สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 พ.ย. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 พ.ย. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,246 view

๑. ด้านการค้าปลีกและการบริการ
    ๑.๑ แฟชั่น ห้าง Primark (โดย บ. Associated British Foods หรือ ABF เป็นเจ้าของกิจการ) รายงานว่า การล็อกดาวน์และการทำงานที่บ้านส่งผลให้ยอดขายของชุดลำลอง ชุดนอน และเสื้อผ้าเด็กปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยอดขายชุดทำงานโดยเฉพาะของสุภาพบุรุษที่ลดลงอย่างมากต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. ๖๓ อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้ยอดขายโดยรวมของสินค้าแฟชั่นและของใช้ยี่ห้อ Primark ลดลงถึง ๒ พันล้านปอนด์ และสูญเสียกำไรมูลค่า ๖๕๐ ล้านปอนด์จากการต้องปิดทำการสาขาขนาดใหญ่ในกรุงลอนดอนและเมืองใหญ่ต่าง ๆ หลายสาขาในการล็อกดาวน์รอบแรก แม้ว่าจะมีการเปิดทำการอีกครั้งในช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเดือน มิ.ย. – ต.ค. ๖๓ แล้ว แต่เห็นได้ชัดว่า มี ปชช. อยู่กับบ้านและเดินทางเข้าตัวเมืองน้อยลง กอปรกับการขาดหายจำนวนมากของ นทท. ต่างชาติ ทำให้ยอดขายโดยรวมในช่วงดังกล่าวยังคงหดตัวร้อยละ ๑๒ เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ การล็อกดาวน์รอบที่ ๒ ในเดือน พ.ย. ได้ทำให้บริษัทต้องปิดกิจการชั่วคราวในหลายประเทศในยุโรป รวมถึงในไอร์แลนด์ เวลส์ และอังกฤษ รวมคิดเป็นร้อยละ ๕๗ ของพื้นที่ของกิจการทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะทำให้สูญเสียยอดขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อีกมูลค่า ๓๗๕ ล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี ABF ยืนยันว่า บริษัทยังไม่มีแผนขายสินค้าออนไลน์สำหรับสินค้า Primark (มีเพียงการแสดงสินค้าและราคาบนเว็บไซต์เท่านั้น) โดยให้เหตุผลว่า บริษัทต้องการรักษานโยบายการขายสินค้าราคาถูกโดยหลีกเลี่ยงต้นทุนเพิ่มจากการต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าออนไลน์และการรับคืนสินค้า (returns) เนื่องจากพบว่า สินค้าราคาถูกมักจะขายดีแต่อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ จะถูกส่งคืนจากเหตุผลด้านความไม่พึงพอใจ
    ๑.๒ ห้างสรรพสินค้า Marks & Spencer (M&S) รายงานว่า ผลประกอบการโดยรวมในช่วงเดือน เม.ย. – ก.ย. ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๕.๘ มาอยู่ที่มูลค่า ๔.๐๙ พันล้านปอนด์ ทำให้บริษัทขาดทุนคิดเป็นมูลค่า ๘๗.๖ ล้านปอนด์ (ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมีผลกำไรมูลค่า ๑๕๘.๘ ล้านปอนด์) ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ ๙๔ ปี โดยมีปัจจัยจากยอดขายของสินค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่ปรับตัวลด รวมทั้งยอดขายเสื้อผ้าในสาขาที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองต่าง ๆ ลดลงมากถึงร้อยละ ๕๓ ในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. ๖๓ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินเลือกซื้อในห้างน้อยลง ทั้งนี้ นาย Steve Rowe ผู้บริหาร M&S ให้ข้อมูลว่า ผลการขาดทุนดังกล่าวถือเป็นสัญญาณการต้องปรับตัวทางธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทกำลังดำเนินการหลังมีการประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๗,๐๐๐ ตำแหน่งเพื่อลดต้นทุนแล้วเมื่อ ส.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทได้ตกลงร่วมธุรกิจกับ บ. Ocado ในด้านการจัดส่งสินค้าอาหารออนไลน์ตั้งแต่เดือน ก.ย. ๖๓ ซึ่งทำให้ยอดขายสินค้าอาหารของ M&S เพิ่มขึ้นทันทีร้อยละ ๔๗.๙
