ผลกระทบของ No-deal Brexit ใน สอ.

ผลกระทบของ No-deal Brexit ใน สอ.

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,102 view

    หลังจากนั้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ สอ. ได้ออกมากล่าวถึงผลกระทบของ No-deal Brexit อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มองว่า No-deal Brexit จะส่งผลให้ สอ. ประสบกับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของ ปชช. ทั้งของ สอ. และ EU รวมถึงอาจต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเนื่องจาก EU กับ สอ. เป็นตลาดการค้าที่พึ่งพาซึ่งกันและกันมากที่สุด (จากข้อมูลของ สนง. สถิติ สอ. ปี ๒๕๖๑ EU เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของ สอ. EU เป็นตลาดส่งออกประมาณร้อยละ ๔๖ และตลาดนำเข้าประมาณร้อยละ ๕๔ ของ สอ. โดยมีมูลค่ารวมประมาณ ๖.๓ แสนล้านปอนด์) และอาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสามารถชดเชยมูลค่าการสูญเสียดังกล่าวได้ สอท.ฯ จึงขอรายงานผลการประมวลข้อมูลและความเห็นต่าง ๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบของ No-deal Brexit ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

๑. ผลกระทบต่อภาค ปชช.

    ๑.๑ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา BBC [1] เคยนำเสนอรายงานข่าวว่า No-deal Brexit จะทำให้วิถีการดำรง    ชีวิตของ ปชช. สอ. เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และจำเป็นต้องเรียนรู้และเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หลังจากที่คุ้นเคยวิถีแบบเดิมมานานกว่า ๔๐ ปีที่ สอ. อยู่ใน  EU โดยจะส่งผลกระทบตั้งแต่เรื่องปัจจัยการดำรงชีพ การเดินทาง และการประกอบอาชีพ ปัจจุบันการบริโภคอาหารใน สอ. เป็นการบริโภคสินค้าอาหารใน ปท. ประมาณ ร้อยละ ๕๐ และนำเข้าจาก EU ร้อยละ ๓๐ หาก สอ. ออกจาก EU สินค้าอาหารเหล่านี้ (ส่วนใหญ่เป็นอาหารสด) จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา ปท. ที่สามซึ่งจะส่งผลให้มีราคาแพงขึ้นและ ปชช. ต้องใช้เงินปอนด์จำนวนมากขึ้นในการซื้อสินค้าอาหารในจำนวนเท่าเดิม นอกจากนี้  การถูกเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าวยังถูกใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ และจะส่งผลให้ ปชช. มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๒.๘ (จากการประเมินของธนาคารกลาง สอ.) นอกจากนี้ ยารักษาโรคที่ปัจจุบัน สอ. นำเข้าจาก EU จำนวนมากก็อาจมีราคาแพงขึ้นและมีสินค้าทางเลือกน้อยลงจากปัญหาความล่าช้าในการคมนาคมขนส่งและการผ่านกระบวนการศุลกากรที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

       EU_UK_trade_2018-_Eu_food_import  
           EU_UK_trade_2018-_Most_favoured_nations_tariffs(1)

 

 

 

 

 

 


   

    ๑.๒ การเดินทางไปยังปท. EU ทั้งสำหรับการติดต่อธุรกิจและการท่องเที่ยวจะมีความยุ่งยากมากขึ้นจากการเตรียมเอกสารเดินทาง การทำวีซ่า และการทำประกันภัย การเดินทางรวมถึงการใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ รปท. ก็จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย เนื่องจาก สอ. จะออกจากข้อบังคับ EU Roaming Regulation ภายใต้ EU Common Market การใช้พาหนะเดินทาง รปท. จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกันจากผลของขั้นตอนพิธีการเข้า-ออกเมือง ทั้งจากการใช้รถยนต์ ส่วนตัว รถไฟ ทางอากาศและทางน้ำ นอกจากนี้ นทท. สอ. ต้องใช้เงินปอนด์แลกเงินสกุลยูโรมากขึ้นจากผลของค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีอัตราแลกเปลี่ยนหลัง Brexit ต่ำจนอาจจะเท่ากับเงินยูโรในที่สุด [2]

