วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ด้านภาคธุรกิจค้าปลีก
๑.๑ Asda ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตใน สอ. (มีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ ๑๕ และมี บ. Walmart ของสหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) แจ้งยกเลิกคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตสินค้า (ร้อยละ ๖๐ เป็นผู้ผลิตในบังกลาเทศ) เสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ George คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของยอดสั่งซื้อทั้งหมด ทั้งในส่วนที่ผลิตแล้วและที่อยู่ระหว่างการผลิต โดยเบื้องต้นบริษัทเสนอขอชำระค่าสินค้ารวมไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของยอดค้างชำระทั้งหมดในปัจจุบัน โดยโฆษก Asda ชี้แจงว่า มาตรการ lockdown ของ รบ. สอ. ทำให้ยอดขายสินค้าประเภทเสื้อผ้าลดลงอย่างมาก ในขณะที่ความต้องการสินค้า อาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทจึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในห้างสำหรับสินค้าอาหารมากขึ้น ทั้งนี้ George เป็นแบรนด์เสื้อผ้าใหญ่ลำดับที่ ๔ ใน สอ. มีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ ๓.๔ (หรือมูลค่าประมาณ ๒ พันล้านปอนด์) ในขณะที่ ASDA มียอดกำไรก่อนหักภาษีในปี ๒๕๖๒ กว่า ๘๐๕ ล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี ASDA ไม่ได้เป็นบริษัทที่ยกเลิกเพียงรายเดียว ก่อนหน้านี้มียี่ห้ออื่น ๆ ใน สอ. ที่ทยอยยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าเสื้อผ้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
๑.๒ บ. John Lewis Group (เจ้าของห้างสรรพสินค้า John Lewis และซุปเปอร์มาร์เกต Waitrose) วิเคราะห์แนวโน้มทาง ศก. ว่า บริษัทอาจประสบปัญหาขาดทุนเฉลี่ยประมาณร้อยละ ๓๕ ในปีนี้ จึงจะปรับลดต้นทุนของบริษัทด้วยการประกาศพักงานชั่วคราว พนง. ในส่วนของห้าง John Lewis ๑๔,๐๐๐ ตำแหน่ง และปรับลดงบการตลาดลง ๑๐๐ ล้านปอนด์ในปีนี้ โดยนาง Sharon White ปธ. กรรมการบริหารของบริษัท ให้ข้อมูลว่า การปรับลดต้นทุนดังกล่าวเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากบริษัทยังขาดทุนสะสมจากปีก่อน แม้ว่าในเดือน มี.ค. ๒๕๖๓ John Lewis มียอดขายออนไลน์มากขึ้นร้อยละ ๘๔ และ Waitrose มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ แต่ยอดขายส่วนใหญ่ในช่วงนี้เป็นสินค้าจำเป็นและอาหาร ซึ่งไม่มีกำไรเพียงพอที่จะทดแทนยอดขายในส่วนอื่นที่สูญเสียในการปิดห้างช่วง lockdown ได้
๑.๓ บ. Cath Kidston ประกาศปิดสาขาทั้งหมด ๖๐ สาขาทั่ว สอ. เป็นการถาวรและเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๙๐๐ ตำแหน่ง ตามแผนฟื้นฟูกิจการหลังจากไม่สามารถหาผู้ลงทุนเข้าซื้อกิจการเพื่อรักษารูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิมได้ โดย บ. Baring Private Equity Asia (บริษัทในฮ่องกงที่ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน) ได้เข้าควบคุมกิจการแทนและให้คงไว้แค่ช่องทางขายทางออนไลน์เท่านั้นเพื่อปรับลดขนาดของ บ. Cath Kidston ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน นอกจากนี้ นาย Richard Fleming จนท. บ. Alvarez & Marsal ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการฟื้นฟูกิจการของ Cath Kidston ให้ข้อมูลว่าในช่วง ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจค้าปลีกของ สอ. มีแนวโน้มลดขนาดลงเนื่องจากประสบปัญหาค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยซ้ำเติมที่เพิ่มแรงกดดันให้แก่ภาคธุรกิจค้าปลีกมากยิ่งขึ้นในปีนี้
