สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 29 ก.พ. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 29 ก.พ. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 588 view
๑. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม
     ๑.๑ บ. Airbus ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานในแผนก Airbus Defence and Space ในภาคพื้นยุโรปจำนวน ๒,๓๐๐ ตำแหน่งภายในสิ้นปี ๒๕๖๔ โดยจะส่งผลกระทบต่อพนักงานใน สอ. จำนวน ๓๕๗ ตำแหน่ง ในเยอรมนี ๘๒๙ ตำแหน่ง สเปน ๖๓๐ ตำแหน่ง ฝรั่งเศส ๔๐๔ ตำแหน่ง และประเทศอื่น ๆ อีก ๑๔๑ ตำแหน่ง Airbus Defence and Space ถือเป็นศูนย์การผลิตเครื่องบินรบ อากาศยานไร้คนขับ (drone) และดาวเทียม (satellite) ซึ่งทำรายได้ให้แก่บริษัทประมาณร้อยละ ๒๐ ของรายได้ทั้งหมด มีพนักงานทั้งหมดประมาณ ๓๔,๐๐๐ คน (ประมาณ ๑๓,๐๐๐ คนอยู่ในเยอรมนี) ทั้งนี้ นาย Dirk Hoke หัวหน้าฝ่าย Defence Business กล่าวว่า เหตุผลหลักของการปรับโครงสร้างดังกล่าวมาจากปัญหายอดขายลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่กองทัพอากาศของเยอรมนีปฏิเสธการรับเครื่องบินขนส่งรุ่น A400M จำนวน ๒ ลำ เนื่องจากพบปัญหาขัดข้องหลายครั้ง นอกจากนี้ บริษัทยังสูญเสียรายได้และโอกาสเนื่องจาก รบ. เยอรมนีมีมาตรการห้ามการส่งออกยุทโธปกรณ์ทางการทหารไปยังซาอุดีอาระเบียมาตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๒
     ๑.๒ บ. Tesco ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่สุดของ สอ. ขายหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ร้อยละ ๒๐ ของกิจการ Tesco ในจีนให้แก่บริษัท China Resources Holdings ซึ่งเป็นบริษัทหุ้นส่วนในกิจการ Tesco ในจีน การขายหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ ๒๗๕ ล้านปอนด์และส่งผลให้ บ. Tesco ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการในจีนอีกต่อไป ก่อนหน้านี้ บ. Tesco ได้ทยอยขายกิจการในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ มาแล้ว ทำให้ขณะนี้ บ. Tesco มีกิจการในต่างประเทศเพียงในไอร์แลนด์ ฮังการี โปแลนด์ สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก ปทท. และมาเลเซีย นอกจากนี้ บ. Tesco ได้ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานในส่วนของเบเกอรีในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่ว สอ. จำนวน ๑,๘๑๖ ตำแหน่ง โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค. ๒๕๖๓ เป็นต้นไปเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า บ. Tesco น่าจะกำลังปรับโครงสร้างภายในเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กิจการของตนในตลาด สอ. และไอร์แลนด์เป็นหลัก และน่าจะทยอยขายกิจการในเอเชียเพิ่มเติมอีก
     ๑.๓ บ. Heathrow ได้รับคำสั่งศาลอุทธรณ์ สอ. ให้ชะลอแผนการก่อสร้างลานบินที่สามของท่าอากาศยาน Heathrow โดยคณะผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์นำโดย Lord Justice Lindblom เห็นว่า การก่อสร้างดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ กม. ที่อนุวัติตาม คตล. ปารีส (Paris Agreement) ที่มีจุดประสงค์ในการควบคุมภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ สอ. ที่ตั้งเป้าลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกให้เหลือร้อยละ ๐ ภายในปี ๒๕๙๓ อย่างไรก็ดี กลุ่ม บ. Heathrow ยังคงโต้แย้งว่า การขยายสนามบิน Heathrow เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุนโยบาย “Global Britain” ของ รบ. สอ. โดยคาดว่าจะสามารถสร้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน ๗๗,๐๐๐ ตำแหน่ง และกระตุ้นการขยายตัวของ ศก. สอ. ได้มากถึง ๖.๑ หมื่นล้านปอนด์   ซึ่งบริษัทฯ จะยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดต่อไป
 
๒. ด้านนโยบายของ รบ. สอ.
