สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 ส.ค. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 ส.ค. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,037 view
๑. ด้านการค้าปลีก
     ๑.๑  ร้านหนังสือ บ. WH Smith ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๕๐๐ ตำแหน่งใน สอ. (จากทั้งหมด ๑๔,๐๐๐ ตำแหน่ง) โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. ในร้านที่ตั้งอยู่ภายในสนามบินและสถานีขนส่งต่าง ๆ เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ ปชช. เดินทางน้อยลงมาก ผลประกอบการของสาขาที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวจึงลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย. จนถึงเดือน ก.ค. เฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ ๗๓ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และประเมินว่าขาดทุนสะสมรวมแล้วประมาณ ๗๐ - ๗๕ ล้านปอนด์ในปีงบนี้ (๑ ก.ย. ๖๒ - ๓๑ ส.ค. ๖๓) ทั้งนี้ นับตั้งแต่ รบ. สอ. ผ่อนคลายการล็อกดาวน์ขั้นที่ ๒ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นมา WH Smith ได้เปิดทำการสาขาในย่านธุรกิจทั้งหมดจำนวน ๕๗๕ สาขา และทยอยเปิดทำการสาขาภายในสนามบินและสถานีขนส่งได้เพียงประมาณร้อยละ ๕๐ (จาก ๕๘๐ สาขา)
      ๑.๒ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บ. Dixons Carphone (ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการร้าน Carphone Warehouse และร้าน Currys PC World) ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ในระดับ ผจก./ ผช. ผจก. และหัวหน้าทีมในส่วนของร้านค้าปลีกรวมจำนวน ๘๐๐ ตำแหน่งเพื่อลดต้นทุนของบริษัท ถึงแม้ว่ายอดขายในส่วนของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องเล่นเกมส์ในช่วงล็อคดาวน์จะเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยก่อนหน้านี้ในเดือน เม.ย. บริษัทได้ปิดกิจการของร้าน Carphone Warehouse ทั้งหมดจำนวน ๕๓๑ สาขา ซึ่งส่งผลให้เลิกจ้าง พนง. จำนวน ๒,๙๐๐ ตำแหน่งแล้ว รวมทั้งได้ย้ายกิจการดังกล่าวมารวมกับร้าน Currys PC World (มีทั้งหมดจำนวน ๓๐๕ สาขา) และเน้นการจำหน่ายบนเว็บไซต์แทน ทั้งนี้ บริษัทให้ข้อมูลว่ายอดขายในส่วนของโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ กอปรกับผลกระทบจากการปิดร้านในช่วงล็อคดาวน์ทำให้ผลกำไรก่อนหักภาษี (๒ พ.ค. ๖๒ - ๒ พ.ค. ๖๓) ลดลงร้อยละ ๕๐ มาอยู่ที่ประมาณ ๑๖๖ ล้านปอนด์
 
๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ สอ.
