สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 มิ.ย. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 มิ.ย. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 มิ.ย. 2565

| 1,455 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ อสังหาริมทรัพย์ ธ. Halifax หนึ่งในธนาคารหลักที่ให้บริการสินเชื่อบ้านพักอาศัยเปิดเผยข้อมูลว่า ราคาบ้านใน สอ. ปรับตัวสูงขึ้นที่อัตราร้อยละ ๑๐.๕ ในรอบ ๑๒ เดือน (พ.ค. ๖๔ - พ.ค. ๖๕) มาอยู่ที่เฉลี่ย ๒๘๙,๐๙๙ ปอนด์ต่อหลัง สาเหตุจากปริมาณบ้านพักอาศัยในตลาด โดยเฉพาะบ้านขนาด ๓ – ๔ ห้องนอนยังคงมีน้อยกว่าอุปสงค์อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ สถิติดังกล่าวเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี ๖๕ เป็นต้นมา ซึ่งสะท้อนถึงการเริ่มชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยมีสาเหตุจากสภาวะค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและน่าจะส่งผลให้การซื้อขายซบเซาลงในระยะต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารยังพบว่าในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ราคาบ้านใน สอ. ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๗๔ โดยกรุงลอนดอนปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ ๘๔.๒ รองลงมาเป็นภาค ตอ. ของอังกฤษที่ร้อยละ ๘๔ และภาคกลางของอังกฤษที่ร้อยละ ๘๒.๑[1]
    ๑.๒ การค้าปลีก บ. Missguided ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ของ สอ. (ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒) ประสบปัญหาขาดทุนในช่วง ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมาจากวิกฤตระบบห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันจากบริษัทคู่แข่งที่มากขึ้น จึงประกาศเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ต่อมา บ. Frasers Group (เจ้าของห้าง Sports Direct และ House of Fraser) ได้เข้าซื้อกิจการแล้วในมูลค่า ๒๐ ล้านปอนด์ โดยหวังจะนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีออนไลน์ของ Missguided ไปต่อยอดให้กับบริษัทในเครือของ Frasers Group ต่อไป อย่างไรก็ดี แนวโน้มที่ผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายน้อยลงจากวิกฤตค่าครองชีพทำให้ต้องลดต้นทุนโดยเลิกจ้าง พนง. บางส่วน[2] นอกจากนี้ . Asos เว็บไซต์จำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นอีกแห่งของ สอ. ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ว่ายอดขายของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔ มาอยู่ที่ ๙๘๗.๙ ล้านปอนด์ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ ๓๑ พ.ค. ๖๕ แต่หลังจากนี้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายจึงเริ่มพบการส่งสินค้าคืน (Returns) มากขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้บริษัทต้องปรับลดการคาดการณ์ผลกำไรในปีนี้ลงมาอยู่ที่ ๒๐ - ๖๐ ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับ บ. Boohoo ที่รายงานว่า ยอดขายของบริษัทลดลงร้อยละ ๘ มาอยู่ที่ ๔๔๕.๗ ล้านปอนด์ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ ๓๑ พ.ค. ๖๕ เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น กอปรกับจำนวนสินค้าที่ถูกส่งคืนเพิ่มขึ้นด้วย ข่าวดังกล่าวสะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการจากปัญหาค่าครองชีพสูงในปัจุบัน[3]
    ๑.๓ พลังงาน บ. Centrica ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของ สอ. ประกาศการบรรลุข้อตกลงกับ บ. Equinor ของนอร์เวย์เพื่อสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจำนวน ๑ พันล้านลูกบาศก์เมตร (รวมทั้งหมดที่สั่งซื้อจาก Equinor เป็นจำนวน ๑ หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๑๓ ของปริมาณการใช้ทั้งหมดใน สอ.) โดยจะมีการจัดส่งจากนอร์เวย์มายัง สอ. ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีภายในช่วง ๓ ปีข้างหน้านี้ ซึ่งนาย Kwasi Kwarteng รมว. ธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของ สอ. สนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว โดยมองว่าจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงานของ สอ. และส่งเสริม คสพ. ระหว่าง สอ. – นอร์เวย์ในฐานะพันธมิตรด้านพลังงานที่สำคัญด้วย ทั้งนี้ องค์กร Offshore Energies UK รายงานว่าในปี ๖๔ สอ. มีปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดจำนวน ๗.๖ หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นส่วนที่ซื้อจากนอร์เวย์ ๓.๒ หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีปริมาณมากกว่าก๊าซธรรมชาติที่ สอ. ผลิตเองจากทะเลเหนือ อนึ่ง Centrica ได้ประกาศลดการสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Gazprom ของรัสเซียเมื่อช่วง มี.ค. ที่ผ่านมาหลังเกิดการสู้รบในยูเครน จึงหันไปพึ่งพาแหล่งก๊าซธรรมชาติจากนอร์เวย์มากขึ้นแทน[4]
