สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 ก.ย. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 ก.ย. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ต.ค. 2565

| 1,147 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ ธุรกิจค้าปลีก บ. Kingfisher ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ บ. B&Q และ Screwfix ของ สอ. รายงานผลกำไรของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี ๖๕ (๑ ม.ค. - ๓๑ ก.ค. ๖๕) ลดลงเกือบร้อยละ ๓๐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยบริษัทประเมินว่าผลกำไรที่ลดลงมีปัจจัยจากการที่ ปชช. ลดการใช้จ่ายลงในภาพรวมและแนวโน้มการซ่อมแซมบ้านพักอาศัยและสวนภายในบ้านที่ซบเซาลงในช่วงภาวะวิกฤตค่าครองชีพ อย่างไรก็ดี สินค้าราคาสูงบางรายการ เช่น เครื่องครัวและสุขภัณฑ์ รวมถึงวัสุดเก็บความร้อน (home insulation) ยังมีแนวโน้มได้รับความนิยมต่อเนื่องโดยเกิดจากการที่ ปชช. หันมาปรับปรุงบ้านพักอาศัยให้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยและประหยัดพลังงานมากขึ้นก่อนช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ยอดขายเฉลี่ยลดลงเพียงร้อยละ ๔ ในขณะที่ผลประกอบการโดยรวมยังสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ประมาณร้อยละ ๑๖.๖ ทั้งนี้ ข่าวการหดตัวของผลกำไรดังกล่าว ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ FTSE100 ใน สอ. ลดลงเกือบร้อยละ ๖.๖ (ณ ๒๐ ก.ย. ๖๕) ถือเป็นหุ้นที่ลดลงมากที่สุดในวันดังกล่าว[1] ในขณะเดียวกัน หุ้นของ บ. The Works ร้านค้าปลีกสินค้าเครื่องเขียนและงานฝีมือราคาย่อมเยาว์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๔๐ สูงเป็นประวัติการณ์ของบริษัทเนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๖.๕ ในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา (ถึงเดือน พ.ค. ๖๕) โดยเป็นผลจากการที่ ปชช. ระมัดระวังการใช้จ่ายและนิยมเลือกสินค้าหมวดดังกล่าวที่มีราคาถูกและคุ้มค่ากว่าในภาวะปัจจุบัน[2]
    ๑.๒ ธุรกิจบริการ (hospitality) ภาวะค่าครองชีพสูงและการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการหลายรายเริ่มทยอยลดจำนวนสาขาเพื่อลดต้นทุน เช่น บ. JD Wetherspoon เจ้าของกิจการผับราว ๘๐๐ แห่งทั่ว สอ. และไอร์แลนด์ ประกาศขายผับในเครือจำนวน ๓๒ แห่งในอังกฤษ (๑๐ แห่ง ในลอนดอน) โดยมีปัจจัยจากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษากิจการและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นสืบเนื่องมาจากวิกฤตด้านพลังงานและปัญหาภาวะเงินเฟ้อ[3] และ บ. BrewDog เจ้าของกิจการโรงกลั่นเบียร์ยี่ห้อ BrewDog และกิจการผับหลายแห่งใน สอ. ได้ประกาศปิดกิจการถาวรจำนวน ๖ แห่งก่อนหน้านี้โดยมีปัจจัยจากต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน เป็นต้น ทั้งนี้ สมาคม UKHospitality ได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. ใช้มาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับภาคธุรกิจบริการเพื่อหลีกเลี่ยงแนวโน้มการปิดกิจการและการเลิกจ้างงาน[4]
    ๑.๓ ค่าครองชีพ ข้อมูลดัชนีราคาอาหาร (BRC-NielsenIQ price index) จัดทำโดยสมาคมผู้ค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC) ร่วมกับ บ. NielsenIQ ระบุว่า ราคาอาหารในเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๑๐.๖ จากร้อยละ ๙.๓ ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดใน สอ. นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยเฉพาะสินค้าประเภท นม เนยเทียม คุกกี้ และเค้ก ในขณะที่ราคาของสด เช่น ผลไม้บางชนิดปรับตัวลดลง เช่น บลูเบอร์รี่ สตอเบอร์รี่ และมะเขือเทศ โดยมีปัจจัยจาก สอ. มีฤดูร้อนที่ยาวนานกว่าปกติในปีนี้จึงช่วยให้ผัก/ผลไม้บางชนิดออกผลได้ดี สำหรับสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (non-food) มีราคาเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยเฉพาะอุปกรณ์ทำสวน เครื่องมือช่าง และอุปกรณ์ต่อเติม/ก่อสร้าง โดยมีปัจจัยจากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในภาพรวมรายงานดังกล่าวยังพบว่าราคาอาหารที่จำหน่ายในร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยเฉลี่ยปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๕.๗ ในเดือน ก.ย. ๖๕ เทียบกับร้อยละ ๕.๑ ในเดือน ส.ค. ๖๕[5] ซึ่งน่าจะมีผลให้ภาวะเงินเฟ้อใน สอ. ปรับเพิ่มสูงขึ้นในระดับร้อยละ ๑๐ อีกครั้งหลังจากที่ลดลงเล็กน้อยในเดือน ส.ค. ๖๕ (ร้อยละ ๙.๙)[6]
