สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 ก.ย. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 ก.ย. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,241 view

๑. ด้านการค้าปลีกและการบริการ
    ๑.๑ ห้างสรรพสินค้า John Lewis ประกาศงดการจ่ายเงินโบนัสประจำปีนี้ให้แก่ พนง. เนื่องจากบริษัทคาดการณ์ว่าจะประสบกับผลขาดทุนจากสถานการณ์ COVID-19 โดยถือเป็นการงดการจ่ายเงินโบนัสให้แก่ พนง. ครั้งแรกในรอบ ๖๗ ปีของบริษัทและเป็นการขาดทุนประจำปีครั้งแรกตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างบริษัทเป็นระบบ employee-owned (พนง. ทุกคนถือครองหุ้นในบริษัทด้วย) เมื่อปี ๒๔๖๓ ทั้งนี้ ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกแสดงให้เห็นว่ามูลค่าสินทรัพย์ขาดทุน ๖๓๕ ล้านปอนด์ โดยคิดเป็นหนี้สูญเปล่าจากกิจการที่ไม่สามารถทำกำไรได้มูลค่า ๕๐๐ ล้านปอนด์ แม้บริษัทประเมินว่า ยอดขายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นต้นมาจะปรับตัวดีขึ้นกว่าการคาดหมาย แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าจะลดลงในอัตราร้อยละ ๓๐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ยอดขายรวมของสาขาในกรุงลอนดอนอยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับในเมืองอื่น ๆ โดยลดลงร้อยละ ๔๐ เนื่องจากจำนวน นทท. ต่างชาติในกรุงลอนดอนที่ลดลง และ ปชช. ทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ โดยล่าสุดบริษัทมีแผนปรับเปลี่ยนพื้นที่ของร้านค้าภายในห้าง John Lewis สาขา Oxford Street จำนวนร้อยละ ๔๐ ให้เป็นพื้นที่สำหรับให้เช่าเป็น สนง. และห้องพักแทน รวมทั้งจะนำเสนอสินค้า/บริการใหม่ ๆ เช่น การลงทุนกับบริษัท การรับจ้างแต่งบ้านราคาย่อมเยาและการรับจ้างแต่งสวน เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพายอดขายจากร้านค้าแบบเดิม นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนปิดสาขาของซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose อีกอย่างน้อย ๑๗ สาขา แม้จะมียอดขายในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐ แต่แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคจะเป็นการซื้อสินค้าแบบออนไลน์มากกว่า จึงจะหันไปเพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่งสินค้าถึงบ้านอีกร้อยละ ๕๐ เพื่อให้สามารถรองรับยอดการสั่งสินค้าจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คำสั่ง/สัปดาห์ได้
    ๑.๒ โรงแรม บ. Whitbread ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงแรม Premier Inn และร้านอาหาร Beefeater ให้ข้อมูลว่า บริษัทอาจต้องเลิกจ้าง พนง. มากถึง ๖,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๓๕,๐๐๐ ตำแหน่ง) หลังมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ของ รบ. สิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. ศกนี้ โดยบริษัทชี้แจงว่า สถานการณ์ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๓ ลดลงกว่าร้อยละ ๗๕ โดยมีจำนวนการเข้าพักโรงแรมในเดือน ส.ค. ลดลงร้อยละ ๕๐ ในขณะที่จำนวนผู้เข้าใช้บริการร้านอาหารในเครือลดลงมากกว่าร้อยละ ๓๓ นอกจากนี้ แม้ว่าการผ่อนคลายการล็อกดาวน์จะช่วยกระตุ้นให้มีจำนวนผู้เข้าพักโรงแรมในเขตท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ห้องพักในกรุงลอนดอนและเขตปริมณฑลอื่น ๆ กลับได้รับความนิยมลดลง ทั้งนี้ บริษัทคาดว่า ปริมาณความต้องการห้องพักอาจคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ไปจนถึงปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้ ข่าวดังกล่าวทำให้หุ้นของ บ. Whitbread ปรับลดลงประมาณร้อยละ ๒
