วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ด้านการค้าปลีก
๑.๑ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Co-op หนึ่งในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อรายหลักของ สอ. ประกาศแผนขยายกิจการเพิ่มจำนวน ๕๐ สาขา (ปัจจุบันมีประมาณ ๒,๖๐๐ สาขาทั่ว สอ.) และจ้างงานเพิ่มจำนวน ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง (ปัจจุบันมีการจ้างงานประมาณ ๕๕,๐๐๐ ตำแหน่ง) รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อรองรับการจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ด้วย โดยข้อมูลการสำรวจของ บ. Co-op พบว่า ผู้บริโภคที่ทำการสำรวจร้อยละ ๗๐ ยังคงนิยมซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในบริเวณใกล้บ้านในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่พึงพอใจต่อข้อจำกัดในการซื้อออนไลน์และการจัดส่ง และอีกส่วนหนึ่งยังคงชื่นชอบประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าจริง นอกจากนี้ Tesco ได้ประกาศแผนจ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๑๖,๐๐๐ ตำแหน่งประจำห้างและศูนย์กระจายสินค้าเช่นกัน และล่าสุด Iceland เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกแห่งหนึ่งที่ได้ประกาศแผนจ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง โดยเฉพาะในตำแหน่ง พนง. ขับรถจัดส่งสินค้าและ พนง. บรรจุสินค้าตามรายการสั่งซื้อออนไลน์หลังจากที่ปริมาณการสั่งสินค้าออนไลน์ตลอด ๖ เดือนที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้นถึง ๔ เท่า
๑.๒ ธุรกิจออนไลน์ Amazon ประกาศเปิดรับ พนง. ตำแหน่งถาวรเพิ่มขึ้นจำนวน ๗,๐๐๐ ตำแหน่ง (เมื่อรวมกับการจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้จำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง จึงรวมเป็นการรับเพิ่มทั้งหมด ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่งในปี ๒๕๖๓) และมีแผนจ้าง พนง. ชั่วคราวเพิ่มอีก ๒๐,๐๐๐ ตำแหน่งในช่วงเทศกาลคริสมาสต์เพื่อรองรับปริมาณการสั่งซื้อสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย ๓ เท่าตัว ทั้งนี้ บริษัทได้รับอานิสงส์จากช่วงการล็อกดาวน์ที่ร้านค้าส่วนใหญ่ปิดกิจการชั่วคราว จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้การซื้อขายออนไลน์ในเว็บ Amazon ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งก่อนหน้านี้ Amazon ได้เปิดใช้ศูนย์กระจายสินค้าที่นำระบบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Amazon Robotics) เข้ามาใช้ในการจัดเรียงสินค้าที่เมือง Darlington เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาและมีแผนเปิดศูนย์กระจายสินค้าใหม่อีก ๒ แห่งที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในเมือง Durham และเมือง Sutton-in-Ashfield ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้
๑.๓ จักรยานไฟฟ้า บ. Halfords รายงานว่า ยอดขายจักรยานไฟฟ้า และ e-scooter เพิ่มขึ้นมากกว่า ๓ เท่าตัวในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ ปชช. หลีกเลี่ยงการใช้บริการขนส่งสาธารณะ นาย Graham Stapleton หน. ผู้บริหารของ Halfords ให้ข้อมูลว่า ยอดขายของจักรยานในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗๑ โดยมียอดขายคิดเป็น ๑ ใน ๓ ของยอดขายสินค้าทั้งหมดของบริษัท (เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับยอดขายของปีที่ผ่านมา) ในขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจของ บ. Mintel (ที่ปรึกษาการตลาดของ Halfords) รายงานว่า ยอดขายจักรยานโดยรวมของปี ๒๕๖๒ มีจำนวนทั้งหมด ๒.๕ ล้านคัน มีราคาเฉลี่ยคันละ ๓๘๐ ปอนด์ ในจำนวนนี้เป็นจักรยานไฟฟ้าประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คัน ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายโดยรวม แต่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้มากถึงร้อยละ ๔๐ นอกจากนี้ Halfords รายงานว่า ความต้องการในการท่องเที่ยวภายในประเทศและการใช้ยานพาหนะมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. ส่งผลให้ยอดขายของอะไหล่/อุปกรณ์รถยนต์ รวมทั้งผลประกอบการของศูนย์ซ่อมรถของบริษัท (มีทั้งหมด ๓๖๗ สาขาทั่ว สอ.) ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ
๒.๑ ร้านอาหาร Costa Coffee ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๖๕๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๑๖,๐๐๐ ตำแหน่ง) และยกเลิกตำแหน่งบริหารระดับ ผช. ผจก. สาขา ทั่ว สอ. เพื่อลดต้นทุนของบริษัท โดยบริษัทชี้แจงว่า สถานการณ์ COVID-19 ทำให้จำนวนผู้เข้าใช้บริการโดยรวมลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจการสาขาที่อยู่ในย่าน สนง. มากที่สุด เนื่องจาก ปชช. จำนวนมากยังทำงานจากบ้าน แม้ว่า รบ. สอ. ได้มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดภาษี VAT และโครงการ “Eat Out to Help Out” ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ Hospitality แล้วก็ตาม แต่ปัจจัยจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลประกอบการจะกลับมาอยู่ในระดับเทียบเท่ากับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 ได้เมื่อใด นอกจากนี้ Pizza Hut ได้ประกาศปิดกิจการจำนวน ๒๙ สาขา (จากทั้งหมด ๒๔๔ สาขา) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๔๕๐ ตำแหน่งใน สอ.
