สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 พ.ย. 62

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 – 15 พ.ย. 62

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 587 view
๑. รายงานด้านสถิติต่าง ๆ
     ๑.๑ สถาบัน GFK (Growth for Knowledge) รายงานว่า ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจาก -๑๒ ในเดือน ก.ย. มาอยู่ที่ -๑๔ ในเดือน ต.ค. โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวติดลบอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ๒๕๕๙ (ก่อนหน้าการลงประชามติเรื่อง Brexit) ทั้งนี้ นาย Joe Staton ผอ. ฝ่าย client strategy ของ GFK กล่าวว่า แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนที่ลดลงเป็นสิ่งน่ากังวล เนื่องจากปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนคิดเป็นประมาณ ๒ ใน ๓ ของ GDP สอ. และเป็นเสาหลักที่พยุง ศก. สอ. ให้ขับเคลื่อนไปได้ท่ามกลางความไม่ชัดเจนทางการเมืองเรื่อง Brexit นับตั้งแต่การทำประชามติในปี ๒๕๕๙ 
     ๑.๒ สถาบัน Moody’s Investor Service ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของ สอ. จากระดับ “AAA” (ระดับสูงสุดที่เคยได้รับเมื่อปี ๒๕๕๖) มาอยู่ที่ “Aa2” (ระดับที่สาม) ซึ่งสะท้อนว่า สอ. อาจมีความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์เรื่อง Brexit ทำให้ รบ. สอ. ไม่สามารถตัดสินใจและดำเนินนโยบายบริหาร ปท. ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สถาบันฯ แสดงความกังวลว่า การที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ประกาศนโยบายในช่วงการรณรงค์หาเสียงว่า จะเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ของ สอ. จะยิ่งทำให้หนี้สาธารณะของ สอ. เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจาก รบ. สอ. ต้องกู้ยืมเงินมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนาง Jane Sydenham ของสถาบัน Rathbone Investment Management ที่มองว่า นโยบายการใช้จ่าย งปม. ของพรรคต่าง ๆ ทำให้ สอ. มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติด้านตราสารหนี้
     ๑.๓ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. รายงานว่า GDP ของ สอ. ในไตรมาสที่ ๓ (ก.ค. - ก.ย. ๒๕๖๒) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๐.๓ (ไตรมาสที่ ๒ ลดลงร้อยละ ๐.๒) รายงานดังกล่าวทำให้หลายภาคส่วนคลายกังวลได้ระดับหนึ่งว่า ศก. สอ. ยังไม่เข้าสู่สภาวะถดถอย (recession) ต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า ภาคธุรกิจการบริการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ด้านการธนาคาร และการค้าปลีก ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพยุง ศก. สอ. ไว้ในช่วงที่ผ่านมา
                             
