ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งซ้ำให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization – IMO) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๓ เป็นสมัยที่ ๙

ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งซ้ำให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization – IMO) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๓ เป็นสมัยที่ ๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 14,679 view

เมื่อวันที่ ๑๐ ธ.ค. ๒๕๖๔ ที่ประชุมสมัชชา สมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๒ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้เลือกตั้งคณะมนตรี IMO วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๒ – ๒๐๒๓ ที่สำนักงานใหญ่ IMO ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกตั้งจากสมาชิก IMO ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO กลุ่ม C ด้วยคะแนนเสียง ๑๐๗ เสียง (เป็นอันดับที่ ๑๙ ของประเทศที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด ๒๐ ประเทศ) จากรัฐสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด ๑๖๐ ประเทศ ส่งผลให้ไทยได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO ต่อเนื่องเป็นวาระที่ ๙ ซึ่งไทยดำรงตำแหน่งนี้ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ (ปี ค.ศ. ๒๐๐๖) สะท้อนความไว้วางใจที่รัฐสมาชิก IMO ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านกิจการทางทะเล โดยการสมัครรับเลือกตั้งในวาระนี้ ประเทศไทยได้ชูประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกด้านกิจการทางทะเลเพื่อความยั่งยืน (Global Partnership for Maritime Sustainability) ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากประเทศสมาชิก IMO และสอดคล้องบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ของไทยในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

IMO เป็นทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๒ ปัจจุบันมีสมาชิก ๑๗๔ ประเทศ มีหน้าที่เป็นองค์กรกลางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ คนประจำเรือ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก มีสำนักงานใหญ่ IMO ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยคณะมนตรี IMO เป็นองค์กรระดับบริหารที่มีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามการปฏิบัติงานของ IMO อันประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่ได้การเลือกตั้งจากสมัชชา IMO จำนวน ๔๐ ที่นั่ง ดำรงตำแหน่งวาระละ ๒ ปี โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ (๑) กลุ่ม A ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในการให้บริการด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ จำนวน ๑๐ ประเทศ (๒) กลุ่ม B ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในด้านการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ จำนวน ๑๐ ประเทศ และ (๓) กลุ่ม C ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษในด้านการขนส่งทางทะเลหรือการเดินเรือ และเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จำนวน ๒๐ ประเทศ

นอกจากประเทศไทยแล้ว รัฐสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี ในกลุ่ม C ในวาระนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ อียิปต์ ไซปรัส มอลตา บาฮามาส มาเลเซีย อินโดนีเซีย ชิลี เคนยา ซาอุดีอาระเบีย จาเมกา เบลเยียม โมร็อกโก ตุรกี เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ วานูอาตู กาตาร์ และเดนมาร์ก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