วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.พ. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
1. สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. ชี้ว่า ระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย. ๖1 สอ. มีสถิติการว่างงานร้อยละ ๔ ซึ่งเป็นสถิติการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ (สอ. มีระดับการว่างงานต่ำในระดับนี้มาตลอดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975) ในขณะที่การจ้างงานสูงร้อยละ 75.8 ขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และถือว่าเป็นสถิติสูงที่สุดตั้งแต่ ค.ศ. 1971
2. บริษัท Dyson เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในเอเชีย โดยประกาศย้าย สนง. ใหญ่ ไปยังสิงคโปร์ ทั้งนี้ ข่าวอ้างว่าไม่ได้มีสาเหตุจาก Brexit หรือนโยบายด้านภาษี แต่เป็นเพราะเห็นตลาดในเอเชียเติบโตมากที่สุด นอกจากนั้น ยังมีแผนจะย้ายโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์ด้วย
3. บริษัท Sony ประกาศย้าย สนง. ใหญ่ประจำยุโรปจาก สอ. ไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัมส์ การประกาศย้ายดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลกระทบในด้านภาษีศุลกากรขาเข้า-ขาออก หลัง สอ. ออกจากอียู อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงฝ่าย operations และฝ่ายบุคคลไว้ใน สอ.
4. นาย Tom Enders ปธ. บริษัท Airbus แสดงความกังวลต่อกรณี Brexit ว่า หากเกิดสถานการณ์ no deal บริษัทฯ จำเป็นต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตและการลงทุนในอนาคตออกจาก สอ. ทั้งนี้ Airbus ถือเป็นบริษัทที่มีฐานการผลิตลำดับต้น ๆ ของ สอ. โดยมีพนักงานกว่า 14,000 คน มี สนง. และฐานการผลิตรวม 25 แห่งทั่ว สอ. และมีผลประกอบการต่อปีกว่า 6 พันล้านปอนด์ นาย Enders สนับสนุนร่าง คตล. Brexit ของ นรม. เมย์ เนื่องจากภาคธุรกิจต้องการเห็น สอ. และอียู สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้
5. บริษัท Ernst & Young บริษัทบัญชีระดับโลก รายงานว่าจนถึงวันนี้ มีการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ (assets) มูลค่าเกือบ 800 พันล้านปอนด์ จาก สอ. ไปยังเมืองหลวงทางการเงินต่าง ๆ ของยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลัง Brexit และมีสถาบันการเงินหลายแห่งเพิ่มตำแหน่งกว่า 2,000 ตำแหน่งที่สาขาในกรุงดับลิน ลักเซมเบิร์ก แฟรงก์เฟิร์ต และกรุงปารีส ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ คาดว่าจะมีการย้ายตำแหน่งงานเพิ่มเติมกว่า 4,000 ตำแหน่ง ออกจาก สอ. ภายในวันที่ 29 มี.ค. 62
6. บริษัทใหญ่ หลายแห่ง อาทิ Tesco, Amazon, CBI และซุปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีก อาทิ Sainsbury’s, ASDA, Marks & Spencer, Co-op และ Waitrose ต่างเรียกร้องให้ รบ. ตัดทางเลือก no deal Brexit ออกไป โดยระบุว่าการไม่มีข้อตกลงกับอียู จะทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าบริโภคใน สอ. และสินค้าจะมีราคาสูงขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ ค่าขนส่งที่สูงขึ้น ภาษีนำเข้า ค่าเงินปอนด์ที่ลดลง เนื่องจาก 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารที่บริโภคใน สอ. นำเข้าจากอียู
ข้อสังเกต
1. มีนักวิเคราะห์บางส่วนกล่าวว่าสถิติการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (แม้มีกรณี Brexit) สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของแรงงานที่ทำงานแบบเต็มเวลา นอกจากนั้น การที่แรงงานชาวอียูออกจาก สอ. ไปบางส่วน อาจเป็นสาเหตุให้ตัวเลขการจ้างงานชาวบริติชใน สอ. เพิ่มขึ้น
2. ค่าเงินปอนด์ในช่วงต้นเดือน ม.ค. สามารถทรงตัวอยู่ได้ แม้ว่าสถานการณ์การเมือง สอ. จะไม่มั่นคงจากความพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ของ รบ. สอ. ที่สภาสามัญลงคะแนนเสียงไม่ผ่านร่าง คตล. Brexit เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 62 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นรม. เมย์ ในวันถัดมา (แม้ว่า นรม.ฯ จะสามารถชนะได้ด้วยคะแนนเสียงส่วนต่าง 19 เสียง) ซึ่งอาจเนื่องจากตลาดได้ price-in เหตุการณ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม รบ. ยังคงเจอศึกหนักจากทั้งพรรคฝ่ายค้าน และจาก ส.ส. ที่เห็นต่าภายในพรรค จนนำไปสู่การลงคะแนนในวันที่ 29 ม.ค. 62 ซึ่งส่งผลให้เงินปอนด์มีทิศทางอ่อนค่าลงจากประมาณ 1.31 ดอลลาร์สหรัฐ/ 1 ปอนด์ เป็น 1.29 ดอลลาร์สหรัฐ/1 ปอนด์ และ 41.40 บาท/1 ปอนด์ เป็น 40.45 บาท/1 ปอนด์