๒. ด้านภาคธุรกิจขนส่งและการบิน
๒.๑ บริษัทขนส่งกรุงลอนดอน (Transport for London – TfL) ซึ่งมีนาย Sadiq Khan นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนเป็น ปธ. กรรมการบริหารโดยตำแหน่ง ประกาศพักงานชั่วคราว พนง. จำนวน ๗,๐๐๐ ตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ ๒๕ จากทั้งหมด ๒๘,๐๐๐ ตำแหน่ง) เบื้องต้นเป็นเวลา ๓ สัปดาห์ (ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เม.ย. เป็นต้นไป) โดยนาย Mike Brown ผอ. TfL กล่าวว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมโดยสารลดลงถึงร้อยละ ๙๐ เนื่องจากมาตรการ lockdown และการจำกัดการใช้บริการ ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินลดลงร้อยละ ๙๕ และรถโดยสารสาธารณะลดลงร้อยละ ๘๕ นอกจากนี้ นาย Sadiq Khan นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ให้ความเห็นว่า การพักงาน พนง. บางส่วนจำเป็นสำหรับการลดรายจ่ายในขณะนี้ และอาจต้องพิจารณาขยายช่วงเวลาการพักงานออกไปอีกครั้งเนื่องจากบริการของ TfL ไม่น่าจะกลับคืนสภาพปกติได้ในเร็ววันนี้ และแผนการฟื้นคืนการให้บริการจะต้องกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสถานการณ์และนโยบายของ รบ. สอ.
๒.๒ บ. Airbus ประกาศพักงานชั่วคราว พนง. ของศูนย์การผลิตที่เมือง Broughton ของเวลส์จำนวน ๓,๒๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๑๓,๕๐๐ ตำแหน่ง ใน สอ.) เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ โดยบริษัทจะจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๕ - ๑๐ ให้แก่ พนง. ที่ถูกพักงานขั่วคราวนอกเหนือจากเงินชดเชยร้อยละ ๘๐ ที่ได้รับจาก รบ. นอกจากนี้ บริษัทจะลดการผลิตเครื่องบิน ลงร้อยละ ๓๐ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การหยุดชะงักของธุรกิจการบินในขณะนี้ โดยนาย Guillaume Faury ผอ. ของ Airbus กล่าวว่า บริษัทสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัวและหากยังไม่ดีขึ้นในเร็ววันนี้ บริษัทอาจต้องปรับลดเงินเดือนหรือเลิกจ้าง พนง. บางส่วนเป็นการถาวรในอนาคต ทั้งนี้ Airbus เป็นบริษัทหนึ่งที่เข้าร่วมกลุ่ม Ventilator Challenge UK เพื่อสนับสนุนการผลิตเครื่องช่วยหายใจให้แก่ รบ. สอ. ที่ศูนย์การผลิต AMRC Cymru ในเมือง Broughton
๒.๓ บ. International Airlines Group (IAG) (เจ้าของสายการบิน British Airways ของ สอ. Iberia ของสเปน และ Aer Lingus ของไอร์แลนด์) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกส่งผลให้รายได้ของบริษัทในไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๓ ลดลงร้อยละ ๑๓ แม้ว่าจะปรับลดรายจ่ายโดยการพักงานชั่วคราว พนง. มากกว่า ๓๐,๐๐๐ คนแล้วก็ตาม และอาจจำเป็นต้องพักงานวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของ British Airways อีกกว่า ๑๒,๐๐๐ ตำแหน่งเพื่อประคับประคอง สายการบิน เนื่องจาก รบ. สอ. ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือสายการบินในรูปแบบอื่น และคาดว่าธุรกิจการบินทั่วโลกจะฟื้นตัวได้เมื่อความต้องการใช้บริการสายการบินฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อปี ๒๕๖๒ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก ๒ - ๓ ปีจึงจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของ ผดส. กลับคืนมาได้
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
