สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 - 30 ก.ค. 62

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 1 - 30 ก.ค. 62

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 637 view
1. Deutsche Bank ประกาศแผนปรับโครงสร้างของธนาคารอย่างกระทันหัน หลังจากที่ประสบปัญหาทางธุรกิจและการหดตัวในภาคการลงทุน (Investment Banking) ของธนาคารมาเป็นเวลาหลายปี แผนดังกล่าวเป็นผลจากการเจรจาร่วมกิจการระหว่าง Deutsche Bank กับธนาคารคู่แข่ง Commerzbank เมื่อเดือน เม.ย. 2562 ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดย Deutsche Bank มีแผนลดจำนวนพนักงานทั่วโลกกว่า 18,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2565 ทั้งนี้ พนักงานกลุ่มแรกที่จะถูกเลิกจ้าง ได้แก่ พนักงานในฝ่ายซื้อ-ขายหุ้น และการลงทุนเกี่ยวกับตราสารหนี้ ซึ่งคาดว่า สนง. ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ สนง. ในกรุงลอนดอน (มีพนักงานประมาณ 8,000 ตำแหน่ง) และในกรุงนิวยอร์ก ทั้งนี้ การประกาศแผนดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของ Deutsche Bank ในตลาดหุ้น สอ. ลดลงทันทีกว่าร้อยละ 5
 
2. รบ. สอ. ตกลงอนุมัติการค้ำประกันบริษัทผลิตรถยนต์ Jaguar Land Rover ในการกู้ยืมวงเงินจำนวน 500 ล้านปอนด์ จาก UK Export Finance และจากสถาบันการเงินอื่น ๆ อีกจำนวน 125 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตและส่งเสริมให้ สอ. เป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายยกเลิกการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์แบบเผาไหม้ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2040 ด้วย ทั้งนี้ รบ. สอ. มีนโยบายเพื่อสนับสนุนการคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น (ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 แสนคันทั่ว สอ. เท่านั้น) โดยวางแผนว่าจะเริ่มออกกฎหมายกำหนดให้บ้านพักอาศัยที่มีการสร้างขึ้นใหม่ทุกหลังต้องมีการติดตั้งเครื่องชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ สอ. บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ได้เป็น ปท. แรกภายในปี ค.ศ. 2050 ด้วย
 
3. สถาบัน สนง. สถิติแห่งชาติอังกฤษ (Office of National Statistics – ONS) รายงานว่า ตั้งแต่ พ.ค. 2561 - พ.ค. 2562 ราคาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนปรับตัวลดลงคิดเป็นร้อยละ 4.4 ซึ่งถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2552 และราคาอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ สอ. ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ ONS กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ สถิติราคาอสังหาริมทรัพย์ใน สอ. โดยทั่วไปได้รับผลกระทบหลักจากการปรับตัวลดลงของความต้องการและราคาบ้านในภาคใต้และภาคตะวันออกของอังกฤษ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการที่ผู้บริโภคและนักลงทุนยังต้องการรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ Brexit 
 
4. PSA บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Vauxhall รุ่น Astra ประกาศว่า บริษัทได้วางแผนฉุกเฉินไว้โดยอาจมีความจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตทั้งหมดจากศูนย์การผลิตในเมือง Ellesmere Port ซึ่งตั้งอยู่ในเขต Cheshire ทางฝั่งตะวันตกของ สอ. ไปยัง ปท. อื่นในยุโรปแทน หากการออกจาก EU ของ สอ. โดยเฉพาะกรณี No-deal Brexit ส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลง ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริงจะทำให้พนักงานกว่า 1,000 คนต้องถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ ศูนย์การผลิต Ellesmere Port เป็นศูนย์ที่มีการส่งออกรถยนต์ไปยังยุโรปส่วนใหญ่มากถึงร้อยละ 80 และมีการนำเข้าชิ้นส่วน/อะไหล่รถยนต์สำหรับการผลิตจากยุโรปถึงร้อยละ 75 แผนฉุกเฉินดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่น ๆ ใน สอ. ที่ต่างประกาศลดกำลังการผลิตหรือยกเลิกการขยายโรงงานไปแล้วก่อนหน้านี้เช่นกัน 
 