    ๑.๓ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตใน สอ. ถือเป็นสาขาธุรกิจที่มีการเลิกจ้าง พนง. มากเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยเหตุผลด้านการลดต้นทุนและปรับโครงสร้าง ล่าสุด Sainsbury’s ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓,๕๐๐ ตำแหน่งและปิดแผนกขายเนื้อสัตว์และปลาสดทั้งหมดในทุกสาขาทั่ว สอ. เนื่องจากปริมาณความต้องการของผู้บริโภคในสินค้าประเภทนี้ลดลง นอกจากนี้ ยังประกาศแผนปิดกิจการร้าน Argos (ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ครัวเรือน) จำนวน ๔๒๐ สาขา ภายในเดือน มี.ค. ๒๕๖๗ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ ๖๐๐ ล้านปอนด์ โดยมีแผนย้ายมาเปิดให้บริการในพื้นที่ของซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวน ๑๕๐ แห่งแทน นอกจากนี้ Sainsbury’s รายงานว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุนทางบัญชีมูลค่า ๑๓๗ ล้านปอนด์ในช่วงครึ่งแรกของปี ๖๓ แต่ในช่วง ๒๘ สัปดาห์หลังสุดจนถึงวันที่ ๑๙ ก.ย. ๖๓ ยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๙ จากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๒ และยอดขาย/จัดส่งออนไลน์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ ๑๑๗ มาอยู่ที่มูลค่า ๕.๘ พันล้านปอนด์
    ๑.๔ ร้านหนังสือ WH Smith ประกาศแผนปิดกิจการในย่านร้านค้าปลีกจำนวน ๒๕ สาขา โดยจะส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้าง พนง. เพิ่มเติมจำนวน ๒๐๐ ตำแหน่ง (ก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. WH Smith ได้ประกาศเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๕๐๐ ตำแหน่งหรือประมาณร้อยละ ๑๕ ของ พนง. ทั้งหมด) เนื่องจากแนวโน้มวิกฤตโควิด-๑๙ ที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้บริษัทขาดทุนจำนวน ๒๘๐ ล้านปอนด์ในช่วงเดือน ม.ค. – ส.ค. ๖๓ (จากกำไรจำนวนกว่า ๑๐๐ ล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) โดยยอดขายของกิจการที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจ/ร้านค้าปลีกลดลงร้อยละ ๑๙ ในขณะที่สาขาที่ตั้งอยู่ในอาคารสนามบิน สถานีขนส่ง และ ร.พ. ลดลงมากกว่าร้อยละ ๔๐ โดยบริษัทจะลงทุนในการเพิ่มขีดความสามารถทางออนไลน์แทนเนื่องจากยอดขายทางออนไลน์ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ ๒๔๐ ในช่วงเดียวกัน
    ๑.๕ คาเฟ่ เป็นธุรกิจบริการสาขาหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากจากการล็อกดาวน์รอบแรกและมาตรควบคุมวิถีชีวิต ปชช. หลังการล็อกดาวน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. ๖๓ Pret A Manger ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง และ Costa Coffee ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๖๕๐ ตำแหน่งเพื่อลดต้นทุน และ Caffè Nero เป็นรายล่าสุดที่ประสบปัญหาและถูกนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ (Company Voluntary Arrangement – CVA) แล้วซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บริษัทสามารถเจรจาขอผ่อนผันหรือลดหย่อนค่าเช่าร้านและหนี้สินได้ โดยกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการหลังบริษัททราบว่า สอ. จะเข้าสู่การล็อกดาวน์รอบที่ ๒ ทำให้บริษัทไม่สามารถพยุงตนเองต่อไปได้ ทั้งนี้ Caffè Nero มีกิจการใน สอ. ทั้งหมดจำนวน ๘๐๐ สาขา และใน ตปท. ๒๐๐ สาขา โดยมี พนง. ทั้งหมดจำนวน ๖,๐๐๐ ตำแหน่ง