๓.๑ ข่าว ศก. ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เม.ย. ส่วนใหญ่เป็นการประกาศพักงานลูกจ้างเพื่อประคับประคองธุรกิจในหลากหลายสาขาซึ่งประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงมาตรการ lockdown โดยสภาหอการค้า สอ. (British Chambers of Commerce – BCC) ได้สำรวจข้อมูล COVID-19 Business Impact Tracker พบว่า สัดส่วน ๒ ใน ๓ ของบริษัททั้งหมดใน สอ. (ประมาณ ๒ ล้านบริษัท) ได้ประกาศพักงาน พนง. ชั่วคราวแล้ว โดยในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดรับการขอรับเงินชดเชย (๑๓ - ๑๙ เม.ย. ๒๕๖๓) มีบริษัทยื่นขอรับเงินชดเชยแล้วกว่า ๔๓๕,๐๐๐ ราย คิดเป็นเงินมูลค่า ๓.๘ พันล้านปอนด์ [1]
๓.๒ จากรายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) [2] ที่ได้สำรวจบริษัทจำนวน ๖,๑๕๐ แห่ง พบว่า นอกจากธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนแล้ว ธุรกิจด้าน Hospitality เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหารและผับ และธุรกิจบันเทิง ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยกว่าร้อยละ ๘๐ ได้ปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวรและพักงาน พนง. เกินกว่าร้อยละ ๖๐ แล้ว ในขณะที่ธุรกิจก่อสร้างพักงาน พนง. จำนวนร้อยละ ๔๒ ทั้งนี้ นาง Kate Nicholls ผู้บริหารขององค์กร UKHospitality เรียกร้องให้ รบ. สอ. สร้างความชัดเจนว่า แผนการผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรกร lockdown จะเป็นอย่างไรและธุรกิจใดจะสามารถเปิดทำการได้เมื่อใด เพื่อช่วยผู้ประกอบการวางแผนและประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะได้ผลดีมากกว่ามาตรการชดเชยรายได้เพื่อรักษาการจ้างงาน
๓.๓ ONS ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index – CPI) ที่ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของ สอ. ปรับตัวลดลงจากร้อยละ ๑.๗ ในเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ร้อยละ ๑.๕ ในเดือน มี.ค. ๒๕๖๓[3] โดยมีปัจจัยจากราคาสินค้าประเภทแฟชันเสื้อผ้าที่ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑.๒ ในเดือน มี.ค. ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบลดลงมากถึงร้อยละ ๗๕ ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๓ ซึ่งส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สภาวะ ศก. ถดถอย (recession) จะเกิดขึ้นใน สอ. ในครึ่งหลังของปี ๒๕๖๓ โดยอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ ๐.๕ ในครึ่งหลังของปี ๒๕๖๓ จากปัจจัยการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนที่ลดลง
๔. ข้อพิจารณา
๔.๑ ในธุรกิจค้าปลีก มีสัญญาณชัดเจนว่า ธุรกิจบางสาขาจะดั้บผลกระทบอย่างรุนแรง อาทิ สิ่งทอ สินค้าแฟชั่น ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกทั้งระบบ รวมทั้งผู้ผลิตชาวไทยทั้งที่ผลิตอยู่ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับตัวและวางกลยุทธ์การผลิตและการตลาดเสียใหม่ เพื่อลดผลกระทบและให้พร้อมรับมือกับ New Normal ด้วย
๔.๒ สินค้าอาหารน่าจะเป็นโอกาสของไทย แต่ที่จำเป็นและมีความสำคัญคือการกระตุ้มให้ผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นถึงช่องทางและโอกาสทางการตลาดใหม่ รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการพัฒนาระบบ logistics ที่มี่ประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้าอาหารของไทยเป็นที่ดึงดูดใจผู้บริโภค
[1] https://www.thetimes.co.uk/edition/business/companies-in-rush-to-lay-off-workers-with-state-support-9m8q6ccm0
[2] https://www.theguardian.com/world/2020/apr/23/hotels-restaurants-and-pubs-have-furloughed-80-of-staff-ons-finds
[3] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/march2020