สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ต.ค. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ต.ค. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,251 view

๑. ด้านการค้าปลีกและการบริการ
    ๑.๑ ร้านอาหารและผับ บ. Greene King ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทด้าน Hospitality ที่ใหญ่ที่สุดใน สอ.  ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ประมาณ ๘๐๐ ตำแหน่ง และปิดกิจการส่วนของผับจำนวน ๗๙ สาขา รวมถึงปิดกิจการร้านอาหาร “Loch Fyne” จำนวน ๑๑ สาขาด้วย ในขณะที่ บ. Marston’s ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเบียร์และเป็นเจ้าของกิจการผับ บาร์ ร้านอาหาร และโรงแรมกว่า ๑,๔๐๐ แห่งใน สอ. ได้ประกาศเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๒,๑๕๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๑๔,๐๐๐ ตำแหน่ง) เช่นกัน โดย Marston’s เปิดเผยว่า ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทในช่วง ต.ค. ๒๕๖๒ – ต.ค. ๒๕๖๓ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๓๐ มาอยู่ที่ประมาณ ๘๒๑ ล้านปอนด์ โดยในส่วนกิจการผับใน สอ. คิดเป็น ๕๑๕ ล้านปอนด์ ซึ่งลดลงกว่าผลประกอบการปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ ๓๔ ทั้งนี้ บริษัททั้งสองให้ข้อมูลว่า นอกจากปัจจัยการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือการจ้างงาน (Furlough Scheme) แล้ว ปัจจัยกระตุ้นอีกประการหนึ่งคือ การประกาศมาตรการควบคุมเพิ่มเติมที่สร้างข้อจำกัดอย่างมากแก่ร้านบริการอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (บางพื้นที่ปิดบริการในเวลา ๒๒.๐๐ น. และบางพื้นที่ปิดกิจการชั่วคราว) เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วทั้ง สอ. ที่ทำให้การประกอบธุรกิจไม่คุ้มต้นทุน อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าจ้างแบบใหม่ (Job Support Scheme) ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเลิกจ้าง พนง. ได้ อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บ. Fuller’s บริษัทด้าน Hospitality รายใหญ่อันดับสองใน สอ. ได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นบริษัทจำเป็นต้องเลิกจ้าง พนง. ประมาณ ๕,๐๐๐ ตำแหน่งหลังสิ้นสุด Furlough Scheme ในสิ้นเดือน ต.ค. นี้
    ๑.๒ แฟชั่น H&M ประกาศแผนปิดกิจการในย่านร้านค้าปลีกทั่วโลกจำนวนร้อยละ ๕ (หรือประมาณ ๒๕๐ สาขา จากทั้งหมด ๕,๐๐๐ สาขา) ในปี ๒๕๖๔ เนื่องจากปัจจัยของสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อในร้านน้อยลงและจับจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยบริษัทมีแผนเพิ่มการลงทุนและเร่งพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อตอบรับกับปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ บ. ASOS ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางค์ชั้นนำเปิดเผยว่า บริษัทมีลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจำนวน ๓ ล้านคนในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา (ปัจจุบันมีลูกค้าทั่วโลกทั้งหมด ๒๓.๔ ล้านคน คิดเป็นลูกค้าใน สอ. กว่า ๗ ล้านคน) โดยยอดขายใน สอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากยอดขายของเสื้อผ้าชุดกีฬาและชุดลำลอง ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในช่วงล็อคดาวน์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าทิศทางการขายทางออนไลน์ของธุรกิจแฟชั่นอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่บริษัทเหล่านี้ต่างแสดงความกังวลในทางเดียวกันว่า ความไม่แน่นอนเรื่อง คตล. ทางการค้า สอ. – EU และแนวโน้มการเกิด No-deal Brexit จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตดังกล่าวเนื่องจากอาจทำให้บริษัทเหล่านี้มีต้นทุนทางภาษีนำเข้า-ส่งออกและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ ๒๐ สำหรับการขายและส่งสินค้าระหว่าง สอ. กับ  EU

๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ  
    ๒.๑ โรงภาพยนตร์ Cineworld ได้ออกมาประกาศปิดกิจการโรงภาพยนตร์ Cineworld ทั้งหมดจำนวน ๑๒๗ โรงใน สอ. รวมถึงโรงภาพยนตร์ Picturehouse อีก ๒๖ โรงชั่วคราว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๘ ต.ค. เป็นต้นไปอย่างไม่มีกำหนด โดยส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๕,๕๐๐ ตำแหน่ง ในขณะที่ Odeon ได้ประกาศแผนลดจำนวน ชม. การให้บริการสำหรับโรงภาพยนตร์จำนวน ๓๐ โรง (จากทั้งหมด ๑๒๐ โรง) โดยจะให้บริการเฉพาะวันศุกร์ – อาทิตย์เท่านั้น นอกจากนี้ Vue โรงภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ใน สอ. ได้ประกาศลด ชม. การให้บริการสำหรับโรงภาพยนตร์จำนวน ๒๑ โรง (จากทั้งหมด ๘๗ โรง) เช่นกัน โดยจะเปิดให้บริการเฉพาะวันศุกร์ – วันจันทร์เท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทโรงภาพยนตร์ทั้ง ๓ ราย ได้ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การตัดสินใจลด ชม. และลดจำนวนสาขาดังกล่าวมีปัจจัยมาจากการที่บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์เลื่อนกำหนดการเข้าฉายของภาพยนตร์สำคัญ ๆ ออกไปจนถึงปีหน้า โดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดใน สอ. จะเอื้ออำนวยให้ธุรกิจสันทนาการต่าง ๆ เปิดทำการตามปกติได้อย่างเร็วที่สุดในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๔
    ๒.๒ รถยนต์ ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ของ สอ. (Society of Motor Manufactures and Traders – SMMT) สะท้อนความซบเซาของตลาดรถยนต์ใน สอ. ปัจจุบัน โดยมีรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ย. ๖๓ ทั้งหมดจำนวน ๓๒๘,๐๔๑ คัน (ลดลงร้อยละ ๔.๔ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา) ซึ่งถือว่าเป็นสถิติของเดือน ก.ย. ที่ต่ำที่สุดในรอบ ๑๐๐ ปี ทั้งนี้ นาย Mike Hawes ผู้บริหารของ SMMT ให้ความเห็นว่า มาตรการผ่อนคลายล็อคดาวน์ตั้งแต่เดือน พ.ค. ๖๓ ได้ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งทางด้านการผลิตและยอดขาย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยแนวโน้มของ No-deal Brexit และการแสวงหาเงินลงทุนเพื่อนำมาพัฒนาระบบรถยนต์อิเล็คทรอนิกส์แทนรถยนต์แบบเครื่องยนต์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 และอัตราการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในไตรมาสที่ ๔ นี้ ที่ทำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคต่างมีแนวโน้มชะลอการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยลง จึงจะเป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย
    ๒.๓ การบิน สายการบิน EasyJet ประเมินว่า มาตรการควบคุมเพิ่มเติมที่จะคงอยู่ใน สอ. ไปจนถึงเดือน มี.ค. ๖๔ อาจส่งผลให้บริษัทประสบกับการขาดทุนมูลค่ากว่า ๘๑๐ ล้านปอนด์ในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการขาดทุนประจำปีครั้งแรกใน ปวศ. ของบริษัทที่ให้บริการมากว่า ๒๕ ปี (ขาดทุนสูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่จำนวน ๗๙๔ ล้านปอนด์) เนื่องจากปัจจุบันสามารถให้บริการได้เพียงร้อยละ ๒๕ ของขีดความสามารถที่มีอยู่จากปริมาณการเดินทางที่ลดลง อย่างไรก็ดี EasyJet ได้พยายามระดมเงินทุนเพื่อประคับประคองบริษัทไว้ด้วยการกู้ยืมเงินจาก รบ. สอ. จำนวน ๖๐๐ ล้านปอนด์ และการระดมเงินทุนจากผู้ถือหุ้นได้จำนวน ๔๑๙ ล้านปอนด์ รวมทั้งได้ลดต้นทุนระยะยาว เช่น การเลิกจ้าง พนง. แล้วจำนวน ๔,๕๐๐ ตำแหน่งและการขายเครื่องบินโดยสารเป็นเงินมูลค่า ๖๐๘ ล้านปอนด์แล้ว ในขณะเดียวกันกลุ่มบริษัท Manchester Airports Group (MAG) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับสหภาพแรงงานถึงแนวโน้มที่บริษัทอาจต้องเลิกจ้าง พนง. ประจำสนามบิน Manchester จำนวน ๔๖๕ ตำแหน่ง พนง. ประจำสนามบิน London Stansted จำนวน ๓๗๖ ตำแหน่ง และ พนง. ประจำสนามบิน East Midlands จำนวน ๕๑ ตำแหน่ง ทั้งนี้ MAG ประเมินแล้วว่า จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการที่สนามบินทั้ง ๓ แห่งดังกล่าวจะลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. ๖๓ ยอดผู้โดยสารในช่วงเดือน เม.