วันที่นำเข้าข้อมูล 21 เม.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
การนำเข้าส่งออก การค้า สอ. – EU เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในเดือน ก.พ. ๖๔ โดยรายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics – ONS)[1] ระบุว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจาก สอ. ไป EU ในเดือน ก.พ. ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๖.๖ มาอยู่ที่มูลค่า ๑.๑๖ หมื่นล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่เคยปรับตัวลดลงร้อยละ ๔๒) โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าจาก EU ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ ๗.๓ มีมูลค่า ๑.๗๑ หมื่นล้านปอนด์ โดยมีสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ รถยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ และเครื่องนุ่งห่ม (เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ ๒๙.๗) อย่างไรก็ดี การนำเข้าส่งออกระหว่าง สอ. – EU โดยรวมยังมีปริมาณต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๓ ร้อยละ ๑๔.๓ ทั้งนี้ ONS และองค์กรภาคธุรกิจ เช่น Federation of Small Businesses ประเมินว่า แนวโน้มดังกล่าวเกิดจากปรับตัวได้ดีขึ้นในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่เริ่มมีการสร้างสต็อกสินค้าอีกครั้งหลังพ้นช่วงต้นของ Brexit แต่ยังมีจำนวนน้อยเนื่องจากอุปสงค์ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่ภาคสินค้าอาหารสดยังคงไม่ฟื้นตัวเนื่องจากยังติดปัญหาด้านพิธีการตรวจสอบสินค้าของฝ่าย EU นอกจากนี้ แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนว่า ศก. สอ. เริ่มฟื้นตัวด้วยเช่นกันโดยรายงานสภาวะ ศก. สอ. ประจำเดือนล่าสุดของ ONS[2] พบว่า ศก. สอ. ในเดือน ก.พ. ๖๔ มีอัตราขยายตัวร้อยละ ๐.๔ หลังหดตัวประมาณร้อยละ ๒.๒ ในเดือน ม.ค. ๖๔ แต่หากเทียบกับเดือน ก.พ. ๖๓ ยังคงมีขนาดน้อยกว่าถึงร้อยละ ๗.๘
๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๒.๑ การท่องเที่ยว บ. Saga ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยและนำเที่ยวสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ให้ข้อมูลว่า วิกฤตโควิดทำให้บริษัทขาดทุนมูลค่า ๖๑ ล้านปอนด์ (ก่อนหักภาษี) ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะลดจำนวน พนง. จำนวนร้อยละ ๓๖ ของ พนง. ทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนและได้ระดมเงินทุนมูลค่า ๑๕๐ ล้านปอนด์จากผู้ถือหุ้นในเดือน ก.ย. ๖๓ แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภายหลังจากการเริ่มออกจากล็อกดาวน์และการฉีดวัคซีนที่ได้ผลมากขึ้น ทำให้ลูกค้าเริ่มมีความหวังและวางแผนท่องเที่ยวในช่วงพักฤดูร้อนปีนี้แล้ว โดยบริษัทมียอดจองบริการเรือสำราญในช่วงปี ๖๔-๖๕ และ ๖๕-๖๖ รวมเป็นมูลค่า ๑๕๔ ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (๑๒๘ ล้านปอนด์) ประมาณร้อยละ ๒๐ ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่ากลุ่มลูกค้าสูงอายุมีอุปสงค์ที่สูงเพื่อการท่องเที่ยว (ปีที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่เลือกรับ voucher แทนขอรับเงินคืน) และเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากขึ้นตามลำดับ ซึ่ง บ. Saga ถือเป็นบริษัทท่องเที่ยวแห่งแรกของ สอ. ที่ใช้นโยบายกำหนดเงื่อนไขการใช้บริการให้ลูกค้าต้องมีประวัติการรับวัคซีนครบทั้งสองโดสก่อนการเดินทางอย่างน้อย ๑๔ วันด้วย
๒.๒ การบิน สายการบิน Virgin Atlantic คาดการณ์ว่าแนวโน้มการเดินทางเพื่อธุรกิจจะปรับตัวลดลงร้อยละ ๒๐ (เทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด) ในช่วง ๒ ปีข้างหน้านี้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับการฟื้นตัวของการเดินทางโดยสารในชั้นธุรกิจ (business class) ด้วย เนื่องจากปัจจัยวิกฤตโควิดทำให้ พนง. สามารถทำงานและประชุมทางไกล (remote working) ผ่านเทคโนโลยีการประชุมทางวีดิทัศน์ เช่น Zoom และ Microsoft Teams ได้มากขึ้น นอกจากนี้รายงานการสำรวจ ปชช. จำนวน ๑,๔๐๐ คนที่จัดทำโดย บ. YouGov ให้กับองค์กร European Climate Foundation ระบุว่า ๔ ใน ๑๐ ของนักธุรกิจชาว EU