วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.พ. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๑.๑ การลงทุน บ. Amazon ให้ข้อมูลว่า บริษัทมีการจ้างงานในปี ๖๔ ทั้งหมดจำนวน ๒๕,๐๐๐ ตำแหน่ง (มากกว่าจำนวนที่ประกาศไว้ ๑๕,๐๐๐ ตำแหน่ง) เพื่อรองรับปริมาณการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางธุรกิจดิจิทัลในตลาด สอ. นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดเป็นต้นมา โดยในปีที่แล้ว Amazon ลงทุนเพิ่มเติมใน สอ. โดยเปิดศูนย์รับพัสดุ (parcels centre) ๑ แห่ง ศูนย์กระจายสินค้า ๔ แห่ง และขยายเครือข่ายการจัดส่งสินค้าของบริษัททั่ว สอ. รวมถึงการเปิดกิจการ Amazon Fresh ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายอาหารสดจำนวน ๑๕ แห่งในกรุงลอนดอน รวมทั้งร้านค้าปลีกเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ได้คะแนนนิยม ๔ ดาวขึ้นไป (Amazon four-star retail store) จำนวน ๒ แห่งในกรุงลอนดอนและเมือง Kent ด้วย โดยขณะนี้บริษัทมีการจ้างงานใน สอ. รวมทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ ตำแหน่งกระจายครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั้งนี้ Amazon ระบุว่า บริษัทได้ลงทุนใน สอ. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ รวมแล้วประมาณ ๓.๒ หมื่นล้านปอนด์ โดยผลประกอบการของบริษัทใน สอ. โดยรวมในปี ๖๓ คิดเป็นมูลค่า ๒.๐๖ หมื่นล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจาก ๑.๓๗ หมื่นล้านปอนด์ในปี ๖๒ อนึ่ง ธุรกิจของ Amazon ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีใน สอ. ในช่วงวิกฤตโควิดและช่วยสนับสนุนนโยบายกระจายความเจริญทาง ศก. (levelling up) ของ รบ. สอ[1]
๑.๒ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จากการสำรวจของ บ. Kantar[2] พบว่า ยอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตใน สอ. ในช่วง ๑๒ สัปดาห์ถึงวันที่ ๒๓ ม.ค. ๖๕ ลดลงร้อยละ ๓.๘ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ช่วงล็อกดาวน์) โดยเฉพาะยอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตในกรุงลอนดอนลดลงมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ ๑๑ โดยยอดขายออนไลน์ปรับตัวลดลงด้วย
คิดเป็นร้อยละ ๑๕ นอกจากนี้ ปชช. จับจ่ายสินค้าต่อครั้งในปริมาณลดลงร้อยละ ๑๐ ในขณะที่มีผู้ที่เดินทางไปจับจ่ายสินค้าที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ สะท้อนถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอีกครั้งตามสภาพการณ์ในสังคมปัจจุบัน ซึ่ง ปชช. มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตตามปกตินอกบ้านมากขึ้นตามลำดับ กอปรกับมีผู้ที่เดินทางไปทำงานที่ สนง. เพิ่มขึ้นด้วย อีกส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการปรับขึ้นราคาสินค้าที่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพใน สอ. โดยในเดือน ธ.ค. ๖๔ อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ ๕.๔ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๕[3]
๑.๓ การจ้างงาน/การท่องเที่ยว สนามบิน London Stansted จัดงานเพื่อรับสมัครงานแบบ in-person เป็นครั้งแรกในรอบ ๒ ปีเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางทางอากาศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นและฟื้นตัวสู่สภาวะปกติก่อนวิกฤตโควิดได้อีกครั้งในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ โดยในส่วนของการบริหารจัดการสนามบินรับสมัครประมาณ ๓๐๐ ตำแหน่ง (เมื่อปี ๖๓ เคยเลิกจ้างไปกว่า ๓๗๐ คน) และในส่วนงานบริการบนเครื่องบินรับสมัครอีกมากกว่า ๒๐๐ ตำแหน่ง[4] ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ รบ. สอ. มีนโยบายผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแนวโน้มที่ สอ. อาจกลายเป็น ปท. แรกของโลกที่ยกเลิกมาตรการควบคุมและการเว้นระยะห่างทางสังคมทั้งหมดในเร็ววันนี้ อนึ่ง ในช่วงก่อนวิกฤตโควิดสนามบิน London Stansted มีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย ๒๘ ล้านคนต่อปี แต่ลดเหลือเพียง ๗.๕๔ ล้านคนในช่วงปี ๖๓
