สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงเดือน ส.ค. 61

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงเดือน ส.ค. 61

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 729 view
1. สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. รายงานว่า ศก. ของ สอ. ประจำไตรมาสที่สองของปีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4 เป็นผลจากการเติบโตจากภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการบริการ โดยเฉพาะจากการค้าขายปลีก (retail) ที่ช่วยพยุงตัวเลขขึ้นมาโดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (ตั้งแต่เดือน พ.ค. - ก.ค. 61) ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ดีขึ้นในช่วงฤดูร้อน ทำให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านมากขึ้น ประกอบกับร้านต่าง ๆ ยังกระตุ้นยอดขายด้วยการลดราคาประจำฤดูร้อน เทศกาลฟุตบอล World Cup ในช่วงเดือน มิ.ย - ก.ค. ก็ช่วยให้ยอดขายอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ผลประกอบการจากการซื้อขายออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.ค. 61 สูงขึ้นร้อยละ 18.2 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวัติการณ์อีกด้วย
 
2. ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. 61 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือน มิ.ย.61 เนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ ราคาค่าโดยสารรถไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมของ สอ. อนึ่ง ธนาคารชาติของ สอ. มีแผนปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในอนาคต เพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 2 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้    

3. เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 61 นาย Dominic Raab รมว. กระทรวง Exiting the European Union แถลงแนวโน้มผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและ ปชช. ใน สอ. พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการปฏิบัติหากเกิดสถานการณ์ no-deal Brexit จำนวน 25 ฉบับ อาทิ การคาดการณ์ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครคิตระหว่าง สอ.-อียู และความเป็นไปได้ที่ชาวบริติชที่อาศัยในอียูอาจเสียสิทธิ์ในเงินบำนาญและการเข้าใช้บริการทางการเงิน และธุรกรรมบางอย่างของ สอ. ทั้งนี้ ได้แนะนำให้นักลงทุนเตรียมรับมือกับระบบศุลกากรแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าสูงขึ้น ผนวกกับความล่าช้าที่จะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบสินค้าเข้า-ออก ณ ชายแดนของอียูและ สอ. ที่เมือง Calais ของฝรั่งเศส และเมือง Dover ของ สอ. นอกจากนี้ รบ.สอ. แนะนำให้บริษัทยา และ NHS กักตุนยาในปริมาณที่พอเพียงต่อการรักษาผู้ป่วยอย่างน้อย  6 สัปดาห์ หลัง สอ. ออกจากอียู

4. นาย Liam Fox รมว. การค้า รวปท. สอ. ประกาศเพิ่มเป้าการส่งออกจากร้อยละ 30 ของ GDP รวมของสอ. ในปีที่ผ่านมา ขึ้นเป็นร้อยละ 35 ของ GDP โดยมีแผนผลักดันและให้ความช่วยเหลือด้านเงินลงทุนผ่านสถาบัน UK Export Finance (UKEF) ล่าสุดนาย Fox บรรลุข้อตกลงกับจีน ที่ทำให้จีนสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์จากนมวัวจาก สอ. ที่ผลิตจากนมวัวที่ สอ. นำเข้าจาก ปท. ที่สามได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลดีต่อ สอ. โดยเฉพาะไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นแหล่งที่มีกำลังการผลิตสินค้าจากผลิตภัณฑ์นมสูง คาดว่าจะนำรายได้เข้าสู่ สอ. กว่า 240 ล้านปอนด์ในระยะเวลา 5 ปีถัดไป อนึ่ง เมื่อช่วงต้นปี 61 จีนอนุญาตให้นำเข้าเนื้อวัวจากอังกฤษได้อีกครั้ง หลังจากห้ามไม่ให้มีการนำเข้ามาเป็นเวลา 20 ปี

ข้อสังเกต
1. ปัจจัยบวกในช่วงฤดูร้อน เช่นสภาพอากาศ การแข่งขันฟุตบอล World Cup ของทีมชาติอังกฤษ ยอดขายจากค้าปลีกที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยพยุงตัวเลขทาง ศก. ของ สอ. ในไตรมาสนี้ให้ปรับตัวดีขึ้น สวนกระแสข่าวทยอยปิดสาขาของห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ของ สอ. ที่ประสบภาวะขาดทุนจากหลายปัจจัย ทั้งต้นทุนค่าเช่า การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การค้าออนไลน์ของ สอ. น่าจะเป็นปัจจัยหลักอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ยอดขายช่วงลดราคาภาคฤดูร้อนสูงขึ้น ทั้งนี้ สอ. เป็น ปท. ที่มีตลาดการค้าออนไลน์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากจีน และสหรัฐฯ) และเป็นอันดับหนึ่งของอียู อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสถัดไป คงต้องจับตาดูสถานการณ์ทาง ศก. ของ สอ. อีกครั้ง หลังการประชุมเจรจาหาทางออกเรื่อง no-deal Brexit ที่เต็มไปด้วยความอึมครึม จนส่งผลกระทบต่อค่าเงินปอนด์ให้อ่อนตัวลงไปอีก

2. รบ.สอ. พยายามอย่างต่อเนื่องในการหาทางรับมือกับผลกระทบทาง ศก. ที่จะเกิดขึ้นหลังออกจากอียู ด้วยการผลักดันให้เกิดข้อตกลงทางการค้า รวปท. และส่งเสริมแผนการส่งออกของภาคเอกชนกับประเทศนอกอียู เช่นการพยายาม secure ตลาดผลิตภัณฑ์จากนมในจีน ล่าสุด (28 ส.ค.61) นรม. สอ. เยือนหลาย ปท. ในทวีปแอฟริกา เช่นแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย ฯลฯ เพื่อหารือการ secure ตลาด สอ. หลังจากออกจากอียู ซึ่งการเยือนนี้ เป็นการเยือนทวีปแอฟริกาครั้งแรกนับจาก นรม. รับตำแหน่งในปี ค.ศ. 2016 แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเดินช้ากว่าผู้นำ ปท. อื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ ฝศ. และจีน ซึ่งไปเยือนแอฟริกาก่อนหน้า สอ. ตั้งนานแล้ว 

3. การตั้งเป้าขยายการส่งออกของ รมว. Fox อาจจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากความพยายามในการทยอยเจรจาหาตลาดจากหลาย ปท. ทั้งจีน แอฟริกา ฯลฯ นอกจากนั้น ปัจจัยค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัวลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาคส่งออกของ สอ. โดยปริยายด้วย