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๒.๑ นโยบายด้านการค้า รปท. หลัง Brexit เมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๓​ รบ. สอ. โดยนาง Liz Truss รมว. การค้า รปท. ประกาศการบังคับใช้มาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ระบบ Generalized System of Preferences (GSP) ของ สอ. ที่จะมีผลในวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๖๔[1] (หลังสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่านของ Brexit) โดยประเทศที่มีรายชื่ออยู่ภายใต้ระบบ Generalized System of Preferences (GSP) ของ EU ในปัจจุบัน เช่น บังคลาเทศ กัมพูชา ลาว พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าบางรายการ เช่น ผัก และเสื้อผ้า เป็นต้น ทั้งนี้ สอ. มีการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและสิ่งทอจากประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบ GSP ของ EU คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๘ พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นร้อยละ ๓๐ ของสินค้านำเข้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและสิ่งทอทั้งหมดของ สอ. และมีการนำเข้าผักจากประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบ GSP ของ EU คิดเป็นมูลค่า ๑ พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นร้อยละ ๘ ของการนำเข้าผักทั้งหมดของ สอ. ในส่วนของไทยไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้มาตรการดังกล่าวโดยจะต้องใช้อัตราภาษีนำเข้าใหม่ตาม UK Global Tariff (UKGT) แทนอัตราเดิมตาม EU Common External Tariff ตั้งแต่ ๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นไป
    ๒.๒ การขยายอายุมาตรการช่วยเหลือการจ้างงาน (Furlough Scheme) เพื่อลดอัตราการว่างงาน เมื่อวันที่ ๕ พ.ย. ๖๓ (ซึ่งเป็นวันแรกของการล็อกดาวน์ในอังกฤษรอบที่ ๒) รบ. สอ. โดยนาย Rishi Sunak รมว. กค. ประกาศขยายมาตรการจ่ายเงินชดเชยจำนวนร้อยละ ๘๐ ของเงินเดือนหรือสูงสุดไม่เกินเดือนละ ๒,๕๐๐ ปอนด์ต่อรายตามมาตราการ Furlough Scheme ซึ่งจากเดิมสิ้นสุดในเดือน ต.ค. ๖๓ ออกไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. ๖๔ เพื่อรองรับการล็อกดาวน์รอบที่ ๒ ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องปิดทำการชั่วคราว ซึ่งถือเป็นการตอบรับเสียงเรียกร้องของหลายฝ่ายให้ รบ. สอ. ช่วยเหลือการจ้างงานทั้งในอังกฤษและแคว้นอื่น ๆ ต่อไปอีกท่ามกลางกระแสการเลิกจ้างและอัตราการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ของ สอ. หลังยุคสงครามโลก พร้อมกันนี้ รบ. สอ. ได้ขยายเวลามาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว (Self –Employment Income Support Scheme) จากที่สิ้นสุดในเดือน ต.ค. ๖๓ ออกไปจนถึงเดือน ม.ค. ๖๔ โดยรบ. จะจ่ายเงินให้สูงสุดไม่เกินร้อยละ ๘๐ ของกําไรเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลัง ๓ ปี (หรือสูงสุดไม่เกิน ๗,๕๐๐ ปอนด์ต่อรายสําหรับรอบ ๓ เดือน) ด้วย ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคม สอ. ส่วนใหญ่ในขณะที่บางกลุ่มมองว่าการขยายเวลามาตรการดังกล่าวเสมือนเป็นการเลื่อนเวลาการเลิกจ้างออกไปเท่านั้น
    ๒.๓ เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ย. ๖๓ นรม. Boris Johnson ได้ประกาศแนวทางการพัฒนา ศก. สอ. ระยะยาวหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ซึ่งเน้นการฟื้นฟู ศก. ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (10 point plan for green recovery) โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริม ศก. และอุตสาหกรรมของ สอ. ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในการเป็น ปท. ปลอดมลพิษ (Net Zero Emission) ในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า (ปี ๒๕๙๓) ซึ่งประกอบด้วยนโยบายหลักในการมุ่งสู่พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม น้ำ และนิวเคลียร์ รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ลดมลพิษ เช่น การห้ามขายรถยนต์แบบเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในปี ๒๕๗๓ การสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ การสร้างจุดชาร์จไฟฟ้ารถยนต์เพิ่มเติมทั่ว สอ. และการลงทุนเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ทั้งนี้ รบ. สอ. คาดว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างงานใหม่ได้ใน สอ. ได้ ๒๕๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ทั่ว สอ. โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของอังกฤษ ในเวลส์และสกอตแลนด์ [2]

. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๓.๑ รายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[3] ระบุว่า ศก. สอ. โดยรวมในไตรมาสที่​๓ ฟื้นตัวขึ้นในอัตราร้อยละ ๑๕.๕ ซึ่งมีปัจจัยจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้น ศก. ของ รบ. สอ. (Eat Out and Help Out scheme) ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ศก. สอ. ในเดือน ก.ย. เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวโดยขยายตัวเพียงร้อยละ ๑.๑ และทำให้ ศก. โดยรวมมีขนาดเล็กกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ร้อยละ ๘.๒ นอกจากนี้ รายงานอีกฉบับของ ONS[4] พบว่า อัตราการว่างงานของ สอ. ในไตรมาสที่ ๓ ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ ๔.๕ มาอยู่ที่ร้อยละ ๔.๘ โดยมี พนง. ที่ถูกเลิกจ้างในช่วงดังกล่าวมากถึง ๓๑๔,๐๐๐ ตำแหน่งซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ ๓ เดือนโดยคาดว่าเกิดจากการที่บริษัทต่าง ๆ ทยอยเลิกจ้างตามกำหนดเวลาสิ้นสุดเดิมของ Furlough Scheme ในสิ้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
    ๓.๒ ธนาคารกลาง สอ. (Bank of England – BoE) ประกาศมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง (Quantitative easing – QE) เพิ่มเติมในไตรมาสที่ ๔ อีกจำนวน ๑๕๐ ล้านปอนด์ (รวมมูลค่าทั้งหมดที่ประกาศแล้วจำนวน ๘.๙๕ แสนล้านปอนด์) เพื่อช่วยกระตุ้น ศก. ในช่วงดังกล่าวและสนับสนุนการกู้เงินของ รบ. สอ. ด้วย โดย BoE คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงฤดูร้อนของปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นผลจากการขยายกำหนดเวลา Furlough Scheme โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ ๗.๗๕ นอกจากนี้ BoE ได้ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ภาวะ ศก. สอ. ในไตรมาสที่ ๔ จากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ส.ค. ว่า ศก. สอ. จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ ๕.๕ เป็นการหดตัวร้อยละ ๒ (และจะทำให้ ศก. โดยรวมมีขนาดเล็กกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ ๙.๕) แต่จะเริ่มดีขึ้นในปีหน้าโดยคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้เฉลี่ยร้อยละ ๗.๒๕ บนสมมุติฐานว่า สอ. และ EU สามารถมี คตล. การค้ากันได้ ซึ่งนาย Andrew Bailey ผู้ว่าการ BoE ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Brexit ว่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดทิศทาง ศก. สอ. ในปีหน้า ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายเจรจาไม่สำเร็จคาดว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อ GDP สอ. ให้ปรับตัวลดลงอย่างน้อยร้อยละ ๑ ในไตรมาสที่ ๑ ของปี ๖๔ และย่อมทำให้ต้องใช้เวลานานเกินกว่าปี ๒๕๖๕ ในการฟื้นฟู ศก. สอ. ให้กลับมาเทียบเท่าก่อนวิกฤตโควิด-๑๙

 ๔. สถานะเรื่อง Brexit
     - คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้แม้จะมีการเจรจาเพิ่มเติมอีกหลายรอบหลัง