    ๑.๓ การประกอบอาชีพของ ปชช. สอ. ใน ปท. EU จะมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการต้องขออนุญาตและการขอวีซ่าทำงาน ซึ่งจะมีเงื่อนไข/ข้อบังคับเสมือนเป็นแรงงาน ปท. นอก EU รวมถึงอาจต้องเสียภาษีเงินได้สองทาง กล่าวคือ เสียภาษีตาม กม. ใน ปท. EU และใน สอ. ด้วย (บาง ปท. EU ยังไม่มี คตล. ยกเว้นภาษีซ้อนกับ สอ.) หรือบางกรณีมีเงื่อนไขการชำระ/ขอคืนภาษีเงินได้ที่แตกต่างกันในแต่ละ ปท. ด้วย [3]

๒. ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

    รายงานของสภาสามัญ สอ. ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการ Exiting the EU เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของ สอ. ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่

         EU_UK_trade_2018-_trend(1)          EU_UK_trade_2018-_goods_service_balance(2)

 

 

 

 

 

 








 ๒.๑ การบริการ – ปัจจุบันธุรกิจภาคบริการ (เช่น ด้านการเงิน การประกันภัย ด้านกฎหมาย การบัญชี โฆษณา การวิจัยและพัฒนา ด้านวิศวกรรม และด้านเทคนิคต่าง ๆ) มีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๘๐ ของ GDP และ สอ. ส่งออกสินค้าบริการมากกว่าครึ่งหนึ่งไป EU (ประมาณร้อยละ ๔๑) ซึ่งสินค้าจำนวนนี้จะกลายเป็น third-country service provider ทันทีที่ สอ. ออกจาก EU ซึ่งจะส่งผลให้ต้องเสียภาษีและไม่ได้รับประโยชน์จาก mutual recognition of quality and qualification ภายใต้ EU regulatory regime for services โดยผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเปิด สนง. ตัวแทนหรือสาขาใน ปท. EU เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและราคาแข่งขันได้น้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการที่เป็น SMEs ยังมีความเสี่ยงที่ต้องปิดกิจการลงเพราะมีขีดความสามารถในการปรับตัวได้น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม SMEs/Start-up โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีที่ สอ. มีความก้าวหน้าและเคยดึงดูดนักลงทุน ให้ต้องลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    นอกจากนี้ ภาคบริการทางการเงิน สอ. กับ EU (มีมูลค่ารวมประมาณร้อยะ ๓๐ ของการค้าภาคบริการสองฝ่าย) มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างมาก จึงได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน หน่วยงานกำกับดูแลของทั้งสองฝ่ายได้แก่ Financial Conduct Authority (FCA) ของ สอ. และ European Securities and Markets Authority (ESMA) ของ EU จึงได้เตรียมการลดผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสามารถบรรลุ No-deal Brexit MOU ได้สำเร็จตั้งแต่ มี.ค. ๒๕๖๒ เพื่อคงสถานะของการดำเนินธุรกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไว้ต่อไป [4]

    ๒.๒ อุตสาหกรรมยานยนต์ - รถยนต์ที่ผลิตใน สอ. เพื่อส่งออกไป EU ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง จะถูกเก็บภาษีนำเข้าตามข้อบังคับ EU’s Common External Tariff และอาจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอีกประมาณ ๒,๗๐๐ ปอนด์ต่อคัน ซึ่งย่อมทำให้อัตราการทำกำไรและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง ดังนั้น หลายบริษัท เช่น Honda Toyota Nissan และ Jaguar and Land Rover จึงได้มีแผนลดกำลังผลิตและย้ายฐานการผลิตบางรุ่นไปยัง ปท. ใน EU หรือย้ายกลับญี่ปุ่นที่มี คตล. การค้าเสรีกับ EU แล้ว นอกจากนี้ ในด้านการผลิตผู้ประกอบการ สอ. จะมีความเสี่ยงและมีต้นทุนของชิ้นส่วนประกอบมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบัน มีการนำเข้าชิ้นส่วน/อุปกรณ์ต่าง ๆ จากตุรกีมากที่สุดเนื่องจากไม่เสียภาษีหรือต้องผ่านกระบวนการศุลกากร (ภายใต้ custom union) ซึ่งหาก สอ. ออกจาก custom union ชิ้นส่วนประกอบเหล่านี้จะถูกเก็บภาษีและอาจต้องใช้เวลาในการขนส่งมากขึ้นจากความล่าช้าในการผ่านกระบวนการศุลกากรที่จุดผ่านแดนด้วย

