วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มิ.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 มิ.ย. 2565
๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๑.๑ อาหารและภาคการค้าปลีก - ข้อมูลการสำรวจของ บ. Kantar ระบุว่า ราคาอาหารของ สอ. ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๗ ภายในช่วง ๔ สัปดาห์ที่ผ่านมาเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือเป็นการปรับตัวขึ้นที่รวดเร็วที่สุดในรอบ ๑๓ ปีจากปัญหาค่าครองชีพสูงเป็นประวัติการณ์ โดยร้อยละ ๒๒ ของภาคครัวเรือนที่ทำการสำรวจระบุว่าอาจไม่มีเงินเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียง ในขณะที่ร้อยละ ๙๐ รู้สึกกังวลกับค่าใช้จ่ายประจำที่เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว[1] นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจของ YouGov พบว่า ปชช. เริ่มได้รับผลกระทบรุนแรงและต้องปรับตัวในการใช้จ่ายสิ่งของจำเป็น โดยประมาณร้อยละ ๔๐ ของ ปชช. สอ. ต้องลดหรืองดการจับจ่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้า การรับประทานอาหารนอกบ้าน และการสั่งซื้ออาหาร takeaway ในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่อีกร้อยละ ๒๐ ต้องลด/งดการใช้รถยนต์และการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยอดขายอาหารและเครื่องดื่มในซุปเปอร์มาร์เก็ตในช่วง ๔ สัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงเพียงร้อยละ ๑.๗ โดยมีปัจจัยจากการที่ ปชช. ยังคงให้ความสำคัญกับการเตรียมฉลองโอกาสการครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ (Platinum Jubilee) ที่กำหนดจัดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่ว ปท. ในช่วงวันที่ ๒ - ๕ มิ.ย. ๖๕ อีกทั้งยังช่วยให้ภาพรวมภาคการค้าปลีกมียอดขายทรงตัวในระดับที่ดี โดย Lidl และ Aldi ถือเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตสินค้าราคาประหยัดสองรายที่ยอดขายยังขยายตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ห้าง Tesco ยังเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่สุดของ สอ. โดยสามารถขยายส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ ๑๗ ติดต่อกันและปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดของ สอ. ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ ๒๗.๔[2]
๑.๒ ห้างสรรพสินค้า Marks & Spencer (M&S) ประกาศแผนปิดสาขาเพิ่มจำนวน ๓๒ แห่ง ในบริเวณใจกลางเมืองของ สอ. ภายใน ๓ ปีข้างหน้า (ก่อนหน้านี้ M&S ปิดสาขาไปแล้วจำนวน ๖๘ แห่งทั่ว สอ.) และมีแผนเปิดกิจการแบบ full-line store เพื่อจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และอาหารเพิ่มจำนวน ๑๕ แห่ง รวมทั้งกิจการเพื่อจำหน่ายอาหารอย่างเดียวจำนวน ๔๐ แห่งภายใน ๓ ปีข้างหน้าด้วย โดยแผนดังกล่าวเป็นการปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้บริการในบริเวณชานเมือง (ที่สามารถให้บริการที่จอดรถได้) มากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของบริษัทที่พบว่ายอดขายของกิจการในบริเวณใจกลางเมืองลดลงร้อยละ ๑๔ ย่านถนนช้อปปิ้ง (high street) ลดลงร้อยละ ๘ ในขณะที่ยอดขายของกิจการใน retail park ต่าง ๆ (ที่มีที่จอดรถ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงมีรสนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นต่อเนื่องแม้วิกฤตโรคระบาดจะสิ้นสุดแล้ว โดยยอดขายออนไลน์ของบริษัทในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๕ โดยเฉพาะสินค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ส่วนยอดขายอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๑ บริษัทมีผลกำไรในปีที่ผ่านมารวมมูลค่า ๓๙๒ ล้านปอนด์ (จนถึงวันที่ ๒ เม.ย. ๖๕) เทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่บริษัทขาดทุนคิดเป็นมูลค่า ๒๐๙ ล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มลดลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเนื่องจาก ปชช. จะลดการจับจ่ายลงหลังช่วงวันหยุดฤดูร้อนและแรงกดดันจากค่าพลังงานที่จะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว[3]
