สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 ก.ค. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 ก.ค. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 650 view

๑. ด้านการค้าและการบริการ
     ๑.๑ ด้านอาหาร บ. Pret A Manger ประกาศแผนปิดกิจการจำนวน ๓๐ สาขา และเลิกจ้าง พนง. จำนวนอย่างน้อย ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง เนื่องจากประสบปัญหายอดขายลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๒๕ ในขณะนี้โดยมีปัจจัยจากมาตรการล็อคดาวน์และแนวโน้มการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทจะพิจารณาแผนดังกล่าวอีกครั้งตามผลประกอบการที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ศกนี้ นาย Pano Christou ผู้บริหารของ Pret A Manger ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า COVID-19 ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะและ พนง. บริษัทซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของร้านลดลงอย่างมาก และขาดทุนประมาณเดือนละ ๒๐ ล้านปอนด์ ดั้งนั้น นอกจากการปิดสาขาย่อยแล้ว บริษัทจะขาย สนง. ใหญ่ใจกลางกรุงลอนดอนขนาด ๓๐,๐๐๐ ตารางฟุต และจะย้าย สนง. ไปตั้งในเขตปริมณฑลเพื่อลดต้นทุนถาวรด้วย นอกจากนี้ บ. SSP Group ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการร้าน Upper Crust/ Caffè Ritazza/ Camden Food Co. และ Cabin รวม ๕๘๐ สาขา ใน สอ. โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีรถไฟและสนามบินต่าง ๆ ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวนประมาณ ๕,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๙,๐๐๐ ตำแหน่งใน สอ.) รวมทั้ง ล่าสุด บ. Burger King ได้ประกาศแผนปิดกิจการจำนวนร้อยละ ๑๐ หรือประมาณ ๕๐ สาขา (จากทั้งหมด ๕๓๐ สาขาทั่ว สอ.) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๑,๖๐๐ ตำแหน่งด้วย โดยมีสาเหตุจากยอดขายอาหารฟาสฟู้ดมีแนวโน้มซบเซาในระยะยาวเช่นกัน
     ๑.๒ ห้างสรพพสินค้า ห้าง John Lewis ประกาศแผนปิดกิจการจำนวน ๘ สาขา ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าในเมือง Birmingham และในเมือง Watford รวมถึงสาขาภายในสนามบิน Heathrow และสถานีรถไฟ St Pancras Station ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๑,๓๐๐ ตำแหน่ง ในขณะที่ห้าง Harrods ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวนร้อยละ ๑๔ หรือจำนวน ๖๘๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมดจำนวน ๔,๘๐๐ ตำแหน่ง) ทั้งนี้ บริษัททั้งสองประเมินว่า COVID-19 ได้ส่งผลให้ผู้คนออกมาเดินซื้อของในห้าง (footfall) ลดลงหรือใช้เวลาในห้างน้อยลง รวมทั้งทำให้ นทท. ต่างชาติซึ่งเป็นลูกค้าหลักของห้างลดลงด้วย อย่างน้อยไปจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนซึ่งยังไม่อาจคาดการณ์ได้ ในขณะที่ในระยะสั้นต้องรับมือกับสภาวะขาดทุนต่อเนื่อง    นอกจากนี้ บ. Boots ได้ออกมาประกาศแผนปิดกิจการร้านแว่นตา (Boots Opticians) จำนวน ๔๘ สาขา โดยจะส่งผลกระทบต่อ พนง. กว่า ๔,๐๐๐ ตำแหน่ง หรือประมาณร้อยละ ๗ ของ พนง. ทั้งหมด เนื่องจากพบว่าเป็นส่วนที่มีโอกาสทำกำไรน้อยในระยะต่อไปและเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับปรุงทางธุรกิจ อีกทั้งยังพบว่าในช่วงที่ผ่านมาการให้บริการแผนกเครื่องสำอางค์และน้ำหอมซึ่งเป็นส่วนที่ทำกำไรให้แก่บริษัทมาตลอด กลับมียอดขายลดลงอย่างมากซึ่งอาจเป็นผลจากการที่ ปชช. ลดรายจ่ายจากสินค้าฟุ่มเฟือย
    ๑.๓ ธุรกิจแฟชัน บ. Torque Brands (ซึ่งอยู่ในเครือ บ. Stonebridge Private Equity) เป็นเจ้าของร้าน TM Lewin (ซึ่งเป็นร้านขายเสื้อเชิ้ตและชุดสูทสำหรับผู้ชายที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๔๑) ประกาศปิดร้าน TM Lewin ทั้งหมดจำนวน ๖๖ สาขาทั่ว สอ. โดยเหลือเพียงการซื้อขายออนไลน์เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๗๐๐ ตำแหน่ง ทั้งนี้ บริษัทชี้แจงว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าวเพื่อปรับตัวรับกับช่วงขาลงของย่านร้านค้าปลีก (high street) และต่อผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ล่าสุด ก่อนหน้านี้บริษัทอื่นในย่าน high street ได้มีแผนลด พนง. เช่นเดียวกัน เช่น บ. Clarks เลิกจ้าง พนง. จำนวน ๗๐๐ ตำแหน่ง/ บ. Mulberry ๕๐๐ ตำแหน่ง/ และ บ. Arcadia เจ้าของยี่ห้อ Topshop ๕๐๐ ตำแหน่งเป็นต้น

๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ สอ.
     ๒.๑ บ. Airbus ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑๕,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก ภายในช่วงฤดูร้อนปี ๒๕๖๔ โดยจะมีผลกระทบต่อ พนง. ใน สอ. จำนวน ๑,๗๐๐ ตำแหน่ง (หรือร้อยละ ๑๕ ของ พนง. ทั้งหมดใน สอ.) ในแผนกเครื่องบินเชิงพาณิชย์ที่ศูนย์ผลิตในเมือง Broughton และเมือง Filton บ. Airbus เผยว่า การผลิตของบริษัทลดลงถึงร้อยละ ๔๐ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย ๒ - ๓ ปี (๒๕๖๖) กว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาคึกคักเหมือนในช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ในขณะที่สายการบิน EasyJet ได้ประกาศปิดฐานการบินที่สนามบิน Stansted/ Southend และ Newcastle (จากทั้งหมด ๑๑ ฐานทั่ว สอ.) แต่ยังมีเที่ยวบินเข้าออกจากสนามบินดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าแผนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวนประมาณ ๑,๓๐๐ ตำแหน่ง
     ๒.๒ ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรของ ธ. Barclays พบว่า ในช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค. (๔ - ๕ ก.ค. ๖๓) ที่ รบ. สอ. อนุญาตให้ร้านอาหาร คาเฟ ผับ และธุรกิจด้าน Hospitality ต่าง ๆ เริ่มเปิดให้บริการได้ มีมูลค่าการจับจ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้คิดเป็นร้อยละ ๗ แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๒ ในขณะที่ ข้อมูลจาก ธ. Lloyds ระบุว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรที่ผับทั่ว สอ. เพิ่มขึ้นแต่โดยรวมยังต่ำกว่าอัตราโดยเฉลี่ยของการใช้จ่ายในช่วงสุดสัปดาห์ตลอดเดือน ก.พ. (ก่อนการล็อคดาวน์) ถึงร้อยละ ๖๕ อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวบ่งบอกได้ว่า ปชช. เริ่มจับจ่ายมากขึ้นตามนโยบายของ รบ. อย่างไรก็ดี ยังคงพบว่า ปชช. จำนวนมากยังขาดความมั่นใจโดยข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำระหว่างวันที่ ๒ - ๕ ก.ค. ๒๕๖๓ โดย ONS พบว่า ปชช. ร้อยละ ๓๙ รู้สึกกังวลในการรับประทานอาหารภายในร้านอาหาร และร้อยละ ๗๐ ไม่สบายใจในการใช้บริการที่โรงภาพยนตร์ จึงอาจเป็นปัจจัยในระยะสั้นที่หน่วงรั้งการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ Hospitality ของ สอ.

๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
     ๓.๑ ภาพรวมของข่าว ศก. สอ. ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.ค. ๒๕๖๓ สะท้อนความกังวลของภาคธุรกิจต่อผลกระทบระยะยาวในด้านอุปสงค์แม้ว่า สอ. จะเริ่มเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูระยะแรกแล้วหลัง รบ. สอ. ประกาศการผ่อนคลายล็อคดาวน์ขั้นสุดท้ายตั้งแต่วันที่ ๔ ก.ค. ที่ผ่านมา โดยหลายบริษัทของ สอ. โดยเฉพาะในภาคธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และการบิน ต่างประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. เป็นระลอกๆ รวมแล้วเกือบ ๒๐,๐๐๐ ตำแหน่งเพื่อพยายามลดต้นทุน ข้อมูลล่าสุดจาก Centre for Retail Research ระบุว่า ในปีนี้มีบริษัทค้าปลีกที่ปิดกิจการอย่างถาวรแล้วไม่น้อยกว่า ๔๐ ราย มีการปิดร้าน/สาขามากกว่า ๒,๖๐๐ แห่ง และส่งผลกระทบต่อ พนง. เกือบ ๖๐,๐๐๐ ตำแหน่ง นอกจากนี้ การสำรวจความคิดเห็นของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกขององค์กร Make UK คาดว่าจะมีบริษัทจำนวนมากกว่าร้อยละ ๔๐ ที่มีแผนเลิกจ้าง พนง. ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office for National Statistics - ONS) เปิดเผยรายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานในรอบเดือน ก.ค. พบว่าตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมามีผู้ที่ถูกเลิกจ้างสะสมแล้วประมาณ ๖.๕ แสนคน [1] และอัตราการว่างงานน่าจะสูงถึงร้อยละ ๑๑ (จากร้อยละ ๓.๖ ในช่วงก่อนหน้า COVID-19) ภายในสิ้นปีนี้
     ๓.๒ ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ในช่วงนี้น่าจะเป็นผลจากการประกาศยืนยันกำหนดสิ้นสุดของมาตรการจ่ายเงินช่วยค่าจ้างเพื่อรักษาการจ้างงาน (Furlough Scheme) ในเดือน ต.ค. ศกนี้ และจะปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างรักษาการจ้างงานไว้ต่อไปอย่างน้อยจนถึงเดือน ม.ค. ๖๔ แทนโดยจะได้รับเงินโบนัส (Job Retention Bonus) จำนวน ๑,๐๐๐ ปอนด์/ พนง. ๑ คน (ซึ่ง รบ. ตั้งเป้าไว้ ๙ ล้านตำแหน่ง) เป็นวงเงินจำนวน ๙ พันล้านปอนด์ แต่หลายฝ่ายมองว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้นายจ้างทำตามนโยบายของ รบ. ได้มากพอ ซึ่ง รบ. สอ. ยอมรับเองว่า คงไม่สามารถรักษางานไว้ทั้งหมดได้และผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวหลังวิกฤต
     ๓.๓ อย่างไรก็ดี รายงานของ ONS เกี่ยวกับสภาพ ศก. ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ สอ. เริ่มผ่อนคลายการล็อคดาวน์ขั้นแรก ปรากฏว่า GDP ของ สอ. ฟื้นตัวขึ้นจากในเดือน เม.ย. พอสมควร โดยปรับตัวจากติดลบร้อยละ ๒๐ เป็นเติบโตร้อยละ ๑.๘ [2] ซึ่งเป็นสัญญาณทางบวก ในขณะที่ข้อมูลการสำรวจ หน. จนท. ฝ่ายการเงินในภาคธุรกิจต่าง ๆ ของ สอ. จำนวน ๒,๘๐๐ ราย  ที่จัดทำโดยธนาคารของอังกฤษ (Bank of England – BoE) สะท้อนว่า บริษัทต่าง ๆ คาดว่ายอดขายในไตรมาสที่ ๓ จะปรับตัวต่ำกว่าปกติเล็กน้อยในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒๖ เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่ง รบ. สอ. ได้พยายามกระตุ้น ศก. ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และช่วยเหลือนายจ้างให้คงการจ้างงานไว้ต่อไปเพื่อลดผลกระทบในตลาดแรงงานแล้ว โดยล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ ก.ค. ๖๓ นาย Rishi Sunak รมว. กค. ประกาศแผนการฟื้นฟู ศก. ในระยะที่ ๒ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาการจ้างงานและการกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ โดยมีมาตรการที่สำคัญได้แก่ การสร้างโอกาสการจ้างงานให้กลุ่ม ปชก. อายุระหว่าง ๑๖ - ๒๔ ปี โดย รบ. สอ. ช่วยจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลา ๖ เดือน / การยกเว้นภาษีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (stamp duty) ชั่วคราวจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. ๖๔ สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์ / การลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับร้านอาหาร คาเฟ ผับ (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอออล์) โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว และโรงภาพยนตร์ จากอัตราร้อยละ ๒๐ เหลือร้อยละ ๕ เป็นเวลา ๖ เดือน (ก.ค. ๖๓ - ม.ค. ๖๔) /และการสนับสนุนคูปองส่วนลดค่าอาหารในร้าน (ไม่เกิน ๑๐ ปอนด์/คน) ทุกวันจันทร์-พุธ ตลอดเดือน ส.ค. ๖๓ (Eat Out to Help Out Scheme) เป็นต้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นแผนการกระตุ้น ศก. ที่ค่อนข้างครอบคลุม (comprehensive) แต่อาจไม่ได้ผลมากนักและจะยังคงเกิดการปิดกิจการในระดับที่สูง

 


[1] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/uklabourmarket/july2020

[2] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/may2020