     ๒.๑ สถานออกกำลังกาย บ. DW Sports ซึ่งเป็นเจ้าของสถานออกกำลังกายจำนวน ๗๓ สาขา และร้านค้าชุดออกกำลังกายจำนวน ๗๕ สาขา ประกาศแผนเข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่างเป็นทางการ โดยจะหยุดให้บริการในส่วนของเว็บไซต์และร้านค้าปลีกทั้งหมดในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๑,๗๐๐ ตำแหน่ง และคาดว่าจะลดจำนวนสาขาของสถานออกกำลังกายลงด้วยในอนาคต เนื่องจากบริษัทจำเป็นต้องลดขนาดธุรกิจตามอุปสงค์ที่ลดลงโดย ปชช. หันไปออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส ทั้งนี้ รบ. สอ. สั่งปิดทำการสถานออกกำลังกายในอาคารมาตั้งแต่เดือน มี.ค. และเพิ่งอนุญาตให้เปิดทำการอีกครั้งเมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี บ. DW Sports ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการสถานออกกำลังกายยี่ห้อ Fitness First ใน สอ. ด้วย ยืนยันว่ากิจการของ Fitness First จำนวน ๔๓ สาขา
จะไม่ได้รับผลกระทบจากแผนดังกล่าว
     ๒.๒ ธุรกิจนำเที่ยว บ. Hays Travel ประกาศแผนการเลิกจ้าง พนง. จำนวนประมาณ ๙๐๐ ตำแหน่ง (พนง. ในส่วนการฝึกอบรมจำนวน ๓๔๔ คนและในส่วนการซื้อขายเงินตราต่างประเทศอีกจำนวน ๕๓๔ คน) หลัง รบ. สอ. ประกาศถอดสเปนออกจากรายชื่อ ปท. ที่ได้รับการยกเว้นการกักตนเอง ๑๔ วัน (travel corridors) เมื่อวันที่ ๔ ส.ค. เนื่องจากการประกาศดังกล่าวส่งผลให้ นทท. สอ. ยกเลิกการเดินทางไปสเปนจำนวนมาก กอปรกับแนวโน้มการลดการช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือการจ้างงาน (Furlough Scheme) ที่จะเริ่มบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินประกันสังคม (คิดเป็นประมาณร้อยละ ๕ ของเงินเดือน) ตั้งแต่ในเดือน ส.ค. เป็นต้นไป บริษัทจึงจำเป็นต้องลดรายจ่ายเพื่อรักษาธุรกิจไว้ ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่ามาตรการบังคับกักตนเองทุกรายไม่ได้ผลและสร้างผลกระทบกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมากกว่าภาคอื่น จึงสะท้อนการไม่มีประสิทธิภาพของ รบ. สอ. ในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเลือกที่จะใช้มาตรการห้ามเดินทางแบบไม่เลือกพื้นที่เป้าหมาย (blanket ban) แทนการควบคุมเฉพาะพื้นที่เสี่ยง (บริษัทให้ข้อมูลว่าพื้นที่ตอนใต้ของสเปนและหมู่เกาะ Balearic และ Canaries ซึ่งเป็นพื้นที่ของสเปนที่ชาวบริติชนิยมไปท่องเที่ยวมีอัตราการแพร่ระบาดต่ำกว่าของ สอ.)
     ๒.๓ ธนาคาร ธ. HSBC ประกาศแผนการเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓๕,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนตามแผนฟื้นฟูที่ได้ประกาศไว้เมื่อเดือน ก.พ. หลังจากที่ผลกำไรก่อนการหักภาษีในไตรมาสที่สองปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ ๘๐ มาอยู่ที่ประมาณ ๘๔๐ ล้านปอนด์จาก ๔.๗ พันล้านปอนด์ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ธนาคารต้องสำรองเงินมูลค่า ๒.๙ พันล้านปอนด์เพื่อประกันหนี้สูญ (bad debts/loan loss) ซึ่งประเมินมูลค่าไว้มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง ๗ เท่า กอปรกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ เป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดลูกค้าหลักของธนาคาร ซึ่งได้แก่จีนและฮ่องกง (ผลกำไรส่วนใหญ่ของธนาคารมาจากจีนและฮ่องกง) รวมถึง สอ. ด้วย ทั้งนี้ หลังจากที่ธนาคารรายงานผลกำไรและประกาศเร่งแผนเลิกจ้างดังกล่าว ราคาหุ้นของธนาคารปรับตัวลดลงร้อยละ ๕.๗ มาอยู่ที่ ๓๒๒ เพนซ์/หุ้น (ลดลงมากกว่าร้อยละ ๔๐ เมื่อเทียบกับราคาในเดือน ก.