สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ก.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ก.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,509 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Marks & Spencer (M&S) ประกาศแผนลดจำนวนสินค้าประเภทอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายสำหรับช่วงเทศกาลคริสมาสต์ เช่น พาย (pie) และตับบด (pate) ในไอร์แลนด์เหนือหลังพ้นช่วงเวลาช่วงผ่อนผันชั่วคราว (grace period) ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ทำจากเนื้อสัตว์จาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือในวันที่ ๓๐ ก.ย. ศกนี้[1] เพื่อหลีกเลี่ยงขั้นตอนการดำเนินการที่ซับซ้อนและความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นในการขนส่งสินค้าข้ามแดน รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าในไอร์แลนด์เหนือเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากพิธีการด้านเอกสารและภาษีขาเข้าด้วย โดย M&S มีส่วนแบ่งตลาดในไอร์แลนด์เหนือที่ใหญ่กว่าใน สอ. เป็นเท่าตัว[2] ซึ่งคาดว่าปัจจัยจากกฎระเบียบใหม่หลัง Brexit นี้จะส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยรวมของบริษัทบนเกาะไอร์แลนด์และต่อยอดการส่งออกโดยรวมของ สอ. ด้วย ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของ M&S ไปยังไอร์แลนด์บางรายการด้วยเช่นกัน อาทิ กรณีรายการที่มีส่วนประกอบหลากหลายซึ่งต้องใช้ใบรับรองสุขภาพสัตว์หรือพืชอย่างน้อย ๓ ฉบับต่อรายการทำให้มีต้นทุนสูง (จากการจ้างสัตวแพทย์ประจำและกระบวนการตรวจสอบเอกสารที่พรมแดน) เป็นต้น
     ๑.๒ ผลิตภัณฑ์ยา British Generic Manufacturers Association (BGMA) ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยจากการสิ้นสุดช่วงเวลาผ่อนผันชั่วคราว (grace period) ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาจาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๔ ศกนี้[3] อาจทำให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยาของ สอ. ต้องยกเลิกการส่งออกยาไปยังไอร์แลนด์เหนือรวมกว่า ๒,๐๐๐ รายการ เนื่องจากภายใต้กฎระเบียบใหม่บริษัทผู้ส่งออกยาจาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือจำเป็นต้องมีใบรับรองผลิตภัณฑ์ยาตามมาตรฐานของ EU และดำเนินขั้นตอนด้านศุลกากรสำหรับการส่งออกไปยังไอร์แลนด์เหนือเพิ่มเติมซึ่งหลายบริษัทเห็นว่าเป็นขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัท จึงได้รวมตัวกันแจ้งข้อเรียกร้องให้ รบ. สอ. มีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤต[4] ล่าสุด รบ. สอ. ได้ใช้ข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอให้ฝ่าย EU พิจารณายกเลิกการตรวจสอบสินค้าที่ด่านสินค้าระหว่าง สอ. กับไอร์แลนด์เหนือเกือบทั้งหมดเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าของทั้งสองฝ่าย และเจรจาแก้ไขพิธีสารไอร์แลนด์เหนือตาม คตล. Withdrawal Agreement อย่างไรก็ดี ผู้นำฝ่าย EU ได้ยืนยันแล้วว่าไม่ประสงค์จะเจรจาใหม่และขอให้ฝ่าย สอ. ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันแล้วภายใต้พิธีสารฯ ฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อก็มีแนวโน้มว่าฝ่าย สอ. อาจพิจารณาใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อบรรเทาผลกระทบซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับฝ่าย EU เช่นกัน

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ การบิน สนามบิน Heathrow เปิดเผยว่า สนามบินสูญเสียกำไรในช่วงครึ่งปีแรกของปี ๖๔ คิดเป็นมูลค่า ๘๖๘ ล้านปอนด์ และมีหนี้สะสมเกือบ ๓ พันล้านปอนด์ เนื่องจากมีผู้ใช้บริการในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมาน้อยกว่า ๔ ล้านคน (เทียบกับสถิติก่อนวิกฤตในปี ๖๒ ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการที่สนามบินประมาณ ๔ ล้านคนภายใน ๑๘ วัน) และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการสูงสุดรวมประมาณ ๒๑.๕ ล้านคนในปี ๖๔[5] ทั้งนี้ Heathrow ให้ความเห็นว่า มาตรการคัดกรองผู้เดินทางของ สอ. แบบ Traffic Light System ที่เน้นจำกัดพื้นที่ที่ ปชช. สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวก กอปรกับค่าใช้จ่ายชุดตรวจหาเชื้อโควิดมีราคาแพง ถือเป็นอุปสรรคทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและ ศก. สอ. ฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่า EU โดยเมื่อเทียบจากข้อมูลของ Airlines UK[6] พบว่า ยอดการจองบัตรโดยสารเครื่องบินใน EU ในเดือน มิ.ย. ๖๔ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๕๐ ของช่วงก่อนวิกฤตโควิด ในขณะที่ยอดการจองใน สอ. อยู่ที่ระดับร้อยละ ๑๖ ของช่วงก่อนวิกฤตเท่านั้น นอกจากนี้ จำนวน นทท. จากสหรัฐฯ ที่เดินทางเข้ามา สอ. คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของช่วงก่อนวิกฤตแต่เดินทางไป EU คิดเป็นร้อยละ ๖๕ อย่างไรก็ดี หลังออกจากล็อกดาวน์ รบ. สอ. มีนโยบายผ่อนคลายมากขึ้นโดยเมื่อวันที่ ๒๘ ก.ค. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศนโยบายยกเว้นการกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสจากสหรัฐฯ หรือจาก EU หรือวัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO สามารถเดินทางเข้า สอ. จากพื้นที่กลุ่มเสี่ยงปานกลาง (Amber List) ตั้งแต่เดือน ส.ค. ๖๔ เป็นต้นไป[7] ทำให้กลุ่มธุรกิจการบินคาดว่าการฟื้นตัวของการเดินทางจะเริ่มดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีหลัง
    ๒.๒ แฟชั่น บ. Burberry[8] เปิดเผยว่า รายได้โดยรวมของบริษัทในช่วงตั้งแต่เดือน มี.ค. - มิ.ย. ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ ๘๖ มาอยู่ที่ ๔๗๙ ล้านปอนด์ และมียอดขายมากกว่าในช่วงเดียวกันของปี ๖๒ ร้อยละ ๑ โดยเป็นยอดขายออนไลน์มากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด ในขณะที่ บ. Mulberry[9] เปิดเผยว่า ยอดขายโดยรวมในช่วงปลาย มี.ค. ๖๔ - ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๐ โดยส่วนใหญ่เป็นยอดขายออนไลน์ในช่วงราคาปกติและได้รับอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากตลาดในเอเชียแปซิฟิก (ร้อยละ ๒๗) ทวีปอเมริกา (ร้อยละ ๓๔๑) และยุโรป (ร้อยละ ๑๔๖) ซึ่งสะท้อนได้ดีว่าผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงจากการมีเงินออมตลอดช่วงการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุน้อยที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นสัญญาณว่า ศก. สอ. กำลังมีการฟื้นตัวมากขึ้นจนเกือบเทียบเท่าระดับช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวทำให้มูลค่าหุ้นของ Mulberry เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗ มาอยู่ที่ราคา ๓๑๐.๔ เพนซ์ (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๑ ก.ค. ๖๔)
    ๒.๓ รถยนต์ บ. Honda ประกาศปิดศูนย์การผลิตรถยนต์อย่างถาวรที่เมือง Swindon ของอังกฤษในวันที่ ๓๐ ก.ค. ๖๔ เป็นต้นไปหลังจากที่เปิดทำการใน สอ. มานานถึง ๓๕ ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ พนง. ของบริษัทจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง และบริษัทท้องถิ่นในห่วงโซ่อุปทานอีกประมาณ ๑,๘๐๐ ตำแหน่ง ทั้งนี้ บริษัทได้ประกาศแผนดังกล่าวตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ. ๖๒[10] เนื่องจากต้องการปรับกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อเน้นการลงทุนและการผลิตรถยนต์ระบบไฟฟ้ามากขึ้น ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าแผนดังกล่าวอาจมีปัจจัยจากยอดขายรถยนต์แบบใช้เชื้อเพลิงของบริษัทในยุโรปที่ลดลง กอปรกับปัจจัย Brexit ที่ส่งผลให้ต้นทุนในการส่งออกรถยนต์จาก สอ. ไป EU เพิ่มขึ้น โดยจะหันไปเน้นตลาดสำคัญที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แทน
    ๒.๔ ธุรกิจค้าปลีก ข้อมูลจากสมาคมธุรกิจค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC) และ Local Data Company รายงานว่า อย่างน้อย ๑ ใน ๗ ของร้านในย่านชอปปิ้ง (High Street) ห้างสรรพสินค้า และ retail park ต่าง ๆ ของ สอ. ไม่มีผู้เช่าหรือต้องปิดกิจการถาวรเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยวิกฤตโควิด ซึ่งถือเป็นสถิติที่
สูงที่สุดตั้งแต่ปี ๕๘ โดยกิจการเสื้อผ้าแฟชั่นได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยมีปัจจัยจากมาตรการล็อกดาวน์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์และจับจ่ายเพื่อความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ ภาค ตอ. เฉียงเหนือของอังกฤษเป็นบริเวณที่มีจำนวนพื้นที่ร้านค้าปล่อยว่างมากที่สุดรวมแล้วมากกว่าร้อยละ ๒๐ ในขณะที่พื้นที่ร้านค้าปล่อยว่างในกรุงลอนดอนคิดเป็นประมาณร้อยละ ๑๐ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ BRC เรียกร้องให้ รบ. สอ. พิจารณาต่ออายุมาตรการยกเว้นภาษีธุรกิจ (business rate holiday) ออกไปอีก (ปัจจุบันมีกำหนดสิ้นสุดในเดือน มี.ค. ๖๕) เพื่อความเป็นธรรมแก่ธุรกิจรายย่อยและเพื่อช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤตโควิดต่อไปในอนาคต[11]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติ[12] (Office for National Statistics – ONS) พบว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกโดยรวมในเดือน มิ.ย. ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. ร้อยละ ๐.๕ และมากกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด (ก.พ. ๖๓) ร้อยละ ๙.๕ ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรป (UEFA Euro 2020) โดยยอดขายอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ ๔.๒ ในขณะที่ยอดขายสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารปรับตัวลดลงร้อยละ ๑.๗ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านและเสื้อผ้า ทั้งนี้ ยอดขายออนไลน์โดยรวมปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ ๔ ติดต่อกันมาอยู่ที่ร้อยละ ๒๖.๗ จากร้อยละ ๒๘.๔ ในเดือน พ.ค. ๖๔ (แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด) โดยมีปัจจัยจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ ปชช. ออกมาซื้อสินค้าที่ห้างร้านมากขึ้น