ย. - ส.ค. ๒๕๖๓ มีทั้งหมดเพียง ๒.๘ ล้านคน เมื่อเทียบกับ ๓๐.๓ ล้านคนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไม่น่าจะฟื้นตัวกลับมามากเท่าระดับเดิมก่อนวิกฤตได้ง่ายเนื่องจาก ปขข. จำนวนมากยังมีความกังวลต่อความปลอดภัยในการเดินทางและยังไม่มีแนวโน้มว่าวัคซีนจะพร้อมใช้ในเร็ววันนี้
    ๒.๔ เกษตรกรรม บ. Entocycle ซึ่งเป็นบริษัทเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อใช้เป็นอาหารในการปศุสัตว์ ได้รับการอนุมัติเงินสนับสนุนมูลค่า ๑๐ ล้านปอนด์จากโครงการ Industrial Strategy Challenge Fund (ISCF) ของ รบ. สอ. เพื่อใช้ในการสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงขนาดใหญ่แห่งแรกใน สอ. โดยจะตั้งอยู่ชานเมืองของกรุงลอนดอนทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (black soldier fly) ด้วยเศษอาหารเหลือทิ้งเพื่อแปรรูปแมลงวันลายเป็นโปรตีนสำหรับอาหารสัตว์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยกำจัดขยะประเภทอาหารได้มากถึง ๓๓,๐๐๐ ตัน/ปี ทั้งนี้ บ. Entocycle ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๖๐ โดยนาย Keiran Whitaker ซึ่งจบการศึกษาระดับ ป. โท ด้านการออกแบบสิ่งแวดล้อม (Environmental Design) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ปัจจุบันบริษัทตั้งอยู่ในย่าน London Bridge โดยใช้ขยะประเภทอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และกากกาแฟในการเพาะเลี้ยงแมลง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสำคัญ ๆ เช่น บ. Better Origin บ. Beta Bugs และซุปเปอร์มาร์เก็ต Tesco ให้การสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช (seed funding)
         
             
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๓.๑ ภาพรวมของข่าว ศก. ในช่วงครึ่งแรกของเดือน ต.ค. สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทต่าง ๆ ยังคงทยอยประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากการสิ้นสุดของมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ในปลายเดือนนี้ อีกทั้งการประกาศมาตรการควบคุมเพิ่มเติมแบบ ๓ ระดับที่ขณะนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่ของ สอ. อยู่ในระดับ ๒ – ๓ แล้ว ยิ่งเพิ่มความกดดันให้แก่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจด้าน Hospitality และสันทนาการมากขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดของ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) [1] ระบุว่า จำนวนผู้ถูกพักงานในเดือน ก.ย. ลดลงประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน เทียบจากเดือน ส.ค. ทำให้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในตลาดแรงงานหลังผู้ประกอบการเริ่มเรียก พนง. บางส่วนกลับเข้าทำงานตามปกติ แต่มีจำนวนผู้ขอรับเงินช่วยเหลือจาก รบ. เพิ่มขึ้นเป็น ๒.๗ ล้านคน (โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากผู้ที่มี ชม. การทำงานน้อยลงและ นศ. จบใหม่ที่ไม่มีงานทำ) ทั้งนี้ สถิติคาดการณ์ผู้ว่างงานในปีนี้ยังอยู่ที่ประมาณ ๑.๕ ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ ๔.๕ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ ๓ ปี ในขณะที่ธนาคารของอังกฤษ (Bank of England- BoE) ประเมินว่า อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๗.๕ ภายในสิ้นปีนี้จากแนวโน้มการแพร่ระบาดรุนแรงระลอกที่สอง
