สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 ก.พ. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 ก.พ. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.พ. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 592 view
๑. ด้านธุรกิจใน สอ.  
     ๑.๑ องค์กรการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC) ร่วมกับ บ. KPMG รายงานว่า    ยอดการค้าปลีกของ สอ. ในเดือน ม.ค. ๒๕๖๓ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๐.๔ เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๒ โดย นาง Helen Dickinson ประธานองค์กร BRC กล่าวว่า สถิติในเดือน ม.ค. ๒๕๖๓ เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาพรวมในปี ๒๕๖๒ ที่เคยติดลบในอัตราร้อยละ -๐.๑ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า สินค้าประเภทอาหารมียอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงเดือน พ.ย. ๒๕๖๒ - ม.ค. ๒๕๖๓ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๖ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดขายของสินค้าประเภทอื่นปรับตัวลดลงร้อยละ -๑.๓ นอกจากนี้ ข้อมูลของ บ. Barclaycard ระบุว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตในเดือน ม.ค. ๒๕๖๓ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๓.๙ จากการสำรวจความคิดเห็นของ ปชช. สอ. จำนวน ๒,๐๐๐ คน สรุปได้ว่า ปชช. จำนวนร้อยละ ๔๒ รู้สึกมั่นใจในทิศทางของ ศก. สอ. ในอนาคต และ ปชช. จำนวนร้อยละ ๗๕ มั่นใจในรายรับรายจ่ายภายในครัวเรือน (ถือเป็นสถิติความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ๒๕๖๒) ทั้งนี้ ปชช. สอ. มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในส่วนของการซื้อบัตรชมภาพยนตร์ การใช้บริการด้านความสวยความงาม และการซื้อสินค้าในร้านขายของลดราคา (discount store) ในขณะที่สินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้ามียอดขายลดลง
     ๑.๒ ธนาคาร Halifax รายงานว่า ราคาบ้านใน สอ. ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องคิดเป็นอัตราร้อยละ ๐.๔ ในเดือน ม.ค. ๒๕๖๓ หลังจากที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๘ ในเดือน ธ.ค. ๒๕๖๒ ซึ่งนักวิเคราะห์การตลาดจำนวนหนึ่งกล่าวว่า เป็นผลมาจาก “Boris Bounce” หรือการที่ความมั่นใจของ ปชช. และภาคธุรกิจ สอ. เพิ่มสูงขึ้นหลังจาก นรม. Boris Johnson ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ธ.ค. ๒๕๖๒ และการที่ รบ. สอ. สามารถยุติสภาวะชะงักงันและนำ สอ. ออกจาก EU ได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ Halifax คาดว่าราคาบ้านในปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นในระดับปานกลาง โดยมีปัจจัยจากความต้องการซื้อบ้านสูงกว่าจำนวนบ้านที่วางขายในตลาด กอปรกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่มีจำนวนน้อยลง
     ๑.๓ บ. JCB ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เกษตรกรรม และโลจิสติกส์ของ สอ. ประกาศ
ลดการผลิตและลด ชม. การทำงานของพนักงานของบริษัทที่มีจำนวนทั้งหมด ๔,๐๐๐ คน จาก ๓๙ ชม. ต่อสัปดาห์ เป็น ๓๔ ชม. ต่อสัปดาห์ เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าอะไหล่/ชิ้นส่วนอุปกรณ์ในการผลิตจากจีนได้ หลังจากที่การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (coronavirus) ทำให้โรงงานผู้ผลิตอะไหล่ให้กับ JCB ในจีนกว่าร้อยละ ๒๕ ประกาศปิดทำการชั่วคราว (โรงงานส่วนที่เหลือลดการผลิตลงเช่นกัน) ทั้งนี้ JCB ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ใน สอ. บริษัทแรกที่มีมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีต่อความสามารถในการผลิตและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับภาค supply chain ระดับโลก