นอกจากนี้ องค์กร UK Hospitality ซึ่งเป็นสมาคมผู้ประกอบการภาคบริการ สอ. ได้ให้ข้อมูลว่า ภาคบริการใน สอ. มีความต้องการ พนง. บริการมากเช่นกันโดยมีตำแหน่งว่างมากกว่าร้อยละ ๑๐๐ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิดโดยมีปัจจัยจากการแข่งขันในภาคการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นหลังวิกฤตโควิดและหลังจาก Brexit มีผลอย่างสมบูรณ์มาระยะหนึ่งแล้วแต่ตลาดแรงงานใน สอ. ยังปรับตัวไม่ทัน จึงกลายเป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงที่ ศก. กำลังฟื้นตัว ซึ่งขณะนี้สมาคมฯ ได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. ทบทวนมาตรการปรับทักษะแรงงานและให้กลุ่มผู้ประกอบการปรับปรุงโอกาสการพัฒนาในสายอาชีพนี้ในระยะยาว (long-term career prospects) เพื่อเพิ่มความน่าสนใจควบคู่ไปด้วย[5]
๑.๔ การค้า รปท. ข้อมูลจาก สนง. สถิติของไอร์แลนด์ (Ireland’s Central Statistics Office - CSO)[6] รายงานว่า ในปี ๖๔ ไอร์แลนด์นำเข้าสินค้าจากไอร์แลนด์เหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๕ เทียบกับปี ๖๓ (รวมเป็นมูลค่า ๓.๓ พันล้านปอนด์) และส่งออกสินค้าไปยังไอร์แลนด์เหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๔ (รวมเป็นมูลค่า ๓.๑ พันล้านปอนด์) โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร สัตว์มีชีวิต และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ สอ. นำเข้าสินค้าจากไอร์แลนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๗ (รวมเป็นมูลค่า ๑.๒ หมื่นล้านปอนด์) และส่งออกสินค้าไปยังไอร์แลนด์ลดลงร้อยละ ๑๓ (รวมเป็นมูลค่า ๑.๒๙ หมื่นล้านปอนด์) ทั้งนี้ ข้อมูลของ CSO ระบุว่ายอดการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่าง สอ. กับไอร์แลนด์ในภาพรวมปรับตัวลดลงมากในช่วงเปลี่ยนผ่านในเดือน ธ.ค. ๖๓ และ ม.ค. ๖๔ แต่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในปี ๖๔ ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการไอร์แลนด์เริ่มคุ้นเคยกับพิธีการสินค้าข้ามแดนที่เปลี่ยนไปหลัง Brexit อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ สอ. กลายเป็นคู่ค้า non-EU ลำดับรองลงมาที่มีความสำคัญในระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งทางการค้าในไอร์แลนด์ประมาณร้อยละ ๒๐ จากที่เคยเป็น ปท. คู่ค้าอันดับหนึ่งของไอร์แลนด์ก่อน Brexit[7]
๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
๒.๑ เมื่อวันที่ ๒ ก.พ. ๖๕ นาย Michael Gove รมว. ก. การยกระดับประเทศ การเคหะ และชุมชนได้แถลงนโยบายยกระดับการพัฒนาประเทศของ รบ. สอ. (Levelling Up White Paper)[8] เพื่อพัฒนาเมืองรองให้มีความทันสมัยทัดเทียมกรุงลอนดอนและลดความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาคภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยนโยบายดังกล่าวประกอบด้วยภารกิจหลัก ๑๒ ด้าน ได้แก่
๑) การเพิ่มค่าจ้าง การจ้างงาน และผลผลิตในทั่วทุกภาคของ สอ. พร้อมกับยกระดับเมืองในเขตต่าง ๆ ให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนต่าง ๆ ของ สอ.
