สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 พ.ค. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 พ.ค. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 682 view

๑. ภาคธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์
    ๑.๑ . Landsec หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเจ้าของศูนย์การค้าและอาคาร สนง. จำนวนมากใน สอ. รายงานว่า ในไตรมาสที่ ๑ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของบริษัทปรับตัวลดลงร้อยละ ๙ (ประมาณ ๑.๑๘ พันล้านปอนด์) มาอยู่ที่มูลค่าประมาณ ๑.๒๘ หมื่นล้านปอนด์ และรายได้จากค่าเช่าลดลงร้อยละ ๖๓ โดยรายได้ในส่วนของร้านค้าปลีกลดลงมากที่สุดร้อยละ ๒๐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และคาดว่าจะปรับตัวลดลงอีกในการประเมินรอบถัดไปในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ นาย Mark Allan CEO ของ บ. Landsec ให้ข้อมูลว่า บริษัทได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์รายได้ปรับลดลงในช่วงปี ๒๕๖๓ แล้วจากสภาวะร้านค้าซบเซาและการใช้อาคารที่ทำงานน้อยลงเนื่องจากการทำงานจากบ้านมากขึ้น และบริษัทพร้อมช่วยเหลือผู้เช่าโดยเตรียมมาตรการงดเก็บค่าเช่าบางส่วนและขยายเวลาการผ่อนชำระค่าเช่าโดยเฉพาะลูกค้าภาคธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ และผับบาร์ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากในช่วงนี้จนถึงปลายปี ๒๕๖๓ เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่จะได้รับการผ่อนคลายเป็นขั้นสุดท้าย นอกจากนี้ บริษัทคาดการณ์ว่า ในปี ๒๕๖๔ อาจเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นไปอีกคือ ค่าเช่าในส่วนร้านค้าปลีกอาจจะลดลงร้อยละ ๗๕ และในส่วนของอาคารที่ทำงานจะลดลงร้อยละ ๒๐
   ๑.๒ . Halfords ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายรถจักรยานที่ใหญ่ที่สุดใน สอ. รายงานว่า หุ้นของบริษัทปรับตัวขึ้นทันที  ร้อยละ ๑๗ หลังจากที่ รบ. สอ. ประกาศแนวทางการผ่อนคลายมาตรการ lockdown และมีนโยบายให้ ปชช. เดินทางไปทำงานด้วยรถจักรยานแทนการใช้บริการขนส่งสาธารณะ บริษัทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอดขายของอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับการขี่จักรยานปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๕๐๐ ในขณะที่ยอดขายของรถจักรยานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายใน ๑ สัปดาห์ในเดือน พ.ค. จากนโยบายสนับสนุนการซื้อจักรยานของ รบ. สอ. ผ่านโครงการ Cycle to Work Scheme[1] นอกจากนี้ บริษัทมองว่านโยบายการปิดถนนในใจกลางย่านธุรกิจกรุงลอนดอนสำหรับ ปชช. ที่เดินเท้าและขี่จักรยานที่นาย Sadiq Khan นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนประกาศจะเริ่มใช้ในเดือน มิ.ย. ศกนี้ จะยิ่งส่งผลให้ความต้องการใช้จักรยานในตัวเมืองเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวหลังจากนี้ด้วย

