1. เครือบริษัท Countrywide ซึ่งเป็นตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดใน สอ. กล่าวว่า สถานการณ์ Brexit ที่คลุมเครือยังส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของบ้านพักอาศัยและอาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในเขตกรุงลอนดอนและทางภาคใต้ของ สอ. ซึ่งเห็นได้จากผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 62 นั้นตกลงจาก 144.6 ล้านปอนด์ ในช่วงเดียวกันของปี 61 มาอยู่ที่ 140.3 ล้านปอนด์
2. รายงานสถิติการจองบัตรโดยสารและทัวร์ผ่านทางบริษัท Thomas Cook จนถึงปลายเดือน ก.พ. 62 ชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวบริติชที่จะเดินทางไปยัง ปท. ในกลุ่มอียูในช่วงวันหยุดฤดูร้อนนั้นมีจำนวนลดลง และมีผู้เดินทางไปยัง ปท. non-EU เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของยอดการจองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สเปนยังคงเป็น ปท. ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากนักท่องเที่ยวชาว สอ. โดยมีตุรกีตามมาเป็นลำดับที่สอง นอกจากนี้ สถิติจาก Post Office Travel Money แสดงให้เห็นว่า ยอดการแลกเงินเยนของญี่ปุ่นนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 ในขณะที่ยอดการแลกเงินรูเปียของอินโดนีเซียนั้นเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 9
3. รายงานของ Invest Europe องค์กรผู้แทนนักธุรกิจและนักลงทุนด้าน private equity และ venture capital ของยุโรป ชี้ว่า สอ. ได้ลดระดับจากแหล่งการลงทุนอันดับหนึ่งของยุโรปในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล (private money) มาเป็น “a second-rate destination” โดยยอดการทำสัญญาการลงทุน (dealmaking) นอก สอ. ในปี 61 นั้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13 หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด จำนวน 63.9 พันล้านยูโร ในขณะที่ยอดใน สอ. นั้นลดลงถึง ร้อยละ 12 หรือคิดเป็นมูลค่าโดยรวมเพียง 16.7 พันล้านยูโร ทั้งนี้ นอกจากสถานการณ์ Brexit แล้ว ความกังวลที่พรรค Labour จะได้รับเลือกเป็น รบ. ในอนาคตนั้นเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนหันไปหาทางเลือกอื่นนอก สอ. ทั้งนี้ เนื่องจากทางพรรคฯ มีนโยบายที่จะเรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้ที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น
4. ธนาคารกลางอังกฤษ รายงานว่า ยอดการลงทุนใน สอ. นั้นมีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอด ๔ ไตรมาส ของปี ๖๑ นาย Ben Broadbent รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า หาก สอ. ยังไม่สามารถหาบทสรุปเรื่อง Brexit ได้ภายในวันที่ ๓๑ ต.ค. ๖๒ ตามที่กำหนด จะส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวด้านการลงทุนของภาคธุรกิจต่อไป ซึ่งจะถือว่าเป็นการหดตัวด้านการลงทุนที่ยาวนานที่สุดของ สอ. นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒
ข้อสังเกต
สถานการณ์ Brexit ยังคงส่งผลกระทบต่อ ศก. สอ. อย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้จำนวนของนักลงทุนที่หันไปลงทุนในตลาดอียูแทนการลงทุนใน สอ. เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นักลงทุนใน สอ. จำเป็นต้องชะลอการลงทุนและจำกัดเงินทุนสำหรับธุรกิจและโครงการภายใน สอ. เพื่อลดระดับความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหาก สอ. ออกจากอียูแบบ no-deal Brexit และเพื่อนำ งปม. บางส่วนไปใช้ในการจัดเตรียมแผนการณ์เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ การชะลอการลงทุน (delay not cancel) อาจแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความหวังว่า รบ. สอ. จะสามารถหาแนวทางการดำเนินการเรื่อง Brexit ได้ภายในกำหนด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าใด ๆ ต่อการดำเนินการเรื่อง Brexit ของ รบ. สอ. รวมทั้งการหารือร่วมกันระหว่าง รบ. สอ. และพรรค Labour ก็มีทีท่าว่าจะล้มเหลว ซึ่งหากว่า รบ. สอ. ไม่สามารถจัดการหาแนวทางการดำเนินการเรื่อง Brexit นี้ได้ทันภายในกำหนดวันที่ ๓๑ ต.ค. ๖๒ สอ. จะต้องเผชิญกับความกดดันในการขอขยายกำหนดเวลาออกจากอียู หรือการออกจากอียูแบบ no-deal ฺBrexit อีกระรอกหนึ่ง ซึ่งทางเลือกทั้งสองนี้ล้วนแต่จะส่งผลเสียในระยะยาวต่อ ศก. สอ. ด้วยกันทั้งสิ้น