สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 พ.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 พ.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,728 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    - รายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติ[1] (Office for National Statistic – ONS) ระบุว่า ยอดการนำเข้าส่งออกสินค้าโดยรวมระหว่าง สอ. และ EU ในไตรมาสที่หนึ่งของปี ๖๔ ลดลงร้อยละ ๒๓.๑ (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๖๑ ก่อน Brexit และวิกฤตโควิด) โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าจาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นคู่ค้าด้านเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว) ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยปรับตัวลดลงร้อยละ ๔๗.๓ (มูลค่าประมาณ ๑ พันล้านปอนด์) ในช่วงเดือน ธ.ค. ๖๓ - ม.ค. ๖๔ ในขณะที่ สอ. นำเข้าสินค้าจากไอร์แลนด์ลดลงเพียงร้อยละ ๔.๔ หรือน้อยกว่า ๑๐๐ ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นผลจากการที่ รบ. สอ. ขยายกำหนดเวลาการยกเว้น (ฝ่ายเดียว) การบังคับใช้กฎระเบียบการตรวจสอบสินค้านำเข้าจาก EU ใหม่หลัง Brexit ชั่วคราว (grace period) ออกไปอีก ๖ เดือน (จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. ๖๔ ตามที่ตกลงกับฝ่าย EU ไว้ ไปจนถึงเดือน ต.ค. ๖๔) ในส่วนของการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่าง สอ. กับ ปท. non-EU ปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ ๐.๘ (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๖๑) โดย สอ. นำเข้าสินค้าจากจีนในไตรมาสที่หนึ่งของปี ๖๔ คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๑ ของสินค้านำเข้าทั้งหมดของ สอ. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี ๖๑ ถึงร้อยละ ๖๕.๖ และมากเป็นอันดับหนึ่งใน ปท. non-EU นับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี ๖๓ เป็นต้นมา โดยมีวิกฤตโควิดเป็นปัจจัยกระตุ้นการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยและชุด PPE เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านโทรคมนาคมและเครื่องเสียง รวมถึงการนำเข้าเสื้อผ้าและรองเท้าที่เพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่หนึ่งของปี ๖๔ เพื่อตอบรับกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ ยังถือเป็นไตรมาสแรกนับตั้งแต่ปี ๖๑ ที่ยอดการนำเข้าส่งออกสินค้ารวมระหว่าง สอ. กับ ปท. Non-EU อยู่ในระดับสูงกว่าของ EU โดย ONS ประเมินว่าเป็นผลกระทบทางการค้าระหว่าง สอ. กับ EU ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง คสพ. การค้าใหม่และการมีอุปสรรค/ความท้าทายในการส่งออกนำเข้าระหว่างกันมากขึ้นอย่างชัดเจนระหว่าง สอ. กับ EU รวมถึงเป็นผลส่วนหนึ่งจากการกักตุนสินค้าจำนวนมากในช่วงปลายปีที่แล้ว (ก่อน Brexit จะมีผลโดยสมบูรณ์) และการลดลงของอุปสงค์ใน EU จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลาย ปท. ยุโรป

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ การบิน สายการบิน Ryanair [2] ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป เปิดเผยว่า วิกฤตโควิดส่งผลให้บริษัทขาดทุนมูลค่า ๗๐๒ ล้านปอนด์ โดยมีผู้ใช้บริการในช่วงเดือน เม.ย. ๖๓ - มี.ค. ๖๔ ลดลงร้อยละ ๘๑ (คิดเป็นจำนวน ๒๗.๕ ล้านคน จาก ๑๔๙ ล้านคนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มองว่าการฟื้นตัวของธุรกิจการบินได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยพบว่าจำนวนการซื้อบัตรโดยสารล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น ๑.๕ ล้านรายต่อสัปดาห์ (จาก ๕๐๐,๐๐๐ รายต่อสัปดาห์ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ๖๔) โดยมีปัจจัยจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ขั้นที่สองเมื่อวันที่ ๑๗ เม.