๒.๒ สายการบิน บ. Virgin Atlantic ประกาศเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๑๕๐ ตำแหน่ง (เพิ่มเติมจากที่ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓,๕๐๐ ตำแหน่งไปแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา) เพื่อลดต้นทุน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพักงานชั่วคราวของ พนง. ตามความสมัครใจ จำนวน ๖๐๐ ตำแหน่ง โดยบริษัทจะให้เงินชดเชยรายเดือนหลังจากที่มาตรการ Furlough Scheme ของ รบ. สอ. สิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. ศกนี้ ทั้งนี้ ล่าสุด บ. Virgin Atlantic ได้รับการอนุมัติแผนฟื้นฟูบริษัทมูลค่า ๑.๒ พันล้านปอนด์ โดย บ. Delta Air Lines ซึ่งเป็นสายการบินของสหรัฐฯ ที่ถือหุ้นร้อยละ ๔๙ ของ บ. Virgin Atlantic มองว่า แผนฟื้นฟูนี้จะช่วยรักษาธุรกิจของสายการบิน Virgin Atlantic ให้ยังสามารถแข่งขันกับสายการบินคู่แข่ง ซึ่งได้แก่ บ. American Airlines และ บ. British Airways ใน สอ. โดยเฉพาะในตลาดสำคัญเช่นสนามบิน Heathrow ต่อไปได้
๓. นโยบายของ รบ. สอ.
๓.๑ เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย. ๖๓ นาง Liz Truss รมว. การค้า รปท. ได้ประกาศผลสำเร็จของ รบ. สอ. ในการจัดทำ คตล. ทางการค้า สอ. – ญี่ปุ่น (UK-Japan Comprehensive Economic Partnership Agreement) ซึ่งเป็น คตล. การค้าขนาดใหญ่ฉบับแรกของ สอ. หลังออกจาก EU (มูลค่าการค้าสองฝ่าย สอ. – ญี่ปุ่น คิดเป็นประมาณร้อยละ ๒ ของการค้า ตปท. ทั้งหมดของ สอ.) โดยจะส่งผลให้ร้อยละ ๙๙ ของสินค้า สอ. ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ ศก. สอ. โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๑.๕ พันล้านปอนด์ (หรือประมาณร้อยละ ๐.๗ ของ GDP สอ.) นอกจากนี้ ฝ่าย สอ. ถือว่าการจัดทำ คตล. ดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการปูทางไปสู่การเข้าร่วมเป็นภาคีใน Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ของ สอ. ต่อไป (สำเนาแถลงการณ์ของ ก. การค้า ตปท. สอ ปรากฏตามเอกสารแนบ) อย่างไรก็ดี ผู้แทนภาคเอกชน สอ. เช่น นาย Adam Marshall และนาง Carolyn Fairbairn ผู้บริหารของสภาหอการค้า สอ. (British Chambers of Commerce – BCC) และสภาอุตสาหกรรม สอ. (Confederation of British Industry - CBI) ตามลำดับ ได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. เพิ่มความพยายามในการเจรจาหาข้อตกลงกับ EU ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของ สอ. ให้เป็นผลสำเร็จด้วยซึ่งจะยิ่งช่วยให้ ศก. สอ. เติบโตและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
๓.๒ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (ONS) เปิดเผยรายงานสภาวะเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. [1] พบว่า อัตราเงินเฟ้อภาพรวมใน สอ. ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ ๖ เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ ๐.๒ (ร้อยละ ๑ ในเดือน ก.ค.) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารในโครงการ Eat Out to Help Out ของ รบ. สอ. ซึ่งจากการประมวลข้อมูลพบว่าได้ส่งเสริมให้เกิดการรับประทานอาหารนอกบ้านกว่า ๑๐๐ ล้านครั้งภายในเวลา ๑ เดือนเนื่องจากมีราคาถูกลง จึงส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารและปัจจัยยังชีพอื่นลดลงประมาณร้อยละ ๒.๖ (เทียบกับเดือน ส.ค. ของปีที่แล้ว)
๔. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
