สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 31 ส.ค. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 31 ส.ค. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,115 view

๑. ด้านการค้าปลีกและอาหาร
    ๑.๑ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Tesco ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุดใน สอ. ประกาศ
แผนเพิ่มการจ้าง พนง. ประจำ ๑๖,๐๐๐ ตำแหน่ง แบ่งเป็น พนง. จัดสินค้าตามรายการสั่งซื้อของลูกค้า ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่งและ พนง. ขับรถจัดส่งสินค้า ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง (เพิ่มเติมจากในช่วงเดือน มี.ค. – มิ.ย. ที่ได้เปิดรับ พนง. ประจำเพิ่มจำนวน ๔,๐๐๐ ตำแหน่งและ พนง. ชั่วคราว ๔๗,๐๐๐ ตำแหน่ง) เพื่อรองรับกับแนวโน้มการขยายตัวของยอดจำหน่ายออนไลน์ในระยะยาว Tesco เปิดเผยว่า จำนวนลูกค้าออนไลน์ของบริษัทเพิ่มขึ้นจากประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คนในช่วงแรกของวิกฤต COVID-19 มาอยู่ที่ประมาณ ๑.๕ ล้านคนในปัจจุบัน นอกจากนี้ วิกฤต COVID-19 ทำให้ยอดขายทางออนไลน์ของบริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๙ เป็นร้อยละ ๑๖ ของยอดขายทั้งหมด ทั้งนี้ Tesco คาดว่า ยอดขายออนไลน์โดยรวมในปีนี้จะมีมูลค่ามากถึง ๕.๕ พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นจาก ๓.๓ พันล้านปอนด์ในปีที่ผ่านมา) ซึ่งแนวโน้มการขยายตัวดังกล่าวเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคถูกบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า และบริษัทเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรจึงเตรียมขยายขีดความสามารถในการจัดส่งสินค้าโดยมีปัจจัยหนุนจากการที่มีสาขาจำนวนมากเพื่อตอบสนองอุปสงค์ดังกล่าวแล้ว
     ๑.๒ ห้างสรรพสินค้า Marks & Spencer (M&S) ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๗,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๗๘,๐๐๐ ตำแหน่ง) ในส่วนของร้านค้าและ สนง. ภายใน ๓ เดือนข้างหน้านี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้จ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๑๕๐ ตำแหน่งในส่วนของคลังเก็บสินค้าออนไลน์ที่เมือง Castle Donington และอยู่ระหว่างการจ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๓๖๐ ตำแหน่งเพื่อประจำศูนย์กระจายสินค้าประเภทอาหารแห่งใหม่ที่เมือง Milton Keynes นอกจากนี้ มีแผนปรับโครงสร้างและจ้างงานเพิ่มเติมในส่วนบริการออนไลน์และการสั่งอาหารเพื่อตอบรับกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย M&S ใหข้อมูลว่า ยอดขายภายในร้าน (in-store) ของสินค้าประเภทเสื้อผ้าและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านยังคงปรับตัวลดลงถึงร้อยละ ๒๙.๙ ในช่วง ๘ สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมจากสาขาต่าง ๆ ลดลงมากถึงร้อยละ ๔๗.๙ ในขณะที่ยอดขายออนไลน์โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๙.๒ และยอดขายอาหารปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๒.๕ ในรอบ ๑๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา
      ๑.๓ ร้านอาหาร Pret A Manger ประกาศเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๓๐ ของ พนง. ทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. ที่มีแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง) และจะปิดกิจการจำนวน ๓๐ สาขา บริษัทเปิดเผยว่า ยอดขายโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แม้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือน ก.ค. - ส.ค. ที่มี ปชช. ออกมาเดินในย่านธุรกิจและการค้ามากขึ้น แต่ประเมินว่า ปชช. คนทำงานส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะทำงานจากที่บ้านและยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งแนวโน้มการลดขนาดธุรกิจดังกล่าวสอดคล้องกับอีกหลายบริษัท เช่น กลุ่ม The Restaurant Group (เช่น Pizza Express, Byron Burger และ Frankie & Benny) และในกลุ่ม SSP Group (เช่น Upper Crust และ Camden Food Co.) ที่กำลังทยอยปิดสาขาและเลิกจ้าง พนง. โดยเฉพาะในสาขาย่านธุรกิจและสนามบิน

๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ
    ๒.๑ ธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมผู้แทนการท่องเที่ยวของอังกฤษ (Association of British Travel Agents – ABTA) รายงานว่า วิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ พนง. ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกเลิกจ้างแล้วจำนวน ๓๙,๐๐๐ ตำแหน่ง หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๘ ของ พนง. ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด โดย ABTA คาดว่าบริษัททัวร์นำเที่ยว ตัวแทนจำหน่ายบัตรเครื่องบินโดยสารและห้องพัก รวมถึงสายการบินจะดำเนินแผนเลิกจ้าง พนง. เพิ่มอีกหลายพันตำแหน่งในอนาคตจากความไม่แน่นอนและความยากลำบากในการเดินทาง รปท. ทั้งนี้ ABTA ได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. ออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมนี้เพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ ปชช. และกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น การกำหนดพื้นที่เสี่ยงที่แคบลงและเป็นการเฉพาะแทนการกำหนดแบบทั้ง ปท. การยกเลิกภาษีสนามบินชั่วคราว (Air Passenger Duty – APD) และการขยายมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) สำหรับธุรกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ เป็นต้น ล่าสุด บ. STA Travel ซึ่งเป็นบริษัทนำเที่ยวที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็น นร./นศ. ประกาศยุติธุรกิจทำให้บริษัทต้องปิดกิจการทั้งหมดจำนวน ๕๐ สาขาใน สอ. และส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๕๐๐ ตำแหน่ง ในขณะที่ บ. Hays Travel ได้เลิกจ้าง พนง. ไปแล้วอย่างน้อย ๙๐๐ ตำแหน่ง
     ๒.๒ การบิน บ. Rolls-Royce รายงานว่า บริษัทประสบผลขาดทุนก่อนหักภาษีมูลค่า ๕.๔ พันล้านปอนด์ในครึ่งปีแรก และประกาศยืนยันการปิดศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบินในเขต Nottinghamshire และ Lancashire ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง โดยบริษัทประเมินว่าวิกฤต COVID-19 ทำให้เกิดภาวะชะงักงันในภาคการบินและการท่องเที่ยว ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย ๕ ปีกว่าปริมาณความต้องการในการเดินทางจะฟื้นตัวมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงปลายปี ๒๕๖๒ ทั้งนี้ นาย Warren East ผอ. ของ บ. Rolls-Royce ให้ความเห็นว่า บริษัทกำลังประสบกับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุดใน ปวศ. โดยจำเป็นต้องปิดศูนย์การผลิตจาก ๑๑ แห่งทั่วโลกให้เหลือเพียง ๖ แห่ง และมีแผนเลิกจ้าง พนง. ประมาณร้อยละ ๒๐ ของ พนง. ทั้งหมด (หรือประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก) นอกจากนี้จะขายกิจการในสเปน (ITP Aero) และสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อสร้างสภาพคล่องให้ได้ ๒ พันล้านปอนด์สำหรับแผนการปรับโครงสร้างนี้ด้วย
     ๒.๓ สนามบิน สนามบิน Gatwick ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๖๐๐ ตำแหน่ง เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงเกือบร้อยละ ๖๖ (ลดลงประมาณ ๑๔.๗ ล้านคน) ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๓ ทำให้สนามบินสูญเสียรายได้คิดเป็นมูลค่า ๓๔๔ ล้านปอนด์ (เทียบกับปีที่ผ่านมา สนามบิน Gatwick สามารถทำกำไรได้มูลค่า ๕๙.๔ ล้านปอนด์)
โดยขณะนี้ ร้อยละ ๗๕ ของ พนง. ของสนามบินยังรับเงินช่วยเหลือค่าจ้างจากมาตรการ Furlough Scheme นอกจากนี้ บ. Swissport / บ. Menzies Aviation / บ. Worldwide Flight Services (WFS) และ บ. Dnata ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านโลจิสติกส์ภาคพื้นดิน ด้านอาหาร (catering) และเติมน้ำมันให้แก่สายการบินภายในสนามบินต่าง ๆ ใน สอ. ซึ่งมี พนง. รวมทั้งหมดประมาณ ๓๐,๐๐๐ ตำแหน่งได้ออกมาเตือนว่า บริษัทอาจต้องดำเนินแผนเลิกจ้าง พนง. เพิ่มเติมจำนวนมาก หาก รบ. สอ. ไม่สามารถออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังจากมาตรการ Furlough Scheme สิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. ศกนี้ได้ ก่อนหน้านี้ บ. Swissport ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ใน สอ. และไอร์แลนด์จำนวน ๔,๕๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๘,๕๐๐ ตำแหน่ง) ในขณะที่ บ. Menzies Aviation ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑๗,๕๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก
     ๒.๔ ธนาคาร ธ. Co-operative ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓๕๐ ตำแหน่ง และปิดกิจการจำนวน๑๘ สาขาภายในสิ้นปีนี้ โดยนาย Andrew Bester ปธ. ฝ่ายบริหารของ ธ. Co-operative ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำที่สุดใน ปวศ. ส่งผลให้รายได้ของธนาคารลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ของ ปชช. ที่เพิ่มมากขึ้นถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารตัดสินใจดำเนินแผนลดต้นทุนและปรับขนาดโครงสร้างขององค์กรเพื่อรักษาธุรกิจไว้ในระยะยาวท่ามกลางสภาวะ ศก. ที่ไม่แน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้ ธ. NatWest ได้ประกาศเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๕๕๐ ตำแหน่งจากการลดจำนวนสาขาเพื่อลดต้นทุนด้วยเช่นกัน โดยอ้างถึงปัจจัยของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น

๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๓.๑ ภาพรวมของข่าว ศก. สอ. ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ส.ค. สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว สายการบิน และธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานนี้ยังคงไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ได้โดยง่าย ซึ่งโดยปกติ
ช่วง ก.ค. - ส.ค. ถือเป็นฤดูแห่งการท่องเที่ยวของ สอ. แต่ความกังวลในด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการบังคับกักตนเอง ๑๔ วันบ่อยครั้ง ทำให้ ปชช. ใน สอ. และ นทท. ต่างชาติส่วนใหญ่ระงับการเดินทาง รปท. ทั้งนี้ รายงานการประเมินผลกระทบทาง ศก. สอ. ของ World Travel and Tourism Council (WTTC) [1] ระบุว่า สภาวะชะงักงันของการท่องเที่ยว รปท. ดังกล่าวอาจทำให้ สอ. สูญเสียรายได้โดยรวมกว่า ๒.๒ หมื่นล้านปอนด์ หรือประมาณ ๖๐ ล้านปอนด์ต่อวัน และผลจากปริมาณ นทท. ต่างชาติที่ลดลงทำให้รายได้ที่มาจากการจับจ่ายใช้สอยลดลงมากถึงร้อยละ ๗๘ หรือประมาณ ๔๒๐ ล้านปอนด์/สัปดาห์ โดยนาง Gloria Guevara ผู้บริหารของ WTTC ให้ความเห็นว่า รบ. สอ. ควรยกเลิกมาตรการบังคับกักตนเองโดยเปลี่ยนเป็นการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางถึง สอ. แทน นอกจากนี้ ข้อมูลจาก WTTC แสดงตัวเลขต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินใน สอ. ว่ามีการจ้างงานเกือบ ๔ ล้านตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ ๑๑ ของอัตราการจ้างงานทั้งหมดของ สอ.) และทำรายได้โดยเฉลี่ยให้แก่ สอ. เกือบ ๒ แสนล้านปอนด์/ปี (ร้อยละ ๙ ของรายได้ทั้งหมด) ในขณะที่ การจับจ่ายใช้สอยของ นทท. ต่างชาติใน สอ. ในปี ๒๕๖๒ คิดเป็นมูลค่า ๒.๘ หมื่นล้านปอนด์ (ร้อยละ ๑๗ ของรายได้ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด) และคิดเป็นร้อยละ ๘๕ ของรายได้โดยรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกรุงลอนดอน
    ๓.๒ อย่างไรก็ดี ข่าวส่วนใหญ่สะท้อนว่า ภาคธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร ผับ และคาเฟ เริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการเพิ่มตำแหน่งในส่วนของการบริการออนไลน์และการจัดส่งสินค้า
มากขึ้น จึงส่งผลให้หลายบริษัทมีผลตอบรับในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้น ศก. ของ รบ. สอ. อาทิ โครงการ “Eat Out to Help Out” [2] ด้วย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ OpenTable ซึ่งให้บริการจองโต๊ะสำหรับร้านอาหารใน สอ. ระบุว่า ในช่วง ๓ สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้บริการจองโต๊ะอาหารในวันจันทร์-วันพุธมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ ๖๑ โดยหน่วยงานสรรพากร สอ. (HM Revenue and Customs - HMRC) รายงานว่า ผู้ประกอบการได้ยื่นขอรับเงินส่วนต่างคืนแล้วคิดเป็นมูลค่า ๓๓๖ ล้านปอนด์ และคาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมเกิน งปม. ๕๐๐ ล้านปอนด์ที่ รบ. สอ. ตั้งไว้ นอกจากนี้ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) [3] รายงานว่า ธุรกิจค้าปลีกของ สอ. ในเดือน ก.ค. ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 เป็นครั้งแรก โดยมูลค่าของยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๔ และปริมาณของยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๖ เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ซึ่งหากแนวโน้มการฟื้นตัวทาง ศก. ในเชิงบวกยังคงเคลื่อนตัวเช่นนี้ต่อเนื่องในเดือน ก.ย.  - ต.ค. ถึงแม้ว่ามาตรการแทรกแซงของ รบ. สอ. จะเริ่มทยอยสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม หลายฝ่ายก็เชื่อว่า GDP ของ สอ. น่าจะเริ่มกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในไตรมาสที่ ๓ (จากที่หดตัวลงร้อยละ ๒๐.๔ ในไตรมาส
ที่สอง) จากปัจจัยที่ นร. ทั้งหมดเปิดภาคเรียนและผู้ปกครองกลับไปทำงานมากขึ้น