๑.๓ การจ้างงาน สถานีโทรทัศน์ BBC ประกาศแผนปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุนหลังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตรายการที่สูงขึ้น (จากปัญหาเงินเฟ้อ) และนโยบายงดการเก็บค่าบริการของช่อง BBC เป็นเวลา ๒ ปีของ รบ. สอ. เพื่อลดค่าครองชีพ โดย BBC จะปิดช่องโทรทัศน์จำนวน ๒ ช่อง ได้แก่ BBC4 และ CBBC ภายในปี ๒๕๖๘ และคงไว้เฉพาะบริการแบบออนไลน์แทน รวมถึงจะเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง (ร้อยละ ๖ ของ พนง. ทั้งหมด) ทั้งนี้ คาดว่าแผนปรับปรุงโครงสร้างบริษัทดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนได้จำนวน ๒๐๐ ล้านปอนด์ต่อปีและช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัลในระยะยาว[4]
๑.๔ การบิน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวว่าสายการบินหลายราย เช่น EasyJet Tui และ British Airways ได้ยกเลิกให้บริการเที่ยวบินที่ออกจากสนามบิน Gatwick และสนามบิน Manchester ไปยังเมืองต่าง ๆ ในยุโรปรวมกว่า ๓๐๐ เที่ยวบิน รวมถึงปัญหาการดำเนินการที่ล่าช้าที่สนามบินหลายแห่งของ สอ. ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางได้ตามวันและเวลาที่กำหนด ปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยจากการขาดแคลนแรงงานสะสมตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ที่ยังจ้างใหม่ไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน (half term) และช่วงวันหยุดยาวเนื่องในโอกาส Platinum Jubilee ทั้งนี้ บริษัทในภาคอุตสาหกรรมการบินหลายแห่งให้ความเห็นว่า สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ กอปรกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดสำหรับผู้เดินทางเข้ามาใน สอ. ของ รบ. สอ. (ซึ่งสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ มี.ค. ๖๕) ทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถจ้างงาน พนง. ใหม่ได้ทันท่วงที โดยสมาคมสายการบินแห่งยุโรป (Airlines for Europe) ซึ่งมีสมาชิก เช่น สายการบิน EasyJet Ryanair และ บ. IAG (เจ้าของสายการบิน British Airways) คาดว่าปัญหาดังกล่าวอาจยืดเยื้อไปจนถึงช่วงวันหยุดภาคฤดูร้อน อนึ่ง ในช่วงสองปีของวิกฤตโควิด-๑๙ สายการบินและสนามบินของ สอ. ได้เลิกจ้าง พนง. กว่า ๓๐,๐๐๐ ตำแหน่ง[5]
๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
๒.๑ เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ค. ๖๕ นาย Robert Courts รมช. คมนาคมด้านการบิน ประกาศใช้กรอบยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการบิน “Flightpath to the future” (10 Point Plan for Aviation[6]) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้ ปชช. กลับมาใช้บริการโดยสารเครื่องบินมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด-๑๙ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานใน สอ. และเพื่อการสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถหลากหลายสำหรับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต โดยประกอบด้วย ๑) การจัดตั้งสภาการบิน (Aviation Council) ซึ่งจะมีผู้แทนจากสายการบิน สนามบิน และบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงผู้นำภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นองค์ประกอบหลัก เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมการบิน สอ. เติบโตอย่างยั่งยืน ๒) การประกาศใช้กฎบัตรผู้ใช้บริการโดยสารเครื่องบินฉบับใหม่ (aviation passenger charter) ภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบและได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการโดยสารเครื่องบินของตน และ ๓) การเตรียมเผยแพร่แผนยุทธศาสตร์ Jet zero strategy ภายในปีนี้เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคอุตสาหกรรมการบินบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐[7]
๒.๒ เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ค. ๖๕ นาย Rishi Sunak รมว. กค. ประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนใน สอ. ที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมูลค่า ๑.๕ หมื่นล้านปอนด์[8] ซึ่งมีเงื่อนไขที่สำคัญได้แก่
