วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มิ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ภาคธุรกิจค้าปลีกและการบริการ
๑.๑ เมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ๖๓ สอ. เข้าสู่ช่วงการผ่อนคลายการ lockdown ขั้นที่ ๒ ส่งผลให้มี ปชช. ออกมานอกบ้านเพื่อเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการแล้วจำนวนมากจนเกิดการต่อคิวเป็นแถวยาวตามมาตรการด้านสุขอนามัย เช่น ที่ตลาดกลางแจ้ง ร้านเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสวน และโชว์รูมรถยนต์ เป็นต้น โดยจากการประเมินของ บ. Springboard พบว่า ในอังกฤษ มี ปชช. ออกมาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๓๑ (โดยเฉลี่ยทั่ว สอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๘) เมื่อเทียบกับช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะร้าน IKEA จำนวน ๑๙ สาขา ทั่ว สอ. ที่มี ปชช. เดินทางไปรอซื้อสินค้าอย่างหนาแน่น อย่างไรก็ดี หากเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ยังพบว่า มี ปชช. ออกมาซื้อสินค้าลดลงกว่าร้อยละ ๖๒ เนื่องจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กและกลางอีกจำนวนมากยังคงปิดบริการโดยจะเปิดได้อีกครั้งในวันที่ ๑๕ มิ.ย. เป็นต้นไป ตามมาตรการของ รบ. สอ.
๑.๒ บ. Mulberry ยี่ห้อสินค้าแฟชั่นชื่อดังของ สอ. มานานกว่า ๕๐ ปีประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ถาวรร้อยละ ๒๕ หรือประมาณ ๔๗๐ ตำแหน่งจากทั้งหมด ๑,๔๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก (๑,๑๔๐ ตำแหน่งอยู่ใน สอ.) เพื่อลดรายจ่ายตามสภาวะตลาด โดยผู้บริหารบริษัทให้ข้อมูลว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้อุปสงค์สินค้าราคาแพงลดลงในอัตราสูงมากในขณะที่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ เนื่องจากปัจจัยด้านจิตวิทยาจากการสัมผัสสินค้าจริงที่มีส่วนช่วยกระตุ้นอุปสงค์ได้ขาดหายมากอย่างมากในช่วงมาตรการ lockdown และแม้ว่าบริษัทจะสามารถเปิดให้บริการได้อีกครั้งในวันที่ ๑๕ มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่มาตรการด้านสุขอนามัยและการรักษาระยะห่างทางสังคมยังเป็นอุปสรรคต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้า ตลอดจนปริมาณ นทท. ที่เดินทางมา สอ. ที่ลดลงมากจะส่งผลกระทบทางลบต่อยอดขายโดยรวมของบริษัทต่อไป แผนการลดขนาดของบริษัทดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ บ. สินค้าแฟชั่นอื่น ๆ ด้วยใน สอ. ด้วย เช่น Monsoon Accessorize (มีแผนเลิกจ้าง พนง. ๕๔๕ ตำแหน่งและปิดร้าน ๓๕ สาขา) และ Quiz Clothing (กำลังเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและมีแผนจะซื้อบริษัทคืนมาเพื่อให้เอื้อต่อการต่อรองกับเจ้าหนี้) ทั้งนี้ บ. Mulberry มีร้านใน สอ. ทั้งหมด ๕๕ สาขา โดยรวมถึงร้านค้าภายในห้าง John Lewis (๑๙ สาขา) และในห้าง House of Fraser (๑๔ สาขา) ซึ่งต่างมีแผนลดจำนวนสาขาใน สอ. ด้วยเช่นกัน