๒) การเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ขั้นต่ำร้อยละ ๔๐ สำหรับภูมิภาคอื่น ๆ ของ สอ. นอกเหนือจากภาค ตอ. เฉียงใต้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่และเพิ่มผลผลิตในระยะยาว อาทิเช่น การประกาศเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยทางการแพทย์ในพื้นที่นอกกรุงลอนดอน เมือง Oxford และเมือง Cambridge และการจัดตั้งศูนย์ Innovation Accelerator จำนวน ๓ แห่ง ที่เมือง Manchester และเมืองในเขต West Midlands ของอังกฤษ และที่เมือง Glasgow ของสกอตแลนด์ เป็นต้น
๓) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่นให้เชื่อมโยงทั่ว สอ. และมีมาตรฐานใกล้เคียงกับระบบขนส่งในกรุงลอนดอน
๔) การขยายเครือข่ายสัญญาณ 5G และไฟเบอร์ออพติกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
๕) การส่งเสริมและยกระดับมาตรการการศึกษาในระดับประถมศึกษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
๖) การส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพในระดับท้องถิ่นผ่านโครงการ Local Skills Improvement Plans ของ รบ. สอ.
๗) การลดความแตกต่างของอายุขัยเฉลี่ย ปชก. ของ สอ. (Healthy Life Expectancy – HLE) ในระดับท้องถิ่นภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๕
๘) การยกระดับคุณภาพชีวิต ปชก. ของ สอ. ในทุกพื้นที่ให้เท่าเทียมกันมากขึ้น เช่น การออกมาตรการควบคุมดูแลคุณภาพอาหารกลางวันของโรงเรียนต่าง ๆ และออกโครงการ Community Eat Well Programme โดยจะอนุญาตให้แพทย์ (GPs) แนะนำการออกกำลังกายและอาหารสุขภาพให้แก่คนไข้แทนการสั่งจ่ายยา
๙) การส่งเสริมให้ ปชช. ภูมิใจและพอใจกับ สวล. และการมีส่วนร่วมในชุมชนของตน โดย รบ. สอ. มุ่งเน้นในการพัฒนาชุมชนในเขตนอกกรุงลอนดอนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Arts Council England และโครงการ National Youth Guarantee เป็นต้น
๑๐) การสนับสนุนให้ ปชช. ใน สอ. มีโอกาสในการซื้อบ้านหลังแรกมากขึ้น และออกมาตรการ Decent Homes Standard เพื่อควบคุมคุณภาพของบ้านเช่าให้ได้มาตรฐานสำหรับการพักอาศัยมากขึ้น
๑๑) การส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชนโดยมุ่งลดการก่ออาชญากรรมผ่านโครงการ Safer Streets Fund เป็นต้น
๑๒) การสนับสนุนการปกครองระดับท้องถิ่นในอังกฤษให้มีอำนาจในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระเช่นเดียวกับกรุงลอนดอน โดยมีแผนทดลองการใช้ระบบการปกครองท้องถิ่นแบบ Mayoral Combined Authority สำหรับเมือง York และเขต North Yorkshire/ ภาค ตอ. เฉียงเหนือ/ และเขต West Midlands และเมือง Manchester เป็นต้
ทั้งนี้ ปฏิกิริยาจากภาคส่วนต่าง ๆ ส่วนใหญ่มองว่า การแถลงนโยบายข้างต้นเป็นเรื่องเก่าและเป็นเพียงการรวบรวมกระบวนงาน (process) มากกว่าการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น อีกทั้งการขยายกรอบเวลาออกไปถึงปี ๒๕๗๓ (ค.ศ. ๒๐๓๐) ทั้งที่เป็นนโยบายที่เคยประกาศไว้ในการเลือกตั้งเมื่อปี ๖๒ น่าจะเป็นการหวังผลทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี ๖๖ หรือ ๖๗[9]
