สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 31 ก.ค. 63

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสอ. ในช่วงวันที่ 16 – 31 ก.ค. 63

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,153 view

๑. ด้านการค้าปลีก
     ๑.๑ ห้างสรรพสินค้า Marks & Spencer (M&S) ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ๙๕๐ ตำแหน่งทั้งในส่วนของ สนง. และร้านค้าเพื่อลดต้นทุนของบริษัทและเพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจในระยะต่อไปที่จะเน้นการจำหน่ายทางออนไลน์มากขึ้นและลดจำนวนห้างลง แม้ว่า M&S จะเปิดบริการในส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ตตลอดช่วงล็อคดาวน์ แต่ผลประกอบการในส่วนอื่นได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มถาวร โดยเฉพาะยอดขายของสินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชันและชุดทำงานที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ ๘๔ ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังประเมินว่าในระยะสั้นผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจในด้านความปลอดภัยทางสุขอนามัยจึงยังออกมาเดินซื้อของในห้างน้อยกว่าที่คาดไว้ แม้ว่า รบ. จะผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ แล้วก็ตาม (ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Springboard พบว่า ในเดือน ก.ค. ๖๓ มี ปชช. เข้าไปเลือกซื้อของในร้านค้าใน สอ. โดยเฉลี่ยลดลงมากกว่าร้อยละ ๔๐  เฉพาะในกรุงลอนดอนลดลงมากกว่าร้อยละ ๗๐ ของจำนวนในช่วงก่อนวิกฤต) ทั้งนี้ M&S ได้เริ่มเจรจากับธนาคารเพื่อขอผ่อนคลายเงื่อนไขการชำระหนี้คืนมูลค่า ๑.๑ พันล้านปอนด์ และยกเลิกการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งได้กู้ยืมเงินจำนวน ๓๐๐ ล้านปอนด์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องจากโครงการช่วยเหลือเงินกู้ของ รบ. สอ. (COVID-๑๙ Corporate Financing Facility) แล้ว ในส่วนของ ห้างสรรพสินค้า Selfridges ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ๔๕๐ ตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ ๑๔ ของจำนวน พนง. ทั้งหมด) ที่ปฏิบัติงานใน ๔ สาขา โดยนาง Anne Pitcher ปธ. ฝ่ายบริหาร กล่าวว่า มาตรการล็อคดาวน์ส่งผลกระทบต่อยอดขายของห้างและพฤติกรรมการซื้อของทางออนไลน์มากขึ้นที่ผ่านมายอดขายออนไลน์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แม้ห้าง Selfridges ยังไม่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องแต่จำเป็นต้องลดรายจ่ายและลดขนาดของห้างเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวในอนาคต รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนเพิ่มในด้านออนไลน์ของบริษัทด้วย
     ๑.๒ ธุรกิจแฟชัน บ. Burberry ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ๕๐๐ ตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อ พนง. ใน สอ. จำนวน ๑๕๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๓,๕๐๐ ตำแหน่งซึ่งที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ใช้การพักงานชั่วคราว) โดยบริษัทเปิดเผยว่า ผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์และพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทในช่วง เม.ย - มิ.ย. ๖๓ ปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ ๔๕ (ประมาณ ๒๕๗ ล้านปอนด์) รวมทั้งประเมินว่ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงในไตรมาสสุดท้ายอีกประมาณร้อยละ ๑๕ - ๒๐ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บ. Ted Baker ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ๕๐๐ ตำแหน่ง (คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๒๕ ของจำนวน พนง. ทั้งหมดใน สอ.) เพิ่มจากการประกาศเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑๖๐ ตำแหน่งเมื่อเดือน ก.พ. ๖๓ โดยมีปัจจัยจากการขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ และเพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ประกาศเมื่อเดือน ก.พ. ๖๓ โดยจะเน้นช่องทางการขายออนไลน์และปรับปรุงโครงสร้างให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น
      ๑.๓ ร้านอาหาร Pizza Express (มี บ. Hony Capital บริษัทสัญชาติจีนเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี ๒๕๕๗) ประกาศแผนปิดสาขาจำนวน ๗๕ สาขาโดยคาดว่าจะส่งผลกระทบให้เลิกจ้าง พนง. จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เข้าสู่กระบวนการประนอมหนี้เบื้องต้นแล้วเพื่อให้ยกเลิกสัญญาเช่าและลดภาระค่าเช่าได้ต่อไป นอกจากนี้ บ. Azzurri Group ที่ขายกิจการร้าน Ask Italian และ Zizzi ในช่วงการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อต้นเดือน ก.ค. สามารถบรรุข้อตกลงกับ บ. TowerBrook Capital Partners (กลุ่มทุนในสหรัฐฯ) ในการเข้าซื้อกิจการต่อแล้ว แต่จำเป็นต้องปิดสาขาจำนวน ๗๕ สาขา (จากทั้งหมด ๒๒๕ สาขา) ตามเงื่อนไขในข้อตกลงซึ่งจะส่งผลให้ต้องเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑,๒๐๐ ตำแหน่งใน สอ.