    ๑.๔ การเงิน ตลาดค่าเงินใน สอ. มีความผันผวนมากในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย. ภายหลังการประกาศนโยบายกระตุ้น ศก. ของ รบ. สอ. เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ย. ๖๕ โดยเน้นการลดภาษีเงินได้และการกู้ยืมเงินเพิ่มเพื่อทดแทนรายได้รัฐที่ลดลง ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะของ สอ. ปรับเพิ่มขึ้นถึง ๔.๕ หมื่นล้านปอนด์ ทั้งนี้ แนวโน้มการตอบรับเชิงลบของตลาดดังกล่าวทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินปอนด์เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ ๕๐ ปี (อัตรา ๑ ปอนด์ ต่อ ๑.๐๘ ดอลลาร์สหรัฐ ณ ๒๗ ก.ย. ๖๕) และอาจเป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England – BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการด้านนโยบายการเงินของ BoE วาระต่อไปในเดือน พ.ย. ศกนี้
   นอกจากนี้ ความผันผวนของค่าเงินปอนด์ส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งใน สอ. เช่น HSBC, Santander, Yorkshire Building Society, Skipton Building Society และ Virgin Money ได้ยกเลิกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อบ้านพักอาศัยบางรายการและ/หรือไม่ให้บริการสินเชื่อกู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหม่เพื่อรอพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อกู้บ้านใหม่ให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BoE ครั้งต่อไป[7] ในขณะที่ บ. Moneyfacts ซึ่งเป็นบริษัทบริการข้อมูลทางการเงินออนไลน์ให้ข้อมูลว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารและสถาบันการเงินใน สอ. ได้ยกเลิกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านรวมราว ๙๓๕ รายการหรือประมาณร้อยละ ๒๕ ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด อีกทั้งนักวิเคราะห์คาดว่าอัตราสินเชื่อบ้านพักมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นสูงและจะส่งผลกระทบให้ผู้ที่มีกำลังซื้อบ้านมีจำนวนลดลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ราคาบ้านปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ ภายใน ๑๘ เดือนข้างหน้านี้[8]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๒.๑ เมื่อวันที่ ๒๑ ก.ย. ๖๕ รบ. สอ. โดยนาย Jacob Rees-Mogg รมว. ธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของ สอ. ประกาศมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน (Energy Bill Relief Scheme) สำหรับ
ภาคธุรกิจ องค์กรของภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น องค์กรเพื่อการกุศล โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น ที่สำคัญเป็นการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมไฟฟ้าแบบขายส่งที่ราคา ๒๑๑ ปอนด์/เมกะวัตต์-ชั่วโมง และค่าธรรมเนียมก๊าซหุงต้มแบบขายส่งที่ราคา ๗๕ ปอนด์/เมกะวัตต์-ชั่วโมง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ต.ค. ๖๕ - มี.ค. ๖๖ (เป็นเวลา ๖ เดือน ) ซึ่งถือเป็นการปรับลดเพดานค่าธรรมเนียมลงเกือบครึ่งหนึ่งจากเดิมที่มีแผนปรับเพิ่มขึ้นราวร้อยละ ๘๐ ในเดือน ต.ค. ๖๕ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานให้แก่ภาคธุรกิจและรักษาเสถียรภาพการจ้างงานเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวที่จะมีการใช้พลังงานเพื่อทำความอบอุ่นมากกว่าปกติ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมพลังงานสำหรับภาคครัวเรือนที่ประกาศเมื่อวันที่ ๘ ก.ย. ๖๕ โดย รบ. สอ. จะประเมินผลของมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานในภาคธุรกิจในอีก ๓ เดือนข้างหน้าซึ่งอาจพิจารณาความจำเป็นในการขยายมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานดังกล่าวสำหรับภาคธุรกิจและองค์กรที่จำเป็นบางส่วนต่อไป[9]