    ๒.๓ อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร – ผู้ส่งออกอาหาร สอ. จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของ EU มากที่สุด โดย EU เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น เนื้อสัตว์ (แกะและวัว) มากกว่าร้อยละ ๖๐ ของ สอ. ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อแกะ สอ. จะถูกเก็บภาษีนำเข้าไปยัง EU สูงถึงร้อยละ ๕๐ รวมถึงวัตถุดิบนมวัวที่มีการนำเข้าผ่านชายแดนไอร์แลนด์เหนือ-ไอร์แลนด์มากกว่า ๖ แสนตันต่อปีสำหรับอุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่องใน สอ. ที่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าและค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้นตามมาด้วย นอกจากนี้ สินค้าอาหารจาก สอ. อาจถูกกีดกันจาก Non-tariff barriers จากการที่ สอ. ออกจากเครือข่ายของ EU Food Safety Authority and Rapid Alert System for Food and Feed ที่ช่วยแจ้งเตือนความเสี่ยงและจัดการปัญหาการปนเปื้อนในอาหาร จึงอาจทำให้ไม่ผ่านมาตรฐานความสะอาดที่ EU เป็นผู้กำหนด

    ๒.๔ อุตสาหกรรมยาและสารเคมี – อุตสาหกรรมด้านนี้ของ สอ. รวมถึงภาคการบริการสุขภาพใน สอ. พึ่งพาการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลมาตรฐานความปลอดภัยของยาใน EU อย่างมาก หาก สอ. ไม่ได้รับสิทธิการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวหลัง No-deal Brexit ย่อมส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการรักษาพยาบาล ความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา และจะทำให้ค่ายา/สารเคมีตั้งต้นสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ ๒๐ เนื่องจากความล่าช้าในการขนส่งและกระบวนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์แล้วว่า อย่างน้อยในระยะสั้น No-deal Brexit จะทำให้ขาดแคลนยาบางรายการเนื่องจาก สอ. จะกลายเป็น ปท. ที่อยู่ในกลุ่มตลาดส่งออกยาลำดับรองของ EU ไปโดยปริยาย แม้ สอ. จะสามารถใช้ประโยชน์จาก คตล.Pharmaceutical Tariff Elimination จากการเป็นสมาชิก WTO ได้ แต่อาจไม่เพียงพอจากความล้าสมัยของ คตล. ดังกล่าวที่ไม่ครอบคลุมยาชนิดใหม่ ๆ (ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ ๙ ปีก่อน) รวมทั้ง สอ. ยังมีข้อจำกัดของพื้นที่กักเก็บหลังจากได้เริ่มกักตุนยาและเวชภัณฑ์ไว้บ้างแล้ว และคงไม่เพียงพอที่จะรองรับ disruption ในระยะยาวได้

    ๒.๕ ภาคการวิจัยและการศึกษาขั้นสูง – เศรษฐกิจที่เข้มแข็งในอดีตของ สอ. โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ได้รับอานิสงส์จากความโดดเด่นในด้านการค้นคว้าวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยใน สอ. ซึ่งมี ผชช. ของ EU จำนวนไม่น้อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลสำเร็จดังกล่าว นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาของ สอ. ยังถือเป็นจุดหมายลำดับต้นของโลกสำหรับ นศ. ต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ ๔.๖ แสนคนใน สอ. โดยเป็น นศ. จาก ปท. EU ประมาณ ๑.๔ แสนคน (ร้อยละ ๓๐) หาก สอ. ออกจาก EU ค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับ นศ. จาก ปท. EU จะถูกเรียกเก็บเสมือนเป็น นศ. ต่างชาติทั่วไปซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว (จากประมาณ ๑ หมื่นปอนด์เป็น ๒ หมื่นปอนด์ต่อปี) จึงอาจทำให้ภาพลักษณ์และความนิยมต่อการศึกษาใน สอ. ลดลง รวมถึงอาจมีการยุบเลิกหลักสูตรบางหลักสูตรด้วยเนื่องจากมีจำนวน นศ. ไม่คุ้มค่าต้นทุนการเปิดหลักสูตร นอกจากนี้ นร./นศ. สอ. ก็จะไม่สามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือจาก EU ในการทำวิจัย (เช่น โครงการ Horizon 2020) และการสนับสนุนทุนการศึกษา (เช่น โครงการ Erusmus Programme) ด้วย ผลดังกล่าวย่อมส่งผลให้ขีดความสามารถในการผลิต (productivity) โดยรวมของ สอ. ลดลง อย่างไรก็ตาม รบ. สอ. ได้ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยและโครงการต่าง ๆ จะยังคงได้รับเงินสนับสนุนจาก EU จนถึงปลายปี ค.ศ. 2020 ในกรณี No-deal Brexit แต่ก็เป็นระยะสั้นเท่านั้