    ๑.๓ ธุรกิจค้าปลีก Marks & Spencer / Mulberry / ห้าง Selfridges / สนามบิน Heathrow และร้านค้าปลีกชั้นนำหลายแห่งของ สอ. ร่วมกันลงนามในหนังสือถึง รบ. สอ. เพื่อคัดค้านแผนการยกเลิกมาตรการ VAT Retail Export Scheme - VAT RES ซึ่งเป็นมาตการที่อนุญาตให้ นทท. ต่างชาติ (non-EU) สามารถขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อและนำออกจาก สอ. ที่จะเริ่มใช้วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ (หลังพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านการออกจากการเป็นสมาชิก EU) โดยเรียกร้องให้ รบ. ทบทวนแผนดังกล่าวที่จะกระทบกับภาคการท่องเที่ยว (สอ. จะกลายเป็น ปท. เดียวในยุโรปที่ไม่เสนอสิทธิประโยชน์นี้ให้แก่ นทท. ต่างชาติ) และการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานประมาณ ๗๐,๐๐๐ ตำแหน่ง รวมทั้งจะทำให้ สอ. สูญเสียรายได้หลายพันล้านปอนด์ ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Visit Britain รายงานว่า ในปี ๒๕๖๑ นทท. ต่างชาติ (non-EU) จับจ่ายใช้สอยใน สอ. มากถึง ๖ พันล้านปอนด์ โดยเป็นยอดขายของสินค้าเพื่อขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นมูลค่า ๓.๕ พันล้านปอนด์

๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ  
    ๒.๑ อสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลของ ธ. Nationwide รายงานว่า ราคาบ้านโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๙ ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. ๒๕๖๓ มากขึ้นร้อยละ ๕ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนาย Robert Gardner หน. ฝ่ายวิเคราะห์ ศก. ของ ธ. Nationwide มีความเห็นว่า แนวโน้มดังกล่าวเกิดจากปัจจัยความต้องการของผู้บริโภคที่สะสมมาจากช่วงก่อนการล็อกดาวน์ กอปรกับปัจจัยกระตุ้นจากมาตรการยกเลิกภาษีการซื้อบ้านสำหรับบ้าน
ที่มีราคาไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์ (Stamp Duty Holiday) ของ รบ. สอ. รวมถึงความต้องการพื้นที่อยู่อาศัยที่กว้างขึ้นซึ่งมีปัจจัยจากมาตรการล็อกดาวน์และการทำงานจากที่บ้าน ทั้งนี้ รายงานของธนาคารของอังกฤษ (Bank of England – BoE) ระบุว่า การอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยในเดือน ส.ค. มีจำนวน ๘๔,๗๐๐ ราย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ มากกว่าสถิติในเดือน ก.ค. ที่มีจำนวน ๖๖,๓๐๐ ราย นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังสะท้อนว่า ผู้บริโภคที่มีอายุน้อยส่วนใหญ่เลื่อนการตัดสินใจซื้อบ้านออกไปก่อน เนื่องจากปัจจัยความกังวลด้านการจ้างงาน ทั้งนี้ BoE ประเมินว่าอัตราการว่างงานมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ ๔ หลังจากการสิ้นสุดลงของมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ในเดือน ต.ค. ศกนี้ และการสิ้นสุดของมาตรการ Stamp Duty Holiday ในวันที่ ๓๑ มี.ค. ๖๔ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า
         
                    
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๓.๑ ภาพรวมของข่าว ศก. ในครึ่งหลังของเดือน ก.ย. นี้สะท้อนให้เห็นว่า ในภาพรวมของ ศก. สอ. มีความกังวลเกี่ยวกับการว่างงานในระดับสูงและน่าจะเข้าสู่สภาวะซบเซาอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายปีนี้โดยเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันที่เริ่มกลับมารุนแรงมากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบจากช่วงการผ่อนคลายการ
ล็อกดาวน์ใหม่ ๆ รวมทั้ง ศก. มีแนวโน้มหดตัวในไตรมาสที่ ๔ ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ๒๕๖๔ เนื่องจากมาตรการกระตุ้น ศก. ระยะที่สองที่กำลังสิ้นสุดลง พร้อมกับการที่ รบ. สอ. ประกาศใช้มาตรการข้อจำกัดทางสังคมเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๒๒ ก.ย. ๖๓ ที่ทำให้ธุรกิจภาคบริการอาหารและเครื่องดื่มทั่ว สอ. ต้องปิดทำการภายในเวลา ๒๒. ๐๐ น. ของทุกวัน รวมทั้งการห้าม ปชช. พบปะกันเกิน ๖ คนเป็นเวลาอย่างน้อย ๖ เดือน (ต.ค. ๖๓ - มี.ค. ๖๔) ด้วย แม้ว่า รบ. สอ. โดยนาย Rishi Sunak รมว. กค. ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและการจ้างงานเพิ่มเติมสำหรับไตรมาสที่ ๔ (Winter Economic Plan) เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ย. ๖๓ เพื่อมุ่งบรรเทาผลกระทบจากประกาศมาตรการข้อจำกัดทางสังคมดังกล่าวแล้ว ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสนับสนุนการจ้างงาน (Jobs Support Scheme) การขยายเวลามาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม การช่วยเหลือเงินกู้ภาคธุรกิจ (Pay As You Grow) และการดูแลผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวแล้วก็ตาม (ตามนัย ทล. สอท. ที่ LON 611/2563 ลว. ๒๕ ก.ย. ๖๓) แต่หลายฝ่ายมองว่า มาตรการเหล่านี้จะมีผลในวงจำกัดเท่านั้นและไม่สามารถสร้างงานใหม่เพื่อรองรับผู้ตกงานอีกจำนวนมากได้ ทั้งนี้  บ. Capital Economics ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้าน ศก. คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ ๔.๑ เป็นร้อยละ ๗ (หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า ๑ ล้านคน) ภายในสิ้นปีนี้
     ๓.๒ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) รายงานว่า รบ. สอ. ได้กู้ยืมสาธารณะจำนวน ๓.๖ หมื่นล้านปอนด์ในเดือน ส.ค. ทำให้ปัจจุบัน สอ. มีหนี้รวมแล้วจำนวน ๒.๐๒๔ ล้านล้านปอนด์ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดใน ปวศ. หลังสงครามโลก กอปรกับการลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาคธุรกิจ Hospitality จากร้อยละ ๒๐ มาอยู่ที่ร้อยละ ๕ ทำให้ รบ. มีรายรับลดลงถึง ๓.๗ พันล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. ๖๒ [1] ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้ รบ. สอ. มีข้อจำกัดทางการคลังและไม่มีทางเลือกมากนักในการแก้ไขสถานการณ์ ศก. นอกจากการหาดุลยภาพที่เหมาะสมระหว่างการบริหารความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่รับได้และการประคับประคองให้กลไก ศก. ภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวยังเดินต่อไปได้ด้วย จึงหันไปใช้แนวทางการควบคุมในระดับท้องถิ่น (local restrictions) ในช่วงที่ผ่านมา แทนการป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดด้วยการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ซึ่งหากการแพร่ระบาดใน สอ. ไม่เพิ่มสูงเกินขีดความสามารถของ NHS ก็มีแนวโน้มว่า รบ. สอ. จะพยายามหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ทั่ว ปท. ครั้งที่สองและใช้การควบคุมในระดับท้องถิ่นลักษณะนี้ต่อไป
      ๓.๓ ด้าน Brexit การเจรจาระหว่าง สอ. กับ EU อย่างเป็นทางการรอบสุดท้ายในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สิ้นสุดลงแล้วโดยไม่มีผลความคืบหน้าใด ๆ เพิ่มเติม ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถมีข้อสรุปร่วมกันในประเด็นสำคัญ เช่น สิทธิการทำประมงในน่านน้ำ สอ. และข้อบังคับเพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ แม้ว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการผ่าน VDC เมื่อวันที่ ๓ ต.ค. ที่ผ่านมาเพื่อพยายามคลี่คลายความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายแต่ก็ไม่เป็นผล อีกทั้งการเจรจายิ่งซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจาก รบ. สอ. พยายามออก กม. ตลาดภายใน (Internal Market Bill) เพื่อเป็นหลักประกันการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีระหว่างเกาะบริเตนใหญ่กับไอร์แลนด์เหนือหลังสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งฝ่าย EU มองว่า กม. ดังกล่าวขัดกับ คตล. Withdrawal Agreement (WA) และได้ยื่นหนังสือประท้วง รบ. สอ. อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒ ต.ค. แล้ว ซึ่งหากภายในสิ้นเดือน ต.ค. ศกนี้ รบ. สอ. ยังไม่ยอมตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวของฝ่าย EU ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการยื่นฟ้องต่อศาล ECJ ตามกระบวนการ กม. ที่กำหนดไว้แล้วตาม WA และน่าจะนำไปสู่ No-deal Brexit ในท้ายที่สุด

[1] https://www.theguardian.com/business/2020/sep/25/uk-borrowing-surges-as-covid-pushes-national-debt-to-record