พ.) นอกจากนี้ ล่าสุด ธ. NatWest ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ประจำสาขาจำนวน ๕๕๐ ตำแหน่งเช่นกัน เพื่อลดต้นทุนจำนวน ๒๕๐ ล้านปอนด์ตามแผนที่ได้วางไว้ก่อนหน้าการเกิดสถานการณ์ COVID-19 และเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นตั้งแต่ช่วงล็อคดาวน์เป็นต้นมา ธ. NatWest ยังมีแผนปิด สนง. ในกรุงลอนดอน (มี พนง. จำนวน ๒,๕๐๐ ตำแหน่ง) รวมทั้งได้สำรองเงินประมาณ ๓.๕ - ๔.๕ พันล้านปอนด์เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบของ COVID-19 แล้ว ในขณะเดียวกันธนาคารรายย่อยอื่น ๆ เช่น TSB และ Virgin Money ต่างประกาศแผนลดจำนวนสาขาและ จนท. แคชเชียร์ประจำสาขา (คาดว่าจะส่งผลกระทบกับ พนง. อีกจำนวน ๓๐๐ ตำแหน่ง) ด้วยโดยอ้างแผนการลดต้นทุนในระยะยาว
    ๒.๔ บริการรถรับส่ง บ. Uber ประกาศการซื้อกิจการของ บ. Autocab บริษัทคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดใน สอ. (มีสัดส่วนการตลาดประมาณร้อยละ ๕๒) ซึ่งให้บริการจองรถรับส่งจากบริษัทผู้ประกอบการรถแท็กซี่/รถรับจ้างอิสระผ่านแอปพลิเคชัน “iGo” การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวถือเป็นการขยายฐานธุรกิจใน สอ. ของ บ. Uber ทำให้ขณะนี้บริษัทมีเครือข่ายให้บริการเพิ่มขึ้นจาก ๔๐ เมืองเป็น ๑๗๐ เมือง รวมถึงในเมือง Oxford และเมือง Doncaster ที่มีฐานลูกค้าในแอปพลิเคชันของ Uber หลายหมื่นครั้งต่อเดือน แม้ว่า บ. Uber จะมียอดขายลดลงมากในช่วงล็อคดาวน์ แต่บริษัทมองว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการขยายฐานธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว โดยคาดว่าอุปสงค์การใช้รถรับจ้างอิสระจะเพิ่มขึ้น
จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่มั่นใจการใช้บริการขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการ บ. Autocab ทำให้ลูกค้าของ Uber ได้รับความสะดวกโดยสามารถจองบริการรถรับส่งในเครือข่ายของ iGo ผ่าน Uber ได้ด้วย แต่ในด้านการบริหารจะยังคงแยกเป็นอิสระจาก บ. Uber

๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๓.๑ ภาพรวมข่าว ศก. ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ส.ค. ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการรายงานผลกระทบของ COVID-19 ที่สะท้อนว่า ภาคธุรกิจจำนวนมากตัดสินใจเลิกจ้าง พนง. เพื่อปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและอุปสงค์ที่ลดลงและยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาในระดับที่เคยเป็นก่อนวิกฤตโรคระบาด กอปรกับมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ของ รบ. สอ. จะเริ่มลดสัดส่วนการจ่ายเงินลงตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไปและจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. จึงทำให้ภาคธุรกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่สอง (รบ. สอ. เริ่มผ่อนคลายการล็อคดาวน์ตั้งแต่เดือน พ.ค.) จำเป็นต้องลดรายจ่ายด้วยการเลิกจ้าง พนง. นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจของสถาบัน Chartered Institute of Personnel and Development (CIPD) และ บ. Adecco (ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนการจ้างงาน) พบว่า ร้อยละ ๓๓ ของบริษัทใน สอ. จำนวน ๒,๐๐๐ ราย มีแผนการเลิกจ้าง พนง. ภายในไตรมาสที่สามโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ Hospitality การบริการขนส่ง และร้านค้าปลีก ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการว่างงานล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๑ ส.ค. ๖๓ ของสนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) ที่ระบุว่า มีผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการรวมแล้วกว่า ๒.๗ ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑๖.๘ เมื่อเทียบกับข้อมูล