    ๓.๒ รายงานการวิเคราะห์ของ Organisation for Economic Co-operation and Development – (OECD) ล่าสุด [2]มีความเห็นว่า สอ. ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบทาง ศก. จาก COVID-19 มากที่สุด โดยคาดการณ์ว่า GDP ของ สอ. ในปี ๒๕๖๓ จะลดลงจากปีที่ผ่านมาในอัตราร้อยละ ๑๐.๑ และจะปรับตัวดีขึ้นในอัตราร้อยละ ๗.๖ ในปี ๒๕๖๔ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ สอ. ไม่สามารถจัดทำ คตล. การค้ากับ EU ได้สำเร็จ ผลกระทบของ “disorderly exit” จาก EU จะทำให้ GDP ของ สอ. ลดลงอีกร้อยละ ๕ เป็นเวลา ๒ ปี ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวสนับสนุนให้ รบ. สอ. มุ่งเน้นการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างทางดิจิทัล เช่น การพัฒนาติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในเขตชนบทและชุมชนที่ยากไร้ และปฏิรูปสังคมในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการให้แรงจูงใจเพิ่มเติมแก่บริษัทในการจ้าง พนง. ใหม่ และการสนับสนุนการฝึกทักษะทางอาชีพโดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลแก่ผู้ขอรับเงินช่วยเหลือ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นผลผลิตของประเทศโดยรวม (productivity) รวมถึงเสนอแนะให้ขยาย Furlough Scheme หากมีการล็อคดาวน์ครั้งที่สองเพื่อลดความรุนแรงของการว่างงานต่อ productivity ในระยะยาว
     ๓.๓ ด้าน Brexit เมื่อวันที่ ๑๖ ต.ค. ๖๓ นรม. Boris Johnson ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับท่าทีของ สอ. ต่อการเจรจา คตล. การค้ากับ EU หลังทราบผลการประชุมสุดยอดผู้นำ EU เมื่อวันที่ ๑๕ ต.ค. ๖๓ โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า สอ. มองว่าผลการประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าฝ่าย EU ไม่ต้องการที่จะสานต่อการเจรจาเพื่อพยายามบรรลุ คตล. การค้ากับ สอ. ในแบบ Canada-style แล้ว (กล่าวคือ การมี คตล. การค้าเสรีครอบคลุมสินค้ามากกว่าร้อยละ ๙๘ โดยยอมรับมาตรฐานสินค้าระหว่างกัน รวมทั้งเปิดเสรีภาคการบริการและการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงด้วย [3]) หากฝ่าย EU ไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีดังกล่าวอย่างจริงจัง (changes fundamentally) ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีความจำเป็นต้องเจรจา คตล. การค้าเสรีระหว่างกันต่อไป และหลังจากนี้ สอ. จะมองไปที่ทางเลือกอื่น คือ การมี คสพ. กับ EU แบบ Australia-style (กล่าวคือ การมี คตล. ยอมรับมาตรฐานซึ่งกันและกันเพื่อลดการกีดกันทางเทคนิคและอำนวยความสะดวกด้านการค้ากับสินค้าบางประเภท โดยไม่มี คตล. การค้าเสรีและใช้อัตราภาษี/กฎเกณฑ์ตามข้อกำหนดของ WTO เป็นหลัก [4]) หลังพ้นกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้ นรม. Johnson ได้กล่าวย้ำให้ภาคธุรกิจและ ปชช. เตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในวันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ซึ่ง สอท. ประเมินว่า ณ ขณะนี้โอกาสการเกิด No-deal Brexit มีความเป็นไปได้มากกว่า 

-----

[1] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/uklabourmarket/october2020
[2] http://www.oecd.org/economy/united-kingdom-economic-snapshot/
[3] https://trade.ec.europa.eu/doclib/press/index.cfm?id=1907
[4] https://ec.europa.eu/trade/policy/countries-and-regions/countries/australia/index_en.htm#:~:text=On%2022%20May%202018%2C%20the%20Council%20of%20the,barriers%20and%20improve%20trade%20in%20services%20and%20investment