๔.๑ ภาพรวมของข่าว ศก. สอ. ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.ย. สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจบางสาขา โดยเฉพาะร้านค้าปลีกและร้านอาหารมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ข้อมูลจาก บ. Barclaycard ชี้ว่า การจับจ่ายใช้สอยโดยรวมของ ปชช. ในเดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๐.๒ (และเพิ่มขึ้นจากติดลบร้อยละ ๒.๖ ในเดือน ก.ค.) โดยมีปัจจัยจากยอดขายเสื้อผ้าและการชำระค่าบริการในผับและบาร์ที่ปรับตัวในทิศทางบวกเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน มี.ค. อย่างไรก็ดี ธุรกิจในภาค hospitality ยังคงซบเซา โดยโรงแรมและที่พักมียอดขายปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๙.๑ (บางโรงแรมที่มีราคาแพงและบริการลูกค้าต่างชาติเป็นหลักยังคงปิดบริการ) ในขณะที่การใช้จ่ายในภาคการบินและการท่องเที่ยวลดลงมากถึงร้อยละ ๖๑ เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. ๖๒
๔.๒ จากการศึกษาของ ONS พบว่าในเดือน ก.ค. ๖๓ ศก. สอ. ในภาพรวมปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ ๖.๖ (แต่ยังต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤต COVID-19) [2] โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แนวโน้มของการขยายตัวของภาคธุรกิจออนไลน์และการฟื้นตัวของภาคการค้าปลีกและบริการในเดือน ก.ค. และ ส.ค. จะช่วยพยุงให้ ศก. สอ. ออกจากสภาวะถดถอยในไตรมาสที่ ๓ นี้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ความกังวลส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาสที่ ๓ – ๔ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของ รบ. สอ. จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. ศกนี้ จึงอาจเป็นปัจจัยชะลอการฟื้นตัว ศก. ในไตรมาสที่ ๔ ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของ ONS [3] ระบุว่า อัตราการว่างงานของ สอ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๓.๙ เป็นร้อยละ ๔.๑ ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. ๒๕๖๓ อัตราการจ้างงานโดยรวมของ สอ. ตั้งแต่เดือน มี.ค. – ก.ค. ปรับตัวลดลงประมาณ ๖๙๕,๐๐๐ อัตรา โดยแรงงานที่มีอายุระหว่าง ๑๖ - ๒๔ ปี เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด (ถูกเลิกจ้างประมาณ ๑๕๖,๐๐๐ อัตรา)
๔.๓ พัฒนาการด้าน Brexit ในสัปดาห์นี้ยังไม่มีความคืบหน้าและมีบรรยากาศตึงเครียดจากการที่ รบ. สอ. เสนอร่าง กม. Internal Market Bill และสภาสามัญเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ ก.ย. ๒๕๖๓ เพื่อเป็นมาตรการสำรองหากเกิดกรณี No-deal Brexit และฝ่าย EU พยายามปิดกั้นการค้าเสรีระหว่าง สอ. กับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมีนัยเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีตาม คตล. Withdrawal Agreement (WA) (ตามนัย ทล. สอท. ที่ LON 582/2563 ลว. ๑๕ ก.ย. ๖๓) ทั้งนี้ พัฒนาการของ รบ. สอ. ดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านจากทั้งภายใน สอ. EU และสหรัฐฯ โดยล่าสุด EU ได้เรียกร้องให้ สอ. ถอนร่าง กม. Internal Market Bill ภายในสิ้นเดือน ก.ย. ศกนี้ เพื่อให้ยังสามารถเจรจา คตล. การค้าระหว่างกันต่อไปได้ ซึ่งฝ่าย รบ. สอ. ยังไม่มีการตอบสนองใด ๆ หากสถานการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไปก็ยิ่งทำให้โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุ คตล. ระหว่างกันมีน้อยและโอกาสที่จะเกิด No-deal Brexit มีมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. มาอยู่ที่ระดับ ๑ ปอนด์ ต่อ ๑.๐๗ ยูโร และที่ ๑ ปอนด์ต่อ ๑.๒๔ ดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ ๑๕ ก.ย. ๖๓)
[1] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/august2020
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-54113948
[3] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/regionallabourmarket/september2020#main-points