สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 31 มิ.ย. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 31 มิ.ย. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 758 view

๑. ภาคธุรกิจค้าปลีกและการบริการ
    ๑.๑ . DPD ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งพัสดุสินค้าใน สอ. วางแผนจ้าง พนง. ขับรถเพื่อจัดส่งพัสดุเพิ่มจำนวน ๓,๕๐๐ ตำแหน่ง และ พนง. ตำแหน่งอื่น ๆ รวมถึงช่างซ่อมเครื่องยนต์ และ พนง. จัดเรียงพัสดุจำนวน ๒,๕๐๐ ตำแหน่ง อีกทั้งยังมีแผนลงทุนซื้อรถขนส่งพัสดุ อุปกรณ์สแกนพัสดุ และคลังสินค้าภูมิภาคเพิ่มเติมคิดเป็นเงินจำนวน ๒๐๐ ล้านปอนด์ โดยนาย Dwain McDonald ปธ. ของ บ. DPD กล่าวว่า มาตรการ lockdown เป็นปัจจัยเร่งให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ใน สอ. ขยายตัวมากขึ้นหลายเท่าตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน โดยเทียบเท่ากับช่วงสูงสุดในช่วงเทศกาลสำคัญก่อนหน้านี้ ในขณะที่ข้อมูลจาก . McKinsey ระบุว่า การบริการจัดส่งพัสดุให้แก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐ ในช่วง lockdown คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๓ ยอดขายออนไลน์จะปรับลดลงเล็กน้อยหลังจากห้างร้านต่าง ๆ เริ่มทยอยเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงโดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๒๐ จากปี ๒๕๖๒ นอกจากนี้ . Kingfisher เจ้าของร้าน B&Q และ Screwfix ซึ่งเป็นร้านขายอุปกรณ์ตกแต่งและซ่อมแซมบ้านให้ข้อมูลว่า ยอดขายออนไลน์โดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง ๓ เท่าในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ๒๕๖๓ โดยบริษัทมีแผนจ้าง พนง. ชั่วคราวเพิ่มจำนวน ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ตำแหน่งในช่วงฤดูร้อนนี้จนถึงปลายปีนี้
    ๑.๒ บ. ไปรษณีย์ สอ. (Royal Mail) ประกาศแผนลดจำนวนและเลิกจ้าง พนง. ฝ่ายบริหารจำนวน ๒,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมดประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่ง) ภายในเดือน มี.ค. ๒๕๖๔ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานในปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๑๓๐ ล้านปอนด์ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีลูกค้าใช้บริการลดลงทำให้รายรับหดตัว ส่งผลให้กำไรก่อนหักภาษีของบริษัทในปี ๒๕๖๒ (มี.ค. ๒๕๖๒ - มี.ค. ๒๕๖๓) มีจำนวน ๑๘๐ ล้านปอนด์ ลดลงจากผลกำไรจำนวน ๒๔๑ ล้านปอนด์ในปี ๒๕๖๑ โดยนาย Mike Eatwell หัวหน้าสหภาพแรงงาน (Unite Union) ของ Royal Mail ให้ความเห็นว่า แผนเลิกจ้างนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายบริหารที่ไม่สามารถปรับตัวและปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้นเพื่อรองรับแนวโน้มการส่งพัสดุที่เพิ่มขึ้นได้ จนทำให้ผู้ใช้บริการหันไปใช้บริการของบริษัทอื่นมากกว่าเนื่องจากปัญหาการส่งล่าช้าและพัสดุสูญหาย ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมานาน อีกทั้งมีสถานการณ์ COVID-19 เป็นปัจจัยซ้ำเติม ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทแจ้งต่อผู้ถือหุ้นว่าจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลในปี ๒๕๖๓ และปี ๒๕๖๔ ทำให้หุ้นของบริษัทลดลงทันทีร้อยละ ๙
    ๑.๓ . Tesco ซุปเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของ สอ. ตกลงขายกิจการในโปแลนด์ให้แก่ บ. Salling Group ซึ่งเป็นบริษัทของเดนมาร์กด้วยราคา ๑๘๑ ล้านปอนด์ โดยนาย Dave Lewis ปธ. ของ บ. Tesco เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้ประสบปัญหาขาดทุนแต่จะมุ่งส่งเสริมกิจการในเช็ก ฮังการี และสโลวาเกียเป็นหลักหลังจากนี้ เนื่องจากบริษัทมีความได้เปรียบทางการตลาดมากกว่าในโปแลนด์ (ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. ๒๕๖๓ Tesco ได้ขายกิจการใน ปทท. และมาเลเซียด้วยราคา ๘ พันล้านปอนด์) นอกจากนี้ นาย Lewis กล่าวว่าบริษัทกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคหันไปจับจ่ายใช้สอยที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตราคาประหยัด เช่น Aldi และ Lidl มากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์ COVID-19 ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อลดจำนวนครั้งในการเดินทางมายังซุปเปอร์มาร์เก็ต เห็นได้จากสถิติจำนวนธุรกรรมในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาที่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ยอดซื้อเฉลี่ยต่อใบเสร็จแต่ละครั้งกลับสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งทำให้โดยรวมแล้วบริษัทยังมีผลประกอบการที่ดี ทั้งนี้ บ. Kantar Worldpanel ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดเปิดเผยผลการศึกษาในช่วง ๑๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า Tesco มีส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกใน สอ. มากเป็นลำดับที่หนึ่ง (ร้อยละ ๒๙.๖) รองลงมาเป็นที่สอง Sainsbury’s (ร้อยละ ๑๔.๙) ลำดับสาม Asda (ร้อยละ ๑๓.๙) ลำดับสี่ Morrisons (ร้อยละ ๑๐.๑) ลำดับห้า Aldi (ร้อยละ ๗.๕)  ลำดับหก Co-op (ร้อยละ ๗.๔)  ลำดับเจ็ด Lidl (ร้อยละ ๕.๘)  ลำดับแปด Waitrose (ร้อยละ ๔.๘)  ลำดับเก้า Iceland (ร้อยละ ๒.๕) และลับที่สิบ  Ocado (ร้อยละ ๑.๗)