ย. เป็นต้นมา ที่อนุญาตให้ ปชช. สามารถเดินทางออกนอก สอ. ได้[3]  ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน สอ. โดยบริษัทฯ ประเมินว่าจำนวนการซื้อบัตรโดยสารจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเดือน ต.ค. ๖๔ - มี.ค. ๖๕ หลังจากที่ ปท. กลุ่ม EU มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดการณ์ว่า สายการบินต่าง ๆ อาจมีการปรับราคาบัตรโดยสารเพิ่มขึ้นในปี ๖๕ โดยมีปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์จากปริมาณความต้องการของ ปชช. ในการเดินทางออกนอก ปท. ที่จะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากนี้ ในขณะที่ปริมาณอุปทานของสายการบินปรับตัวลดลง ได้แก่ การปิดกิจการของสายการบิน Thomas Cook และการลดการให้บริการเที่ยวบินของสายการบิน Alitalia ของอิตาลี เป็นต้น
    ๒.๒ ร้านอาหาร รายงานการสำรวจการฟื้นตัวทาง ศก. สอ. (Market Recovery Monitor)ประจำเดือน เม.ย. ๖๔ จัดทำโดย บ. CGA ร่วมกับ บ. AlixPartners[4] ซึ่งเป็นบริษัทเก็บข้อมูลและที่ปรึกษาด้านการตลาด ระบุว่า ปัจจัยจากวิกฤตโควิดทำให้จำนวนร้านอาหารใน สอ. ลดลงคิดเป็นร้อยละ ๙.๗ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด (ปี ๖๐ - ๖๒ ลดลงร้อยละ ๐.๙ - ๒.๒) โดยคิดเป็นร้านอาหารประเภท “casual dining” จำนวนร้อยละ ๑๙.๔ ร้านอาหารทั่วไป (restaurant) ร้อยละ ๑๐.๒ ร้านอาหารในรูปแบบผับ (Food pub) ร้อยละ ๔.๒ ร้านอาหารในรูปแบบบาร์ (Bar restaurant) ร้อยละ ๙.๖ ในขณะที่บาร์และผับที่ให้บริการเครื่องดื่มอย่างเดียวลดลงเพียงร้อยละ ๕.๒ ทั้งนี้ เนื่องจากร้านอาหารบางแห่งไม่สามารถรองรับค่าเช่าระหว่างการปิดกิจการชั่วคราวและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ในช่วงล็อกดาวน์ได้ นอกจากนี้ บ. Local Data Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการใช้งานของอาคารพาณิชย์ในอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ รายงานว่าประเภทร้านอาหารที่ต้องปิดกิจการลงมากที่สุด ได้แก่ ร้านอาหารสไตล์อเมริกันและอิตาเลียน ในขณะที่ร้านอาหารที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ร้านอาหารญี่ปุ่น และร้านอาหารมังสวิรัติ (vegan) นอกจากนี้ พบว่าร้านอาหารที่เปิดใหม่นิยมตั้งอยู่ในบริเวณริมน้ำหรือ market square ซึ่งมีพื้นที่ภายนอกร้านสำหรับนั่งรับประทานอาหารด้วย[5]
    ๒.๓ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ข้อมูลจาก บ. Kantar[6] รายงานว่า ปชช. ใน สอ. เดินทางไปซื้อสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตในช่วง ๑๒ สัปดาห์ (๑๕ ก.พ. - ๑๖ พ.ค. ๖๔) มากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง ๕๘ ล้านครั้ง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า ๓.๘ พันล้านปอนด์ โดยประเมินว่าเกิดจากความเชื่อมั่นในแผนการฉีดวัคซีนใน สอ. และความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวันตามปกติที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยจากความคืบหน้าในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างทั่วถึง และจากการทยอยออกจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เม.ย. เป็นต้นมา ทำให้ ปชช. สามารถใช้บริการที่ร้านอาหาร ผับ และบาร์ได้ แม้ว่าการออกจากล็อกดาวน์จะส่งผลให้ยอดการซื้อสินค้าอาหารออนไลน์ลดลงร้อยละ ๐.๔ แต่พบว่ายอดขายสินค้าบางประเภทได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์ตกแต่งผม (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๖) อุปกรณ์ดูแลรักษารองเท้า (ร้อยละ ๕๐) น้ำยาบ้วนปาก (ร้อยละ ๑๖) และอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน (ร้อยละ ๒๐) ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่สอดคล้องกับการออกนอกบ้านมากขึ้นแล้วด้วย ทั้งนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางรายได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคดังกล่าว เช่น Iceland ซึ่งจำหน่ายสินค้าอาหารแช่แข็งได้ลดลงเนื่องจาก ปชช. เริ่มกักตุนอาหารแช่แข็งลดลง ในขณะที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตราคาย่อมเยา เช่น Aldi และ Lidl มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๒ และ ๔.๖ ตามลำดับเนื่องจาก ปชช. ต้องการซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลงเพื่อทดแทนรายจ่ายด้านอื่นที่เพิ่มขึ้น