     ๓.๓ ในด้าน Brexit ในสัปดาห์นี้จะเป็นช่วงการเจรจารอบที่ ๘ ซึ่ง ฝ่าย สอ. มองว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการเจรจา คตล. ทางการค้ากับฝ่าย EU โดย นรม. Boris Johnson ได้ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของ สนง. นรม. สอ. เมื่อวันที่ ๗ ก.ย. ๖๓ มีสรุปสาระสำคัญว่า สอ. ไม่ประสงค์จะขยายช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่จะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. ๖๓ และพร้อมที่จะออกจาก EU โดยไม่มี คตล. ทางการค้าใด ๆ โดยจะมี คสพ. ทางการค้ากับ EU ต่อไปในแบบเดียวกับของออสเตรเลีย ซึ่งน่าจะดีสำหรับ สอ. เนื่องจากจะมีอิสรภาพอย่างเต็มที่ในการทำ คตล. ทางการค้ากับ ปท. อื่น ๆ ได้ทั่วโลกและมีอำนาจในการควบคุม กม. ข้อบังคับและชายแดน/น่านน้ำของตนอย่างสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ สอ. พร้อมที่จะพูดคุยกับฝ่าย EU เพื่อบรรลุ คตล. ที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนิน คสพ. ทางการค้ากับ EU ให้สะดวกขึ้นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จนถึงก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ EU ในเดือน ต.ค. ๖๓ และอาจพิจารณารูปแบบ คตล. ที่ EU มีกับแคนาดาเป็นต้นแบบด้วย อย่างไรก็ดี สอ. จะไม่ยอมแลกกับการสูญเสียข้อเรียกร้องพื้นฐานในฐานะ ปท. ที่เป็นอิสระเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่ง คตล. ดังกล่าวกับ EU ดังสำเนาแถลงการณ์ปรากฏตามเอกสารแนบ ทั้งนี้ สื่อมวลชนใน สอ. ต่างรายงานข่าวและประเมินว่า แถลงการณ์ของ นรม. Johnson ดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่งในการพยายามโน้มน้าวฝ่าย EU ให้ยินยอมตามข้อเรียกร้องหลัก ๆ ของ สอ. ได้แก่ ๑) การขอไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบางประการของ EU เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสมอภาค (level playing field) ๒) การรักษาสิทธิการประมงในน่านน้ำ สอ. และ ๓) การจำกัดบทบาทของศาลยุติธรรมยุโรปในกระบวนการยุติธรรมของ สอ. อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาส่วนใหญ่ในสังคม สอ. มีความกังวลกับท่าทีดังกล่าวเนื่องจากเชื่อว่า รบ. สอ. ยังเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์กรณีที่ไม่มีข้อตกลงทางการค้ากับ EU (No-deal Brexit) ได้ไม่ดีพอ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมผลกระทบทาง ศก. ที่เกิดจากวิกฤต COVID-19 ให้เลวร้ายกว่าเดิมลงไปอีก

[1] http://wttc.org/News-Article/WTTC-says-UK-looks-set-to-lose-22-billion-from-missing-tourists-and-visitors-due-to-pandemic

[2] โครงการนี้คือ ร้านอาหารลดราคาค่าอาหารให้ลูกค้าแต่ละคนลงร้อยละ ๕๐ โดย รบ. สอ. เป็นผู้สนับสนุนค่าอาหารที่ลดให้ลูกค้าร้อยละ ๕๐ ดังกล่าวในวันจันทร์-พุธเฉพาะ
ในเดือน ส.ค. ๖๓ และเฉพาะร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ

[3] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/july2020