วางแผนที่จะเดินทางเพื่อการทำงานน้อยลงโดยจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลแทน อย่างไรก็ดี Virgin Atlantic และ British Airways คาดว่าปริมาณความต้องการของ ปชช. ทั่วไปในการเดินทางท่องเที่ยวในชั้นพรีเมี่ยมจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจาก ปชช. สามารถออมเงินได้มากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจช่วยทดแทนรายได้ของสายการบินได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา Virgin Atlantic ได้พยายามฟื้นฟูธุรกิจด้วยการลดต้นทุนและการระดมเงินทุนเพิ่มจากผู้ถือหุ้น รวมทั้งได้กู้ยืมเงินจำนวน ๑๐๐ ล้านปอนด์จากกลุ่มบริษัท Virgin Group (รบ. สอ. ไม่มีนโยบายให้เงินช่วยเหลือธุรกิจการบิน) ควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศซึ่งมีปริมาณสูงขึ้น (๕๐๐ ล้านปอนด์) ในช่วงวิกฤตและถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยพยุงบริษัทไว้ได้ และหาก รบ. สอ. มีนโยบายผ่อนคลายการเดินทาง รปท. ได้ตามกำหนดในเดือน พ.ค. ๖๔ จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ภาคการเดินทาง รปท. และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องใน สอ. ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
๒.๓ ธุรกิจค้าปลีก บ. Asos เปิดเผยว่ายอดขายโดยรวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔ มาอยู่ที่ มูลค่า ๒ พันล้านปอนด์ในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา (ก.ย. ๖๓ - ก.พ. ๖๔) โดยยอดขายใน สอ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๙ สูงกว่าในทวีปอื่น ๆ ทำให้ผลกำไรโดยรวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง ๒.๕ เท่า (คิดเป็นมูลค่า ๑๐๖.๔ ล้านปอนด์) จากปีที่ผ่านมา โดยในส่วนนี้ถือเป็นผลกำไรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภคจากปัจจัยวิกฤตโควิด (net Covid tailwind) จำนวน ๔๘.๕ ล้านปอนด์ กล่าวคือ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าอย่างระมัดระวังมากขึ้นและเน้นซื้อเสื้อผ้าลำลองที่สวมใส่สบาย เช่น ชุดกีฬาและกางเกงผ้ายืดต่าง ๆ (ยอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๘๖) ที่ทำให้ความจำเป็นในการคืนสินค้าลดลง นอกจากนี้ Asos ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก ๑.๕ ล้านรายเป็นเกือบ ๒๕ ล้านราย อย่างไรก็ดี บริษัทคาดการณ์ว่าการผ่อนคลายล็อกดาวน์อาจทำให้ยอดขายปรับตัวลดลงบางส่วนแต่โดยรวมยังสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตเนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจกลับไปซื้อสินค้าตามร้านค้าแทนช่องทางออนไลน์ รวมทั้งอาจมีการใช้จ่ายบริการด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ร้านอาหารและการท่องเที่ยว เป็นต้น
๒.๔ การบริการ บ. Deliveroo เปิดเผยว่าจำนวนผู้ใช้บริการสั่งอาหารจากร้านค้าบนเว็บไซต์ Deliveroo ในไตรมาสแรกของปี ๖๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙๑ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่จำนวน ๗.๑ ล้านราย ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ ๔ ติดต่อกันและมีจำนวนการสั่งอาหารใน สอ. เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๒๑ คิดเป็นจำนวน ๓๔ ล้านรายการ โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากการล็อกดาวน์สามครั้ง อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าอัตราการขยายตัวดังกล่าวจะเริ่มปรับตัวลดลงหลังเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เม.ย. ๖๔ เป็นต้นไป) แต่ก็ยังคาดว่าผลประกอบการโดยรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๓๐ - ๔๐ ในปี ๖๔ ทั้งนี้ Deliveroo เติบโตอย่างมากในช่วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันได้ถูกบรรจุในตลาดซื้อขายหุ้น London Stock Exchange ของ สอ. ในเดือน มี.ค. ๖๔ ที่ผ่านมาแล้ว
๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