- ทุกครัวเรือนใน สอ. จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน ๔๐๐ ปอนด์ (ปรับเพิ่มขึ้นจากจำนวน ๒๐๐ ปอนด์) ภายในเดือน ต.ค. ศกนี้ เพื่อเป็นส่วนลดสำหรับค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
- ภาคครัวเรือนที่ยากไร้ใน สอ. จำนวน ๘ ล้านครัวเรือนจะได้รับเงินสวัสดิการ Universal Credit เพิ่มแบบ one-off payment จำนวน ๖๕๐ ปอนด์โดยจะแบ่งจ่าย ๒ ครั้งในเดือน ก.ค. และในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
- ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วจะได้รับเงินช่วยเหลือแบบ one-off payment จำนวน ๓๐๐ ปอนด์
- บุคคลพิการจะได้รับเงินสวัสดิการเพิ่มแบบ one-off payment จำนวน ๑๕๐ ปอนด์/คน
- เพิ่มเงินช่วยเหลือภาคครัวเรือนภายใต้โครงการ Household Support Fund จำนวน ๕๐๐ ล้านปอนด์ (รวมทั้งหมดมูลค่า ๑.๕ พันล้านปอนด์) ไปจนถึงเดือน มี.ค. ๖๖ (จากเดิมกำหนดสิ้นสุดในเดือน ต.ค. ๖๕)
นอกจากนี้ รบ. สอ. ยังประกาศมาตรการเก็บภาษีชั่วคราวจากผลกำไรของบริษัทผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติในอัตราร้อยละ ๒๕ (Energy Profits Levy) โดยจะนำเงินภาษีส่วนนี้ (ประมาณ ๕ พันล้านปอนด์ภายในปี ๑๒ เดือน) ไปใช้สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนข้างต้น ควบคู่ไปกับมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน (Investment Allowance) เพื่อกระตุ้นการลงทุนของบริษัทด้านพลังงาน
โดยบริษัทจะได้รับการลดหย่อนภาษีจำนวน ๙๑ เพนซ์ สำหรับทุก ๆ ๑ ปอนด์ของเงินลงทุน
๒.๓ เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค. ๖๕ Lord Kamall รมช. สาธารณสุขด้านนวัตกรรมของ สอ. และนาง Anna Ekström รมว. ศึกษาธิการของสวีเดน ได้ลงนาม MOU ระหว่าง สอ. กับสวีเดนว่าด้วยความร่วมมือด้าน Life Sciences เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านนี้ของทั้งสองฝ่ายที่ดำเนินมายาวนาน (เช่น ความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-๑๙ ของ บ. AstraZeneca ซึ่งเป็นบริษัทของ สอ. และสวีเดน) โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นในการแบ่งปันวิทยาการและเทคโนโลยีเพื่อเป้าหมายร่วมกันในการเป็นผู้นำด้าน Life Science ของโลกตามยุทธศาสตร์ชาติของแต่ละประเทศ รวมทั้งเพื่อพัฒนาโอกาสทางธุรกิจร่วมครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ยารักษาโรค การทดลองทางการแพทย์ (clinical trial) การเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของโรคร้ายในอนาคต การค้าและการลงทุนทาง Life Sciences[9]
๒.๔ เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ค. ๖๕ รบ. สอ. ประกาศมาตรการเพิ่มวีซ่าประเภท “High Potential Individual route” เพื่อดึงดูดบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะและความสามารถเข้ามาทำงานใน สอ. โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการวิจัยทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น ม. Harvard MIT สถาบัน Karolinska และ ม. Kyoto เป็นต้น โดยมาตรการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตทาง ศก. ที่นำโดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทางการแพทย์ใน สอ. ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับวีซ่าประเภทดังกล่าวจะสามารถทำงานใน สอ. เป็นเวลา ๒ ปี (หากจบการศึกษาระดับ ป. เอกสามารถทำงานได้ ๓ ปี) และมีสิทธิขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าเพื่อทำงานระยะยาวในรูปแบบอื่นได้ การออกมาตรการวีซ่าดังกล่าวสะท้อนมาตรการตรวจคนเข้าเมืองของ สอ. หลัง Brexit ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเน้นการคัดสรรชาวต่างชาติที่ตอบโจทย์การพัฒนาของตนเองเป็นหลัก[10]
๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