    ๒.๒ เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ย. ๖๕ รบ. สอ. โดยนาย Kwasi Kwarteng รมว. กค. สอ. ประกาศมาตรการกระตุ้น ศก. (Growth Plan 2022[10]) โดยมีเป้าหมายให้ ศก. สอ. ขยายตัวในอัตราอย่างน้อยร้อยละ ๒.๕ ภายในปีหน้า โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ และวิกฤตพลังงานด้วยมาตรการด้านภาษี และช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้น ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ ดังนี้
          ๑) ภาษี
              – ยกเลิกการเก็บภาษีเงินได้ (Income Tax) อัตราร้อยละ ๔๕ โดยจะเก็บภาษีผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ ปอนด์/ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ ๔๐ แทน และปรับลดอัตราการเก็บภาษีเงินได้ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ ๑๒,๕๗๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป จากร้อยละ ๒๐ เป็นร้อยละ ๑๙ ตั้งแต่เดือน เม.ย. ๖๖ เป็นต้นไป
              – ยกเลิกการปรับขึ้นอัตราภาษีประกันสังคม (National Insurance Contributions – NICs) ร้อยละ ๑.๒๕ (บังคับใช้เมื่อเดือน เม.ย. ๖๕) ตั้งแต่เดือน พ.ย. ๖๕ เป็นต้นไป
              – ลดหย่อนภาษีซื้อขายบ้าน (Stamp Duty) โดยจะเก็บภาษีบ้านที่มีราคาตั้งแต่ ๒๕๐,๐๐๐ ปอนด์/หลังขึ้นไป (จากเดิมเริ่มที่ระดับ ๑๒๕,๐๐๐ ปอนด์/หลังขึ้นไป) และลดหย่อนภาษีบ้านสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกในราคาตั้งแต่ ๔๒๕,๐๐๐ – ๖๒๕,๐๐๐ ปอนด์/หลัง (จากเดิมในราคา ๓๐๐,๐๐๐ – ๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์/หลัง) มีผลบังคับใช้ทันที
              – ยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล (Corporation Tax) อัตราร้อยละ ๒๕ ในปีหน้า และคงมาตรการเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราร้อยละ ๑๙ ไว้เช่นเดิม
              – ระงับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol Duty) เป็นเวลา ๑ ปี เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. ๖๖ และแผนการฟื้นฟูมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT-Free Shopping Scheme) สำหรับ นทท. ต่างชาติอีกครั้ง (ก่อนหน้านี้ รบ. สอ. ภายใต้การนำของ นรม. Boris Johnson และนาย Rishi Sunak รมว. กค. ได้ยกเลิกมาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ ภายหลัง สอ. ออกจากการเป็นสมาชิก EU)
         ๒) การลงทุน – ประกาศแผนจัดตั้ง Investment Zones จำนวน ๓๘ แห่ง ใน สอ. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจและกระตุ้นการจ้างงานในระดับท้องถิ่นทั่ว สอ. ซึ่งช่วยสนับสนุนนโยบายกระจายความเจริญทาง ศก. (Levelling-up) ของ รบ. สอ. โดยบริษัทที่ตั้งอยู่ในเขตการลงทุนดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การยกเว้นภาษีธุรกิจ (Business Rates Relief) การยกเว้นภาษีที่ดิน (Stamp Duty Land Tax Relief) สำหรับที่ดินที่ซื้อเพื่อพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์หรือโครงการที่พักอาศัย และการยกเว้นภาษี NICs ของบริษัทในกรณีการจ้าง พนง. ใหม่ที่มีเงินเดือนไม่เกิน ๕๐,๒๗๐ ปอนด์/ปี เป็นต้น[11]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ แนวโน้ม ศก. สอ. ยังไม่ฟื้นตัวมากนักแม้จะมีการประกาศ Growth Plan 2022 แล้ว เนื่องจากแผนดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนและภาคธุรกิจใน สอ. โดยเป็นนโยบายการลดภาษีมากที่สุดในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมาใน  ปวศ. สอ. โดยหลายฝ่ายเห็นว่า Growth Plan ดังกล่าวเป็นเดิมพันที่เสี่ยงเกินไปโดยนอกจากอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายให้ ศก. สอ. ขยายตัวในระดับร้อยละ ๒.