สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 31 ธ.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 31 ธ.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,263 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ การขนส่ง บริษัท UK Major Ports Group เปิดเผยผลการสำรวจที่จัดทำโดย Drewry Maritime Advisors ประเมินว่า ปริมาณสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกที่มีการขนส่งผ่านท่าเรือต่าง ๆ ของ สอ. ในปี ๖๔ มีประมาณ ๔๐๘ ล้านตัน ลดลงจากปี ๖๒ คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๕ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ โดยมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณการผลิตน้ำมันในทะเลเหนือ (North Sea) ที่ลดลง และกฎระเบียบด้านศุลกากรและใบรับรองสุขอนามัยสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกที่ยุ่งยากมากขึ้นหลัง Brexit กอปรกับปัญหาการขาดแคลน พนง. ขับรถ HGV และปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้เกิดสภาวะชะงักงันที่ท่าเรือต่าง ๆ ของ สอ. ด้วย การผลิตน้ำมันจากทะเลเหนือถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อภาคการค้าของ สอ. และคิดเป็น ๑  ใน ๓ ของปริมาณสินค้าที่มีการขนส่งผ่านท่าเรือของ สอ. มาตรการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีผลทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของ สอ. ลดลงนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ อีกทั้งปัจจัยจากวิกฤตโควิดและมาตรการ ล็อกดาวน์ยังซ้ำเติมให้ปริมาณการสั่งซื้อน้ำมันที่ผลิตที่ศูนย์ขุดเจาะน้ำมันในทะเลเหนือลดลงในปีนี้ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าการขนส่งผ่านท่าเรือ สอ. จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้ในปี ๒๕๖๙ และเสนอแนะให้บริษัทขนส่งเอกชนควรเพิ่มการลงทุนในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการด้าน สวล. เช่น การติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าและการใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อปรับตัวทางธุรกิจและเตรียมรองรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากเอเซีย และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างที่คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ด้วย[1] 
    ๑.๒ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร Halifax รายงานว่า ราคาบ้านของ สอ. ในช่วง ก.ย. - พ.ย. ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในรอบ ๑๕ ปี ในอัตราร้อยละ ๓.๔ เพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๙ และสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ ๘.๒ ซึ่งราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉลี่ยในเดือน พ.ย. คิดเป็นจำนวน ๒๗๒,๙๙๒ ปอนด์ โดย Halifax ประเมินว่า  การปรับเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์เป็นเดือนที่ ๕ ติดต่อกันมีปัจจัยจากจำนวนอุปสงค์ที่มีมากกว่าปริมาณอุปทาน ในขณะที่อัตราการจ้างงานมีเพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนชำระค่าบ้านอยู่ในระดับต่ำ กอปรกับมาตรการลดหย่อนภาษีบ้าน (stamp duty holiday) ของ รบ. สอ. ในช่วงวิกฤตโควิด (สิ้นสุดในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา) ที่กระตุ้นให้มีการซื้อขายบ้านเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวอาจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในปีหน้าซึ่งส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารอังกฤษ (Bank of England - BoE) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า รวมถึงค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับความไม่แน่นอนของ ศก. สอ. ที่มีปัจจัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อ     โควิด-๑๙ สายพันธุ์โอไมครอน[2]   
    ๑.๓ การบิน สนามบิน Heathrow รายงานว่า จำนวนผู้ใช้บริการที่สนามบิน Heathrow ในเดือน  พ.ย. ๖๔ ลดลงร้อยละ ๖๐ เทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด โดยมีปัจจัยจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙   สายพันธุ์โอไมครอนของ รบ. สอ. โดยเฉพาะมาตรการกักตัวที่โรงแรมสำหรับผู้ที่เดินทางเข้า สอ. จาก ปท. ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้ผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เดินทางประเภทนักธุรกิจยกเลิกการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะกระทบกับแผนการเดินทางในช่วงเทศกาลคริสต์มาส นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการให้บริการเส้นทางการบินสำคัญระหว่าง สอ. และทวีปอเมริกาเหนือที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน พ.