วันที่นำเข้าข้อมูล 28 เม.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ภาคธุรกิจค้าปลีก
๑.๑ บ. Oasis และ Warehouse ซึ่งเป็นเจ้าของเสื้อผ้าแฟชั่นของ สอ. ยี่ห้อ The Idle Man และ Bastyan เตรียมเข้าสู่กระบวนการล้มละลายหากบริษัทไม่สามารถหาผู้สนใจเข้าซื้อกิจการได้ภายในเดือน เม.ย. ๒๕๖๓ และอาจนำไปสู่การปิดสาขา ๙๐ แห่ง และการเลิกจ้างพนักงาน ๒,๓๐๐ ตำแหน่ง แม้ว่าบริษัทจะประสบปัญหาทางธุรกิจมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ประสบปัญหาหนักยิ่งขึ้นในการแสวงหานักลงทุน ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจค้าปลีก สอ. (British Retail Consortium) แสดงความเห็นว่า ภาคธุรกิจค้าปลีก สอ. ปีนี้จะต้องประสบกับช่วงที่ยอดขายตกต่ำที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คาดว่าจะมีหลายบริษัทล้มละลายแม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือแล้วก็ตาม ล่าสุด บ. Cath Kidston เปิดเผยว่ากำลังพิจารณาเข้าสู่กระบวนการล้มละลายระยะเบื้องต้น (Pre-pack administration) จากการที่ต้องปิดร้านทุกสาขาและพักงาน พนง. ร้อยละ ๙๐ ในขณะที่ร้าน Primark และ New Look ประสบสภาวะขาดสภาพคล่องจนต้องยกเลิกสินค้าล็อตใหม่และขอเลื่อนการจ่ายเงินให้แก่โรงงานและ supplier อย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ ห้าง Debenhams อยู่ในข่ายที่จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเป็นครั้งที่สองในรอบ ๑ ปีเช่นกันและได้ประกาศปิดสาขาในไอร์แลนด์แล้ว
๑.๒ บ. Revolut (บริการการเงินออนไลน์) เปิดเผยข้อมูลสถิติการใช้จ่ายออนไลน์ของผู้ใช้บัตรเดบิต/เครดิต ของ Revolut จำนวน ๓ ล้านคนระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๓ โดยข้อมูลดังกล่าวชี้ว่า ยอดการชำระเงินในส่วนของวีดีโอเกมส์ และบริการสันทนาการออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว ในขณะที่ร้านขายสินค้าออนไลน์อื่น ๆ ได้รับความนิยมลดลงมากจากปัญหาการจัดส่งและการเติมสินค้าเพื่อจำหน่าย เช่น บ. Steam Games มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑๖ บ. PlayStation มียอดขาย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐๕ ในขณะที่ บ. Argos และ Amazon (ขายสินค้าออนไลน์) เพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ ๒๐ ในส่วนของธุรกิจสันทนาการออนไลน์พบว่า ยอดการสมัครสมาชิก Spotify และ Netflix เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙ และร้อยละ ๔ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยทางออนไลน์ผ่านบัตร Revolut ในเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ ๑๒ และมีแนวโน้มลดลงอีกในเดือน เม.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปชช. ส่วนใหญ่ลดการจับจ่ายใช้สอยลงและน่าจะเกิดจากความกังวลจากการขาดรายได้ในช่วง lockdown
๒. ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของ สอ.