๒. ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์และการบิน
    ๒.๑ สมาคมผู้ผลิตและค้ารถยนต์ของ สอ. (Society for Motor Manufacturers and Traders - SMMT) เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย. ๒๕๖๓ มีผู้จดทะเบียนรถใหม่เพียง ๔,๓๒๑ คัน โดยปรับตัวลดลงถึงร้อยละ ๙๗.๓ เมื่อเทียบกับสถิติของเดือน เม.ย. ๒๕๖๒ (๑๖๑,๐๖๔ คัน) ถือเป็นสถิติรายเดือนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ ซึ่งยอดขายส่วนใหญ่เป็นยอดจากการสั่งซื้อล่วงหน้า (pre-order) โดยเป็นรถที่จดทะเบียนในนามบริษัท (fleet purchase) ร้อยละ ๗๐ และรถยนต์จดทะเบียนส่วนบุคคลเพียง ๘๗๑ คัน นอกจากนี้ เกือบ ๑ ใน ๓ ของรถยนต์จดทะเบียนใหม่เป็นรถยนต์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Tesla Model 3 จำนวน ๖๕๘ คัน และ Jaguar Land Rover รุ่น I-Pace จำนวน ๓๖๗ คัน ทั้งนี้ นาย Mike Hawes ผอ. ของ SMMTกล่าวว่า สถิติยอดขายรถของเดือน เม.ย. อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากโชว์รูมจำหน่ายรถยนต์ทั่ว สอ. ต้องปิดทำการชั่วคราวตลอดเดือน เม.ย. ตามมาตรการ lockdown ส่งผลให้การซื้อขายหยุดชะงักลง รวมทั้งคาดว่า ยอดรถจดทะเบียนใหม่ในปีนี้จะปรับตัวลดลงร้อยละ ๓๐ มาอยู่ที่ประมาณ ๑.๗ ล้านคัน   เมื่อเทียบกับ ๒.๓ ล้านคันในปี ๒๕๖๒
          อนึ่ง รายงานการประเมินของ สคต. ณ กรุงลอนดอนประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเห็นสอดคล้องกันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ ปชช. มีความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์และเสื้อผ้า ลดลงโดยเป็นผลจากความกังวลในรายได้และเงื่อนไขในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป กอปรกับ รบ. สอ. มีนโยบายให้ทำงานจากบ้านมากขึ้น จึงทำให้แนวโน้มความต้องการและการจำหน่ายรถยนต์ลดลง ซึ่ง สอ. เป็นตลาดส่งออกอุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ที่สำคัญของไทย จึงย่อมส่งผลให้การส่งออกสินค้าประเภทนี้ของไทยมายัง สอ. น้อยลงด้วย ล่าสุด สถิติการส่งออกของไทยมายัง สอ. ในเดือน เม.ย. ๒๕๖๓ ลดลงร้อยละ ๘ และมูลค่าการค้าสองฝ่ายลดลงร้อยละ ๔ ในภาพรวม
    ๒.๒ Virgin Atlantic ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ใน สอ. จำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมดประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่ง) และยุติการให้บริการจากสนามบิน Gatwick อย่างถาวร โดยจะย้ายเส้นทางการบินจากสนามบิน Gatwick ไปยังสนามบิน Heathrow แทน โดยนาย Shai Weiss ผอ.ของ Virgin Atlantic กล่าวว่า ในระยะเวลา ๓๖ ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ถือว่าเลวร้ายที่สุด ทำให้ขาดทุนจากการดำเนินการอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอกู้เงินระยะสั้นเพื่อรักษากิจการจาก รบ. สอ. นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนลดจำนวนเครื่องบินจากทั้งหมด ๔๕ ลำ เหลือเพียง ๓๕ ลำ ภายในช่วงฤดูร้อนของปี ๒๕๖๕ อนึ่ง สายการบินอื่น ๆ ของ สอ. ได้รับผลกระทบเช่นกันและส่วนใหญ่ได้ประกาศแผนพักงานและเลิกจ้าง พนง. ก่อนหน้านี้ เช่น British Airways มีแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑๒,๐๐๐ ตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ ๒๘ ของ พนง. ทั้งหมด) ในขณะที่ Ryanair มีแผนเลิกจ้าง พนง. ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ ๑๕ ของ พนง. ทั้งหมด)