ในเดือน มี.ค. ๖๓
    ๓.๒  สถานการณ์ ศก. มหภาคของ สอ. ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักทางธุรกรรมต่าง ๆ ในช่วงการล็อคดาวน์ โดยเมื่อวันที่ ๑๒ ส.ค. ๖๓ ONS ได้เผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานการณ์ทาง ศก. ฉบับล่าสุดในเดือน มิ.ย. ๖๓ พบว่า ศก. สอ. ในไตรมาสที่สองหดตัวในอัตราร้อยละ ๒๐.๔ ทำให้ สอ. เข้าสู่สภาวะถดถอยทาง ศก. ที่ร้ายแรงที่สุดใน ปวศ. และถือเป็นการหดตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ ปท. อื่นในยุโรปและกลุ่มประเทศที่ ศก. ขนาดใหญ่ (เช่น เยอรมนีหดตัวร้อยละ ๑๑.๙ และสหรัฐฯ ร้อยละ ๑๐.๖ เป็นต้น 3) โดย ONS ประเมินว่าปัจจัยหลักมาจากการที่ สอ. เข้าสู่การล็อคดาวน์ช้าและยาวนานกว่า ปท. อื่น และการที่ ศก. สอ. พึ่งพาภาคธุรกิจบริการซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๘๐ ของ GDP นอกจากนี้ ปริมาณการลงทุนใน สอ. ได้ปรับตัวลดลงร้อยละ ๓๑.๔ ตั้งแต่ในไตรมาสที่ ๑ และคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งเนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ยกเลิกหรือเลื่อนแผนการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อนแล้ว
    ๓.๓ ข้อมูลจากหน่วยงานสรรพากร สอ. (HM Revenue and Customs - HMRC) รายงานว่า มาตรการกระตุ้น ศก. ที่เริ่มใช้ในเดือน ส.ค. ของ รบ. สอ. โดยเฉพาะโครงการ “Eat Out to Help Out” (การให้ส่วนลดค่าอาหารในร้านอาหารไม่เกิน ๑๐ ปอนด์/คน ทุกวันจันทร์-พุธ ตลอดเดือน ส.ค. ๖๓) ปรากฎว่าในสัปดาห์แรก มี ปชช. เข้าใช้บริการตามร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการแล้วมากถึงกว่า ๑๐.๕ ล้านครั้ง โดยเฉลี่ยคิดเป็นเงินมูลค่าครั้งละ ๕ ปอนด์/คน หรือมีมูลค่ากว่า ๕๐ ล้านปอนด์ ทั้งนี้ นาย Rishi Sunak รมว. กค. สอ. พอใจกับการตอบรับที่ดีของ ปชช. ต่อโครงการนี้และเชื่อว่าจะช่วยรักษาการจ้างงานในภาคธุรกิจ Hospitality ไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ข้อมูลจาก บ. วิเคราะห์การตลาด Springboard สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้น ศก. ดังกล่าวยังมีผลทางอ้อมช่วยสนับสนุนร้านค้าปลีกด้วย โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวน ปชช. ในย่านร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าระหว่างวันจันทร์-พุธ ในช่วงเย็น (หลัง ๑๘.๐๐ น.) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘.๙ และในช่วงกลางวันเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๖ อย่างไรก็ดี สถิติดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่าสามเท่าจึงยังคงต้องติดตามพัฒนาการต่อไป
   ๓.๔ สำหรับพัฒนาการเรื่อง Brexit ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณในทางบวกจากทั้งสองฝ่ายมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ ๑๓ ส.ค. ๖๓ นาย David Frost หน. คณะเจรจาของ สอ. ระบุในทวิตเตอร์ส่วนตัวแสดงความเชื่อมั่นว่า สอ. และอียูจะสามารถเจรจาจัดทำ คตล. ทางการค้าระหว่างกันได้สำเร็จภายในเดือน ก.ย. ศกนี้ โดย สอ. ต้องการเพียง คตล. ที่มีหลักการภายใต้กรอบการค้าเสรี (FTA) เหมือนกับ คตล. ทางการค้าระหว่างอียู-แคนาดาเท่านั้น รวมทั้งแสดงจุดยืนว่า สอ. จะไม่เจรจาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยทางกระบวนการยุติธรรมและสิทธิน่านน้ำเพื่อการประมงของ สอ. และไม่ประสงค์ที่จะทำลายเอกภาพและหลักการของ EU single market ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเจรจารอบที่ ๗ ในช่วง ๑๘ - ๒๑ ส.ค. ศกนี้