- เมื่อวันที่ ๘ เม.ย. ๖๔ มท. สอ. (Home Office) ได้เผยแพร่เอกสารข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเดินทางมาถึง สอ. สำหรับชาวฮ่องกงที่ถือสัญชาติบริติชโพ้นทะเล (หรือผู้ถือหนังสือเดินทาง British National Overseas - BN(O)) รวมถึงครอบครัวและผู้ติดตามที่ได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) มีสิทธิย้ายถิ่นมาพำนักอาศัยถาวรใน สอ. แล้ว [3] โดยมีข้อมูลสำคัญ เช่น ขั้นตอนการสมัครเพื่อขอเลขประกันสังคม (National Insurance - NI) การลงทะเบียนรับสวัสดิการรักษาพยาบาลกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น (General Practitioner - GP) รวมถึงการช่วยเหลือเพื่อการเช่า/ซื้อบ้านพักอาศัย การศึกษา และการทำงาน เป็นต้น โดย รบ. สอ. จะช่วยอำนวยความสะดวกในการตั้งรกรากใหม่ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ต้อนรับ (welcome hub) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นแล้วจำนวน ๑๒ แห่งใน สอ. โดยใช้ งปม. จำนวน ๔๓ ล้านปอนด์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การประกาศมาตรการอนุญาตคนเข้าเมืองใหม่ของ รบ. สอ. เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค. ๖๔ [4] มีชาวฮ่องกงที่ถือหนังสือเดินทาง BN(O) ที่ได้สมัครขอย้ายถิ่นเข้ามาพำนักใน สอ. แล้วประมาณ ๒๗,๐๐๐ ราย จากการคาดการณ์ไว้ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ รายในปีแรก ซึ่งนาย Robert Jenrick รมว. การเคหะ ชุมชุนและการบริหารท้องถิ่น[5] ให้ความเห็นว่า การย้ายถิ่นฐานดังกล่าวสามารถสร้างประโยชน์ทาง ศก. แก่ สอ. ในภาพรวมเนื่องจากชาวฮ่องกงในกลุ่มดังกล่าวจำนวนมากมีความรู้สูงสามารถทำงานในภาควิชาการ ด้าน สธ. และวิศวกรที่เป็นที่ต้องการใน สอ. ได้ ในขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า การย้ายถิ่นฐานดังกล่าวจะนำเงินเข้า สอ. ประมาณ ๓๐ ล้านปอนด์และจะเป็นปัจจัยให้ราคาบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่มีมากขึ้นในระยะยาว
๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
๔.๑ รายงานการประเมินภาพรวมทาง ศก. โลก (World Economic Outlook - WEO) ประจำครึ่งแรกของปี ๖๔ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF)[6] ระบุว่า ศก. โลกโดยรวมในปีนี้จะขยายตัวขึ้นร้อยละ ๖ (ปรับเพิ่มจากการคาดการณ์เดิมในเดือน ม.ค. ๖๔ ที่ร้อยละ ๕.๕) และจะปรับตัวขึ้นอีกร้อยละ ๔.๔ ในปี ๖๕ ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า ศก. สอ. จะฟื้นตัวได้ร้อยละ ๕.๓ ในปี ๖๔ และร้อยละ ๕.๑ ในปี ๖๕ ซึ่งจะทำให้ สอ. เป็น ปท. ที่มีการขยายตัวทาง ศก. ในปี ๖๕ รวดเร็วที่สุดใน ปท. กลุ่ม G7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความสำเร็จของแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ที่มีประสิทธิผลอย่างทั่วถึงและการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจและการจ้างงานตลอดช่วง ๑๘ เดือนที่ผ่านมา
๔.๒ ONS เผยแพร่ข้อมูลที่จัดทำโดย บ. Adzuna ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงานของ สอ. โดยรายงานว่า จำนวนประกาศรับสมัครงานในวันที่ ๙ เม.ย. ๖๔ มีจำนวนเทียบเท่ากับอัตราโดยเฉลี่ยของเดือน ก.พ. ๖๓ (ช่วงก่อนวิกฤตโควิด)[7] ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ ๖ มี.ค. ๖๓ (ก่อนมาตรการล็อกดาวน์รอบที่หนึ่ง) โดยภาคธุรกิจค้าปลีก และ Hospitality โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร (catering and hospitality) เป็นภาคส่วนที่ต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเพื่อเตรียมเปิดทำการตามมาตรการออกการล็อกดาวน์ขั้นที่ ๒ ในวันที่ ๑๒ เม.ย. ๖๔ เป็นต้นไป นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คงตัวอยู่ในระดับสูง กอปรกับการที่ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายออนไลน์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการจ้างงานในภาคก่อสร้างและการขนส่งสินค้า (logistics) เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยมีตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ที่ร้อยละ ๖๐ – ๙๐ ของตำแหน่งที่ว่างทั้งหมดในช่วงก่อนวิกฤตโควิด ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้อัตราการว่างงานหลังการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ในเดือน ก.ย. ศกนี้ จะต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจของ ONS ล่าสุดในเดือน มี.ค. ๖๔ พบว่า จำนวนผู้ที่ถูกพักงาน (โดยได้รับเงินชดเชยจากรัฐ) ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ ๕.๗ ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ ๖๓ ของจำนวนผู้ที่ถูกพักงานสูงสุดในเดือน เม.ย. ๖๓ (ประมาณ ๙ ล้านคน) และมีอัตราการว่างงาน (จนถึงเดือน ก.พ. ๖๔) ร้อยละ ๕ เท่านั้น จึงสะท้อนว่าตลาดแรงงาน สอ. มีความเข้มแข็ง (resilience) ในช่วงวิกฤตโควิดแม้ว่า ศก. สอ. ในปีที่ผ่านมาจะหดตัวสูงสุดใน ปวศ. หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
