สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 มิ.ย. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 มิ.ย. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,776 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ รายงานของ บ. EY [1] ระบุว่า ปท. กลุ่ม EU ที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนมากที่สุดในปี ๖๓ ได้แก่ ฝรั่งเศส (๙๘๕ โครงการ) สอ. (๙๗๕ โครงการ) และเยอรมนี (๙๓๐ โครงการ) ทำให้ สอ. สูญเสียสถานะผู้นำด้านการลงทุนในยุโรปให้แก่ฝรั่งเศสเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยก่อนหน้านี้ สอ. ถือเป็น ปท. ที่นักลงทุนต่างชาตินิยมนำเงินมาลงทุนมากที่สุดต่อเนื่องกันเป็นเวลาถึง ๑๘ ปี (ปี ค.ศ. ๒๐๐๑ - ๒๐๑๘) โดยเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ในขณะที่ สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics - ONS) [2] ให้ข้อมูลว่า มูลค่าการลงทุนจากต่างชาติใน สอ. ในปี ๖๒ คิดเป็นเงินจำนวน ๓.๖ หมื่นล้านปอนด์ ลดลงจาก ๖.๖ หมื่นล้านปอนด์ในปี ๖๑ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมในรอบ ๑๐ ปีซึ่งอยู่ที่ ๕.๔ หมื่นล้านปอนด์) โดยประเมินว่าเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในช่วงการเจรจา Brexit ในช่วงสองปีดังกล่าว ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจและย้ายการลงทุนไปยังฝรั่งเศสมากขึ้น (ก่อนที่ สอ. – EU จะบรรลุ คตล. Withdrawal Agreement ในเดือน ธ.ค. ๖๓) อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติจำนวน ๕๗๐ รายล่าสุดจัดทำโดย บ. EY พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่า สอ. เป็นแหล่งการลงทุนที่ดีที่สุดในขณะนี้ (ต่างจากผลการสำรวจในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วซึ่ง สอ. อยู่ในอันดับที่สามรองจากฝรั่งเศสและเยอรมนี) โดยมีปัจจัยจากแผนการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพของ รบ. สอ. ทำให้ ศก. สอ. เริ่มฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่า ปท. กลุ่ม EU อื่น ๆ
    ๑.๒ องค์กร Made in Britain [3] ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ของ สอ. จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๕๗ ทำหน้าที่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีผลประกอบการต่ำกว่า ๓๐ ล้านปอนด์ต่อปี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดกว่า ๑,๖๐๐ ราย โดยสัดส่วน ๔ ใน ๕ ของสมาชิกมีการส่งออกสินค้าไป ตปท. โดยเฉพาะ EU ให้ข้อมูลว่า จำนวนธุรกิจของ สอ. ที่สมัครเข้าร่วมโครงการและขอใช้ฉลากผลิตภัณฑ์“Made in Britain” เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓๐ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา (เม.ย. ๖๓ - เม.ย. ๖๔) โดยมีปัจจัยหนุนจาก Brexit และวิกฤตโควิดที่ทำให้ รบ. และภาคธุรกิจ สอ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนา/ใช้ห่วงโซ่อุปทานภายใน สอ. มากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตอื่นในอนาคต[4] ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสะท้อนว่าความต้องการและความนิยมในการบริโภคสินค้าที่ผลิตใน สอ. มีมากขึ้นตามลำดับในช่วงปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของ สอ. และจากการตอบสนองของตลาดต่อนโยบายฟื้นฟู ศก. หลัง Brexit ที่ต้องการลดการพึ่งพา EU น้อยลง