๓. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๓.๑ รายงานของ ONS[7] ระบุว่า อัตราการว่างงานโดยรวมในไตรมาสที่หนึ่งปรับตัวลดลงจากร้อยละ ๔.๙ มาอยู่ที่ร้อยละ ๔.๘ ในเดือน ก.พ. นอกจากนี้ ตำแหน่งงานว่าง (vacancies) ในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. มีจำนวน ๖๕๗,๐๐๐ ตำแหน่ง[8] เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ๔๘,๔๐๐ ตำแหน่ง แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด (ม.ค. - มี.ค. ๖๓) ประมาณ ๑๒๘,๐๐๐ ตำแหน่ง สอดคล้องกับข้อมูลของ บ. Adzuna ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงานที่ รบ. สอ. ใช้เป็นตัวชี้วัดแนวโน้มการจ้างงาน ที่ระบุว่า อัตราตำแหน่งงานว่างที่ประกาศบนเว็บไซต์ล่าสุดเพิ่มขึ้นจาก ๖ สัปดาห์ที่แล้วร้อยละ ๑๘ โดยเฉพาะในส่วนของภาค hospitality ธุรกิจค้าปลีก และสันทนาการ อย่างไรก็ดี พบว่าสถิติการค้นหางานใน สอ. บนเว็บไซต์ของผู้สมัครจาก ปท. กลุ่มยุโรป ตต. และอเมริกาเหนือปรับตัวลดลงถึงร้อยละ ๕๐ นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ๖๓ กอปรกับจำนวนชาวต่างชาติที่ย้ายกลับถิ่นฐานของตนเมื่อปลายปี ๖๒ จากปัจจัย Brexit และจากวิกฤตโควิดในช่วงปี ๖๓ รวมแล้วประมาณ ๑.๓ ล้านคน[9] ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกังวลว่าปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในภาค hospitality และการค้าปลีก ซึ่งอาจทำให้ ศก. สอ. ฟื้นตัวได้ช้ากว่าการคาดการณ์
    ๓.๒ รายงานอีกฉบับของ ONS[10] ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer prices index - CPI) ในเดือน เม.ย. ๖๔ ปรับตัวขึ้นเป็นร้อยละ ๑.๕ (จากร้อยละ ๐.๗ ในเดือน มี.ค.) ซึ่งถือเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงแรกของวิกฤตโควิด สะท้อนว่าค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อใน สอ. ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือน มี.ค. กว่าเท่าตัว เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ ไฟฟ้า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีปัจจัยจากปริมาณความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ ๑๒ เม.ย. เป็นต้นมา นอกจากนี้ ONS[11] ยังประเมินว่า ราคาสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๙.๙ (จากร้อยละ ๖.๔ ในเดือน มี.ค.) โดยเฉพาะวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์ด้านการขนส่ง (transport equipment) และโลหะ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ๖๐ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ ธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England - BoE) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของ สอ. จะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๒.๕ ภายในสิ้นปีนี้ (สูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ ๒) โดยมีปัจจัยจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของโลก และการสิ้นสุดของมาตรการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ภาคธุรกิจ hospitality ในเดือน ก.ย. ศกนี้ [12] แต่น่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๒ ได้ในช่วงปี ๖๕ และ ๖๖ ตามเป้าหมาย                

. พัฒนาการที่มีนัยสำคัญต่อไทย
    - สคต. กรุงลอนดอน ได้วิเคราะห์แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคใน สอ. หลังออกจากการล็อกดาวน์ที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของไทย โดยอ้างอิงข้อมูลการสำรวจของนิตยสาร The Grocer ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้[13]