๒.๒ เมื่อวันที่ ๓ ก.พ. ๖๕ นาย Rishi Sunak รมว. กค. ประกาศมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน “Energy Bills Rebate” มูลค่า ๙.๑ พันล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ Ofgem ประกาศปรับขึ้นเพดานค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มในอัตราร้อยละ ๕๔ ในวันเดียวกัน[10] โดยแต่ละครัวเรือนทั่วไปใน สอ. มีสิทธิจะได้รับเงินส่วนลดค่าไฟฟ้า/ก๊าซหุงต้มรวมจำนวน ๒๐๐ ปอนด์ (โดย แบ่งจ่ายเงินคืนปีละ ๔๐ ปอนด์ เป็นเวลา ๕ ปี เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. ๖๕ เป็นต้นไป) สำหรับครัวเรือนในอังกฤษที่เสียภาษีโรงเรือนประเภท A – D (Council Tax band A – D) จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกจำนวน ๑๕๐ ปอนด์ (one-off payment) จากเงินคืนภาษีโรงเรือนตั้งแต่เดือน เม.ย. ศกนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือครัวเรือนได้ทั้งหมดประมาณ ๒๘ ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ รบ. สอ. ยังจัดสรรเงินสำรองจำนวน ๑๔๔ ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำหรือครัวเรือนในอังกฤษที่เสียภาษีโรงเรือนประเภท E – H (ในกรณีที่จำเป็น) ครอบคลุมอีกประมาณ ๓ ล้านครัวเรือนภายใต้โครงการ Warm Home Discount[11] โดยจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน ๑๔๐ ปอนด์ต่อครัวเรือนแก่ผู้ให้บริการโดยตรง รวมทั้งได้จัดสรรเงินจำนวน ๕๖๕ ล้านปอนด์ให้แก่ รบ. ท้องถิ่นเขตสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อใช้ในการคืนส่วนลดค่าภาษีโรงเรือนให้แก่ภาคครัวเรือนในเขตของตนด้วย
๒.๓ เมื่อวันที่ ๑๔ ก.พ. ๖๕ รบ. สอ. และ รบ. ท้องถิ่นเขตสกอตแลนด์ร่วมลงนาม คตล. เพื่อจัดตั้งพื้นที่ ศก. พิเศษจำนวน ๒ แห่ง (Green Freeports) ในสกอตแลนด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเจริญ เพิ่มการจ้างงานและโอกาสด้านการลงทุนให้ครอบคลุมทั่ว สอ. ภายใต้นโยบายยกระดับประเทศของ รบ. สอ. (Levelling Up)[12] โดย รบ. สอ. จะให้เงินสนับสนุนการพัฒนาโครงการดังกล่าวจำนวน ๕๒ ล้านปอนด์ และจะเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าประมูลโครงการดังกล่าวได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิโดยมีเงื่อนไขที่จะต้องประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. ๒๐๔๕ ทั้งนี้ รบ. สอ. คาดการณ์ว่านโยบายการสร้างเขต ศก. พิเศษ (freeports) ทั่ว สอ. จะช่วยเพิ่มมูลค่าทาง ศก. ในภาพรวมได้ถึง ๒.๔ หมื่นล้านปอนด์ และจะช่วยดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนได้อีก ๒.๕ หมื่นล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนโดยเฉพาะในเขตสกอตแลนด์มองว่า โครงการดังกล่าวอาจเป็นการช่วยบริษัทขนาดใหญ่หลบเลี่ยงภาษีและอาจมีผลกระทบกับสวัสดิการของแรงงานในกรณีที่มีการบังคับใช้ กม. แตกต่างกัน[13]
๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
๓.๑ อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงยังเป็นปัญหาหลักของ สอ. ในปัจจุบันหลัง ศก. โดยรวมเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยข้อมูลการสำรวจราคาสินค้าจำนวน ๕๐๐ รายการ ที่จัดทำโดยสมาคมธุรกิจค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC) และ บ. NielsenIQ ระหว่างวันที่ ๔ - ๑๐ ม.ค. ๖๕[14] ระบุว่า ดัชนีราคาสินค้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๐.๘ ในเดือน ธ.ค. ๖๔ เป็นร้อยละ ๑.๕ ในเดือน ม.ค. ๖๕ ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. ๒๕๕๕ โดยราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (non-food) ในเดือน ม.