๓.๑ ภาวะเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาหลักทาง ศก. ของ สอ. ในปัจจุบันโดยข้อมูล สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[11] ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อภาพรวมของ สอ. ในเดือน เม.ย. ๖๕ อยู่ที่ร้อยละ ๙ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๗ ในเดือน มี.ค. ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ ๔๐ ปี และสูงที่สุดในกลุ่ม ปท. G7 (เยอรมันร้อยละ ๗.๔ และฝรั่งเศสร้อยละ ๔.๘) โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับขึ้นเพดานค่าธรรมเนียมพลังงานในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๕๔ หรือประมาณ ๗๐๐ ปอนด์ต่อปี และผลกระทบจากวิกฤตสงครามยูเครน - รัสเซียที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของสินค้าอาหารในเดือน เม.ย. ๖๕ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๗ โดยเป็นผลจากการสิ้นสุดของมาตรการลดหย่อนภาษี VAT สำหรับภาคธุรกิจ hospitality (VAT ปรับขึ้นจากร้อยละ ๑๒.๕ เป็นร้อยละ ๒๐ เช่นเดิม) ผู้ประกอบการจึงปรับขึ้นราคาอาหารทุกรายการ[12] ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน พ.ค. ๖๕ ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England - BoE) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ ๔ ติดต่อกัน (นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ๖๔) จากร้อยละ ๐.๗๕ เป็นร้อยละ ๑ แล้วเพื่อพยายามชะลอการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทาง ศก. โดยหลายฝ่ายคาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกในวาระ กปช. ครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. ๖๕ ด้วย
๓.๒ ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบโดยตรงให้การเติบโตเริ่มหดตัวลง รายงานอีกฉบับของ ONS[13] ระบุว่า ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๖๕ เติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๐.๘ (ไตรมาสที่ ๔ ปี ๖๔ เติบโตร้อยละ ๑ / เดือน มี.ค. ๖๕ หดตัวร้อยละ ๐.๑) ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์และมีสัญญาณการเติบโตที่ทรงตัวในระดับต่ำหลังจากนี้ เนื่องจาก ปชช. มีแนวโน้มลดการใช้จ่ายลงในขณะที่ห้างร้านต่าง ๆ ทำรายการส่งเสริมการขายน้อยลงและต่ำกว่าความคาดหวังของผู้บริโภคด้วยเนื่องจากมีต้นทุนสูง รวมทั้งความไม่แน่นอนจากสภาวะสงครามในยูเครนทำให้ภาคธุรกิจจะชะลอการลงทุนไว้ก่อน ทั้งนี้ องค์กร National Institute of Economic and Social Research (NIESR) ประเมินว่า ศก. สอ. ในปีนี้แม้ในภาพรวมจะยังคงเติบโตได้แต่มีอัตราเฉลี่ยน้อยลงเหลือร้อยละ ๓.๕ (จากร้อยละ ๔ – ๕ ที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี ๖๔) แต่การมีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ ๘.๓ ในไตรมาสที่ ๔ ของปีนี้ (ซึ่งยังสูงกว่าอัตราร้อยละ ๓ ที่ BoE ตั้งเป้าไว้) ทำให้ สอ. ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ ศก. ถดถอยได้ในช่วงไตรมาสที่ ๓ - ๔ ของปีนี้[14]
[1] https://www.thetimes.co.uk/article/grocery-prices-rise-at-fastest-pace-in-13-years-zhc68htx5
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-61558324
[3] https://www.theguardian.com/business/2022/may/25/m-and-s-to-shut-32-more-stores-as-it-shifts-away-from-town-centres
[4] https://www.ft.com/content/63ce435a-bfdb-49e1-abb6-3b0d90807a8b
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-61657590
[6] https://www.gov.uk/government/publications/flightpath-to-the-future-a-strategic-framework-for-the-aviation-sector
[7] https://www.gov.uk/government/news/jobs-and-passengers-at-the-heart-of-governments-10-point-plan-for-aviation
[8] https://www.gov.uk/government/news/millions-of-most-vulnerable-households-will-receive-1200-of-help-with-cost-of-living
[9] https://www.gov.uk/government/news/uk-commits-to-life-sciences-cooperation-with-sweden
[10] https://www.gov.uk/government/news/points-based-system-welcomes-high-skilled-graduates-to-uk
[11] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/april2022
[12] https://brc.org.uk/news/corporate-affairs/more-pressure-on-businesses-and-households/
[13] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/march2022?
[14] https://www.niesr.ac.uk/wp-content/uploads/2022/05/NIESR_Monthly_GDP_May_2022.pdf