๑. ด้านการค้าและการบริการ
๑.๑ บ. สายการบิน Flybe ซึ่งเป็นสายการบินภายในภูมิภาคยุโรปของ สอ. ที่ดำเนินการมากว่า ๔๐ ปี ประกาศล้มละลาย ทำให้การให้บริการทุกเที่ยวบินตั้งแต่วันที่ ๕ มี.ค ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ได้รับการยกเลิกทันที และส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัทจำนวน ๒,๐๐๐ ตำแหน่ง ทั้งนี้ นาย Mark Anderson ผอ. ของสายการบิน Flybe ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ ประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนเนื่องจากขาดทุนสะสมกว่า ๒๐ ล้านปอนด์ต่อปี กอปรกับได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากสถานการณ์โรคระบาด แม้บริษัทฯ จะพยายามขอรับเงินกู้ช่วยเหลือจาก รบ. สอ. จำนวน ๑๐๐ ล้านปอนด์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุด รบ. สอ. ได้ชะลอการอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินดังกล่าวซึ่งเป็นผลจากการคัดค้านจากบริษัทคู่แข่ง เช่น British Airways และ Ryanair อนึ่ง การล้มละลายของ Flybe นับเป็นการล้มละลายของสายการบิน สอ. รายที่ ๒ หลังจาก Thomas Cook ล้มละลายเมื่อเดือน ก.ย. ๒๕๖๒ ที่เกิดจากปัญหาคล้ายคลึงกัน คือ การขาดทุนจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนและการแข่งขันในตลาด
๑.๒ บ. Tesco ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่สุดของ สอ. ตกลงขายหุ้นในกิจการของ Tesco ใน ปทท. และมาเลเซีย ที่มีสาขารวมกันทั้งหมดประมาณ ๒,๐๐๐ สาขา ให้แก่บริษัท CP Group ด้วยมูลค่าประมาณ ๘ พันล้านปอนด์ โดยนาย Dave Lewis ผอ. ของ บ. Tesco ให้ข้อมูลว่า การขายกิจการดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นการบริหารจัดการธุรกิจหลักใน สอ. และไอร์แลนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะนำเงินที่ขายกิจการดังกล่าวไปลงทุน ใน สอ. และไอร์แลนด์ และอีกจำนวน ๕ พันล้านปอนด์ จะปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นผ่านเงินปันผลพิเศษ นอกจากนี้ สื่อมวลชน สอ. ยังคาดการณ์ว่า บ. Tesco กำลังจะพิจารณาขายกิจการในยุโรปตะวันออก (ฮังการี โปแลนด์ สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก) เพิ่มเติมในอนาคตด้วย
๑.๓ บ.The Restaurant Group (TRG) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนแนวหน้าในตลาดหลักทรัพย์ สอ. ประกาศเลื่อนการแบ่งเงินปันผลออกไป เนื่องจากบริษัทฯ มีแผนปรับโครงสร้างโดยลดจำนวนสาขาของร้านอาหารภายในเครือจากจำนวน ๓๕๐ สาขา เป็น ๒๖๐ สาขา ภายในปี ๒๕๖๔ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากจำนวนลูกค้าที่ลดลงในส่วนของร้านอาหารต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั่ว สอ. และบริษัทฯ จะมุ่งไปที่การขยายกิจการร้าน Wagamama เป็นหลัก เนื่องจากร้าน Wagamama สามารถทำยอดขายในปี ๒๕๖๒ ได้มากขึ้นถึงร้อยละ ๑๒
๒. ด้านการเงินและธนาคาร
ธนาคารใน สอ. เช่น Barclays , Santander และ Royal Bank of Scotland ทยอยออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาให้สามารถกู้ยืมเงินฉุกเฉินได้ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายกระตุ้น ศก. ของ รบ. สอ. ที่มีการประกาศไปเมื่อวันที่ ๑๑ มี.ค. ๒๕๖๓ โดยนาย Rishi Sunak รมว. กค. โดย ธ. Barclays ได้อนุมัติการเพิ่มวงเงินการเบิกเงินเกินบัญชี (overdraft) และสัญญาการกู้ยืมระยะสั้นในรอบแรกให้แก่บริษัท SMEs จำนวนหนึ่งแล้ว
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
๓.๑ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นในภาคธุรกิจ สอ. ทำให้หลายบริษัทเริ่มประกาศให้พนักงานที่ไม่ได้อยู่ในส่วนการให้บริการลูกค้าด้วยตนเองให้ทำงานจากที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสฯ สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยวของ สอ. แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านสันทนาการต่าง ๆ เนื่องจาก ปชช. ลดการออกมาสังสรรค์และการจับจ่ายใช้สอยลง รวมถึงการประกาศเลื่อนการแข่งขันฟุตบอลลีคอาชีพ Premiere League ออกไปจนถึงเดือน เม.ย. เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของการแสดงละครเวที การแสดงคอนเสิร์ต และการจัดกิจกรรมที่จะมีการชุมนุมคนจำนวนมากหลายรายการได้ประกาศยกเลิกหรือเลื่อนวันออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ของการระบาดดังกล่าว เป็นต้น
๓.๒ ตลาดหุ้น สอ. มีความผันผวนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นในหลาย ปท. หุ้นบริษัทที่เคยมีผลกำไรดี อาทิ เช่น บ. WHSmith (กิจการร้านขายหนังสือ) บริษัท Finablr (บริการแลกเงินตรา ตปท. Travelex) บ. Go-Ahead (บริษัทเดินรถประจำทางและรถไฟ) มีราคาหุ้นลดลงทันที โดยหุ้นของ WHSmith ลดลงร้อยละ ๒๐ อยู่ที่ราคา ๑๒.๕๕ ปอนด์ และของ Go-Ahead ลดลงร้อยละ ๖๐ มาอยู่ที่ราคา ๑๐.๙๔ ปอนด์
๓.๓ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ทำให้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ ๑ ปอนด์ต่อ ๑.๑๐ ยูโร ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ ๕ เดือน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ยังยืดเยื้อในระยะยาว คาดว่าจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ลดลงมาเทียบเท่ากับเงินยูโรได้