๒.๑ British Airways (BA) ประกาศพักงาน พนง. กว่า ๓๐,๐๐๐ ตำแหน่ง และยกเลิกเที่ยวบินที่ท่าอากาศยาน Gatwick และ London City Airport เป็นเวลาอย่างน้อย ๒ เดือน ในขณะที่ EasyJet ประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบินและพักงาน พนง. ๔,๐๐๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๙,๐๐๐ ตำแหน่ง) เป็นเวลา ๒ เดือน โดย พนง. ที่ต้องพักงาน ชั่วคราวจะได้รับรายได้ร้อยละ ๘๐ ของเงินเดือนปกติ (สูงสุดไม่เกินจำนวน ๒,๕๐๐ ปอนด์) ตามมาตรการ Furlough Scheme ของ รบ. สอ. อีกทั้งนักบินของ BA ๔,๐๐๐ คนได้ตกลงรับเงินเดือนในอัตราร้อยละ ๕๐ เป็นเวลา ๒ เดือนเพื่อช่วยเหลือบริษัท นอกจากนี้ รบ. สอ. ได้อนุมัติเงินกู้ยืมให้กับ EasyJet ๖๐๐ ล้านปอนด์เพื่อผ่อนชำระการซื้อเครื่องบินลำใหม่จำนวน ๑๔ ลำจาก Airbus ได้ตามแผนกำหนดรับมอบเครื่องบินในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ อนึ่ง Virgin Atlantic ได้ยุติการบริการแล้วเนื่องจากไม่มีผู้โดยสารและอยู่ระหว่างการกู้เงินระยะสั้นเพื่อรักษากิจการไว้ ทำให้ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินของ สอ. ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการห้ามเดินทางทั่วโลก ซึ่ง International Air Transport Association คาดการณ์ไว้ว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอาจขาดทุนรวมกันมากถึง ๓.๒ หมื่นล้านปอนด์ในช่วง ๓ เดือนข้างหน้า
๒.๒ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งมีการจ้างงานประมาณ ๒.๔ ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ ๖ ของผลผลิตทาง ศก. สอ. ได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและจำเป็นต้องให้ พนง. บางส่วนหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนและบางส่วนถูกเลิกจ้าง โดยนาย Duncan Brock ผอ. ของ Chartered Institute of Procurement and Supply ให้ข้อมูลว่า มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมส่งผลทางอ้อมให้กิจกรรมการก่อสร้างต่าง ๆ หยุดชะงักและหดตัวลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากเจ้าของโครงการต้องการพักการชำระเงินและชะลอการก่อสร้างออกไปแม้ว่ามาตรการของ รบ. สอ. จะไม่ได้ห้ามแรงงานภาคการก่อสร้างก็ตาม โดยภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ วิศวกรรมโยธาและการก่อสร้างเชิงพาณิชย์ ข้อมูลจาก IHS Markit ระบุว่า ค่าดัชนี Purchasing Managers' Index (PMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสภาพ ศก. ของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันและในอนาคตในมุมมองของผู้ประกอบการของภาคการก่อสร้างปรับลดลงมาอยู่ที่ ๓๙.๓ ในเดือน มี.ค. ๒๕๖๓ จาก ๕๒.๖ ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ ๑๐ ปี นอกจากนี้ นาย Brock คาดว่า โครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัยจะลดลงอีกในระยะยาวเนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายบ้านใน สอ. ยังปรับตัวอยู่ในทิศทางลบ
๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