๑.๓ บ. The Restaurant Group (TRG) ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของกิจการเครือร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดใน สอ. ประกาศแผนปิดร้าน Frankie & Benny’s จำนวน ๑๒๕ สาขา (จากทั้งหมดกว่า ๒๐๐ สาขา) และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. ๖๓ บริษัทได้ประกาศแผนปิดร้าน Chiquito จำนวน ๖๑ สาขา (จากทั้งหมด ๘๐ สาขา) ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของสื่อมวลชนสาย ศก. มองว่า ร้านอาหารในรูปแบบที่ต้องรับประทานในร้าน (casual dining) หลายแห่งจะประสบปัญหาต้นทุนและราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและด้านสุขอนามัยในขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อและความต้องการน้อยลงจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมทั้งจะได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการต้องแข่งขันและแบ่งกำไรกับผู้ให้บริการส่งถึงบ้านที่มากขึ้นอีกในปีนี้ ทำให้ร้านอาหารและผับหลายรายที่ไม่สามารถปรับตัวได้อาจต้องเลือกที่จะปิดสาขาหรือปิดกิจการถาวรไปก่อนในระยะสั้น
๑.๔ องค์กรการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC) รายงานว่า ยอดขายในภาคค้าปลีกโดยรวมของ สอ. ในเดือน พ.ค. ๖๓ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๕.๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยจากมาตรการ lockdown แม้ว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ (ไม่รวมสินค้าประเภทอาหาร) จะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๖๐.๒ แต่ไม่สามารถทดแทนยอดขายที่ลดลงของร้านค้าปลีกในย่านธุรกิจ (high street) ได้ นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า ยอดขายสินค้าอาหารในเดือน พ.ค. ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๘.๗ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากปัจจัยของภูมิอากาศที่ทำให้ผู้บริโภคซื้ออาหารและเครื่องดื่มเพื่อนำไปรับประทานในสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ในส่วนยอดขายของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ สนง. อุปกรณ์ออกกำลังกาย และอุปกรณ์ของเล่นสำหรับเด็กยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านได้ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติจาก BRC และ บ. KPMG ชี้ให้เห็นถึงยอดขายสินค้าออนไลน์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. ร้อยละ ๖๒ จากผลของมาตรการ lockdown ซึ่งแม้จะลดลงจากร้อยละ ๗๐ ในเดือน เม.ย. แต่ยังคงอยู่ในแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 (เดือน ม.ค. - มี.ค. เฉลี่ยร้อยละ ๓๕)
๒. ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ สอ.
๒.๑ บ. รถยนต์ยี่ห้อ Aston Martin ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๕๐๐ ตำแหน่ง และปรับลดจำนวนการผลิตรถยนต์เพื่อลดต้นทุนหลังจากที่ยอดขายในไตรมาสที่ ๑ ของบริษัทปรับตัวลดลงร้อยละ ๓๐ นอกจากนี้ บ. Lookers ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๕๐๐ ตำแหน่งและปิดโชว์รูม ๑๒ สาขา (จากทั้งหมด ๑๔๘ สาขาทั่ว สอ.) ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ของ สอ.(Society of Motor Manufactueres and Traders – SMMT) ให้ข้อมูลว่า ตลาดรถยนต์ใน สอ. กำลังอยู่ในช่วงซบเซาอย่างหนักและยากที่จะฟื้นคืนมาในระดับเดิมก่อนวิกฤตการณ์ได้ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์เชื้อเพลิง เนื่องจาก รบ. สอ. มีนโยบายส่งเสริมให้ ปชช. ใช้พาหนะส่วนตัวที่มีมลพิษต่ำหรือใช้รถจักรยานและสกูตเตอร์มากขึ้นกว่าเดิม โดยสถิติการจดทะเบียนรถยนต์คันใหม่ในเดือน พ.ค. ๖๓ มีทั้งหมด ๒๐,๒๔๗ คัน แม้จะเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาแต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถือว่ามีอัตราลดลงถึงร้อยละ ๘๙ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติของเดือน พ.ค. ที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ๒๔๙๕