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ ธุรกิจค้าปลีก องค์กรการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC)[5] รายงานว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกของ สอ. ในเดือน พ.ค. ๖๔ ปรับตัวขึ้นในอัตราร้อยละ ๑๐ ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่การเกิดวิกฤตโควิด ซึ่งมีปัจจัยจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์และการเปิดให้บริการของร้านอาหาร ผับ บาร์ และห้างร้านต่าง ๆ ทั่ว สอ. ทำให้ยอดขายสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้าแฟชั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ ๑๐๐ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงนิยมซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการเปิดทำการของห้างร้านต่าง ๆ ทั่ว สอ. ทำให้อัตราการขยายตัวของยอดขายออนไลน์ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ ๓๙ เทียบกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. ๖๔ ที่ร้อยละ ๖๔ อย่างไรก็ดี สถิติดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี ๖๒ ที่มีการขยายตัวเพียงร้อยละ ๑.๕ เท่านั้น นอกจากนี้ ข้อมูลการจับจ่ายผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิตของ Barclaycard ในเดือน พ.ค. ๖๔ (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๖๒ ก่อนวิกฤตโควิด) พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ร้านอาหารลดลงร้อยละ ๕๓ (แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ๖๔ ที่ลดลงไปร้อยละ ๗๔) ในขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ผับและบาร์ลดลงร้อยละ ๑๙ (แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ๖๔ ที่ลดลงไปร้อยละ ๖๗) ข้อมูลล่าสุดของ บ. Springboard[6] ระบุว่า จำนวน ปชช. ที่เดินทางไปจับจ่ายในย่านค้าปลีก (high street) ของ สอ. ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ๖๔ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ ๑๒ ในขณะที่ ปชช. เดินทางไปพักผ่อนที่เมืองแถบชายทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๗ โดยมีปัจจัยหนุนจากสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์และช่วงปิดภาคเรียนระยะสั้น (half-term break) ด้วย
     ๒.๒ อสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลดัชนีราคาบ้านประจำเดือน พ.ค. ๖๔ ของธนาคาร Halifax[7] ระบุว่า ราคาบ้านใน สอ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ๖๔ ร้อยละ ๑.๓ ทำให้ราคาบ้านโดยเฉลี่ยของ สอ. มีราคาเพิ่มขึ้นเป็น ๒๖๑,๗๔๓ ปอนด์ นอกจากนี้ Halifax ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคาบ้านโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. ๖๓ ในอัตราร้อยละ ๙.๕ หรือประมาณ ๒๒,๐๐๐ ปอนด์ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วที่สุดในรอบ ๗ ปี ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากมาตรการลดหย่อนภาษีบ้านชั่วคราว (stamp duty) สำหรับบ้านที่มีราคาไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ ๓๐ มิ.ย. ศกนี้ (และสำหรับบ้านที่มีราคาไม่เกิน ๒๕๐,๐๐๐ ปอนด์ มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๔) โดย Halifax คาดว่า ราคาบ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุปสงค์การซื้อบ้านที่มีมากกว่าปริมาณบ้านในตลาด นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำงานที่บ้านที่เพิ่มมากขึ้นยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ ปชช. ต้องการหาซื้อบ้านนอกเมืองที่มีบริเวณสวนและมีพื้นที่มากขึ้นด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากมูลค่าบ้านในแคว้นเวลส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑.๙ (เพิ่มขึ้นสูงสุดใน สอ.) มาอยู่ที่ราคาโดยเฉลี่ย ๑๙๐,๓๔๕ ปอนด์ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาบ้านในกรุงลอนดอนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๓.๑ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัยการปรับขึ้นภาษีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นพำนักใน สอ. และปัจจัย Brexit ที่ทำให้ชาว EU ส่วนหนึ่งย้ายถิ่นพำนักออกนอก สอ.

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๓.๑ เมื่อวันที่ ๔ มิ.ย. ๖๔ นาง Liz Truss รมว. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT) ได้ประกาศผลสำเร็จของ รบ. สอ. ในการบรรลุ คตล. การค้าเสรีในหลักการ (in principle) ระหว่าง สอ. กับนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์[8] ทั้งนี้ รายละเอียดสำคัญส่วนใหญ่ของ คตล. เป็นการคงสภาพการค้าระหว่าง สอ. กับทั้ง ๓ ปท. ที่เคยได้รับในช่วงที่ สอ. ยังเป็นสมาชิก EU โดยมีการเพิ่มโควตาสินค้าและลดการจัดเก็บภาษีส่งออกสินค้าบางรายการ ที่สำคัญได้แก่ การปรับลดภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์ชีสของ สอ. ไปยังนอร์เวย์มากถึงร้อยละ ๒๗๗ การปรับลดภาษีส่งออกกุ้ง และปลาแฮดดอกซึ่งถือเป็นการช่วยลดต้นทุนการส่งออกสินค้าประมงที่สำคัญของ สอ. และช่วยสนับสนุนการจ้างงานในอุตสาหกรรมประมงของสกอตแลนด์และอังกฤษราว ๑๘,๐๐๐ ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการบริการดิจิทัลและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในข้อตกลงด้วย ซึ่ง รบ. สอ. คาดว่า คตล. ดังกล่าวจะช่วยลดอุปสรรคและขั้นตอนทางการค้า รปท. และเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนของทั้ง ๔ ปท. ให้มากยิ่งขึ้น (ปัจจุบันมูลค่าทางการค้าโดยรวมของทั้ง ๔ ปท. คิดเป็น ๒.๑๖ หมื่นล้านปอนด์) นอกจากนี้ คตล. ดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ให้ชาวบริติชที่มีความรู้และทักษะสูงในสาขาอาชีพ เช่น พยาบาล สัตวแพทย์ และทนายความ สามารถดำเนินขั้นตอนในการขอวีซ่าและขอใบรับรองคุณวุฒิเพื่อทำงานในนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และ  ลิกเตนสไตน์ได้ง่ายขึ้นด้วย เป็นต้น
   ๓.๒ เมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศผลสำเร็จในการบรรลุ คตล. การค้าเสรีในหลักการระหว่าง สอ. และออสเตรเลีย[9] โดยเป็นผลจากการหารือ รว. นาย Scott Morrison นรม. ออสเตรเลีย กับนาย Boris Johnson นรม. สอ. เมื่อวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๖๔ หลังจากเสร็จสิ้น กปช. ระดับผู้นำ G7 ในช่วงวันที่ ๑๑ - ๑๓ มิ.ย. ที่เมือง Carbis Bay ในเขต Cornwall ซึ่งผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลสำเร็จดังกล่าวและตกลงที่จะเผยแพร่รายละเอียดของ คตล. อย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป (ก่อนหน้านี้ในเดือน เม.ย. ๖๔ นาง Truss รมว. การค้า รปท. ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับนาย Dan Tehan รมว. การค้าของออสเตรเลีย ว่า สอ. และออสเตรเลียได้บรรลุข้อตกลงในรายละเอียดสำคัญส่วนใหญ่ใน คตล. การค้าระหว่าง สอ. - ออสเตรเลียแล้ว[10]) ทั้งนี้ คตล. ดังกล่าวจะถือเป็น คตล. การค้าเสรีฉบับแรกของทั้งสองฝ่ายภายใต้เงื่อนไขใหม่ (มิใช่ คตล. เพื่อคงสภาพการค้าระหว่างออสเตรเลียกับ EU) ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการส่งออกและการจ้างงานของ สอ. โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ วิสกี รวมทั้งธุรกิจด้านบริการและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังถือเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุน สอ. ในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ด้วย