๒. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ
     ๒.๑ การขนส่งพัสดุ บ. Hermes ประกาศจ้างงาน พนง. ประจำเพิ่มจำนวน ๑,๕๐๐ ตำแหน่ง และ พนง. รับจ้างขับรถอิสระ (self-employed) จำนวน ๙,๐๐๐ ตำแหน่ง โดยปัจจุบันบริษัทจ้าง พนง. ขับรถอิสระแล้วกว่า ๑๕,๐๐๐ คนใน สอ. และได้วางแผนลงทุนมูลค่า ๑๐๐ ล้านปอนด์เพื่อขยายเครือข่ายการจัดส่งพัสดุใน สอ. ด้วย โดยนาย Martijn de Lange ปธ. ฝ่ายบริหารของบริษัทให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ COVID-๑๙ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาวเนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่หันไปพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์แทบทั้งหมด รวมทั้งมี ปชช. จำนวนมากขายของทางออนไลน์ซึ่งต้องใช้บริการขนส่งพัสดุเช่นกัน
     ๒.๒ ท่องเที่ยว บ. Tui (บริษัทให้บริการนำเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดใน สอ.) ประกาศแผนปิดสาขาจำนวน ๑๖๖ สาขาใน สอ. และไอร์แลนด์ (คาดว่าจะเหลือให้บริการ ๓๕๐ สาขา) โดยจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๙๐๐ ตำแหน่ง เนื่องจากลูกค้านิยมใช้บริการทางออนไลน์มากกว่าในปัจจุบันซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๗๐ ของธุรกรรมทั้งหมด กอปรกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเดินทาง รปท. ทำให้มีความเสี่ยงสูงในการทำธุรกิจนำเที่ยวนอก สอ. ล่าสุด บริษัทได้ประกาศยกเลิกแพ็คเกจทัวร์ในสเปนจนถึงกลางเดือน ส.ค. หลัง รบ. สอ. แนะนำไม่ให้ ปชช. ของ สอ. เดินทางไปยังสเปนยกเว้นกรณีจำเป็นเท่านั้น และกำหนดให้ผู้ที่เดินทางจากสเปนต้องกักตนเองใน สอ. เป็นเวลา ๑๔ วันด้วย นอกจากนี้ บริษัทได้ปิดศูนย์บริการลูกค้าที่เมืองมุมไบและเมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อพยุงกิจการหลักใน สอ.
     ๒.๓ รถยนต์ สมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ของ สอ. (Society of Motor Manufactures and Traders – SMMT) รายงานว่า ศูนย์ผลิตรถยนต์และบริษัทในห่วงโซ่อุปทานมีการเลิกจ้าง พนง. ในช่วงครึ่งปีแรกจำนวนประมาณ ๑,๑๐๐ ตำแหน่งเนื่องจากปัจจัยของมาตรการรักษาระยะห่างและอุปสงค์ของตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ยอดการผลิตรถยนต์ใน สอ. โดยรวมของเดือน มิ.ย. ลดลงร้อยละ ๔๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาอยู่ที่จำนวน ๕๖,๕๙๔ คัน ในขณะที่การผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายใน สอ. ลดลงร้อยละ ๖๓ และการผลิตเพื่อการส่งออกลดลงร้อยละ ๔๕ โดยนาย Mike Hawes ผู้บริหารของ SMMT ให้ความเห็นว่า นอกจากผลกระทบจาก COVID-๑๙ แล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องเผชิญกับกระแสความนิยมรถยนต์ระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายของ รบ. และความผันผวนทาง ศก. จากความไม่แน่นอนของ Brexit ด้วย บทวิเคราะห์ของ SMMT ระบุว่า หาก สอ. – อียูไม่สามารถเจรจา คสพ. การค้าได้สำเร็จ (no deal) และ สอ. ต้องใช้อัตราภาษีภายใต้ตามกรอบ WTO จะมีผลให้รถยนต์ถูกเก็บภาษีนำเข้า-ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ ๑๐ และจะทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ของ สอ. ลดลงเหลือเพียงประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คัน/ปีจนถึงปี ๒๕๖๘ (สถิติการผลิตรถยนต์โดยรวมของ สอ. ในปี ๒๕๖๒ อยู่ที่ ๑.๓ ล้านคัน และในปี ๒๕๖๑ อยู่ที่ ๑.๕ ล้านคัน [1])
     ๒.๔ เครื่องใช้ไฟฟ้า บ. Dyson ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ทั่วโลกจำนวน ๙๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๑๔,๐๐๐ ตำแหน่ง) โดย ๒ ใน ๓ ของจำนวนดังกล่าวเป็นตำแหน่งใน สอ. แม้ว่าปริมาณยอดขายสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง แต่สถานการณ์ COVID-๑๙ ทำให้ความจำเป็นในการมีร้านค้าน้อยลงตามพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องช่วยหายใจในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-๑๙ ต่อไปแม้ว่าปัจจุบันจะมีปริมาณความต้องการลดลงไปแล้วก็ตาม
 