5. นาย Michael O'Leary ผู้บริหารสายการบิน Ryanair แถลงผลประกอบการช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2562 ว่า บริษัทมีผลกำไรลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน รวมลดลงถึงร้อยละ 21 เหลือประมาณ 219 ล้านปอนด์ เนื่องจากสายการบินจำเป็นต้องปรับลดราคาบัตรโดยสารลงเพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคให้มาใช้บริการมากขึ้น ทำให้มีรายได้ลดลงในภาพรวม ในขณะที่สายการบินยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าแรงที่สูงขึ้น (ซึ่งมีสาเหตุจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง) นอกจากนี้ ผู้บริหารสายการบินฯ ได้กล่าวว่า ตลาดที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุด ได้แก่ เยอรมนี ที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง และ สอ. ที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเงินเนื่องจากความไม่ชัดเจนของสถานการณ์ Brexit รวมทั้งสายการบินยังอาจต้องยกเลิกเที่ยวบินระหว่างกรุงลอนดอนกับเมืองเอดินเบอระห์ กลาสโกว์ และเบลฟาสต์ด้วยเพื่อปรับตัวรองรับกรณี No-deal Brexit
 
6. สภาอุตสาหกรรม สอ. (Confederation of British Industry - CBI) รายงานว่า ภาคธุรกิจการค้าปลีก สอ. มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน (พ.ค. - ก.ค.) ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องที่นานที่สุดในรอบ 8 ปี ธุรกิจที่มียอดขายลดลงมากที่สุด ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านเสื้อผ้า และร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องประดับและดอกไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายในเดือน ส.ค. จะมีแนวโน้มลดลงอีกด้วยเนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ No-deal Brexit ที่กลับมามีความเป็นไปได้สูงอีกครั้งหลังนาย Boris Johnson ได้รับแต่งตั้งให้เป็น นรม. สอ. คนใหม่
 
7. ข้อสังเกต
    7.1 ในช่วงปลาย มิ.ย. – ต้น ก.ค. ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจใน สอ. ไม่ได้ออกมาให้ข่าวทางลบเกี่ยวกับผลกระทบของกรณี No-deal Brexit มากนัก เนื่องจากต่างกำลังใจจดใจจ่อกับการแข่งขันในการเลือกตั้ง หน. พรรค Conservative คนใหม่ ระหว่างนาย Boris Johnson กับนาย Jeremy Hunt แต่พอช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค. ก็เริ่มเล็งเห็นได้ว่า นาย Johnson น่าจะกลายเป็น นรม. สอ. คนใหม่ อีกทั้งนาย Johnson ยังประกาศนโยบายชัดเจนว่า ตนพร้อมจะนำพา สอ. ออกจาก EU ในวันที่  31 ต.ค. 2562 ไม่ว่าจะมีข้อตกลงกับ EU หรือไม่ก็ตาม จึงส่งผลให้นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งผู้บริโภคชาว สอ. เกิดความกังวลต่อแนวโน้มของ No-deal Brexit ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจหลายฝ่าย เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ และ CBI ที่คัดค้าน No-deal Brexit มาตลอด ได้ออกมาแสดงท่าทีย้ำเตือนถึงผลกระทบเชิงลบทาง ศก. อย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้นกับ สอ. หาก รบ. สอ. ไม่สามารถหาข้อตกลงเรื่อง Brexit กับ EU ได้
 
    7.2 ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธรกิจและผู้บริโภคจนทำให้เกิดภาวะชะลอการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนโดยรวม อีกทั้งยังทำให้ความต้องการที่จะถือครองเงินปอนด์ของ สอ. ลดน้อยลงไปและหันไปถือเงินสกุลอื่นแทน ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 ค่าเงินปอนด์ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.092 ยูโร และ 1.215 ดอลลาร์ ต่อ 1 ปอนด์ ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 ทั้งนี้ ภาคการเงินมีการวิเคราะห์ว่า หากเกิดกรณี No-deal Brexit ก็อาจส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ลดลงไปอีกจนใกล้เคียงกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากจะเห็นค่าเงินปอนด์ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ก็อาจต้องใช้เวลาปรับตัวอีก อย่างน้อย 5 – 10 ปี และยังขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของ สอ. ด้วย และในทางตรงกันข้าม ราคาสินค้าและค่าครองชีพใน สอ. จะเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเนื่องจากผู้ผลิตต้องใช้เงินปอนด์จำนวนมากขึ้นในกระบวนการผลิตด้วย