๓.๑ รายงานการวิเคราะห์ ศก. สอ. ของ บ. KPMG [1] ซึ่งจัดทำขึ้นสองสัปดาห์ภายหลัง รบ. สอ. ประกาศ lockdown เสนอแนะว่า ในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสฯ คลี่คลายภายในไตรมาสที่ ๒ GDP ปี ๒๕๖๓ ของ สอ. จะลดลงร้อยละ ๒.๖ แต่หากยังยืดเยื้อและ รบ. สอ. ต้องขยายเวลา lockdown ในไตรมาสที่ ๓ และ ๔ [2] ศก. มหภาค สอ. จะหดตัวอย่างหนัก โดย GDP จะลดลงร้อยละ ๗.๘ การจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ ๑๓.๕ (จากที่ขยายตัวในปี ๒๕๖๒ ร้อยละ ๑.๔) การลงทุนโดยรวมลดลงร้อยละ ๑๖ (จากที่ขยายตัวเล็กน้อยในปี ๒๕๖๒ ร้อยละ ๐.๔) การว่างงานเพิ่มขึ้นเท่าตัวที่ร้อยละ ๗.๖ (จากร้อยละ ๓.๘ ในปี ๒๕๖๒) เป็นต้น โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหารและผับ จะเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าจะลดลงประมาณร้อยละ ๓๐ ส่วนภาคบริการจะลดลงประมาณร้อยละ ๔๐
๓.๒ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของ COVID-19 โดย Office for Budget Responsibility (OBR หรือเทียบเท่า สงป.) ของ สอ. เมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย. ๒๕๖๓ [3] สรุปสาระสำคัญในทิศทางเดียวกับรายงานของ บ. KPMG โดยประเมินว่า รบ. สอ. จะคงมาตรการ lockdown ไว้เป็นเวลา ๓ เดือน (มี.ค. – พ.ค.) และจะผ่อนคลายการ lockdown แต่รักษามาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไปอีก ๓ เดือนหลังจากนั้น (มิ.ย. – ส.ค.) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสที่ ๒ หดตัวอย่างมาก โดยอัตรา GDP ที่แท้จริงจะลดลงถึงร้อยละ ๓๕ และทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ ๒ ล้านคน (รวมเป็น ๓.๔ ล้านคนหรือร้อยละ ๑๐ ของแรงงานทั้งหมด) นอกจากนี้ OBR คาดการณ์ว่า มาตรการแทรกแซงทาง ศก. ที่ รบ. สอ. ดำเนินอยู่ (ซึ่งมีมูลค่าโดยรวมประมาณ ๓.๕ แสนล้านปอนด์) จะสร้างผลกระทบระยะยาวในด้านการคลังของ สอ. โดยจะทำให้ สอ. ต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมอีก ๒.๑๘ แสนล้านปอนด์ (รวมเป็น ๒.๗๓ แสนล้านปอนด์ หรือร้อยละ ๑๔ ของ GDP) และส่งผลให้ สอ. มีอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ ๘๕ ในช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๖ ทั้งนี้ OBR มีความเห็นว่า หาก รบ. สอ. ไม่มีมาตรการแทรกแซงดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาคประชาสังคม ความเสียหายในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นอาจจะมีมูลค่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในมาตรการต่าง ๆ ในปัจจุบันอย่างมาก และเชื่อมั่นว่า ศก. สอ. จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปี ๒๕๖๔
๓.๓ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ภาคธุรกิจจะกังวลกับผลกระทบทาง ศก. อย่างรุนแรงในระยะสั้น แต่จากการที่ รบ. สอ. สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสฯ ได้ค่อนข้างดีกว่าหลาย ปท. โดยเป็นผลจากความสม่ำเสมอในนโยบายและการได้รับความร่วมมือที่ดีจาก ปชช. ทำให้นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นในระยะยาวจึงส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์อยู่ในทิศทางบวกและทรงตัวอยู่ที่ระดับ ๑ ปอนด์ ต่อ ๑.๑๔ ยูโร และที่ ๑ ปอนด์ต่อ ๑.๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ ๑๕ เม.ย. ๒๕๖๓)
[1] https://home.kpmg/content/dam/kpmg/uk/pdf/2020/03/uk-economic-outlook-march-2020.pdf
[2] ทั้งนี้ โดยตั้งสมมุติฐานว่า จะมีการผ่อนคลายมาตรการ lockdown บางส่วนเพื่อฟื้นฟูสภาพ ศก. สอ. ระยะสั้นและมีความเป็นไปได้ที่จะประกาศ lockdown เพิ่มเติมอีก ๒ ครั้ง (ครั้งละ ๔ สัปดาห์) ในช่วงไตรมาสที่ ๓ และที่ไตรมาสที่ ๔ เพื่อชะลอการแพร่ระบาดเป็นระลอกเพื่อปกป้องขีดความสามารถของ NHS ไว้จนกว่าจะมีวัคซีนใช้ได้ในปี ๒๕๖๔
[3] https://obr.uk/coronavirus-reference-scenario/