศึกษาในท้องถิ่น) นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558  กระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการและทักษะของไอร์แลนด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการและการศึกษาในทุกระดับ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

อนึ่ง เมื่อครั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนไอร์แลนด์ เมื่อปี 2557 University College Dublin ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทุนการศึกษาเพื่อพระราชทานแก่นักศึกษาไทยในระดับปริญญาโท (หลักสูตร 1 ปี) จำนวนปีละ 2 ทุน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นทุนสำหรับสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกเว้นสาขาแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และบริหารธุรกิจ