การเจรจาทางการสิ้นสุดลงไปแล้วในเดือน ต.ค. ๖๓ รวมทั้งในสัปดาห์นี้ยังคงมีการเจรจาอีกครั้งในกรุงบรัสเซลส์โดยนาย David Frost หน. คณะเจรจาฝ่าย สอ. ให้ความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาที่จะหาข้อสรุปร่วมกันแต่ยังมีความแตกต่างกันมากในประเด็นสำคัญ ๓ ประการเช่นเดิม (สิทธิการทำประมงในน่านน้ำ สอ. /กฎระเบียบการแข่งขัน /และกระบวนการแก้ไขข้อพิพาททางการค้า) จึงขอให้ภาคเอกชนเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมี คตล. หรือไม่ก็ตาม [5] ซึ่งท่าทีดังกล่าวสะท้อนว่า สอ. ไม่พร้อมที่จะประนีประนอมในข้อเรียกร้องของตนและน่าจะส่งผลถึงโอกาสการบรรลุ คตล. อย่างที่หลายฝ่ายต้องการได้ทันภายในสิ้นปีนี้น้อยลงไปด้วย

๕. ผลกระทบต่อไทย
    ๕.๑ ในระยะสั้น สภาวะ ศก. ของ สอ. ที่ซบเซาและหดตัวลงตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดฯ และมาตรการล็อกดาวน์รอบแรกเมื่อปลาย มี.ค. ๖๓ จนถึงการล็อกดาวน์รอบที่สองในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจของไทยใน สอ. บางประเภท อาทิ ธุรกิจโรงแรมของกลุ่มนักธุรกิจไทยเนื่องจากการหายไปถึงร้อยละ ๙๐ ของนักท่องเที่ยวใน สอ. ธุรกิจด้านเครื่องปรุงไทยและสินค้าอาหารไทยประเภทวัตถุดิบซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการชั่วคราว (และมีจำนวนมากที่ต้องปิดตัวถาวร) ของร้านอาหารต่าง ๆ ใน สอ. ที่ให้คงเปิดบริการได้เฉพาะแบบซื้อกลับบ้านหรือส่งตามบ้านเท่านั้น รวมไปถึงการต้องปิดชั่วคราวของธุรกิจบริการ เช่น ร้านสปา ทั้งนี้ ธุรกิจของไทยใน สอ. ที่ได้รับผลกระทบได้รับเงินช่วยเหลือตามมาตรการพยุงการจ้างงานของ รบ. สอ. ซึ่ง สอท. ได้จัดทำประกาศแนะนำธุรกิจไทยใน สอ. ในการขอรับ คชล. จาก รบ. สอ. และคาดว่าเมื่อ ศก. ของ สอ. ฟื้นตัวหลังพ้นสภาวะการแพร่ระบาดฯ โดยเฉพาะเมื่อมีการแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิดฯ ใน สอ. และการดำเนินธุรกิจและชีวิต ปจว. ใน สอ.กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก็น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้บ้าง แต่ก็ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ สอ.ในภาพรวมด้วย
    ๕.๒ ในระยะยาว ตามประเด็นเกี่ยวกับ Brexit และ UKGT ในข้อ ๒.๑  UKGT เป็นนโยบายกำหนดอัตราภาษีนำเข้าใหม่ของ รบ. สอ. ภายใต้หลักการ Most Favoured Nation (MFN) ของ WTO ที่ประกาศเมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค. ๖๓ โดยจะนำมาใช้แทน EU Common External Tariff ในกรณีที่ สอ. และ EU ไม่สามารถบรรลุ คตล. ทางการค้าระหว่างกันได้เมื่อพ้นกำหนดสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในสิ้นปีนี้ และจะสามารถใช้กับการนำเข้าสินค้าจาก ปท. อื่น ๆ ที่ไม่มี คตล. การค้ากับ สอ. หรือได้รับสิทธิพิเศษ GSP ของ สอ. ด้วย โดยนโยบายดังกล่าวจะมีผลให้ยกเลิกภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีการนำเข้ามายัง สอ. อยู่แล้วประมาณร้อยละ ๖๐ ในส่วนที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมใน ปท. อาทิ สินค้าเกษตร เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ อาหารทะเล รวมถึงรถยนต์ด้วย สำหรับไทย สคต. ณ กรุงลอนดอน ประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ และส่วนประกอบอาหารต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์เนื่องจากเข้าข่ายเป็นสินค้าที่จะได้รับการลด/ยกเว้นภาษีนำเข้าตาม UKGT [6]

------

[1] https://www.gov.uk/government/news/preferential-tariffs-continue-for-eligible-developing-countries
[2] https://www.gov.uk/government/speeches/prime-ministers-article-in-the-financial-times-18-november-2020
[3] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/september2020
[4] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peoplenotinwork/unemployment
[5] https://twitter.com/DavidGHFrost/status/1327924800292052992
[6] สามารถดูรายละเอียดประเภทสินค้าและอัตราภาษีนำเข้าใหม่ได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงการค้า รปท. - https://www.gov.uk/guidance/uk-tariffs-from-1-january-2021)