สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ก.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ก.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,207 view

๑. ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ รถยนต์ บ.Stellantis (บริษัทผลิตรถยนต์ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลก และเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อ Vauxhall, Peugeot, Fiat และ Chrysler) ประกาศแผนการผลิตรถตู้ระบบไฟฟ้ายี่ห้อ Vauxhall ที่ศูนย์ผลิตในเมือง Ellsemere Port ของอังกฤษในปี ๒๕๖๕ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ ๑๐๐ ล้านปอนด์ โดยแผนดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจาก รบ. สอ. บางส่วน และจะขยายการจ้างงานอย่างน้อย ๑,๒๐๐ ตำแหน่ง[1] (เดิมบริษัทเคยประกาศแนวคิดจะปิดศูนย์ผลิตนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเนื่องจาก รบ. สอ. มีนโยบายห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปี ๒๕๗๓ โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย build back better ของ รบ. สอ. เพื่อฟื้นฟู ศก. หลังวิกฤตโควิด-๑๙) นอกจากนี้ บ. Britishvolt มีแผนเปิดศูนย์ผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (ขนาด ๒๓๕ เอเคอร์) มูลค่า ๒.๖ พันล้านปอนด์ภายในปี ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมาในเขตภาค ตอ. เฉียงเหนือของอังกฤษ คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่งในบริเวณใกล้เคียงและรองรับการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ คันต่อปีภายในปี ๒๕๗๐ ทั้งนี้ การขยายการลงทุนใน สอ. ของทั้งสองบริษัทข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อ สอ. หลังวิกฤตโควิด-๑๙ และส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา ปท. ของ รบ. สอ. ด้วย
    ๑.๒ ธุรกิจแฟชั่น บ. Gap ประกาศแผนปิดกิจการถาวรใน สอ. และไอร์แลนด์จำนวน ๘๑ แห่ง ภายในเดือน ก.ย. ๖๔ โดยจะจำหน่ายทางออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์เท่านั้น บริษัทประเมินว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้องปรับแผนธุรกิจที่เน้นการจำหน่ายในช่องทางออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่นักการตลาดมองว่า Gap เสียความได้เปรียบในการแข่งขันไปแล้วเนื่องจากมีความหลากหลายของสินค้าน้อยกว่าและราคาแพงกว่าแบรนด์คู่แข่ง[2] นอกจากนี้ บ. Asos ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นยี่ห้อต่าง ๆ ทางออนไลน์ ให้ข้อมูลว่า ยอดขายของบริษัทในไตรมาสที่สองเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ ๒๐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยยอดขายในช่วงเดือน มี.ค. – มิ.ย. ๖๔ คิดเป็นมูลค่า ๑.๓ พันล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี ยอดขายและกำไรของ Asos ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิ.ย. ๖๔ เริ่มส่งสัญญาณการหดตัวจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เชื่อมโยงกับการออกจากมาตรการล็อกดาวน์ใน สอ. และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากวิกฤตโควิด โดย Asos ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนการขนส่งจากจีนเพิ่มขึ้นกว่า ๑๐ เท่าตัวในขณะที่การขนส่งทางอากาศมีทางเลือกน้อยลงจากเที่ยวบินที่มีจำกัด ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนว่าปัจจัยจากวิกฤตโควิดจะยังคงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและทำให้ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น แม้ด้านอุปสงค์จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับแต่กำไรมีแนวโน้มลดลงจนกว่าสถานการณ์ตึงตัวในภาคการขนส่งจะปรับตัวดีขึ้น[3]
    ๑.๓ ธุรกิจค้าปลีSainsbury’s ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อันดับที่สองของ สอ. ให้ข้อมูลว่า ยอดขายออนไลน์ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งของปี ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ ๒๙ และสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงร้อยละ ๑๔๒[4] อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นปัจจัยทำให้ ปชช. เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอีกครั้งและมีแนวโน้มกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากยอดขายออนไลน์ที่ปรับตัวลดลงในขณะที่ยอดขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายออนไลน์โดยรวมของ Sainsbury’s คิดเป็นร้อยละ ๑๘ ของยอดขายทั้งหมด (เทียบกับร้อยละ ๘ ในช่วงปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๓) ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของ Ocado ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์โดยเฉพาะ ยอดขายโดยรวมในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา (ถึงวันที่ ๓๐ พ.