      ๑) รายได้ของผู้บริโภคเริ่มเพิ่มสูงขึ้น/ปชช. ใน สอ. มีเงินออมในบัญชีมากขึ้น – ข้อมูลของ ONS ประจำเดือน มี.ค. ๖๔ ระบุว่า รายได้โดยเฉลี่ยของ ปชช. ใน สอ. มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๑ และฐานอัตรารายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๔ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ พบว่า ปชช. ใน สอ. ใช้จ่ายเงินน้อยลงในช่วงการล็อกดาวน์ทำให้อัตราเงินฝากของ สอ. ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง ๑.๒๕ แสนล้านปอนด์ ทำให้มีกำลังซื้อและน่าจะมีความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้น ศก. ของ สอ. หลังออกจากการล็อกดาวน์
      ๒) ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ผู้บริโภคยอมรับราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น – จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคบางรายตระหนักว่าราคาสินค้าอาหารบางรายการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ๓ ใน ๔ ของผู้บริโภคคาดการณ์ว่าราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกภายใน ๑๒ เดือนนี้ ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคจะยังคงเลือกซื้อสินค้าเช่นเดิมแม้ว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นก็ตาม
      ๓) การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ได้ส่งผลให้ยอดขายสินค้าแฟชั่น ของใช้ และเทคโนโลยีสำหรับสัตว์เลี้ยงใน สอ. เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริษัท Pets at Home ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ มียอดจำหน่ายสินค้าในช่วงระหว่างเดือน มี.ค. ๖๓ – มี.ค. ๖๔ เป็นมูลค่าถึง ๑.๑ พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ มียอดขายเกิน ๑ พันล้านปอนด์นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทเมื่อปี ๒๕๓๔ ในขณะที่สมาคมอาหารสัตว์ใน สอ. (Pet Food Manufacturers' Association - PFMA) ได้ให้ข้อมูลว่าในช่วง ๑๒ เดือนตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรก (มี.ค. ๖๓ – มี.ค. ๖๔) ซึ่ง ปชช. ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีการนำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว มาเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์เลี้ยงใน สอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ ในช่วงดังกล่าว หรือคิดเป็นจำนวน ๓.๒ ล้านครัวเรือนใน สอ. ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงใน สอ. โดยเฉพาะสินค้าอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูง สินค้า luxury สำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

 

[1]https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/internationaltrade/articles/theimpactsofeuexitandthecoronavirusonuktradeingoods/2021-05-25
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-57140763
[3] https://www.gov.uk/guidance/red-amber-and-green-list-rules-for-entering-england
[4] https://www.alixpartners.com/media/17681/alixpartners-cga-market-recovery-monitor-may21.pdf
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-57087070
[6] https://www.kantar.com/inspiration/fmcg/2021-wp-shoppers-venture-out-as-vaccine-rollout-continues
[7] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/employmentintheuk/latest#summary
[8] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/jobsandvacanciesintheuk/may2021
[9] https://www.escoe.ac.uk/estimating-the-uk-population-during-the-pandemic/
[10] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/april2021
[11] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/producerpriceinflation/april2021
[12] https://www.gov.uk/government/publications/introduction-of-a-new-reduced-rate-of-vat-for-hospitality-holiday-accommodation-and-attractions
[13] https://www.thegrocer.co.uk/the-grocer-blog-daily-bread/how-food-and-drink-spending-will-change-in-the-covid-recovery-phase/656376.article