๕ ต่อปีแล้วยังอาจนำไปสู่วิกฤตการคลังในระยะต่อไปได้ ความวิตกกังวลดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร รบ. สอ. อายุ ๒ ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔.๕ จากร้อยละ ๓ (จากความผันผวนของค่าเงินดังกล่าว)[12] นอกจากนี้ ความผันผวนในตลาดค่าเงินทำให้ BoE ต้องประกาศมาตรการฉุกเฉิน โดยจะระงับการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลตามการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Monetary Tightening) และจะเข้าแทรกแซงตลาดเป็นการชั่วคราว โดยจะซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ ๒๘ ก.ย. เป็นต้นไปเป็นเวลา ๑๓ วันทำการ รวมมูลค่า ๖.๕ หมื่นล้านปอนด์ เพื่อลดภาระหนี้และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน[13] ซึ่งได้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงทันที รวมทั้งค่าเงินปอนด์ที่ทรงตัวมากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ (๑ ปอนด์ต่อ ๑.๑๒ ดอลลาร์สหรัฐ ณ ๓๐ ก.ย. ๖๕)
    ๓.๒ จากแนวโน้มที่ สอ. จะมีหนี้สาธารณะมากขึ้น (ปัจจุบันสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ ๙๖.๖ ณ สิ้นเดือน ส.ค. ๖๕) IMF ได้ให้ความเห็นในเชิงเตือนว่ามาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้น ศก. ของ สอ. ดังกล่าวอาจส่งผลให้ปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมของ สอ. เพิ่มมากขึ้นด้วย โดย IMF เสนอให้ รบ.สอ. พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือทาง ศก. ที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้นเพื่อจำกัดงบประมาณ และทบทวนมาตรการด้านภาษีใหม่โดยเฉพาะมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีรายได้สูง[14] ในขณะที่ Moody’s ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ สอ. ในขณะนี้ แต่เห็นว่าการลดภาษีโดยไม่มีแผนการจัดหารายได้ชดเชยจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นและจะชะลอการเติบโตของ ศก. สอ. ในระยะกลาง[15]



[1] https://www.theguardian.com/business/2022/sep/20/bq-kingfisher-profits-cost-of-living-crisis-mini-budget
[2] https://www.theguardian.com/business/2022/sep/23/shares-retailer-the-works-surge-strong-sales-return-to-profit
[3] https://www.thecaterer.com/news/jd-wetherspoon-pubs-sale-tim-martin
[4] https://news.sky.com/story/brewdog-to-close-six-pubs-due-to-spiralling-costs-and-no-prospect-of-help-from-clueless-government-12686261
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-63050038
[6] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/timeseries/d7g7/mm23
[7] https://www.bbc.co.uk/news/business-63041679
[8] https://www.bbc.co.uk/news/business-63061534
[9] https://www.gov.uk/government/news/government-outlines-plans-to-help-cut-energy-bills-for-businesses
[10]https://www.gov.uk/government/news/chancellor-announces-new-growth-plan-with-biggest-package-of-tax-cuts-in-generations
[11] https://www.gov.uk/government/publications/the-growth-plan-2022-documents
[12] http://www.worldgovernmentbonds.com/bond-historical-data/united-kingdom/2-years/#:~:text=The%20United%20Kingdom%202%20Years,%3A15%20GMT%2B0).
[13] https://www.bankofengland.co.uk/markets/market-notices/2022/september/market-notice-28-september-2022-gilt-market-operations
[14] https://www.bbc.co.uk/news/business-63051702
[15] https://www.reuters.com/world/uk/moodys-warns-uk-unfunded-tax-cuts-are-credit-negative-2022-09-28/