      ๑.๔ บ. Jaguar Land Rover (JLR) โดยนาย Ralf Speth ผอ. ของบริษัท ให้ข่าวว่า JLR จำเป็นต้องนำเข้าอะไหล่/ส่วนประกอบรถยนต์จากจีนอย่างเร่งด่วนผ่านการขนส่งทางสายการบิน เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทมีอุปกรณ์ที่พร้อมและพอเพียงสำหรับการผลิตจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. ๒๕๖๓ อย่างไรก็ดี ในอนาคตความยากลำบากในการนำเข้าอะไหล่จากจีนอาจเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากปัญหา supply chain ในจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตโดยรวมของ JLR ทั้งนี้ JLR มีฐานผลิตรถยนต์ใน สอ. ทั้งหมด ๓ แห่ง และเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายล่าสุดที่ออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบของการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสต่อระบบ supply chain ของบริษัท (โดยก่อนหน้านี้ บ. Fiat Chrysler ประกาศปิดศูนย์การผลิตในยุโรปบางแห่งชั่วคราว และ บ. Hyundai และ Nissan ได้ประกาศปิดศูนย์การผลิตในเกาหลีใต้แล้ว)
 
๒. ด้านการธนาคาร                      
     ๒.๑ บ. Lloyds Banking Group ประกาศแผนการปิดสาขาธนาคารในเครือจำนวน ๕๖ สาขา ได้แก่ ธ. Lloyds ๓๑ สาขา ธ. Halifax ๑๐ สาขา และ ธ. Bank of Scotland ๑๕ สาขา โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย. - ต.ค. ๒๕๖๓ โฆษกของบริษัทให้ข้อมูลว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่นิยมใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์และผ่านแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือแทนการใช้บริการผ่านสาขามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ บ. Lloyds Banking Group ได้ปิดสาขาธนาคารในเครือไปแล้ว ๖๕๕ สาขา อย่างไรก็ดี การปิดสาขาของธนาคารต่าง ๆ ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในหลากหลายชุมชนทั่ว สอ. เนื่องจากความต้องการในการใช้บริการธนาคารและการเบิกเงินสดผ่านทางสาขายังมีปริมาณสูงอยู่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับปริมาณการจ้างงานในท้องถิ่นที่คาดว่าจะลดลงด้วย
     ๒.๒ ธนาคาร HSBC โดยนาย Noel Quinn CEO ของธนาคาร ประกาศแผนปรับลดพนักงานจากจำนวน ๒๓๕,๐๐๐ ตำแหน่ง เหลือ ๒๐๐,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลกภายใน ๓ ปี การประกาศดังกล่าวเป็นผลมาจากรายงานผลกำไรประจำปี ๒๕๖๒ ที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ ๓๓ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ (write-off) จำนวน ๗.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เกิดจากการซื้อขายพันธบัตร หุ้น และการกู้ยืมเงินต่าง ๆ ของสาขาในยุโรป อย่างไรก็ดี นาย Quinn กล่าวว่า รายงาน
ผลประกอบการดังกล่าวยังไม่รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ทั้งนี้ จากรายงานผลประกอบการของธนาคาร ในปี ๒๕๖๑ ระบุว่า รายได้เกือบครึ่งหนึ่งและกำไรเกือบร้อยละ ๙๐ มาจากเอเซีย โดยเฉพาะฮ่องกง ทั้งนี้ ธ. HSBC มี สนง. ใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน โดยมีการจ้างงานทั่ว สอ. ทั้งหมดประมาณ ๑๒,๐๐๐ ตำแหน่ง ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานใน สอ. หรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด
 
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
     แม้ว่าตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและปริมาณการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนใน สอ. แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสทำให้ภาคการผลิตใน สอ. ได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานและบริษัทต่าง ๆ ที่อยู่ใน supply chain ในจีนต้องปิดทำการชั่วคราว ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ใน สอ. ที่ต้องนำเข้าอะไหล่และชิ้นส่วนอุปกรณ์จากจีน นอกจากนี้อุตสาหกรรมการผลิตยาใน สอ. มีส่วนหนึ่งที่พึ่งพาการนำเข้าส่วนประกอบจากจีน จึงอาจได้รับผลกระทบหรืออาจต้องนำเข้าส่วนประกอบจากแหล่งอื่น ทดแทน นอกจากนี้ ในส่วนของภาคธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อจากจีน เช่น ธุรกิจแฟชั่น และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการท่องเที่ยว เริ่มได้รับผลกระทบจากการมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองคนเข้าเมืองและการตรวจลงตราจาก ปท. กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ (ซึ่งรวม ปทท. ด้วย)