๒. ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ สอ.
     ๒.๑ ข้อมูลจากธนาคารของอังกฤษ (Bank of England – BoE) พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านในเดือน พ.ค. ๒๕๖๓ มีจำนวนเพียง ๙,๓๐๐ ราย (จากจำนวน ๑๕,๙๐๐ รายในเดือน เม.ย.) ซึ่งลดลงจากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ถึงร้อยละ ๙๐ ถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดใน ปวศ. (ปกติมีผู้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านโดยเฉลี่ยมากกว่า ๗๐,๐๐๐ ราย/เดือน) อย่างไรก็ดี นาย Hansen Lu นักวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ของ บ. Capital Economics กล่าวว่า มาตรการ lockdown เป็นเพียงปัจจัยที่ชะลอการอนุมัติสินเชื่อและการซื้อขายบ้านเท่านั้น และคาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในเดือน มิ.ย. ที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัว ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากหน่วยสรรพากร สอ. (HM Revenue and Customs - HMRC) ระบุว่า ยอดการซื้อขายบ้านในเดือน พ.ค. ๒๕๖๓ มีจำนวนทั้งหมด ๔๖,๒๓๐ หลัง ปรับตัวลดลงร้อยละ ๕๒ เมื่อเทียบกับช่วงเดือน พ.ค. ๒๕๖๒ นอกจากนี้ข้อมูลจาก บ. Rightmove ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตัวกลางซื้อขายและเช่าอสังหาริมทรัพย์ พบว่า วิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้เช่า/ซื้อหันมาให้ความสำคัญกับบ้านที่มีสวนและพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น โดยในเดือน ม.ค. มีผู้สนใจเช่า/ซื้อห้องสตูดิโอมากที่สุดในขณะที่ในเดือน พ.ค. มีผู้สนใจเช่า/ซื้อบ้าน ๒ ห้องนอนมากที่สุด (โดยห้องสตูดิโอไม่ติดอันดับ ๑ ใน ๕) ทั้งนี้ แนวโน้มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านในปีนี้น่าจะลดลงเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจตามนโยบายของ รบ. สอ.
    ๒.๒ . Swissport ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านโลจิสติกส์ภายในสนามบินทั่ว สอ. ประกาศแผนเลิกจ้าง   พนง. จำนวนกว่า ๔,๐๐๐ ตำแหน่งทั่ว สอ. (จากทั้งหมด ๘,๕๐๐ ตำแหน่ง) โดยนาย Jason Holt หน. ฝ่ายบริหารของ   บ. Swissport กล่าวว่า บริษัทจำเป็นต้องลดขนาดองค์กรเพื่อประคับประคองบริษัทไว้ในระยะยาว เนื่องจากบริษัทกำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมการบินและแนวโน้มที่ปัญหาการลดจำนวนเที่ยวบินอาจคงอยู่ไปอีกระยะเวลานาน รวมทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทั้งนี้ ปัจจุบัน รบ. สอ. กำหนดให้ผู้โดยสาร รปท. ทุกรายต้องกักตนเองทันที ๑๔ วันเมื่อเดินทางถึง สอ. ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวและหลายฝ่ายกำลังเรียกร้องให้ รบ. สอ. ทบทวนมาตรการดังกล่าว

. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
     ๓.๑ ข่าว ศก. ในภาพรวมในช่วงครึ่งหลังของเดือน มิ.ย. สะท้อนการตื่นตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ ในการทยอยเปิด ทำการอีกครั้งตามนโยบายของ รบ. สอ. และการวางแผนรองรับกับการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ขั้นสุดท้ายในต้นเดือน ก.ค. ด้วย อีกทั้งยังเห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของบางธุรกิจที่เปิดทำการมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะร้านค้าปลีก จากรายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) พบว่า ยอดขายการค้าปลีกโดยรวมกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวต่อเนื่องโดยในเดือน พ.ค. ๒๕๖๓ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๑๒ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคธุรกิจค้าปลีกในเดือน พ.ค. อาจยังไม่ใช่สัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวแบบตัว V (V-shaped recovery) ของ ศก. สอ. หลังวิกฤต COVID-19 เนื่องจากธุรกิจภาคบริการอื่น ๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่า กอปรกับความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนน่าจะในช่วงหดตัวท่ามกลางแนวโน้มการเลิกจ้างที่จะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากนี้เมื่อมาตรการช่วยเหลือ Furlough Scheme เริ่มผ่อนตัวลง (รบ. สอ. จะเริ่มจ่ายชดเชยน้อยลงในเดือน ก.ค.)
   ๓.๒ อย่างไรก็ดี ศก. มหภาคของ สอ. ยังอยู่ในทิศทางลบ โดยรายงานของกองทุนการเงิน รปท. (International Monetary Fund – IMF) [1] ประเมินว่า ศก. โลกจะหดตัวในอัตราร้อยละ ๔.๙ (จากเดิมประเมินไว้เมื่อเดือน เม.ย. ๒๕๖๓ ที่ระดับร้อยละ ๓) ในขณะที่ ศก. สอ. ในปี ๒๕๖๓ จะหดตัวในอัตราร้อยละ ๑๐ (จากเดิมร้อยละ ๖.๕) โดยจะฟื้นตัวเป็นบางส่วนในปี ๒๕๖๔ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ OECD ก่อนหน้านี้ (ข้อ ๓.๑ ของ ทล. สอท. ที่ LON 392/2563 ลว. ๒๕ มิ.ย. ๖๓) ที่ประเมินว่า ปท. ในกลุ่ม ศก. ที่พัฒนาแล้วจะเป็น ปท. ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยเฉพาะ กลุ่ม ปท. ยุโรป ทั้งนี้ คาดว่า สอ. จะเป็นหนึ่งใน ปท. ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและส่งผลให้ ศก. สอ. ในปี ๒๕๖๕ จะมีขนาดเลหดตัวลงกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 โดยเป็นผลกระทบระยะยาวด้านความสามารถในการผลิตของประเทศที่ลดลงจากการปิดกิจการและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากรายงานด้านดุลบัญชีเดินสะพัด สอ.ของ ONS [2] ยังระบุด้วยว่า สอ. มีปัญหาขาดดุลทางการค้ามากขึ้นโดยในไตรมาสที่ ๑ ขาดดุล ๒๑.๑ พันล้านปอนด์ หรือ  ร้อยละ ๓.๘ ของ GDP ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สอ. พึ่งพาการไหลเวียนของเงินทุนจาก ตปท. ค่อนข้างมาก และเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินปอนด์ ซึ่งจะผกผันตามสถานการณ์ของวิกฤต COVID-19 และผลการเจรจา คตล. ทางการค้ากับ EU ด้วย โดยหากไม่สามารถบรรลุ คตล. ทางการค้าร่วมกันได้ภายในสิ้นปีจะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้ง



[1] https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2020/06/24/WEOUpdateJune2020

[2] https://www.ons.gov.uk/economy/nationalaccounts/balanceofpayments/bulletins/balanceofpayments/januarytomarch2020