ค. ๖๕ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๙ และราคาสินค้าประเภทอาหารปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๗ ทั้งนี้ BRC ประเมินว่า ราคาสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์/อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และวัสดุประกอบพื้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากโดยมีปัจจัยจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโลก ในขณะที่การปรับขึ้นของราคาอาหารเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร การปรับขึ้นของราคาอาหารทั่วโลก และปัญหาขาดแคลนแรงงานใน สอ. (ซึ่งมีปัจจัยจาก Brexit และมาตรการกักตัวของผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙) ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของ บ. Kantar[15] ที่รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยต่อปีในหมวดสินค้าประเภทอาหาร (annual grocery inflation) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๓.๘ ในเดือน ม.ค. ๖๕ จากเดิมที่ร้อยละ ๓.๕ ในเดือน ธ.ค. ๖๔ หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายอาหารที่เพิ่มขึ้นประมาณปีละ ๑๘๐ ปอนด์ต่อครัวเรือน
๓.๒ รายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ.[16] (Office for National Statistics) ยืนยันได้ว่า ศก. สอ. โดยรวมในปีที่แล้วฟื้นตัวดีขึ้นในอัตราร้อยละ ๗.๕ เทียบกับช่วงวิกฤตโควิดในปี ๖๓ ที่หดตัวถึงร้อยละ ๙.๔ ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสูงที่สุดใน ปท. กลุ่ม G7 แม้วิกฤตโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวดังกล่าวให้ชะลอตัวลงเล็กน้อย โดย ศก. สอ. ในเดือน ธ.ค. ๖๔ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๒ (ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ร้อยละ ๐.๖) แต่โดยรวมส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ ๑ ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่ค่อนข้างดีท่ามกลางกระแสความกังวลของผู้บริโภคและข้อจำกัดของผู้ผลิต และคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดังเดิมในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้เป็นต้นไป
[1] https://www.ft.com/content/354328ff-e8a1-48b0-8594-0633de1e149d
[2] https://www.kantar.com/inspiration/fmcg/2022-wp-pre-pandemic-shopping-routines-return-but-rising-prices-spells-battle-for-uk-consumer-spend
[3] https://www.theguardian.com/business/2022/feb/01/annual-uk-grocery-bill-could-rise-cost-of-living-squeeze
[4] https://www.bbc.co.uk/news/uk-england-essex-60323558
[5] https://www.ukhospitality.org.uk/news/596041/
[6] https://www.cso.ie/en/releasesandpublications/er/gei/goodsexportsandimportsdecember2021/
[7] https://www.theguardian.com/politics/2022/feb/15/brexit-trade-figures-northern-ireland-republic
[8] https://www.gov.uk/government/publications/levelling-up-the-united-kingdom
[9] https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-60216307
[10] https://www.ofgem.gov.uk/publications/price-cap-increase-ps693-april
[11] https://www.gov.uk/the-warm-home-discount-scheme
[12] https://www.gov.uk/government/news/ground-breaking-deal-to-establish-two-new-green-freeports-in-scotland
[13] https://www.bbc.co.uk/news/uk-scotland-scotland-politics-60368377
[14] https://brc.org.uk/news/corporate-affairs/shop-price-inflation-soars/
[15] https://www.kantar.com/inspiration/fmcg/2022-wp-pre-pandemic-shopping-routines-return-but-rising-prices-spells-battle-for-uk-consumer-spend
[16] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpfirstquarterlyestimateuk/octobertodecember2021