ย. ๖๔ ด้วย โดย Heathrow คาดว่าปัจจัยจากวิกฤตระลอกใหม่นี้จะทำให้มีผู้ใช้บริการที่สนามบินในปี ๖๕ ทั้งหมดประมาณ ๔๕ ล้านคน ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดเกือบครึ่งหนึ่ง[3] อย่างไรก็ดี แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินใน สอ. เริ่มกลับมามีโอกาสขยายตัวอีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ ธ.ค. ๖๔   รบ. สอ. ประกาศถอนรายชื่อ ปท. ในทวีปแอฟริกาจำนวน ๑๑ ปท. ออกจากรายชื่อ ปท. กลุ่มเสี่ยงระดับสูง (red list)    มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๕ ธ.ค. ๖๔ โดยผู้ที่ตรวจ PCR test ในระหว่างการกักตัวแล้วมีผลตรวจเป็นลบสามารถเดินทางกลับบ้านได้[4] ข่าวดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นของ บ. IAG ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบิน British Airways ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๗ ในขณะที่ราคาหุ้นของสายการบิน Tui ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๖
    ๑.๔ การส่งออก ข้อมูลของ Northern Ireland Statistics and Research Agency (NISRA)[5]
รายงานว่า ยอดการส่งออกของไอร์แลนด์เหนือในปี ๖๓ ลดลงประมาณร้อยละ ๑๓ โดยมีปัจจัยจากวิกฤตโควิด ทั้งนี้ สอ. (อังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์) ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไอร์แลนด์เหนือคิดเป็นมูลค่า ๑.๐๙ หมื่นล้านปอนด์ หรือมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ยอดการส่งออกไปยังไอร์แลนด์คิดเป็นมูลค่า ๔.๔ พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ ๑๐ เทียบกับปี ๖๒ ยอดการส่งออกไปยัง EU และ ปท. อื่น ๆ ลดลงร้อยละ ๑๑ และร้อยละ ๑๖ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยอดการส่งออกส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็นมูลค่า ๖ พันล้านปอนด์ หรือร้อยละ ๕๘.๔ ของยอดการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ รายงานของ NISRA ฉบับปัจจุบันยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจาก Brexit อย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากในปี ๖๓ กฎระเบียบการค้าระหว่าง สอ. กับ EU ยังคงเดิมในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (grace period) โดยรายงานฉบับต่อไปในเดือน ธ.ค. ๖๕ คาดว่าจะสะท้อนถึงผลกระทบของ Brexit จากการบังคับใช้พิธีสารไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Protocol) อย่างชัดเจนมากขึ้น

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๒.๑ เมื่อวันที่ ๙ ธ.ค. ๖๔ กระทรวงการค้า รปท. (Department for International Trade – DIT) ประกาศความคืบหน้าในการเจรจาการค้ากับสิงคโปร์ โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการแล้วที่จะจัดทำ คตล. ด้าน ศก. ดิจิทัล (Digital Economy Agreement) ครอบคลุมการเปิดตลาดด้านการให้บริการและปรับปรุงขั้นตอนการส่งออกนำเข้าสินค้าระหว่างกันให้เป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน (ปัจจุบัน มูลค่าการค้า สอ. – สิงคโปร์มีประมาณ ๑.๖ หมื่นล้านปอนด์) ซึ่ง สอ. มองว่า คตล. ดังกล่าวมีความเป็นดิจิทัลมากที่สุดในโลกและเป็น  ฉบับแรกที่เคยมีการลงนามโดย ปท. ในยุโรป โดยจะทำให้ขยายโอกาสการส่งออกการบริการของ สอ. ได้มากขึ้นในเอเชียและส่งเสริมการเติบโตทาง ศก. ที่มีคุณภาพใน สอ. ได้มูลค่าประมาณ ๑.๕ แสนล้านปอนด์ในระยะยาว นอกจากนี้ สอ. ประเมินว่า สิงคโปร์เป็นประตูสู่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและการบรรลุ คตล. ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ สอ. ได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกใน CPTPP ได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด[6]
    ๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๖๔ DIT ประกาศผลสำเร็จในการจัดทำ คตล. การค้ากับออสเตรเลียได้เป็น ปท. ล่าสุด หลังจากที่ สอ. ออกจาก EU ครบ ๑ ปี (ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการร่วมกันเมื่อเดือน มิ.ย. ๖๔) โดยสาระสำคัญของ คตล. เน้นการลดอัตราภาษีสินค้าระหว่างกันเป็นศูนย์และการยอมรับมาตรฐานทางวิชาชีพซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการส่งออกการบริการของ สอ. และการจ้างงานของทั้งสองประเทศ ซึ่งฝ่าย สอ. ประเมินว่า คตล. ดังกล่าวจะรับประกันให้ภาคเอกชน สอ. เข้าถึงโครงการภาครัฐของออสเตรเลียได้มูลค่า ๑ หมื่นล้านปอนด์ต่อปี ช่วยให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า ๑ หมื่นล้านปอนด์จากการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าหลักซึ่งกันและกัน และอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าทำงานในออสเตรเลียแก่แรงงานทักษะสูงของ สอ. ด้วย นอกจากนี้ สอ. ประเมินว่า ออสเตรเลียเป็นตลาดสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและเป็นสมาชิกใน CPTPP ซึ่งการมี คตล. ดังกล่าวกับออสเตรเลียจะช่วยสนับสนุนสถานะของ สอ. ในการยื่นขอเป็นสมาชิก CPTPP ด้วย[7]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ รายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[8] ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer prices index – CPI) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพของ สอ. ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๑ ในช่วงหนึ่งปีจนถึงเดือน พ.ย. ๖๔ สูงกว่าการคาดการณ์ที่ระดับร้อยละ ๔.๗ และถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ ๑๐ ปี โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับขึ้นราคาของน้ำมันเชื้อเพลิง (เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราคา ๑๔๕.๘ เพนซ์ต่อลิตร ซึ่งสูงที่สุดใน ปวศ.) ก๊าซหุงต้ม เสื้อผ้า อาหาร และรถยนต์มือสอง (ซึ่งมีปัจจัยจากปัญหาขาดแคลนไมโครชิปทำให้เกิดการชะลอตัวในการผลิตรถยนต์) ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๔ ธ.ค. ๖๔ IMF ได้เผยแพร่รายงานการประเมิน ศก. สอ. ฉบับล่าสุด[9] โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของ สอ. จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๕.๕ ภายในฤดูใบไม้ผลิของปีหน้าก่อนที่จะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๒ ได้ในปี ๒๕๖๗ โดยแนะนำว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นสูงจนเกินไปในปีหน้า ซึ่งล่าสุด BoE ได้ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๐.๑ เป็นร้อยละ ๐.๒๕ แล้ว เพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อภาคธุรกิจของ สอ. จากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมา[10] นอกจากนี้ IMF ได้แนะนำให้ รบ. สอ. เตรียมมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินโดยเน้นช่วยเหลือภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าจ้างระยะสั้น (mini-furlough) เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและรักษาอัตราการจ้างงานของ สอ. ไว้ เป็นต้น
    ๓.๒ ONS[11] วิเคราะห์ตลาดการจ้างงานรอบล่าสุด พบว่าอัตราการจ้างงานในช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค. ๖๔ ของ สอ. ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงสามเดือนก่อนหน้านี้ร้อยละ ๐.๒ มาอยู่ที่ร้อยละ ๗๕.๕ ซึ่งมีปัจจัยจากอัตราการ    จ้างงาน พนง. ชั่วคราว (part-time) ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในเดือน ต.ค. ทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงมาอยู่ที่  ร้อยละ ๔.๒ ในขณะที่อัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ยของ สอ. ได้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๙ อย่างไรก็ดี รายงานอีกฉบับของ ONS[12] ระบุว่า ศก. สอ. โดยรวมในเดือน ต.ค. ขยายตัวเพียงร้อยละ ๐.๑ ซึ่งต่ำกว่าเดือน ก.ย. ที่อยู่ในระดับร้อยละ ๐.๖ ทำให้ ศก.สอ. ปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๐.๕ โดยมีปัจจัยหลักจากปัญหาคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เห็นว่า มาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ รบ. สอ. (Plan B)[13] เช่น การสำแดง NHS Covid Pass หรือผลตรวจเชื้อโควิดที่เป็นลบก่อนเข้าใช้บริการที่สถานบันเทิง การจำกัดจำนวนคนในอาคารและสถานที่กลางแจ้งสำหรับการจัดงานหรือการแสดง เป็นต้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานซึ่งสะท้อนจากอัตราตำแหน่งงานว่าง (vacancy) ในช่วงสามเดือน (ก.ย. - พ.ย. ๖๔) ที่มีมากกว่า ๑.๒ ล้านตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดใน ปวศ. อาจทำให้ ศก. สอ. ชะลอตัว โดยภาคธุรกิจค้าปลีกและ hospitality จะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด[14]



[1] https://www.ft.com/content/d174f95e-cd7d-4ca9-aa11-f61de7d0134b
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-59560878
[3] https://www.theguardian.com/business/2021/dec/10/heathrow-passenger-numbers-down-60-as-cancellations-mount
[4] https://www.gov.uk/government/news/11-countries-removed-from-the-uks-red-list
[5] https://www.nisra.gov.uk/
[6] https://www.gov.uk/government/news/uk-agrees-worlds-most-comprehensive-digital-trade-deal-with-singapore
[7] https://www.gov.uk/government/news/uk-and-australia-sign-world-class-trade-deal
[8] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/november2021
[9] https://www.imf.org/en/Countries/GBR
[10] https://www.bankofengland.co.uk/monetary-policy-summary-and-minutes/2021/december-2021
[11] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/employmentintheuk/december2021
[12] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/october2021
[13] https://www.gov.uk/government/publications/proposal-for-mandatory-covid-certification-in-a-plan-b-scenario/proposal-for-mandatory-covid-certification-in-a-plan-b-scenario
[14] https://www.ft.com/content/da816022-3a83-428f-90a3-04649b258918