วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มิ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ภาคธุรกิจค้าปลีก
๑.๑ บ. Marks & Spencer (M&S) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผลกำไรสะสมจากปี ๒๕๖๒ ลดลงร้อยละ ๒๑ มาอยู่ที่ประมาณ ๔๐๓.๑ ล้านปอนด์จากการขาดทุนในธุรกิจเสื้อผ้าที่หยุดชะงักไป นอกจากนี้ ยังมีสินค้าของฤดูใบไม้ผลิปีนี้ โดยเฉพาะสินค้าจำพวกเสื้อผ้าและเครื่องตกแต่งภายในบ้านที่ยังขายไม่ได้ค้างอยู่ในคลังสินค้าคิดเป็นมูลค่าถึง ๒๐๐ ล้านปอนด์ M&S ประเมินว่า ยอดขายเสื้อผ้าและสินค้าตกแต่งบ้านในช่วง เม.ย. – ก.ค. ๖๓ จะปรับตัวลดลงร้อยละ ๗๐ ก่อนที่จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากนั้น โดยคาดว่าจะทำให้ผลประกอบการโดยรวมของปี ๒๕๖๓ ลดลงมากถึง ๑.๕ พันล้านปอนด์ นอกจากนี้ ยังคาดว่าผลจากการปิดสาขาที่ตั้งอยู่ในสนามบิน สถานีขนส่งสาธารณะ และจุดแวะพักตามถนนสายหลัก ทั่ว สอ. จะทำให้ยอดขายสินค้าอาหารในช่วง เม.ย. – ก.ค. ลดลงร้อยละ ๒๐ ทั้งนี้ นาย Steve Rowe CEO ของ M&S ให้ความเห็นว่า วิกฤต COVID-19 เป็นจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนไปแล้ว M&S จึงได้เริ่มแผนปฏิบัติการเพื่อปรับตัวดังกล่าวแล้วโดยมีมูลค่าประมาณ ๑ พันล้านปอนด์ ซึ่งประมาณร้อยละ ๕๐ มุ่งการลดต้นทุนระยะยาวและอีกร้อยละ ๕๐ สำหรับการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลทดแทนธุรกิจที่ต้องมีหน้าร้าน (high street)
๑.๒ บ. Intu Properties หนึ่งในบริษัทเจ้าของศูนย์การค้าหลายแห่งของ สอ. เช่น ศูนย์การค้า Trafford Centre (ในเมือง Manchester) และ Lakeside (ในเมือง Essex) ได้เริ่มกระบวนการเจรจาขอผ่อนผันการชำระหนี้ไปจนถึงเดือน ธ.ค. ๖๔ หลังจากคาดการณ์ว่าบริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดในเดือน มิ.ย. ศกนี้ ได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นซบเซา นอกจากนี้ บริษัทไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าเช่าได้ตามปกติจากปัจจัยที่ร้านค้าส่วนใหญ่ยังปิดกิจการชั่วคราว และบางร้านค้าไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ โดยรายได้ในเดือน มี.ค. ทั้งหมดได้รับเพียงร้อยละ ๔๐ ทั้งนี้ บ. Intu Properties ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการล้มละลายและการปิดตัวของร้านค้าปลีกต่าง ๆ ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีหนี้สะสมอยู่ประมาณ ๔.๕ พันล้านปอนด์ และขณะนี้ได้พักงานชั่วคราว พนง. ในศูนย์การค้าต่าง ๆ จำนวนร้อยละ ๖๐ และ พนง. ใน สนง. ใหญ่จำนวนร้อยละ ๒๐ แล้ว
๒. ภาคอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว
๒.๑ บ. Rolls-Royce ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ถาวรจำนวน ๙,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๕๒,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก โดยมีสัดส่วนประมาณ ๒ ใน ๓ อยู่ใน สอ.) นาย Warren East, CEO ของ Rolls-Royce กล่าวว่า แผนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินพลเรือนใน สอ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะศูนย์การผลิตหลักที่เมือง Derby นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการลดต้นทุนในส่วนของศูนย์การผลิตและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ ๑.๓ พันล้านปอนด์เพื่อเตรียมรับมือกับการซบเซาของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก แม้ว่า รบ. สอ. จะมีมาตรการช่วยจ่ายเงินเดือนระหว่างการพักงาน พนง. ชั่วคราว (Furlough Scheme) แล้วก็ตาม ที่ผ่านมา บริษัทได้พักงานชั่วคราว พนง. ประมาณ ๔,๐๐๐ ตำแหน่ง ในช่วงเดือน เม.ย. และปัจจุบันได้เรียก พนง. กลับมาทำงานประมาณ ๓๐๐ ตำแหน่งแล้ว
