๑. นโยบายของภาครัฐ
๑.๑ รบ. สอ. ประกาศขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำสำหรับ (ก) ผู้ที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป เป็น ๘.๗๒ ปอนด์/ชม. (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๒) (ข) ผู้ที่มีอายุ ๒๑ – ๒๔ ปี เป็น ๘.๒๐ ปอนด์/ชม. (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๕) (ค) ผู้ที่มีอายุ ๑๘ – ๒๐ ปี เป็น ๖.๔๕ ปอนด์/ชม. (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๙) โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย. ๒๕๖๓ ทั้งนี้ นาง Hannah Essex ผอ.สภาหอการค้า สอ. (British Chambers of Commerce – BCC) ให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเช่นนี้ จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัทต่าง ๆ เพิ่มความกดดันในด้าน cash flow และส่งผลกระทบให้ งปม. สำหรับการลงทุนเพิ่มเติมและการฝึกอบรมพนักงานลดลง ในขณะที่นาย Craig Beaumont ผอ. ฝ่ายกิจการภายนอกและกฎหมายของFederation of Small Businesses (FSB) มีความเห็นว่า ในส่วนของบริษัทขนาดเล็กซึ่งจะต้องประสบกับปัญหาการเพิ่มต้นทุนจากนโยบาย รบ. ในการเพิ่มภาษีภาคธุรกิจอีกร้อยละ ๑.๗ ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไปแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลกระทบต่อปริมาณการจ้างงานและแผนการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ด้วย อย่างไรก็ดี รบ. สอ. ยืนยันว่า จะดำเนินการตามข้อแนะนำของ Low Pay Commission ที่จะอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไปได้รับค่าแรงขั้นต่ำสูงถึง ๑๐.๕๐ ปอนด์/ชม. ภายในปี ๒๕๖๗
๑.๒ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office of National Statistics – ONS) จากรายงานผลการเติบโตทาง
ศก. สอ. ในเดือน พ.ย. ๒๕๖๒ ศก. สอ. ในช่วง ๓ เดือน (ก.ย. – พ.ย. ๒๕๖๒) ขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ๒๕๕๕ โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ ๐.๑ เนื่องจากภาคการผลิต (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถ/อะไหล่รถ และอุตสาหกรรมการผลิตยา) ปรับตัวลดลง (เฉพาะในเดือน พ.ย. ๒๕๖๒) ในอัตราร้อยละ ๐.๓ (ประเมินว่าเป็นผลจากอุปสงค์ที่ลดลงหลังมีการกักตุนสินค้าในเดือน ต.ค. ๒๕๖๒ ก่อน Brexit deadline) แม้ว่าภาคการก่อสร้างจะขยายตัวแต่ภาคการบริการยังอ่อนแอกว่าปกติ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า การเติบโตร้อยละ ๐.๑ ถือว่าดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าอาจเกิดสภาวะ ศก. ถดถอย ทั้งนี้ นาย Sajid Javid รอง นรม. และ รมว. คลัง ให้ความเห็นว่า การเติบโตในอัตราต่ำมีสาเหตุจากปัญหาความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit ที่สะสมมานานในช่วงก่อนหน้านี้ของปี ๒๕๖๒ และคาดว่า ศก. ภาพรวมจะดีขึ้นหลัง สอ. ออกจาก EU ในวันที่ ๓๑ ม.ค. ๒๕๖๓
๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม
๒.๑ องค์กรการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC) รายงานว่า ยอดขายการค้าปลีกโดยรวมของ สอ. ในปี ๒๕๖๒ ปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ ๐.๑ ซึ่งเป็นการหดตัวลงครั้งแรกในรอบ ๒๕ ปี (นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘) โดยเฉพาะยอดขายในเดือน พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๒ ซึ่งมีสถิติที่น่าผิดหวัง โดยปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๙ นอกจากนี้ บ. Barclaycard ซึ่งเป็นบริษัทบัตรเครดิตอันดับต้น ๆ ของ สอ. ระบุว่า ยอดขายโดยรวมของซุปเปอร์มาร์เก็ตใน สอ. หดตัวลงในอัตราร้อยละ ๐.๙ เช่นกัน ในขณะที่ยอดขายของร้านค้าปลีกเฉพาะทาง เช่น ร้านขายของเล่นและร้านขายเกมส์ ปรับตัวลดลงสูงถึงร้อยละ ๔ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุด ได้แก่ โรงภาพยนตร์ (ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๙) ผับ และการบริการจัดส่งอาหาร (takeaways) ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้อ้างรายงานผลประกอบการในช่วง พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๒ ของ ห้างร้านและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของ สอ. ที่สรุปว่า บริษัทที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ได้แก่ Next (เสื้อผ้าและแฟชั่น) / Greggs (อาหารจำพวกพายและแซนวิช) / Tesco / Aldi และ Lidl ในส่วนของบริษัทที่มียอดขายลดลง ได้แก่ ห้าง John Lewis /