     รบ. สอ. ประกาศเริ่มใช้นโยบายการตรวจคนเข้าเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า มาตรการ points-based immigration system ในปี ๒๕๖๔ หลังจากสิ้นสุดช่วงเวลา transition period ในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๒๕๖๓ เพื่อยุติการผ่านเข้าออก สอ. อย่างเสรี (free movement) ของชาว EU สำหรับการเข้าเมืองประเภททำงาน โดยตามระบบใหม่นี้ชาวต่างชาติทั้งจาก ปท. EU และ non-EU ที่จะขอวีซ่าประเภททำงานจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน กล่าวคือ จะต้องมีคะแนนคุณสมบัติโดยรวม ๗๐ คะแนนขึ้นไป ซึ่งจะพิจารณาจากคุณสมบัติต่าง ๆ ได้แก่ 
     - มีทักษะระดับสูงในสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของ สอ. (high-skilled workers) 
     - มีบริษัทรองรับและพร้อมเริ่มงานได้ทันที 
     - มีฐานเงินเดือนในระดับ ๒๕,๖๐๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป 
     - ต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้
     - สำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในระดับปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ จะได้รับการพิจารณาในลำดับต้น ๆ และอาจได้รับการยกเว้นเงื่อนไขบางประการ 
     อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคสังคมสงเคราะห์ (social care) มากที่สุด (จากสถิติขององค์กร Workforce Intelligence เมื่อเดือน ต.ค. ๒๕๖๒ สอ. ขาดแคลนแรงงานด้านสังคมสงเคราะห์ประมาณ ๑.๒ แสนตำแหน่ง โดยแรงงานในภาคดังกล่าวประกอบด้วยชาว EU ประมาณร้อยละ ๘  ) ในขณะที่นาง Carolyn Fairbairn ผอ. ของสภาอุตสาหกรรม สอ. (Confederation of British Industry - CBI) ให้ข้อมูลว่า ภาคธุรกิจของ สอ. โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี น่าจะพอใจมาตรการเข้าเมืองใหม่ดังกล่าวที่จะส่งผลให้แรงงานต่างชาติทักษะสูง (ทั้ง EU และ non-EU) ที่เข้ามาทำงานใน สอ. ได้รับการตรวจลงตราได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไข   ที่ลดระดับฐานเงินเดือนต่อปีและจะช่วยคลี่คลายมาตรการจำกัดจำนวนแรงงานทักษะสูงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อชะลอ free movement) และการรื้อฟื้นมาตรการให้ นศ. ต่างชาติในระดับอุดมศึกษาสามารถทำงานใน สอ. ได้หลังจบการศึกษาเป็นเวลา ๒ ปี ในขณะที่ภาคธุรกิจด้านการผลิตและอุตสาหกรรมอาหารน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากพึ่งพาแรงงานจากชาติ EU กว่าร้อยละ ๗๐
 
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๓.๑ รายงานข่าวด้าน ศก. สอ. ในช่วงนี้ส่วนใหญ่เน้นการรายงานผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างต่อเนื่อง และล้วนคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อ ศก. สอ. ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว โดยมีปัจจัยจากมาตรการยกเลิกเที่ยวบินเข้าออกจากจีน และการชะลอการเดินทางออกนอก สอ. ของชาวบริติชอันเป็นผลจาก Travel Advice ที่แนะนำให้งดเว้นการเดินทางไปยัง ปท. กลุ่มเสี่ยง ๑๕ ปท./ดินแดน ซึ่งกระทบกับเงื่อนไขการประกันภัยการเดินทาง โดยล่าสุด บ. IAG และ บ. EasyJet ได้กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดฯ จะส่งผลกระทบด้านการเงินให้แก่บริษัทในระยะยาว และทำให้บริษัทต้องพิจารณาแผนการลดต้นทุนในขั้นต่อไป นอกจากนี้ องค์กร International Air Transport Association (IATA) คาดการณ์ว่า การระบาดฯ จะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกในปีนี้รวมมูลค่า ๒.๙๓ หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งเป็นการคำนวนบนสมมติฐานจากผลกระทบของจีนประเทศเดียวเท่านั้น  
    ๓.๒ ดัชนี FTSE 100 ของ สอ. ปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบกว่า ๑๐ ปี นับตั้งแต่วิกฤติทาง ศก. เมื่อปี ๒๕๕๑ โดยมูลค่าหุ้นของบริษัทต่าง ๆ มีอัตราลดลงเกือบร้อยละ ๑๓ หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า ๒.๑ แสนล้านปอนด์ ทั้งนี้ เป็นผลกระทบมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้นักลงทุน สอ. เปลี่ยนไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทนการถือครองหุ้น และอาจส่งผลให้ธนาคารกลาง สอ. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในที่สุด