ทะเบียนราษฎร์

ทะเบียนราษฎร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 มี.ค. 2566

| 71,928 view

การจดทะเบียนเกิดบุตร (ขอสูติบัตรไทย)
การจดทะเบียนสมรส/ ทะเบียนหย่า
การจดทะเบียนการตาย (ขอมรณบัตร)


การจดทะเบียนเกิดบุตร (ขอสูติบัตร)

1. การจดทะเบียนเกิดบุตร

      1.     ในกรณีจะทำหนังสือเดินทางเล่มแรกต้องแจ้งเกิดและได้สูติบัตรก่อน จึงจะสามารถทำหนังสือเดินทางได้ในภายหลัง หากจะเดินทางกลับประเทศไทยด่วนขอให้แจ้งเกิดก่อนและขอเอกสารเดินทางฉุกเฉินได้ นี่

      2.      ทั้งบุตรและผู้ปกครอง (บิดาและมารดา) จะต้องมาติดต่อด้วยตนเอง
      3.      เด็กที่จะขอสูติบัตรไทยจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องเป็นเด็กที่เกิดในสหราชอาณาจักรฯ หรือ
              ไอร์แลนด์ และมีใบรับรองการเกิดฉบับสมบูรณ์จากทางการสหราชอาณาจักรฯ/ ไอร์แลนด์แล้วเท่านั้น
      4.      การจดทะเบียนเกิดบุตรไม่เสียค่าธรรมเนียม
 
 หมายเหตุ: หากผู้ร้องเกิดก่อน 1 มีนาคม พ.ศ. 2535 (1992) ให้ดูรายละเอียดในหัวข้อ 3.4
 

* เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องในการออกหนังสือเดินทางให้แก่บุคคลสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 นั้น เมื่อบิดามารดาได้แจ้งเกิดและขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกให้แก่เด็กแล้ว จะต้องดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานการขอหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติไทย ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะอนุโลมออกหนังสือเดินทางเฉพาะเล่มแรกเท่านั้นให้แก่เด็กที่เกิดในต่างประเทศ

* ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตหรืออำเภอนั้น บิดา มารดา ผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย  หรือผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีขึ้นไป) ซึ่งประสงค์ขอมีรายการบุคคลและหมายเลขประจำตัวประชาชนในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ อาจมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องยื่นคำร้องแทน  [ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ 96/2 (หน้า 74 ด้านล่างสุด) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/E/180/70.PDF]

สามารถค้นข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่ http://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-population/13-service-handbook/population/29-population-add-name

2. แบบฟอร์มที่ต้องกรอก
      1.     แบบฟอร์มคำร้องขอทะเบียนคนเกิด (แบบฟอร์มที่12) จำนวน 1 ชุด

      2.      บันทึกสอบสวน แบบฟอร์มที่ 2 จำนวน 1 ชุด 

3. หลักฐานประกอบ
 
3.1 กรณีบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสแล้ว

      1.      รูปถ่ายสีของบุตร ขนาด 35mm x 45mm  จำนวน 1 ใบ
      2.      สำเนาสูติบัตรอังกฤษ หรือไอริช “ฉบับเต็ม” (Full Birth Certificate) จำนวน 1 ชุด
      3.      สำเนาทะเบียนสมรสของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด
      4.      สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด (หากผู้ปกครองเป็นคนไทยให้นำหนังสือเดินทางไทย)
      5.      สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาและ/หรือมารดาที่มีสัญชาติไทย จำนวน 1 ชุด
 

3.2 กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส
      1.      รูปถ่ายสีของบุตร ขนาด 35mm x 45mm  จำนวน 1 ใบ
      2.      สำเนาสูติบัตรอังกฤษหรือไอริช “ฉบับเต็ม” (Full Birth Certificate) จำนวน 1 ชุด
      3.      สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด (หากผู้ปกครองเป็นคนไทยให้นำหนังสือเดินทางไทย)
      4.      สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาและ/หรือมารดา ที่มีสัญชาติไทย จำนวน 1 ชุด
      5.      มารดาจะต้องกรอกแบบฟอร์มบันทึกถ้อยคำ เพื่อยืนยันสถานะของบุตร

               ส่วนบิดาจะต้องกรอกแบบฟอร์มคำขอเพื่อแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอมให้บุตรใช้นามสกุลของตน หากบุตรต้องการใช้นามสกุลตามบิดา             
      6.      สำเนาใบปกครองบุตร (ป.ค. 14) จำนวน 1 ชุด (ในกรณีไม่สามารถติดต่อกับบิดาของบุตร)

* เด็กจะได้สัญชาติไทยตามมารดาชาวไทยเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่บิดาและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมารดาเป็นชาวต่างชาติ เด็กจะขอสัญชาติไทยได้เมื่อบิดาชาวไทยได้รับรองบุตรแล้วเท่านั้น *

3.3 กรณีบิดามารดาได้จดทะเบียนหย่าเเล้ว
 
     1.      รูปถ่ายสีของบุตร ขนาด 35mm x 45mm  จำนวน 1 ใบ
      2.      สำเนาสูติบัตรอังกฤษหรือไอริช “ฉบับเต็ม” ( Full Birth Certificate ) จำนวน 1 ชุด
      3.      สำเนาใบหย่าของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด
      4.      สำเนาบันทึกการหย่าที่ระบุอำนาจการปกครองบุตร จำนวน 1 ชุด (กรณีจดทะเบียนหย่าในประเทศไทย)
      5.      สำเนาใบปกครองบุตร (ป.ค. 14) จำนวน 1 ชุด 
      6.      สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา จำนวน 1 ชุด (หากผู้ปกครองเป็นคนไทยให้นำหนังสือเดินทางไทย)
      7.      สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาและ/หรือมารดาที่มีสัญชาติไทย จำนวน 1 ชุด
 