๕. พัฒนาการที่มีนัยสำคัญต่อไทย
๕.๑ ภาคธุรกิจร้านอาหารไทยใน สอ. เริ่มกลับมาเตรียมเปิดทำการได้อีกครั้งหลัง สอ. เข้าสู่การออกจากล็อกดาวน์ขั้นที่ ๒ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๒ เม.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี มีร้านอาหารเพียงประมาณร้อยละ ๓๐ เท่านั้นที่จากการสำรวจพบว่า สามารถเปิดทำการในปัจจุบันได้เนื่องจากจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้บริการนอกร้าน อย่างไรก็ดี สอท. และ สคต. ณ กรุงลอนดอน มีแผนร่วมกันที่จะจัดโครงการฝึกอบรมออนไลน์ (Online workshop) เกี่ยวกับทักษะการเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารในช่วงหลังวิกฤตโควิดเพื่อช่วยในการปรับตัว/เตรียมตัวสำหรับการเปิดร้านอีกครั้ง ในช่วงวันที่ ๒๖ เม.ย. - ๑๐ พ.ค. ๖๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่จะสามารถเปิดทำการอย่างเต็มที่ได้เมื่อออกจาก ล็อกดาวน์ขั้นที่ ๓ (ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พ.ค. ๖๔ เป็นต้นไป) โดยจะเน้นการให้ความรู้ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการเพิ่มทักษะทางการตลาดดิจิทัล (ดังรายละเอียดโครงการปรากฏตามเอกสารแนบ) ซึ่ง สอท. ได้ ปชส. เชิญชวนผู้ที่สนใจในช่องทาง ปชส. ออนไลน์ (เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก) ของ สอท. แล้ว โดยจะรายงานผลให้กระทรวงฯ ทราบต่อไป
๕.๒ ภายหลังจากที่ สอ. จะออกจากล็อกดาวน์ในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. ๖๔ รบ. สอ. มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเพิ่มเติมโดยการใช้ระบบการแสดงข้อมูลสถานะการมีภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด (COVID status certification) ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว Hospitality การบริการ และสันทนาการต่าง ๆ ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากในสถานที่ปิด โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้น ศก. สอ. และสร้างความมั่นใจกับ ปชช. ควบคู่ไปด้วย ล่าสุด รบ. สอ. ได้ประกาศทดลองใช้ระบบดังกล่าวแล้วสำหรับกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของ ปชช. จำนวนมาก เช่น การแข่งขันกีฬาฟุตบอล FA Cup และการแข่งขันกีฬาสนุกเกอร์ World Snooker Championship และในสถานบันเทิงและสันทนาการต่าง ๆ เช่น Comedy club/ไนท์คลับ และโรงภาพยนตร์ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยใน สอ. ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการและ Hospitality ควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวเพื่อสามารถเตรียมความพร้อมได้ทันการณ์
[1]https://www.ons.gov.uk/economy/nationalaccounts/balanceofpayments/bulletins/uktrade/february2021
[2]https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/february2021
[3]https://www.gov.uk/guidance/welcome-a-guide-for-hong-kong-british-national-overseas-visa-holders-in-the-uk
[4]https://www.gov.uk/government/news/hong-kong-bno-visa-uk-government-to-honour-historic-commitment
[5] https://www.standard.co.uk/news/uk/hong-kong-beijing-robert-jenrick-ministry-of-housing-priti-patel-b928399.html
[6]https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2021/03/23/world-economic-outlook-april-2021
[7]https://www.ons.gov.uk/peoplepopulationandcommunity/healthandsocialcare/conditionsanddiseases/bulletins/coronavirustheukeconomyandsocietyfasterindicators/15april2021