ค. ๖๔) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๙.๘ มาอยู่ที่มูลค่า ๑.๒ พันล้านปอนด์ แต่ปัจจัยจากการที่ ปชช. รับประทานอาหารที่ร้านอาหารและผับมากขึ้นทำให้ยอดการซื้อสินค้าในแต่ละครั้งมีปริมาณลดลง โดยปรับตัวลดลงไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. ๖๔ เป็นต้นมา ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ถึงร้อยละ ๑๐
    ๑.๔ ห้างสรรพสินค้า บ. John Lewis ประกาศปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจโดยมีแผนเลิกจ้าง พนง. ของห้างสรรพสินค้า John Lewis และซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose รวม ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง (ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. ห้าง John Lewis ได้ประกาศปิดกิจการถาวรจำนวน ๘ แห่งใน สอ. ซึ่งส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวนเกือบ ๑,๕๐๐ ตำแหน่ง) เพื่อลดต้นทุนและรองรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ที่เน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยทุกโครงการของบริษัทจะมีบริการ concierge service และมีซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose ตั้งอยู่ใกล้บริเวณทางเข้าของอาคาร/บ้านพัก โดยผู้เช่าสามารถเลือกเช่าบ้านพักที่ตกแต่งพร้อมเข้าอยู่ด้วยเฟอร์นิเจอร์ของ John Lewis ได้ด้วย ทั้งนี้ บริษัทมองว่าการใช้พื้นที่เพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีผลกำไรมากกว่าเพื่อการค้าปลีกใน สอ. ยุคหลังวิกฤตโควิด-๑๙ โดยคาดว่าในอนาคตยอดขายมากกว่าร้อยละ ๖๐ จะมาจากช่องทางออนไลน์ จึงให้ความสำคัญกับพื้นที่เพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น[5] โดย John Lewis ถือเป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้ารายแรกใน สอ. ที่ปรับเปลี่ยนแนวทางมาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้
    ๑.๕ การบิน เมื่อวันที่ ๘ ก.ค. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศนโยบายให้ผู้มีถิ่นพำนักใน สอ. ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดโดย NHS ครบสองโดสที่เดินทางกลับเข้ามาใน สอ. จาก ปท. ที่มีรายชื่อในกลุ่มเสี่ยงปานกลาง (Amber List[6]) ไม่ต้องกักตัวเป็นเวลา ๑๐ วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๙ ก.ค. ๖๔ เป็นต้นไป (แต่ยังต้องแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบก่อนการเดินทางและหลังกลับเข้ามา) เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้ยอดการซื้อบัตรโดยสารของสายการบินต่าง ๆ ใน สอ. เพิ่มสูงขึ้น โดยสายการบิน EasyJet ให้ข้อมูลว่า ยอดการซื้อบัตรโดยสารจาก สอ. ไปยัง ปท. กลุ่ม Amber List โดยเฉพาะเกาะ/เมืองชายทะเลของฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และกรีซ ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๐๐ ในขณะที่ สายการบิน British Airways รายงานว่า จำนวนผู้ที่ค้นหาเที่ยวบินบนเว็บไซต์ของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙๖ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นาย Grant Shapps รมว. คมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ขณะนี้ รบ. สอ. กำลังพิจารณาขยายมาตรการยกเว้นกักตัวดังกล่าวไปยังผู้เดินทางจาก ปท. ต้นทางอื่นที่ได้รับวัคซีนที่ผ่านการรับรองจาก WHO ครบสองโดสแล้วในระยะต่อไป แต่อุปสรรคสำคัญคือ ปท. ต่าง ๆ ใช้ระบบการตรวจสอบข้อมูลการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยจะประกาศความคืบหน้าเพิ่มเติมในภายในสิ้นเดือน ก.ค. ศกนี้[7]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics – ONS)[8] รายงานว่าศก. โดยรวมของ สอ. ในเดือน พ.ค. ๖๔ ขยายตัวเป็นเดือนที่ ๔ ติดต่อกันแต่ปรับตัวขึ้นจากเดือน เม.ย. เพียงร้อยละ ๐.๘ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ ๑.๕ และต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๓.๑ ทั้งนี้ ภาคบริการโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๙ โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่ ปชช. ออกมารับประทานอาหารที่ร้านอาหารและผับเพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจร้านอาหาร ผับ รวมถึงโรงแรมขยายตัวถึงร้อยละ ๓๗.๑ อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๐.๑ เนื่องจากภาคการผลิตรถยนต์ใน สอ. ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไมโครชิปทั่วโลกที่ทำให้ต้องชะลอการผลิตอุปกรณ์รถยนต์/รถยนต์บางส่วนชั่วคราว ผลผลิตจึงปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๖.๕ นอกจากนี้ ปัจจัยจากสภาพอากาศแปรปรวนได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของภาคการก่อสร้างทำให้ผลผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๘ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๐.๓