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
     ๓.๑ แม้ว่าข่าว ศก. ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค. ยังคงมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเลิกจ้างงานเนื่องจากเป็นช่วงที่หลายบริษัทกำลังปรับตัวเข้ากับแผนธุรกิจในระยะต่อไป แต่สถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยโดยรวมของ สอ. ถือว่าเริ่มดีขึ้นหลัง รบ. สอ. ผ่อนคลายข้อจำกัดจากมาตรการล็อคดาวน์อย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ค. และกำลังจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูธุรกิจระยะที่สองในเดือน ส.ค. ซึ่งภาคธุรกิจเกือบทั้งหมดจะเริ่มเปิดทำการได้เป็นปกติ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics - ONS) [2] รายงานว่าปริมาณยอดขายของร้านค้าปลีกโดยรวมในเดือน มิ.ย. ๖๓ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓.๙ จากเดือน พ.ค. ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเติบโตของยอดขายสินค้าออนไลน์โดยรวมที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ ๓๐ ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้บริโภค และยังมีแนวโน้มทางบวกในไตรมาสสุดท้ายโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายของร้านค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอีกหลังทยอยเปิดทำการในเดือน ก.ค. ในขณะที่ บ. วิเคราะห์ข้อมูล EY Item Club [3] ประเมินว่า ศก. สอ. จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในไตรมาสที่ ๓ และจะฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ ๔ โดยคาดว่าปี ๒๕๖๔ จะเติบโตได้ร้อยละ ๖.๕ นอกจากนี้ข้อมูลจาก  HIS Market [4] ระบุว่า ดัชนีบ่งชี้สภาวะทาง ศก. ของภาคการผลิตและบริการ (Purchasing Managers’ Index – PMI) มีการปรับตัวสูงขึ้นจาก ๔๗.๗ ในเดือน มิ.ย. เป็น ๕๗.๑ ในเดือน ก.ค. แต่ยังประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปีหน้ากว่าจะสามารถฟื้นฟู ศก. ให้กลับสู่สภาวะก่อนวิกฤตได้
     ๓.๒ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า อุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทาง ศก. สอ. คือ การว่างงานที่ปัจจุบันยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแม้ว่า รบ. จะยังช่วยเหลือค่าจ้างอยู่ตามมาตรการ Furlough Scheme จนถึงเดือน ต.ค. ศกนี้ ก็ตาม ทั้งนี้ สถาบัน National Institute of Economic and Social Research (NIESR) [5] รายงานว่า สถิติของ พนง. ที่ถูกพักงานชั่วคราวเพื่อรับความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวในขณะนี้มีทั้งหมดประมาณ ๙.๕ ล้านคน คิดเป็นมูลค่า ๓.๑๗ หมื่นล้านปอนด์ โดย NIESR คาดการณ์ว่าหากไม่มีมาตรการแทรกแซงจาก รบ. อัตราการว่างงานในปีนี้จะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ ๑๐ (หรือประมาณ ๓.๓ ล้านคน) โดยในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ ๔๐ มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่สภาวะอดอยากหลัง รบ. ระงับมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในกรุงลอนดอนที่มีค่าครองชีพสูงกว่าพื้นที่อื่น ซึ่ง NIESR ได้เสนอให้ รบ. ขยายมาตรการ Furlough Scheme ออกไปจนถึงต้นปีหน้าเนื่องจากเห็นว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลและใช้ต้นทุนต่ำกว่า (โดย NIESR คาดว่า พนง. ที่ถูกพักงานชั่วคราวจะลดลงเหลือเพียงประมาณ ๑.๒๕ ล้านคนภายในสิ้นปีนี้หากมาตรการกระตุ้น ศก. ของ รบ.ในช่วงครึ่งปีหลังได้ผล) อย่างไรก็ดี รบ. สอ. ได้ยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. ศกนี้ แต่ ปชช. ที่ยังว่างงานสามารถขอรับเงินช่วยเหลือตามโครงการสวัสดิการสังคมปกติ (Universal Credit) ได้


[1] https://www.smmt.co.uk/2020/01/uk-car-output-falls-as-industry-targets-world-class-fta-that-keeps-auto-building-for-britain/

[2] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/june2020

[3] https://www.ey.com/en_uk/news/2020/07/uk-post-covid-economic-recovery-could-take-18-months-longer-than-expected-reveals-latest-ey-item-club-forecast

[4] https://www.markiteconomics.com/Public/Home/PressRelease/6ab94fc6bd594c46b3๑๙2f42059fb866?s=1

[5] https://www.cambridge.org/core/services/aop-cambridge-core/content/view/BD7DC079AE2E69887AF62B6543F75BAB/S00279501200003๑๙a.pdf/covid๑๙_impacts_on_destitution_in_the_uk.pdf