๒. ภาคการค้าปลีกและอุตสาหกรรมของ สอ.
     ๒.๑ Sainsbury’s ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของ สอ. รายงานว่า ผลกำไรก่อนหักภาษีในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๒ (เม.ย. - ก.ย. ๒๕๖๒) ลดลงจาก ๑๐๗ ล้านปอนด์ในช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๑ มาอยู่ที่ ๙ ล้านปอนด์ เนื่องจากการปิดซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวน ๑๕ สาขา และการปิดร้าน Argos มากกว่า ๒๐ สาขาทั่ว สอ. (โดยใช้การเปิดพื้นที่ให้บริการของ Argos ภายในซุปเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury’s บางสาขาแทน) ทำให้บริษัทฯ ต้องเสียค่าใช้จ่าย (ค่าดำเนินการและค่าชดเชยต่าง ๆ )จำนวนกว่า ๒๐๐ ล้านปอนด์ และบริษัทฯ ยังต้องจ่ายเงินชดเชยต่อเนื่องให้แก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างอีกเป็นจำนวน ๒๕ ล้านปอนด์ นอกจากนี้ ยอดขายโดยรวมลดลงคิดเป็นร้อยละ ๑ โดยแบ่งเป็นยอดขายอาหารลดลงร้อยละ ๐.๑ ยอดขายสินค้าทั่วไปลดลงร้อยละ ๒.๕ และยอดขายเสื้อผ้าลดลงร้อยละ ๑.๒ ทั้งนี้ นาย Mike Coupe ปธ. ฝ่ายบริหาร กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองเรื่อง Brexit และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. ส่งผลลบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค
    ๒.๒ บริษัท Mothercare UK ประกาศล้มละลาย เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนและไม่สามารถหาผู้สนใจเข้าซื้อกิจการได้ ทำให้บริษัทจะต้องปิดสาขาจำนวน ๗๙ สาขา และส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวน ๒,๕๐๐ คน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อบริษัท Mother Business Services Ltd. (MBS) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการบางด้านแก่ Mothercare UK อีกด้วย ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท Mothercare ซึ่งดำเนินธุรกิจใน ๔๐ ประเทศทั่วโลก ชี้แจงว่า ในช่วง เม.ย. ๒๕๖๑ - มี.ค. ๒๕๖๒ กลุ่มบริษัทฯ มีผลกำไรโดยรวมจำนวน ๒๘.๓ ล้านปอนด์ แต่ Mothercare UK ประสบภาวะขาดทุนถึง ๓๖.๓ ล้านปอนด์ การยุติการดำเนินธุรกิจใน สอ. ถือเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการปรับโครงสร้างของบริษัท โดยนักวิเคราะห์มองว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการแข่งขันและกระแสความนิยมการค้าปลีกออนไลน์ได้ รวมทั้งมีแนวทางการตกแต่งภายในร้านที่ไม่น่าดึงดูดลูกค้าหากเทียบกับร้านค้าคู่แข่ง 
    ๒.๓ รบ. สอ. ประกาศขายกิจการของบริษัท British Steel ให้แก่บริษัท Jingye Group (บริษัทสัญชาติจีนที่มีธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์) ด้วยข้อเสนอการฟื้นฟูธุรกิจมูลค่า ๕๐ ล้านปอนด์ โดยนาย Li Ganpo ปธ. กลุ่มบริษัท Jingye กล่าวว่า บริษัทวางแผนที่จะใช้เงินลงทุนจำนวน ๑.๒ พันล้านปอนด์ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและการดำเนินงานของโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเข้าซื้อบริษัท British Steel ของบริษัท Jingye นี้รวมถึงการเข้าดูแลกิจการโรงงานผลิตเหล็กที่เมือง Scunthorpe/ UK steel mills / หุ้นของ FN Steel BV/ British Steel France Rail SAS/ TSP Engineering และหุ้นในบริษัท Redcar Bulk Terminal ด้วย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรวมประมาณ ๑ ใน ๓ ของอุตสาหกรรมเหล็ก สอ. ทั้งนี้ การซื้อกิจการดังกล่าวช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ ๕,๐๐๐ ตำแหน่งไว้ได้ 
                               
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๓.๑ แม้ว่า สอ. จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะ ศก. ถดถอยไปได้ในไตรมาสที่ ๓ เนื่องจาก GDP ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราร้อยละ ๐.๓ แต่รายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. ยังคงสะท้อนว่า การขยายตัวในอัตราร้อยละ ๐.๓ ดังกล่าวถือเป็นการขยายตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ ๑๐ ปี ทั้งนี้ ความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดลงเป็นสาเหตุหลักทำให้มูลค่าการจับจ่ายของผู้บริโภคโดยรวมลดลงตามไปด้วย และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจการบริการและค้าปลีกอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ศก. สอ. ในช่วงใตรมาสที่ ๔ อาจได้รับแรงกระตุ้นเชิงบวกจากช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคน่าจะมีการจับจ่าย ใช้สอยมากที่สุดในรอบปี แต่เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๑๒ ธ.ค. ด้วยเช่นกัน บรรยากาศทั่วไปโดยรวมใน สอ. จึงยังค่อนข้างคลุมเครือว่า ช่วงหลังการเลือกตั้งจะมีบรรยากาศของความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหรือไม่ 
    ๓.๒ ความถดถอยของ ศก. สอ. สามารถสะท้อนได้จากรายงานสถิติบริษัทและบุคคลล้มละลายในอังกฤษและเวลส์ ที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐสภา สอ. โดยในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. ๒๕๖๒ มีจำนวนบุคคลล้มละลายทั้งหมด ๓๐,๘๗๙ ราย ซึ่งถือเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ ๑๐ ปี โดยมีอัตราสูงขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๑ กว่าร้อยละ ๒๒ ในส่วนของบริษัทที่ล้มละลายมีจำนวนทั้งหมด ๔,๓๕๕ บริษัท ซึ่งถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ ๓ และถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดของ สอ. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗
    ๓.๓ สถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ค่อนข้างผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองกรณีที่พรรค Brexit ประกาศไม่แข่งขันกับพรรค Conservative ในบ้างพื้นที่ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน (ณ วันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๕๖๒) เงินปอนด์ต่อยูโรสูงขึ้นร้อยละ ๐.๑๑ (๑ ปอนด์ ต่อ ๑.๑๖๖๓ ยูโร) แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ ๐.๐๖ (๑ ปอนด์ ต่อ ๑.๒๘๔๖ ดอลลาร์สหรัฐ)