๒.๒ บ. BP ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตน้ำมันและพลังงานรายใหญ่ของ สอ. ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลกเนื่องจากประสบปัญหาราคาและปริมาณความต้องการน้ำมันลดลง โดยเป็นผลกระทบจากมาตรการ lockdown ทั่วโลกจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้ BP มีการจ้างงานใน สอ. ๑๕,๐๐๐ ตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. ใน สอ. จำนวนอย่างน้อย ๒,๐๐๐ ตำแหน่ง นอกจากนี้ บ. Centrica เจ้าของ บ. British Gas ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ๕,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๒๗,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึง ๒๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ใน สอ.) โดยผู้บริหารของ บ. Centrica ให้ข้อมูลว่า บริษัทต้องปรับโครงสร้างเพื่อรับกับแนวโน้มขาลงของบริษัทที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากมาตรการควบคุมราคาค่าไฟฟ้าและก๊าซสำหรับครัวเรือนของ รบ. (ประกาศตั้งแต่เดือน ม.ค. ๖๒) จึงทำให้บริษัทขาดทุน ๘๔๙ ล้านปอนด์ในปี ๒๕๖๒ (เมื่อเทียบกับผลกำไร ๙๘๗ ล้านปอนด์ในปี ๒๕๖๑) กอปรกับราคาก๊าซที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19
๒.๓ บ. Travis Perkins ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทก่อสร้างและขายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ของ สอ. ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ประมาณ ๒,๕๐๐ ตำแหน่ง (หรือร้อยละ ๙ ของ พนง. ทั้งหมด) เนื่องจากบริษัทประเมินว่า สภาวะ ศก. ที่ถดถอยใน สอ. ปัจจุบันจะส่งผลกระทบระยะยาวต่ออุปสงค์ในสินค้าวัสดุก่อสร้าง (รวมถึงเครื่องมือช่าง) จนถึงปีหน้า โดยบริษัทเปิดเผยว่า ยอดขายในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาลดลงร้อยละ ๔๐ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าจะมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงต้นเดือน มิ.ย. หลังจาก รบ. สอ. ประกาศการเข้าสู่แผนการฟื้นฟูประเทศขั้นที่ ๒ แต่บริษัทไม่คาดหวังให้อุปสงค์ฟื้นตัวกลับมาได้ดีเช่นก่อนช่วงวิกฤตการณ์ จึงจำเป็นต้องลดขนาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ พนง. ที่อยู่ในข่ายจะถูกเลิกจ้างใน ๑๖๕ สาขาย่อย (รวมห้าง Wickes และ Toolstation ซึ่งเป็นบริษัทในเครือด้วย)
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
๓.๑ ข่าว ศก. สอ. ในช่วงครึ่งแรกของเดือน มิ.ย. ชี้ให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า ในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. ๖๓ ศก. สอ. อยู่ในช่วงจุดต่ำสุดของวิกฤตการณ์ COVID-19 สังเกตได้จากกระแสการเลิกจ้าง พนง. ของภาคธุรกิจต่าง ๆ (สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. หรือ ONS คาดว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างแล้วประมาณ ๖ แสนคนในช่วง มี.ค – พ.ค. ๖๓) แม้ว่า รบ. สอ. จะมีมาตรการช่วงพยุงการจ้างงานแล้วก็ตาม ซึ่งรายงานผลกระทบ ศก. สอ. ของ ONS ในเดือน พ.ค. ๖๓ สะท้อนทิศทางดังกล่าวได้ดี โดยระบุว่า ศก. สอ. ในเดือน เม.ย. ๖๓ ปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ ๒๐.