Marks & Spencer / Sainsbury’s และ Morrisons
๒.๒ บ. Rolls-Royce รายงานว่า ในปี ๒๕๖๒ บริษัทฯ มียอดขายรถยนต์ทั้งหมดจำนวน ๕,๑๒๕ คัน เพิ่มขึ้นจากยอดขายในปี ๒๕๖๑ (๔,๑๐๗ คัน) ถึงร้อยละ ๒๕ โดยถือเป็นยอดขายที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ (๑๑๖ ปี) ยอดขายดังกล่าวสะท้อนการปรับตัวสูงขึ้นของอุปสงค์ทั่วโลก โดยเฉพาะในรัสเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กาตาร์ และเกาหลีใต้ รวมทั้งใน สอ. ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าแต่อย่างใด โดยรถยนต์รุ่นที่ขายดีที่สุด ได้แก่ รุ่น Phantom และรุ่น Cullinan ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม ยอดขายรถยนต์ของ บ. Aston Martin ในปี ๒๕๖๒ มีการปรับตัวลดลงจากปีที่แล้ว โดยบริษัทฯ เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการที่ศูนย์จำหน่ายรถยนต์ต่าง ๆ ไม่สามารถทำยอดขายได้ดี ส่งผลให้ยอดขายส่งโดยรวมของบริษัทฯ ลดลงในอัตราร้อยละ ๗ มาอยู่ที่จำนวน ๕,๘๐๙ คัน นอกจากนี้ ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทฯ ปรับตัวลดลงจากที่เคยมีราคาหุ้นละ ๑๙ ปอนด์ (ต.ค. ๒๕๖๑) มาอยู่ที่ ๔.๕๐ ปอนด์
๒.๓ Digital Economy Council ของ รบ. สอ. รายงานว่า ในปี ๒๕๖๒ การลงทุนในภาคดิจิตัลและ เทคโนโลยีใน สอ. ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๔ โดยมีมูลค่ารวม ๑.๓๒ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น ๑ ใน ๓ ของปริมาณการลงทุนทั้งหมดของในภาคดิจิตัลและเทคโนโลยีใน EU และมีมูลค่ามากกว่าการลงทุนในภาคดังกล่าวของฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมกัน นอกจากนี้ บ. Tech Nation และ Dealroom.co ได้จัดลำดับ ปท. ที่มีการร่วมทุนของกลุ่มนักลงทุนมากที่สุดในปี ๒๕๖๒ นำโดยสหรัฐฯ (เมืองซานฟรานซิสโกโดยเฉพาะในแถบ Bay Area และนครนิวยอร์ก) อยู่ในอันดับ ๑ ตามด้วยจีน (กรุงปักกิ่ง) และ สอ. (กรุงลอนดอน) ตามลำดับ ปัจจุบันกรุงลอนดอนเป็นที่ตั้งของบริษัท startup ที่มีมูลค่ามากกว่า ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือที่เรียกว่า “unicorn”) ทั้งหมด ๔๖ บริษัท รองลงมาเป็นกรุงเบอร์ลิน ๑๒ บริษัท และกรุงปารีส ๑๑ บริษัท โดยในปี ๒๕๖๒ มีบริษัทสัญชาติบริติชจำนวน ๘ บริษัทที่ได้รับสถานะเป็น “unicorn” ได้แก่ บ. Rapyd / บ. CMR Surgical / บ. Babylon Health / บ. Sumup / บ. Trainline (TRNT.L) / บ. Acuris / บ. Checkout.com และ บ. OVO Energy
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
๓.๑ ในภาพรวม ศก. สอ. ในช่วงปลายปี ๒๕๖๒ (พ.ย. – ธ.ค. ๒๕๖๒) มีอัตราการเติบโตทรงตัวในระดับต่ำและมีแนวโน้มที่จะเกิดการหดตัวในช่วงต้นปี ๒๕๖๓ สืบเนื่องจากจะเป็นช่วง Brexit deadline อีกครั้งหนึ่ง ทำให้นาย Mark Carney ผู้ว่าการธนาคารกลาง สอ. นาง Silvana Tenreyro และนาย Gertjan Vlieghe ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee – MPC) แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ทิศทางของ ศก. ในเดือน ม.ค. ๒๕๖๓ จะอยู่ในระดับอ่อนตัว ธนาคารกลางจึงกำลังพิจารณาจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากร้อยละ ๐.๗๕ มาอยู่ที่ร้อยละ ๐.๕๐ เพื่อช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมและกระตุ้น ศก. สอ. โดยจะมีการประกาศอัตราดอกเบี้ยในวันที่ ๓๐ ม.ค. ๒๕๖๓ ต่อไป ทั้งนี้ หลังมีรายงานข่าวดังกล่าว ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ ๑ ปอนด์/๑.๑๖ ยูโร (ณ วันที่ ๑๕ ม.ค. ๒๕๖๓) ทันที ซึ่งเป็นอัตราที่ ต่ำที่สุดในรอบ ๒ สัปดาห์
๓.๒ ในขณะที่นักวิเคราะห์ ศก. มหภาค สอ. อาทิ จาก PwC และ Pantheon Macroeconomics ต่างคาดการณ์ว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีสัญญาณทิศทาง ศก. ที่ชัดเจนนัก แต่เชื่อว่า economic momentum ในปี ๒๕๖๓ จะดีขึ้นจากปัจจัยเสถียรภาพทางการเมืองและความชัดเจนเรื่อง Brexit โดยเฉพาะในภาคการบริการการเงิน