๔. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๔.๑ OECD ปรับรายงานการประเมินทาง ศก. โลกใหม่ โดยคาดการณ์ว่า ศก. โลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๘ ในปีนี้[11] (จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ ๔.๒ เมื่อเดือน มี.ค. ๖๔) และคาดว่า ศก. สอ. จะฟื้นตัวรวดเร็วมากที่สุดในกลุ่ม ปท. G7 โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๒ ในปีนี้[12] (จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ ๕.๑) ซึ่งมีปัจจัยจากมาตรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพของ สอ. และมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี OECD มองว่าการฟื้นตัวของ ศก. โลกในภาพรวมจะไม่ราบรื่นนักเนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดยังล่าช้าและขาดประสิทธิภาพในหลายประเทศซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการชะลอตัวของ ศก. โลกได้ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของ สอ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงที่สุดที่ร้อยละ ๖.๑ ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้หลังการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ในเดือน ก.ย. ศกนี้ และจะทำให้อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของปี ๖๔ สูงสุดที่ประมาณร้อยละ ๕.๔ (สูงสุดในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมา) ทั้งนี้ OECD แนะนำว่า รบ. สอ. ควรขยายมาตรการช่วยเหลือธุรกิจออกไปจนกว่า ศก. จะฟื้นตัวโดยเน้นให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มในการเติบโตมากที่สุด และการรักษา คสพ. ทางการค้า สอ. - EU ให้ใกล้ชิดจะเป็นปัจจัยช่วยฟื้นฟู ศก. สอ. ได้ในระยะกลาง
    ๔.๒ ข้อมูลดัชนีบ่งชี้ราคาอาหารของโลกที่จัดทำโดย FAO[13] ระบุว่า ราคาอาหารปรับขึ้นเป็นเดือนที่ ๑๒ ติดต่อกัน โดยในเดือน พ.ค. ๖๔ ปรับขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ ๔.๘ ซึ่งถือเป็นสถิติรายเดือนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ๒๕๕๓ และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ ๓๙.๗ ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอุปทานของสินค้าโดยมีปัจจัยจากวิกฤตโควิดที่ทำให้เกิดข้อจำกัดและความล่าช้าในการผลิตและการขนส่งสินค้า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของ BRC[14] ที่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของ สอ. มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิเป็นต้นไป โดยมีปัจจัยจากราคาก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดจากค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสามเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี ๖๒ นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนจากภาษีศุลกากรและการเพิ่มขั้นตอนเอกสารการส่งออก-นำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัย Brexit ด้วย
    ๔.๓ ข้อมูลการวิเคราะห์การถือครองหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ สอ. จัดทำโดย บ. Orient Capital[15] ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุน พบว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ สอ. ถึงร้อยละ ๖๖ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๖๔ ในปี ๖๒ ทั้งนี้ นักลงทุนสหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดใน สอ. คิดเป็นร้อยละ ๒๘ โดยมีสัดส่วนเกือบ ๓ ใน ๕ อยู่ภายใต้การถือครองของสถาบันกองทุนรวมของสหรัฐฯ (US mutual funds) ทำให้สถาบันกองทุนรวมจาก ปท. กลุ่มอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ และแคนาดา) เป็นเจ้าของเงินมูลค่า ๑ ปอนด์ ในทุก ๆ ๖ ปอนด์ของหุ้นใน สอ. และสถาบันกองทุนของ สอ. (British unit trusts) เป็นเจ้าของเงินมูลค่า ๑ ปอนด์ ในทุก ๆ ๗ ปอนด์ของหุ้นใน สอ. ในส่วนของนักลงทุนยุโรปมีสัดส่วนการถือครองหุ้นใน สอ. เพิ่มเติมในช่วงสองปีที่ผ่านมาโดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนร้อยละ ๑๙ (จากร้อยละ ๑๕ ในปี ๖๒) ในขณะที่นักลงทุนสถาบันของจีนมีสัดส่วนการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นในปี ๖๔ คิดเป็นร้อยละ ๑.๗ (จากร้อยละ ๐.๗ ในปี ๖๒) ทั้งนี้ บ. Orient Capital คาดการณ์ว่า นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มที่จะเข้าซื้อหุ้นใน สอ. เพิ่มขึ้นรวมแล้วมากถึงร้อยละ ๘๐ ภายในปี ๒๕๘๓ โดยธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจมากที่สุด ได้แก่ บริษัทด้านการขุดเจาะเหมืองแร่ การดูแลสุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภค ล่าสุด บ. Altice ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติฝรั่งเศส (เจ้าของเดียวกับ Sotheby’s) ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวนร้อยละ ๑๒.๑ ของ บ. British Telecoms (BT) คิดเป็นมูลค่า ๒ พันล้านปอนด์ ทำให้ บ. Altice เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ BT (รองลงมาคือ บ. Deutsche Telekom ที่ถือหุ้นจำนวนร้อยละ ๑๒)