    ๓.๒ ข้อมูลจาก IHS Markit[13] ล่าสุดพบว่า ดัชนีบ่งชี้ด้านอุตสาหกรรมการผลิตของ สอ. (UK Manufacturing PMI) ประจำเดือน ก.ค. ๖๔ อยู่ที่ระดับ ๖๐.๔ ลดลงจาก ๖๓.๙ ในเดือน มิ.ย. ๖๔ สืบเนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดการชะลอตัวทางการผลิต ได้แก่ ๑) การขาดแคลนแรงงานจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่ส่งผลกระทบให้แรงงานจำนวนมากต้องกักตัวที่บ้าน ๒) การขาดแคลนด้านวัตถุดิบเนื่องจากปัจจัย Brexit และ ๓) วิกฤตโควิดที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งและมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ดังกล่าวสะท้อนถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตของ สอ. เป็นเดือนที่ ๑๔ ติดต่อกันท่ามกลางอุปสรรคข้างต้นโดยร้อยละ ๖๓ ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจข้อมูลมองว่าสถานการณ์ post-Brexit และ post-pandemic มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ กอปรกับความมั่นใจของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้ผลผลิตของ สอ. ปรับตัวดีขึ้นอีกภายในหนึ่งปีข้างหน้านี้
    ๓.๓ IMF ปรับรายงานการประเมิน ศก. โลกล่าสุด[14] (รายงานเดิมเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. ๖๔) โดยระบุว่า ศก. สอ. จะฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้เร็วที่สุดเทียบเท่ากับสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่า ศก. ของ ปท. กลุ่ม OECD จะปรับตัวดีขึ้นกว่าการคาดการณ์เดิมร้อยละ ๐.๕ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากมาตรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของ รบ. ที่มีประสิทธิภาพทำให้ ปชช. เฉลี่ยเกือบร้อยละ ๔๐ ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ในขณะที่ ปชช. ใน ปท. กลุ่มกำลังพัฒนาและ ปท. รายได้ต่ำที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกเฉลี่ยน้อยกว่าร้อยละ ๕๐ จะส่งผลให้ ศก. โดยรวมของโลกฟื้นตัวในระดับเท่าเดิมที่ร้อยละ ๖ ในปีนี้และจะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๙ ในปี ๖๕ ทั้งนี้ IMF มองว่า การกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพในจำนวนที่เหมาะสมให้แก่ ปท. ต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นปัจจัยสำคัญและเร่งด่วนที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทาง ศก. และช่วยผลักดันให้ ศก. โลกมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นในระยะต่อไป นอกจากนี้ IMF ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นในหลาย ปท. (รวมถึง สอ.) ในปีนี้จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้ในปีหน้า ยกเว้นในกรณีที่ภาคเอกชนเร่งปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าจ้างซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

 

[1]https://www.gov.uk/government/news/extension-to-northern-ireland-protocol-grace-period-for-chilled-meats-agreed
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-57899239
[3]https://www.gov.uk/guidance/supplying-authorised-medicines-to-northern-ireland
[4] https://www.britishgenerics.co.uk/view-news/statement-on-current-supply-situation-to-northern-ireland.html
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-57967907
[6]https://airlinesuk.org/
[7] https://www.bbc.co.uk/news/uk-57999362
[8] https://www.theguardian.com/business/2021/jul/16/burberry-sales-return-to-pre-pandemic-levels-as-younger-shoppers-splash-out
[9] https://www.standard.co.uk/business/leisure-retail/mulberry-bags-sales-growth-demand-range-alexa-chung-b946875.html
[10]https://www.bbc.co.uk/news/business-47287386
[11]https://www.gov.uk/apply-for-business-rate-relief/retail-discount
[12]https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/june2021
[13]https://www.markiteconomics.com/Public/Home/PressRelease/9b2d0c280db148d3a119eacd0bc4c3a5
[14]https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2021/07/27/world-economic-outlook-update-july-2021