3.4  กรณีเด็กเกิดก่อน 1 มีนาคม พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)
      1.     กรอกแบบฟอร์มตามข้อ 2 และเตรียมเอกสารตามข้อ 3.1 หรือ 3.2 หรือ 3.3 หรือ 3.4 (แล้วแต่กรณี)
      2.     นำสูติบัตร “ฉบับเต็ม” (Full Birth Certificate)  ไปประทับตรารับรองจาก Foreign and Commonwealth Office (FCO) ของสหราชอาณาจักร หรือ Department of Foreign Affairs ของไอร์แลนด์ (แล้วแต่กรณี)
      3.     สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเก็บต้นฉบับสูติบัตรข้างต้นไว้เป็นหลักฐาน
      4.     บิดาและมารดาจะต้องมากรอกแบบฟอร์มบันทึกสอบปากคำ กรณีขอสัญชาติไทยย้อนหลังที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เท่านั้น 
      5.     ค่าธรรมเนียม 10 ปอนด์ (สามารถจ่ายโดยบัตรเดบิต/contactless ได้) 

 

***การมาติดต่อควรนำหลักฐานประจำตัวไทยตัวจริง มาให้พร้อมด้วย เช่น หนังสือเดินทางไทยบิดา มารดา บัตรประชาชนบิดา มารดา รวมถึงใบสูติบัตรของอังกฤษที่ระบุชื่อบิดา มารดาชัดเจน***

 


 

การจดทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า Marriage & Divorce

1. ข้อมูลทั่วไป

      1.    การจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะกระทำได้เฉพาะในกรณีการจด
             ทะเบียนระหว่างบุคคลสัญชาติไทย หรือระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับต่างชาติเท่านั้น และถือเป็นการ
             จดทะเบียนตามกฎหมายไทย

      2.    การขอจดทะเบียนฯ กรุณาติดต่อนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันทำการ และจะต้องส่งเอกสาร
             ประกอบให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าทางไปรษณีย์เพื่อตรวจและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้อง

      3.    การจดทะเบียนสมรส และทะเบียนหย่า ไม่เสียค่าธรรมเนียม

        หมายเหตุ: การจดทะเบียนสมรส/หย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย แต่
        กฎหมายสหราชอาณาจักร เห็นว่าสถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถทำหน้าที่สำนักทะเบียนได้
        จึงอาจไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายสหราชอาณาจักร หากต้องการให้การสมรสหรือหย่ามีผลตาม
        กฎหมายสหราชอาณาจักร  ควรติดต่อขอจดทะเบียนต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร
        หรือที่ว่าการเขต/อำเภอในประเทศไทย  

 

2. หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนสมรส

      1.    คำร้องขอจดทะเบียนสมรส และ บันทึกถ้อยคำการจดทะเบียนสมรส ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อ
             โดยคู่สมรสแล้ว

      2.    หนังสือเดินทางที่ไม่หมดอายุของคู่สมรส

      3.    บัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส

      4.    ในกรณีที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนและหย่าแล้ว ต้องมีสำเนาทะเบียนหย่ามาแสดงด้วย

      5.    ในวันจดทะเบียนสมรส กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน หรือ
             สำเนาทะเบียนบ้านของพยาน 

      6.    ใบรับรองโสด ของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย  (สำหรับคนไทย สามารถติดต่อขอรับใบรับรองความเป็นโสดได้ที่ที่ว่าการอำเภอฯ หรือ สำนักงานเขตฯ ที่ประเทศไทย) เพื่อใช้ในการจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

     7. หลักฐานการมีถิ่นพำนักในสหราชอาณาจักรหรือไอร์แลนด์ อาทิ วีซ่าในการเข้าสหราชอาณาจักร ยกเว้น ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยว 
 

3. หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนหย่า

      1.     คำร้องขอจดทะเบียนหย่า ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่หย่าแล้ว

      2.     ต้นฉบับทะเบียนสมรสของทั้งสองฝ่าย

      3.     หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุของทั้งสองฝ่าย

      4.     สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่าย

      5.     ในวันจดทะเบียนหย่า กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน หรือ
              สำเนาทะเบียนบ้านของพยาน


การขอมรณบัตร Death Certificate

ญาติของคนไทยที่เสียชีวิตในสหราชอาณาจักร หรือไอร์แลนด์ สามารถติดต่อขอมรณบัตรไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 9.00 - 12.30 น. โดยไม่ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า


หลักฐานประกอบ

1.    คำร้องขอมรณบัตร
2.    มรณบัตรที่ออกโดยทางการสหราชอาณาจักรหรือ
ไอร์แลนด์

3.    ใบรับรองการฌาปณกิจศพ หรือ การจัดการศพของผู้เสียชีวิต

4.    หนังสือเดินทางของผู้แจ้งขอมรณบัตรและของผู้เสียชีวิต

5.    สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้งและของผู้เสียชีวิต


หมายเหตุ:  การขอมรณบัตรไม่เสียค่าธรรมเนียม