วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจสอ.
๑.๑ การส่งออก เมื่อวันที่ ๑๗ มิ.ย. ๖๔ รบ. สอ. ยื่นหนังสือถึง EU เพื่อขอขยายระยะเวลาช่วงผ่อนผันชั่วคราว (grace period) ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก และเนื้อสับของ สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือออกไปจากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๖๔ และต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. สอ. และ EU สามารถบรรลุข้อตกลงให้มีการขยายช่วง grace period ดังกล่าวออกไปชั่วคราวจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. ๖๔ ศกนี้[1] และตกลงที่จะหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันแบบถาวรในประเด็นดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ของ สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้วย เช่น การติดฉลากสินค้าระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายใน สอ. และไอร์แลนด์เหนือ และการวางจำหน่ายได้เฉพาะในซุปเปอร์มาร์เก็ตของไอร์แลนด์เหนือเท่านั้น โดยไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือขายต่อให้ผู้ประกอบการอื่นในห่วงโซ่อุปทานเพื่อผลิตสินค้าอื่นหรือจำหน่ายใน ปท. กลุ่ม EU ได้ เป็นต้น[2]
๑.๒ โทรคมนาคม บ. EE ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของ สอ. ที่มี บ. British Telecoms (BT) เป็นเจ้าของ ประกาศแผนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตข้ามเขต (roaming) ใน ปท. กลุ่ม EU จำนวน ๔๗ ปท. (ยกเว้นไอร์แลนด์) ในอัตรา ๒ ปอนด์ต่อวัน สำหรับสมาชิกรายใหม่ใน สอ. และสมาชิกรายเดิมที่เปลี่ยนแพ็คเกจหลังกลางเดือน ก.ค. ๖๔ โดยการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค. ๖๕ เป็นต้นไป[3] ในขณะที่ บ. O2 ประกาศใช้นโยบาย “fair usage” โดยอนุญาตให้สมาชิกสามารถใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือใน EU โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมและใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ไม่เกินความจุ ๒๕ กิกะไบต์ต่อเดือน บริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา ๓.๕๐ ปอนด์ต่อทุก ๆ ๑ กิกะไบต์ หากมีการใช้เกินความจุที่กำหนดโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ส.ค. ๖๔ เป็นต้นไป[4] นอกจากนี้ บ. Three ได้มีนโยบายคล้ายกันกับของ O2 โดยอนุญาตให้สมาชิกสามารถใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือใน EU โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมและใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ไม่เกินความจุ ๑๒ กิกะไบต์ต่อเดือน (จากเดิม ๒๐ กิกะไบต์ต่อเดือน)[5] ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเก็บค่าธรรมเนียม roaming ถือเป็นผลกระทบจากปัจจัย Brexit เนื่องจาก คตล. Withdrawal Agreement ระหว่าง สอ. – EU ไม่ได้ครอบคลุมการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวดังเช่นที่เคยเป็นมาในช่วงที่ สอ. ยังอยู่ใน EU ส่งผลให้บริษัทผู้ให้บริการของทั้งสองฝ่ายต่างทยอยปรับเปลี่ยนนโยบายการให้บริการ roaming ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป
๑.๓ รถยนต์ บ.Nissan ประกาศขยายการผลิตรถยนต์ระบบไฟฟ้าที่ศูนย์การผลิตในเมือง Sunderland ของ สอ.มูลค่า ๑ พันล้านปอนด์ โดยมีแผนพัฒนารถยนต์รุ่น Leaf ให้เป็นระบบไฟฟ้าและผลิตรถยนต์ระบบไฟฟ้ารุ่นใหม่ด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานที่ศูนย์การผลิตใน Sunderland เพิ่มจำนวน๙๐๙ ตำแหน่ง และกว่า ๔,๕๐๐ ตำแหน่งในห่วงโซ่อุปทานนอกจากนี้ บ. Envision AESC ซึ่งเป็นบริษัทหุ้นส่วนของ Nissan ได้ประกาศแผนสร้างศูนย์การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ระบบไฟฟ้าใหม่ภายในปี ๒๕๖๗ เพื่อรองรับรถยนต์ระบบไฟฟ้าของ Nissan จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คันต่อปีซึ่งคาดว่าจะเพิ่มการจ้างงานจำนวน ๗๕๐ ตำแหน่ง (รวม พนง. ปัจจุบันอีก ๓๐๐ ตำแหน่ง) ทั้งนี้ นรม. Boris Johnson ได้แสดงความยินดีและให้ความเห็นว่าแผนดังกล่าวสะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อ สอ.และช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานใน สอ. รวมทั้งยังช่วยลดมลพิษทาง สวล. ด้วย โดย รบ. สอ. มีส่วนสนับสนุนเงินลงทุนส่วนหนึ่ง (ไม่เปิดเผยจำนวน) เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อนึ่ง รบ. สอ. ได้ประกาศนโยบายห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๓๐ เป็นต้นไป[6]
๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๒.๑ ธุรกิจค้าปลีก สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office for National Statistics – ONS)[7]รายงานว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกโดยรวมในเดือน พ.ค. ๖๔ ลดลงจากเดือนที่แล้วร้อยละ ๑.๔ (แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๙.๑) ซึ่งมีปัจจัยจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้ ปชช. ออกมารับประทานอาหารและดื่มที่ร้านอาหาร ผับ และบาร์มากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตปรับตัวลดลงร้อยละ ๕.๗ อย่างไรก็ดี ยอดขายของสินค้าที่ไม่ใช่อาหารปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๒.๓ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙) ต้นไม้และอุปกรณ์ตกแต่งสวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๗) และน้ำมันรถยนต์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๒) ด้วย[8] นอกจากนี้ ข้อมูลจากบ. PwC ระบุว่า จำนวน ปชช. ที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยที่ retail park ในเขตปริมณฑลและ ตจว. มีมากกว่าในย่านธุรกิจค้าปลีก (high street) และห้างสรรพสินค้าทั่วไปส่งผลให้ยอดขายภาคค้าปลีกโดยรวมหลังปรับฐานการคำนวนตามฤดูกาลแล้วยังคงสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด (ก.พ. ๖๓) มากกว่าร้อยละ ๑๐ ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวและแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยข้างต้นทำให้ยอดขายออนไลน์โดยรวมลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สามจากร้อยละ ๒๙.๘ ในเดือน เม.ย. เป็นร้อยละ ๒๘.๕ (เคยเพิ่มขึ้นสูงสุดร้อยละ ๓๖ เมื่อเดือน ม.ค. ๖๔)[9]
๒.๒ โลจิสติกส์ ข้อมูลของสมาคมคลังสินค้าของ สอ. (UK Warehousing Association) ที่จัดทำโดย บ. Savills ระบุว่า พื้นที่คลังสินค้าของ สอ. ในปัจจุบันขยายตัวแบบก้าวกระโดดโดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๘ (ประมาณ ๔๒๘ ล้านตารางฟุต) อย่างน้อยร้อยละ ๓๒ โดยมีบริษัทด้านโลจิสติกส์ เช่น DHL และ Yodel เป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ คิดเป็นจำนวน ๑๐๖ ล้านตารางฟุต (จากเดิมในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๗๕ ล้านตารางฟุต) และร้านค้าปลีกออนไลน์ที่มีหน้าร้านอยู่แล้วจำนวน ๘๙ ล้านตารางฟุต (จากเดิม ๘๔ ล้านตารางฟุต) ในขณะที่ผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านมีพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ ๖๑๔ เป็นจำนวน ๖๐ ล้านตารางฟุต (จากเดิม ๘ ล้านตารางฟุต) ในรอบ ๖ ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังประเมินว่าความต้องการพื้นที่คลังสินค้าในไตรมาสที่ ๑ ของปีนี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ ๒๓๒ ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของวิธีการประกอบธุรกิจที่ปรับตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นโดยมีวิกฤตโควิดเป็นปัจจัยเร่ง รวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมใหม่และการผลิตสินค้าภายใน สอ. ที่เพิ่มขึ้นหลัง Brexit และวิกฤตโควิด เช่น การผลิตแบตเตอรี่และอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ บ. Savills วิเคราะห์ว่าการขยายตัวของภาคค้าปลีกออนไลน์จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์และก่อให้เกิดการจ้างงานในสาขาวิศวกรหุ่นยนต์และนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (data scientist) มากขึ้นด้วย[10]
๒.๓ ธนาคาร Lloyds Banking Group ซึ่งเป็นเจ้าของ ธ.Lloyds, Halifax และ Bank of Scotlandประกาศแผนปิดกิจการถาวรเพิ่มจำนวน ๔๔ สาขาทั่ว สอ. ซึ่งได้แก่ ธ. Lloyds จำนวน ๒๙ สาขา และ ธ. Halifax จำนวน ๑๕ สาขา ภายในช่วงเดือน ก.ย. – พ.ย. ๖๔ ศกนี้ (ก่อนหน้านี้เคยประกาศปิดกิจการจำนวน ๖๖ สาขา ทำให้รวมแล้วจะปิด ๑๑๐ สาขาในปีนี้) เนื่องจาก ปชช. นิยมทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์มากขึ้นในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ธนาคารหลายแห่งประกาศปิดกิจการเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและค่าเช่า โดยธนาคารหลายแห่งได้เปลี่ยนไปใช้ที่ทำการไปรษณีย์เป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านธุรกรรมทางการเงิน (Bank Hub) แก่ ปชช. ในบางเขตชุมชนแทน[11] ทั้งนี้ แผนปิดกิจการข้างต้นทำให้ ธ. Barclays ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ ๑ ไว้ได้ต่อไปแม้จะปิดสาขาแล้ว ๖๓ สาขาในปีนี้ก็ตาม
๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
เมื่อวันที่ ๑๗ มิ.ย. ๖๔ นาย Rishi Sunak รมว. กค. สอ. เป็นประธานในพิธีเปิดทำการธนาคารเพื่อโครงการสาธารณูปโภคของ สอ. (UK Infrastructure Bank - UKIB)[12] แห่งแรกอย่างเป็นทางการในเมือง Leeds ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ National Infrastructure Strategy ของ รบ. สอ. โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคในด้านต่าง ๆ ทั่ว สอ. เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและกระจายความเจริญใน สอ. อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนโครงการก่อสร้างที่สอดคล้องกับนโยบายด้าน สวล. ด้วย ทั้งนี้ UKIB ได้รับ งปม. สนับสนุนเริ่มต้นจาก กค. สอ. จำนวน ๑.๒ หมื่นล้านปอนด์ และมีวงเงินที่ได้รับค้ำประกันจาก รบ. สอ. อีกจำนวน ๑ หมื่นล้านปอนด์ เพื่อใช้รองรับการออกเงินกู้และการรับประกันเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานปกครองท้องถิ่นที่มีโครงการก่อสร้างในเขตภาคเหนือมูลค่ารวมมากกว่า ๔ หมื่นล้านปอนด์ได้
๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
ธนาคารอังกฤษ (Bank of England – BoE)[13] คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของ ศก. สอ. หลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์จะดีขึ้นต่อเนื่องและจะเติบโตได้ถึงประมาณร้อยละ ๒.๕ ในไตรมาสที่สองของปีนี้ แม้ว่าการออกจากล็อกดาวน์ขั้นสุดท้ายจะถูกเลื่อนออกไปก็ตาม ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ให้มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ ๓ ในบางช่วงของปีนี้ ซึ่งล่าสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๒.๑ ในเดือน พ.ค. ๖๔ (เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ BoE ที่ร้อยละ ๒) โดยเป็นผลมาจากปริมาณอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าปริมาณอุปทานในตลาดเนื่องจากหลาย ปท. ศก. ขนาดใหญ่เริ่มฟื้นตัวพร้อม ๆ กัน ปัญหาคอขวดด้านการขนส่งสินค้า ราคาพลังงานและสินค้าบริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทาง ศก. ที่ฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการลดหย่อนภาษีซื้อขายบ้าน (Stamp Duty Holiday) ของ รบ. สอ. สำหรับบ้านที่มีราคาไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์ (สิ้นสุดวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๖๔) และสำหรับบ้านที่มีราคาไม่เกิน ๒๕๐,๐๐ ปอนด์ (สิ้นสุดวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๔)[14] อย่างไรก็ดี BoE ยังคงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าค่าเป้าหมายจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ ๒๒ มิ.ย. ๖๔ จึงยังคงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ ๐.๑ เช่นเดิม เพื่อรักษาระดับการเติบโตและการจ้างงานใน สอ. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เมื่อมาตรการช่วยเหลือเริ่มสิ้นสุดลง
[1]https://www.gov.uk/government/news/extension-to-northern-ireland-protocol-grace-period-for-chilled-meats-agreed
[2]https://www.gov.uk/government/publications/declaration-by-the-united-kingdom-on-meat-products-30-june-2021/declaration-by-the-united-kingdom-on-meat-products-30-june-2021
[3] https://ee.co.uk/help/help-new/roaming-and-international/using-your-device-abroad/what-impact-will-brexit-have-on-roaming
[4]https://www.mirror.co.uk/money/o2-introducing-roaming-charge-anyone-24390109
[5] http://www.three.co.uk/Support/Roaming_and_international/Roaming_abroad
[6]https://www.bbc.co.uk/news/business-57666008
[7]https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/may2021
[8]https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/may2021
[9]https://www.pwc.co.uk/press-room/press-releases/pwc-comments-on-may-2021-ons-retail-sales-figures-.html
[10] https://www.bbc.co.uk/news/business-57547389
[11] https://www.bbc.co.uk/news/business-57582259
[12]https://www.gov.uk/government/news/uk-infrastructure-bank-opens-for-business
[13]https://www.bankofengland.co.uk/monetary-policy-summary-and-minutes/2021/june-2021
[14]https://www.gov.uk/guidance/stamp-duty-land-tax-temporary-reduced-rates