. พัฒนาการที่มีนัยสำคัญต่อไทย
    - สคต. กรุงลอนดอน ประเมินว่าปัจจุบันร้านอาหารไทยใน สอ. ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบในการประกอบอาหารจากไทยที่สูงขึ้น โดยมีปัจจัยจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งสินค้าทางเรือทำให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและใช้เวลานานกว่าเดิมกว่าเท่าตัว ในขณะที่ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศได้ปรับตัวขึ้นร้อยละ ๑๕ - ๒๐ เช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการและร้านอาหารหลายแห่งจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและอาหาร ซึ่งปัญหาดังกล่าวประกอบกับการที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยใน สอ. หลายรายอาจต้องปรับตัวไปใช้ผลิตภัณฑ์อาหารจากภายใน สอ. เองเพื่อลดต้นทุนลง จึงอาจส่งผลให้เกิดความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจาก ปทท. ที่ลดลงในระยะสั้น-ระยะกลางได้

 

 

[1] https://www.ey.com/en_uk/news/2021/06/uk-exceeds-investor-expecations-with-resilient-foreign-direct-investment-performance-in-2020-new-ey-report-reveals
[2] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/business/businessinnovation/datasets/foreigndirectinvestmentinvolvingukcompanies2013inwardtables
[3]  https://www.madeinbritain.org/
[4] https://www.ft.com/content/50297428-ee9f-4ef0-ba50-fa09b18f3be4
[5] https://brc.org.uk/news/corporate-affairs/buoyant-sales-helping-to-revitalise-retail/
[6] https://www.spring-board.info/us-retail-consumer-report-june-2021/
[7] https://www.halifax.co.uk/assets/pdf/may-2021-house-price-index.pdf
[8] https://www.gov.uk/government/news/uk-secures-new-deal-with-norway-iceland-and-liechtenstein
[9] https://www.gov.uk/government/news/uk-agrees-historic-trade-deal-with-australia
[10] https://www.gov.uk/government/news/joint-statement-on-uk-australia-trade-talks
[11] https://www.oecd.org/economy/outlook/OECD-economic-outlook-general-assessment-macroeconomic-situation-may-2021.pdf
[12] https://www.oecd.org/economy/united-kingdom-economic-snapshot/
[13] http://www.fao.org/worldfoodsituation/foodpricesindex/en/
[14] https://brc.org.uk/news/corporate-affairs/price-rises-on-the-horizon/
[15] https://www.orientcap.com/doc/insights/OC-Foreign-Investors.pdf