๒.๒ สายการบิน EasyJet ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวนร้อยละ ๓๐ หรือประมาณ ๔,๕๐๐ ตำแหน่ง จากทั้งหมด ๑๕,๐๐๐ ตำแหน่ง และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาลดจำนวนเครื่องบิน เพื่อปรับให้สอดคล้องกับปริมาณ อุปสงค์ในภาคการบินและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะลดลงอย่างมากจนถึงปี ๒๕๖๖ ซึ่งเกิดจากผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 โดยแนวโน้มลดลงของอุปสงค์ดังกล่าวสะท้อนได้จากการที่สายการบินของ สอ. ตัดสินใจดำเนินการเลิกจ้าง พนง. เช่นกัน เช่น British Airways มีแผนเลิกจ้าง พนง. ๑๒,๐๐๐ ตำแหน่ง Ryanair ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง และ Virgin Atlantic ๓,๐๐๐ ตำแหน่งนอกจากนี้ บ. Tui ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการจัดเที่ยวบินและแพ็คเกจท่องเที่ยวประกาศหยุดบริการจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. และการให้บริการท่องเที่ยวบนเรือสำราญ Marella Cruises หยุดบริการจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. ในขณะที่ บ. Jet2holidays ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง ได้ประกาศหยุดบริการจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. เช่นกัน
๓. ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ สอ.
๓.๑ บ. JCB ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถขุดเจาะดินขนาดใหญ่ของ สอ.ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๙๕๐ ตำแหน่งที่ฐานการผลิต ๑๐ แห่ง ใน Staffordshire และ Derbyshire ของอังกฤษและใน Wrexham ของเวลส์ นอกจากนี้ จะมีการเลิกจ้าง พนง. ของ บ. Guidant (บริษัทลูกของ JCB ด้านการจัดหางาน) อีกจำนวน ๕๐๐ ตำแหน่งด้วย โดยนาย Graeme Macdonald หัวหน้าผู้บริหารของ JCB ชี้แจงว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีปัจจัยมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ยอดการผลิตและยอดขายลดลงถึงร้อยละ ๕๐ บริษัทจึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างเพื่อลดผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้ บ. JCB มีการจ้างงานทั้งหมดประมาณ ๖,๗๐๐ ตำแหน่งใน สอ. และได้พักงานชั่วคราว พนง. มากกว่าร้อยละ ๙๐ เพื่อให้ รบ. สอ. ช่วยเหลือภายใต้มาตรการ Furlough Scheme จนถึงเดือน ต.ค. ศกนี้ แต่ปัจจุบันหลังจากที่ รบ. สอ. อนุญาตให้เรียกพนักงานบางส่วนกลับมาทำงานได้ บริษัทได้เปิดทำการฐานการผลิตในเมือง Rocester โดยใช้ พนง. จำนวน ๔๐๐ คน
๓.๒ บ. Mclaren ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถซุปเปอร์คาร์ รถแข่ง และเจ้าของทีมนักแข่งรถในการแข่งขัน Formula 1 ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๒๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๔,๐๐๐ ตำแหน่ง) หลังจากที่ รบ. ปฏิเสธการให้เงินกู้ยืมฉุกเฉินจำนวน ๑๕๐ ล้านปอนด์ การลดจำนวน พนง. เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุนเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ทำให้เกิดการระงับการแข่งขันรถ Formula 1 ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่บริษัทคิดเป็นร้อยละ ๒๐ และยังส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ซุปเปอร์คาร์เนื่องจากการปิดศูนย์การผลิตและโชว์รูมอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทเจ้าของทีมรถแข่งอื่น ๆ เช่น บ. Mercedes /Ferrari และ Red Bull อาจมีการลดต้นทุนบริษัทด้วยการเลิกจ้าง พนง. ในอนาคตจากแนวโน้มดังกล่าวด้วยเช่นกัน
๓.๓ University and College Union (UCU) ของ สอ. เผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของ นศ. ที่กำลังสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยระดับ ป. ตรี โดยพบว่า นศ. มากกว่าร้อยละ ๒๐ (ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน) ประสงค์ที่จะเลื่อนการสมัครเรียนออกไปหากมหาวิทยาลัยไม่สามารถเปิดสอนได้ตามปกติในเดือน ก.ย. เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้ บ. London Economics ได้ประเมินจากข้อมูลดังกล่าวว่าอาจทำให้มหาวิทยาลัยของ สอ. สูญเสียรายได้มากถึง ๗๖๓ ล้านปอนด์ นอกจากนี้ จากการสำรวจของ บ. Quacquarelli Symonds พบว่า นศ. ต่างชาติจากจีนร้อยละ ๔๙ ไม่ประสงค์ที่จะลงทะเบียนเรียนในปีนี้หากมหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทนการเข้าเรียนจริง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจด้านการศึกษาของ สอ. สูญเสียรายได้หลายพันล้านปอนด์ในปีการศึกษาหน้า (ที่ผ่านมามีสถิติการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่ว สอ. โดยเฉลี่ยประมาณ ๕๓๐,๐๐๐ คน/ปี)