    ๓.๒ รายงานอีกฉบับของ ONS[9] ระบุว่ายอดการส่งออกสินค้าโดยรวมของ สอ. ในเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๙ (หรือคิดเป็นมูลค่า ๑.๓ พันล้านปอนด์) โดยมีปัจจัยจากยอดการส่งออกสินค้าไป EU ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ อย่างไรก็ดี ยอดการส่งออกสินค้าของ สอ. ไป EU ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ปท. non-EU โดยคิดเป็นมูลค่า ๑.๒๙ หมื่นล้านปอนด์และ ๑.๓๗ หมื่นล้านปอนด์ ตามลำดับ นอกจากนี้ สอ. ยังนำเข้าสินค้าจาก ปท. non-EU มากกว่า EU เป็นเดือนที่ ๕ ติดต่อกัน โดยคิดเป็นมูลค่า ๒ หมื่นล้านปอนด์ และ ๑.๘๔ หมื่นล้านปอนด์ ตามลำดับ ทั้งนี้ สถิติการนำเข้า-ส่งออกระหว่าง สอ. กับ EU ที่ถือว่าปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีนี้สะท้อนว่าผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่ายสามารถปรับตัวภายใต้กฎระเบียบใหม่หลัง Brexit ได้มากขึ้นแล้ว
    ๓.๓ ข้อมูลจากองค์กรการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC)[10]ระบุว่า ยอดขายของแหล่งชอปปิ้ง (high street) ในไตรมาสที่สองของปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งมีปัจจัยจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ โดยยอดขายในเดือน มิ.ย. ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ ๒๘.๔ และมากกว่าช่วงเดียวกันของปี ๖๒ ร้อยละ ๑๐.๔ และมีปัจจัยจากสภาพอากาศที่ดีที่ช่วยกระตุ้นยอดขายเสื้อผ้าและรองเท้าในขณะที่ปัจจัยจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรป (UEFA Euro 2020) ทำให้ยอดขายของโทรทัศน์ ขนมขบเคี้ยว และเบียร์ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เป็นต้น นอกจากนี้ บ. Barclaycard ให้ข้อมูลว่า ปชช. ใน สอ. มีการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิต/เดบิตเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. คิดเป็นร้อยละ ๑๑.๑ (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๖๒) โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวซึ่งสะท้อนจากยอดการใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง โรงแรม รีสอร์ท และห้องพักต่างอากาศ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงแรกของวิกฤตโควิด ในขณะที่ยอดการใช้จ่ายในส่วนของร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๗[11] ซึ่งพัฒนาการต่าง ๆ เป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนการหมุนเวียนของ ศก. สอ. ในภาพรวมเนื่องจาก ปชช. จำนวนมากมีสภาพคล่องสูงจากนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือการจ้างงานของ รบ. สอ. ที่มีมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ๖๓ และจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. ศกนี้

 

[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-57726818
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-57670737
[3] https://www.theguardian.com/business/2021/jul/15/asos-sales-rise-but-ceo-warns-of-more-short-term-covid-volatility
[4] https://www.bbc.co.uk/news/business-57732525
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-57712618
[6]https://www.gov.uk/guidance/red-amber-and-green-list-rules-for-entering-england#amber-list
[7] https://www.bbc.co.uk/news/business-57770236
[8]https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/may2021#:~:text=Monthly%20real%20gross%20domestic%20product,%25)%20and%20April%20(2.0%25).
[9]https://www.ons.gov.uk/economy/nationalaccounts/balanceofpayments/bulletins/uktrade/may2021
[10]https://brc.org.uk/retail-insight/content/retail-sales/retail-sales-monitor/reports/202106_uk_rsm/
[11] https://www.bbc.co.uk/news/business-57804446