๓. การประเมินผลกระทบต่อ ศก. สอ.
    ๓.๑ ธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England – BoE) ประกาศเตือนว่า สอ. กำลังเข้าสู่สภาวะ ศก. ถดถอยที่รุนแรงที่สุดในช่วง ปวศ. ที่ไม่ใช่สภาวะสงคราม โดยปัจจัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบให้ ศก. สอ. หดตัวลงโดยเฉลี่ยในอัตราร้อยละ ๑๔  โดยคาดว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ (GDP) ของ สอ. ในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๖๓ จะลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ ๒๕ และอัตราการว่างงงานจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในอัตราร้อยละ ๙ ทั้งนี้ นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการ BoE ให้ข้อมูลว่า ในกรณีที่ไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สอง (หลัง รบ. สอ. ผ่อนคลายมาตรการ lockdown แล้ว) ศก. สอ. จะสามารถฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๔ โดย ศก. อาจขยายตัวในอัตราร้อยละ ๑๕ นอกจากนี้ BoE ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของปี ๒๕๖๓ จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ ๐.๖ (จากร้อยละ ๑.๘ ในปี ๒๕๖๒) และร้อยละ ๐.๕ ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งขณะนี้ BoE จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ ๐.๑ ต่อไป
    ๓.๒ รายงานสถิติ ศก. สอ. ไตรมาสที่ ๑ ของ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[2]ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบให้ ศก. สอ. ในเดือน มี.ค. ๒๕๖๓ หดตัวลงอย่างฉับพลันถึงร้อยละ ๕.๘ และทำให้ภาพรวมของ ศก. ในไตรมาสที่ ๑ ของปี ๒๕๖๓ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๒ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อไตรมาสที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤต ศก. ปี ๒๕๕๑ โดยมีผลประกอบการของภาคบริการ (ซึ่งมีสัดส่วนถึง ๔ ใน ๕ ของ GDP ของ สอ.) ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ ๖ ในเดือน มี.ค. ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ ๔.๒ และภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลงร้อยละ ๕.๙ ทั้งนี้ มีเพียงบริษัทด้าน IT support บริษัทผลิตยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเท่านั้นที่ขยายตัวในทิศทางบวกในช่วงเดือน มี.ค.
    ๓.๓ รายงานการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัย National Institute of Economic and Social Research (NIESR) [3]ประเมินว่า สอ. อาจสูญเสียรายได้มากถึง ๘ แสนล้านปอนด์ภายใน ๑๐ ปีข้างหน้านี้จากผลกระทบของมาตรการ lockdown และอัตราการว่างงานที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเอกชน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการ lockdown ทำให้ GDP ของ สอ. ลดลงร้อยละ ๓๐ และจะส่งผลกระทบให้ ศก. สอ. ในปี ๒๕๖๓ หดตัวลงร้อยละ ๗.๕ อย่างไรก็ดี คาดว่า GDP ของ สอ. จะฟื้นตัวและปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๘ ได้ในปี ๒๕๖๔ (ในขณะที่ ศก. โลกจะหดตัวในอัตราร้อยละ ๓ ในปี ๒๕๖๓ และจะขยายตัวในอัตราร้อยละ ๗ ในปี ๒๕๖๔) นอกจากนี้ รายงานของ NIESR ระบุว่า ปัจจุบัน รบ. สอ. ได้กู้เงินไปแล้วจำนวน ๗. ๕ หมื่นล้านปอนด์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และคาดว่า รบ. อาจต้องกู้เงินเพิ่มอีกกว่า ๒ แสนล้านปอนด์ในปี ๒๕๖๔ เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจและจะทำให้อัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP โดยเฉลี่ยสูงขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ ๙๕  

. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๔.๑ ภาพรวมของ ศก. สอ. ในช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ค. ๒๕๖๓ ยังเป็นที่น่ากังวลโดยนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างจัดทำรายงานผลการประเมิน ศก. ไปในทิศทางเดียวกันว่า สอ. จะเข้าสู่ช่วง ศก. ถดถอยรุนแรงจากมาตรการ lockdown ในช่วงไตรมาสที่ ๒ เป็นต้นไป แม้ว่า รบ. มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างครอบคลุมแล้วก็ตาม แต่นโยบายดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นและมีแนวโน้มว่าในระยะยาวผู้ประกอบการต้องแบ่งเบาภาระทาง งปม. นี้เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะนี้ที่ยังไม่ชัดเจนว่ากำลังซื้อและพฤติกรรมผู้บริโภคจะสามารถฟื้นคืนสภาพเดิมได้เมื่อใด จึงปรากฏว่ามีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งตัดสินใจปิดกิจการถาวรหรือเลิกจ้าง พนง. บางส่วนเพื่อลดรายจ่ายและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดในระยะยาวแล้ว โดยขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่า ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดใน สอ. ได้แก่ ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว Hospitality (โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และผับ) และการบริการเสริมความงามเนื่องจากจะเป็นภาคส่วนที่เริ่มฟื้นคืนได้ในระยะสุดท้ายของแผนการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ของ รบ. สอ. ซึ่งปัจจัยความกังวลต่อสภาวะ ศก. ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดค่าเงินปอนด์ปรับตัวลดลง (ลดลงประมาณร้อยละ ๑.๗) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ ๑ ปอนด์ ต่อ ๑.๑๓ ยูโร และที่ ๑ ปอนด์ต่อ ๑.๒๒ ดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๖๓)
    ๔.๒ . KPMG London ได้จัดการสัมมนาทางธุรกิจแบบออนไลน์ (Webinar) เกี่ยวกับแนวโน้มของ ศก. สอ.
เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ค. ๒๕๖๓ โดยผู้เชี่ยวชาญของบริษัทประเมินว่า ศก. สอ. น่าจะใช้เวลาฟื้นตัวจนถึงในช่วงปลายปี ๒๕๖๔ แต่สภาพของตลาดจะไม่กลับไปเป็นเช่นเดิมอีก เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้วิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจของโลกหลังจากนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยภาคธุรกิจจะปรับตัวเพื่อเพิ่มความคล่องตัวโดยให้ลูกจ้างบางส่วนทำงานจากบ้าน ลดการใช้พื้นที่อาคารทำงาน และพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ในขณะที่ภาคธุรกิจระหว่างประเทศจะลดความสำคัญลงและจะเน้นการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานในประเทศเพื่อพึ่งพาตนเองมากขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้จึงควรวางแผนปรับโครงสร้างและเร่งพัฒนาศักยภาพให้ตอบสนองแนวโน้มดังกล่าว
    นอกจากนี้ การวิเคราะห์ของ KPMG สรุปว่า ธุรกิจที่เติบโตในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจด้าน IT และ database โดยเฉพาะในส่วนของ Biotech / Fintech และด้านเกษตรกรรม (โดยเฉพาะด้าน food security) นอกจากนี้ ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลทางบวกหลังจากนี้ ได้แก่ ธุรกิจด้าน logistics และอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานให้ตอบสนองกับปริมาณความต้องการในประเทศอย่างเพียงพอ และลดการพึ่งพาการผลิตจาก ตปท. ซึ่งในทางกลับกันอาจมีส่วนช่วยในการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมภายใน สอ. และลดผลกระทบจาก Brexit ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าได้พอสมควร ทั้งนี้ ในประเด็น Brexit บริษัทมีความเห็นว่า ท่าทีปัจจุบันของฝ่าย สอ. และฝ่าย EU มีความต่างกันแบบคนละขั้ว อีกทั้งสถานการณ์และความซับซ้อนทางการเมืองภายในของ สอ. น่าจะทำให้ รบ. สอ. ไม่ขอขยาย transition period จึงมีแนวโน้มสูงว่าจะกลับมาเป็น “worst case no deal scenario” อีกครั้ง หรืออย่างดีที่สุดทั้งสองฝ่ายอาจบรรลุข้อตกลงแบบ“last minute partial deal” ได้ในช่วงปลายปีนี้



[1]Cycle to Work Scheme เป็นโครงการของ รบ. สอ.ที่สนับสนุนให้ ปชช. เดินทางไปทำงานด้วยจักรยาน โดยผู้ที่ซื้อจักรยานคันใหม่และอุปกรณ์ผ่านร้านค้าในโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี
https://www.gov.uk/government/publications/cycle-to-work-scheme-implementation-guidance

[2] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gd­pfirstquarterlyestimateuk/januarytomarch2020

[3] https://www.niesr.ac.uk/publications/prospects-uk-economy-36