๔. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
๔.๑ บริษัทในภาคธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว และ Hospitality ใน สอ. กว่า ๗๐ ราย พร้อมกับหอการค้า สอ. (British Chambers of Commerce) ได้มีหนังสือถึง นรม. Boris Johnson หลังจากที่ รบ. สอ. ประกาศใช้มาตรการภาคบังคับให้บุคคลที่เดินทางเข้า สอ. ทุกรายต้องกักตัวเองเป็นเวลา ๑๔ วัน (มีผลตั้งแต่วันที่ ๘ มิ.ย. เป็นต้นไป) โดยแสดงความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ นทท. ตัดสินใจเดินทางไปประเทศอื่นแทน และเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ ศก. สอ. ในการฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสนอให้ รบ. พิจารณาทางเลือกในการใช้มาตรการดังกล่าวกับบาง ปท. ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงแทนการใช้มาตรการแบบปูพรม อย่างไรก็ดี นาง Priti Patel รมว. มท. ให้ความเห็นว่า รบ. จะทบทวนมาตรการดังกล่าวทุก ๓ สัปดาห์ และจะศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ คตล. ทวิภาคีกับบาง ปท. ที่มีการแพร่ระบาดต่ำในการสร้าง air bridges หรือ travel corridors ในอนาคตเมื่อสถานการณ์มีความเหมาะสม
๔.๒ รายงานจากสนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistis – ONS)[1] ระบุว่า ยอดขายโดยรวมของภาคธุรกิจค้าปลีกของ สอ. ในเดือน เม.ย. ๖๓ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๘.๑ ซึ่งถือว่าลดลงมากที่สุดใน ปวศ. โดยมีปัจจัยจากมาตรการ lockdown ที่ทำให้ห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว แม้ว่ายอดขายออนไลน์จะปรับตัวสูงขึ้นมากถึงร้อยละ ๓๐.๗ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่มีต่อยอดขายโดยรวมได้ การสั่งสินค้าประเภทอาหารออนไลน์ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๙.๓ (จากร้อยละ ๕.๗ ในเดือน มี.ค.) ในขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าและรองเท้าในเดือน เม.ย. ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ข้อมูลจาก บ. Springboard ชี้ว่า จำนวนผู้จับจ่ายใช้สอยตามห้างร้านต่าง ๆ ลดลงร้อยละ ๘๐ ในเดือน เม.ย. เช่น บ. Primark สูญเสียรายได้ของเดือน เม.ย. ทั้งหมดเนื่องจากบริษัทไม่มีบริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ (จากปกติที่บริษัทมียอดขายโดยเฉลี่ย ๖๕๐ ล้านปอนด์/เดือน)
๔.๓ โดยที่ รบ. สอ. ได้เริ่มแผนการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ขั้นที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจเปิดบริการได้มากขึ้น เช่น ธุรกิจโชว์รูมขายรถยนต์ ตลาดกลางแจ้ง รวมถึงร้านค้าประเภทอื่น ๆ ที่เตรียมจะเปิดทำการในวันที่ ๑๕ มิ.ย. ศกนี้ เป็นต้นไป จึงคาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการจ้างงาน การใช้จ่ายครัวเรือน และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจค้าปลีกบน high street ทยอยฟื้นตัวกลับมา อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ภาพรวมของภาคธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสที่ ๒ อาจยังไม่ฟื้นตัวกลับมาได้มากนักจากปัจจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและกำลังซื้อที่ลดลง ประกอบกับการที่ร้านอาหาร ผับ และสถานบันเทิงต่าง ๆ ยังไม่เปิดให้บริการ ทำให้ความต้องการในการสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ อนึ่ง สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินปอนด์ในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. ไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก โดยทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำ เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค. ๖๓ อยู่ที่ ๑ ปอนด์ต่อ ๑.๑๑ ยูโร และที่ ๑ ปอนด์ต่อ ๑.๒๒ ดอลลาร์สหรัฐฯ