๔ ซึ่งถือเป็นสถิติการปรับตัวลดลงต่อเดือนที่สูงที่สุดใน ปวศ. (รุนแรงกว่าในช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี ๒๕๕๓ ถึง ๓ เท่า) โดยเป็นผลจากมาตรการ lockdown ตลอดทั้งเดือน นอกจากนี้ กค. สอ. ได้เปิดเผยว่า จนถึงวันที่ ๗ มิ.ย. ๖๓ มี พนง. ถูกพักงานชั่วคราวจำนวน ๘.๙ ล้านคนและมีผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว (self-employed) อีกจำนวน ๒.๖ ล้านคน ที่ได้รับเงินชดเชยตามมาตรการช่วยเหลือของ รบ. สอ. แล้ว ในขณะที่ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ประเมินว่า สอ. อาจเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทาง ศก. รุนแรงที่สุดในโลกจากวิกฤตการณ์ COVID-19 โดยคาดว่าภาพรวมของ ศก. สอ. ในปี ๒๕๖๓ จะปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๑.๕ ในกรณีที่ไม่มีการแพร่ระบาดรุนแรงระลอกที่ ๒ และร้อยละ ๑๔ หากมีระลอกที่ ๒ เกิดขึ้น
๓.๒ ในด้าน Brexit ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อ ศก. สอ. ในปีหน้า มีความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย. ที่ผ่านมา รบ. สอ. โดยนาย Michael Gove รมต. ประจำ ครม. สอ. ซึ่งกำกับดูแลด้าน Brexit ประกาศเป็นทางการว่า สอ. จะไม่ยอมรับหรือเสนอขอขยายกำหนดเวลาสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในสิ้นปี ๒๕๖๓ และการประกาศท่าทีดังกล่าวก็เพื่อสร้างความชัดเจนให้แก่ภาคธุรกิจ สอ. ให้สามารถเตรียมความพร้อมได้ในขณะเดียวกัน รบ. สอ. ได้เผยแพร่รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการควบคุมสินค้านำเข้าจากประเทศในกลุ่ม EU ที่จะใช้บังคับหลังสิ้นสุดช่วง transition period โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ [1] มีผลครอบคลุมสินค้าบางประเภทในช่วงต้นเดือน ม.ค. ๖๔ และจะทยอยเพิ่มประเภทสินค้าไปจนครบทุกรายการภายในเดือน ก.ค. ๖๔ เพื่อให้เวลาปรับตัวแก่ผู้ประกอบการ [2] อย่างไรก็ดี นาง Carolyn Fairbairn ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรม สอ. (Confederation of British Industry – CBI) เห็นว่า ท่าทีดังกล่าวของ รบ. สอ. แม้จะช่วยลดความไม่แน่นอนในอนาคต แต่อาจสร้างความกังวลเพิ่มเติมและกลายเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูของภาคธุรกิจหลังจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเรียกร้องให้ รบ. สอ. คงความพยายามในการหาข้อสรุปร่วมกับฝ่าย EU ต่อไปเพื่อบรรลุ คตล. ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า
[1] ระยะที่ ๑ (เริ่มในเดือน ม.ค. ๖๔) สินค้าประเภทควบคุม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ต้องผ่านจุดตรวจสินค้าและเสียภาษีศุลกากรตามอัตราที่กำหนด และสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตและพันธุ์พืชที่มีความเสี่ยงสูงต้องผ่านการตรวจสอบก่อนได้รับอนุญาตนำเข้า ระยะที่ ๒ (เริ่มในเดือน เม.ย. ๖๔) สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ทั้งหมด เช่น เนื้อสัตว์ อาหารสัตว์ น้ำผึ้ง นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไข่ รวมถึงสินค้าเกี่ยวกับพืชพันธุ์ต่าง ๆ ผู้ประกอบการต้องแจ้งความประสงค์นำเข้าก่อนล่วงหน้า และต้องมีใบรับรองความสะอาดและความปลอดภัย ระยะที่ ๓ (เริ่มในเดือน ก.ค. ๖๔) การนำเข้าสินค้าทุกประเภทต้องผ่านการตรวจสอบและเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดอย่างเต็มรูปแบบ
[2] https://www.gov.uk/government/news/government-accelerates-border-planning-for-the-end-of-the-transition-period