         EU_UK_trade_2018-01(3)
         
EU_UK_trade_2018-Tariff_free

 

 

 

 

 

 

 

 

 

๒.๖ อุตสาหกรรมการค้าปลีก – ผู้ประกอบการรายใหญ่ของ สอ. เห็นพ้องกันว่า No-deal Brexit จะส่งผลให้ราคาสินค้าทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นและอาจเกิดการขาดแคลนในระยะสั้นด้วย เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงต้นทุนในการนำเข้าสินค้าจาก EU (สถิติที่ผ่านมาพบว่า ร้านค้าปลีก สอ. พึ่งพาสินค้าจาก EU ประมาณร้อยละ ๗๙) [5] ซึ่งการขึ้นราคาสินค้านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายและผลกำไรที่คาดว่าจะมีการหดตัวลงไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ จนทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจลดต้นทุนโดยการลดจำนวนพนักงานและสาขาเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าวแล้ว (เช่น Tesco Metro, Waitrose, Sainsbury’s และ M&S เป็นต้น) ในส่วนของการเตรียมการรองรับการขาดแคลนสินค้า ผู้ประกอบการรายใหญ่แทบทุกรายได้กักตุนสินค้าในโกดังแล้วแต่ก็ยังมีความกังวลว่า โกดังสินค้าที่มีอยู่ไม่น่าจะรองรับความต้องการได้ทั้งหมดเ นื่องจากหลังวันที่  ๓๑ ต.ค. จะเป็นช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการซื้อสินค้ารายการอื่น ๆ นอกเหนือจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปด้วย ในขณะที่พื้นที่โกดังมีจำกัดและจำเป็นต้องกักตุนสินค้าจำเป็นอีกหลายรายการ รวมทั้งปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่น ผู้บริโภคกักตุนสินค้าเอง (panic buying) เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สินค้าขาดแคลนอย่างรุนแรงมากกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

    อย่างไรก็ดี แม้ว่า รบ. สอ. จะทราบปัญหาดังกล่าวและพยายามบรรเทาปัญหาแล้วก็ตามโดยได้ประกาศมาตรการระยะสั้นมีผลใช้บังคับ ๑๒ เดือน ซึ่งจะส่งผลให้รายการสินค้านำเข้าจาก EU ในปัจจุบันประมาณร้อยละ ๘๗ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นการชั่วคราว (ยกเว้นฝ่ายเดียว) และรายการสินค้านำเข้าที่เหลืออีกร้อยละ ๑๓ (เช่น เนื้อสัตว์ รถยนต์ อะไหล่รถยนต์ ปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น) จะยังคงถูกเก็บภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตและกลไกตลาดภายใน สอ.[6] แต่ต้นทุนจากปัจจัยอื่นในสายการผลิตและการขนส่งยังคงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเนื่องจากกระบวนการขนส่งจะใช้เวลานานมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายในการเก็บกักสินค้าในจำนวนที่มากขึ้นกว่าปกติ รวมถึงความเสี่ยงจากค่าเงินปอนด์ที่ผันผวนและคาดว่าจะติดลบในกรณี No-deal Brexit ด้วย

 


[1] https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-47470864

[2] https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-08-03/pound-seen-hitting-34-year-low-if-johnson-drags-u-k-to-no-deal

[3] https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/710099/DT_Digest_April_2018.pdf

[4] Special Report #1/2562 สรุปความคืบหน้าการเตรียมการมาตรการฉุกเฉินเพื่อรองรับกรณี No-deal Brexit (BOT London Representative Office)

[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-47028748

[6] https://www.bbc.co.uk/news/business-47551266

[7] https://www.bbc.co.uk/news/business-49290926