    ๑.๔ Brexit ข้อมูลจาก Aston University ระบุว่า ปัจจัย Brexit ทำให้ปริมาณการส่งออกจาก สอ. ไป EU ลดลงร้อยละ ๑๕.๖ หรือคิดเป็นมูลค่า ๑๒.๔ พันล้านปอนด์ในช่วงครึ่งแรกของปี ๖๔ โดยพบว่าขั้นตอนด้านเอกสารที่เพิ่มขึ้นหลัง Brexit โดยเฉพาะขั้นตอนการขอใบรับรองสินค้าอาหารและเคมีภัณฑ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยของ EU (SPS requirements) ถือเป็นอุปสรรคที่ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าจาก สอ. ไปยัง EU ลดลงร้อยละ ๑๓.๗ ในขณะที่ข้อกำหนดทางเทคนิคเกี่ยวกับเครื่องจักร (TBT requirements) ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ ๑.๙ เมื่อเทียบกับปี ๖๒ ก่อน Brexit ถึงแม้ว่าปัจจุบันปริมาณการส่งออกระหว่าง สอ. – EU จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ แล้ว แต่ยังถือว่าเติบโตช้ากว่า ปท. ที่มีขนาด ศก. ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ สอ. บางส่วนได้ปรับตัวโดยเพิ่มการส่งออกไปยัง ปท. นอกกลุ่ม EU มากขึ้น โดยปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารและเคมีภัณฑ์ไปยัง ปท. เหล่านี้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗ และการส่งออกเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๕ ทั้งนี้ ปัญหาการค้าดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ รบ. สอ. พยายามขอแก้ไขสาระสำคัญในพิธีสารไอร์แลนด์เหนือภายใต้ คตล. Brexit Agreement กับ EU ตลอดช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร[5]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
   - เมื่อวันที่ ๑๓ มิ.ย. ๖๕ นาง Liz Truss รมว. กต. สอ. ประกาศแนวคิดการเสนอร่าง กม. ใหม่ที่เรียกว่า The Northern Ireland Protocol Bill[6] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุปสรรคทางการค้าระหว่าง สอ. กับ EU ที่เป็นผลมาจากพันธกรณีตามพิธีสารไอร์แลนด์เหนือภายใต้ Brexit Agreement ที่จัดทำเมื่อปี ๖๒ ทั้งนี้ ร่าง กม. ใหม่นี้จะให้อำนาจ รบ. สอ. แก้ไขข้อกำหนดการดำเนินการ/ขั้นตอนเกี่ยวกับการค้าระหว่าง สอ. กับไอร์แลนด์เหนือเพียงฝ่ายเดียว โดยมีข้อเสนอสำคัญ ๔ ประการ ได้แก่
                          ๑) การจัดตั้งด่านศุลกากรช่องสีเขียว (สำหรับสินค้าเข้าไอร์แลนด์เหนือ) และช่องสีแดง (สำหรับสินค้าเข้าไอร์แลนด์และ EU) เพื่อขจัดต้นทุนแฝงและลดขั้นตอนด้านเอกสารที่ไม่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ สอ. ที่ส่งสินค้าจาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือ
                          ๒) ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้มาตรฐานของ สอ. หรือ EU ได้ในการส่งและจำหน่ายสินค้าในไอร์แลนด์เหนือ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้บริโภคในไอร์แลนด์เหนือจะสามารถหาซื้อสินค้ามาตรฐาน สอ. ได้ทั่วไป รวมถึงกรณีที่มาตรฐานสินค้าของ สอ. กับ EU อาจมีความแตกต่างกันในอนาคต
                          ๓) แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับภาษีและนโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการในไอร์แลนด์เหนือเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการไอร์แลนด์เหนือจะได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีและได้รับเงินสนับสนุนจาก รบ. สอ. เช่นเดียวกับแคว้นอื่น ๆ ของ สอ.
                          ๔) ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยอิสระ (independent arbitration) เป็นกลไกระงับข้อพิพาทในไอร์แลนด์เหนือแทนการพิจารณาของ European Court of Justice
    - สอ. เชื่อว่า ร่าง กม. ดังกล่าวจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาความไม่สะดวกทางการค้าที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและคงความสมดุลด้าน คสพ. ระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ตามพันธกรณีของ Belfast (Good Friday) Agreement ได้ นอกจากนี้ สอ. มองว่า แนวทางข้างต้นยังช่วยปกป้องความมั่นคงของ EU Single Market ผ่านโครงการ Trusted Trader Scheme และการแบ่งปันข้อมูลแบบ real-time ให้แก่ EU เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าที่ส่งไปยังไอร์แลนด์เหนือจะไม่เข้าไปในตลาด EU ตลอดจนบังคับให้มีการตรวจสอบสินค้าที่ส่งไป EU ตามมาตรการของ EU ด้วย อย่างไรก็ดี ฝ่าย EU เห็นว่า แนวคิดของ สอ. เป็นการละเมิดข้อตกลง รปท. จึงได้ประกาศรื้อฟื้นกระบวนการดำเนินคดีกับ สอ. แล้วเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย. ๖๕ (หลังจากที่หยุดการดำเนินการชั่วคราวเมื่อเดือน มี.ค. ๖๔ เพื่อเจรจากัน) ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่าอาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่าง สอ. กับ EU มากยิ่งขึ้น[7]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ ศก. สอ. เริ่มซบเซาจากสภาวะค่าครองชีพสูงเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC)[8] พบว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของ สอ. ในเดือน พ.ค. ๖๕ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑.๑ ถือเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน (เดือน เม.ย. ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๓) เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายโดยเฉพาะสินค้าขนาดใหญ่ที่มีราคาสูง เช่น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในขณะที่ยอดขายสินค้าแฟชั่นและอุปกรณ์เสริมความงามยังปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งมีปัจจัยจาก ปชช. ซื้อสินค้าล่วงหน้าสำหรับช่วงเทศกาลวันหยุดยาว Jubilee Weekend และวันหยุดภาคฤดูร้อน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจาก บ. Barclaycard ที่พบว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต/บัตรเครดิตในเดือน พ.ค. ๖๕ ที่ร้านอาหารลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ ๕.๙ การใช้จ่ายด้านความบันเทิงออนไลน์ลดลงร้อยละ ๕.๗ ในขณะที่การใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวยังปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘๐ เนื่องจาก ปชช. วางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้า และค่าใช้ไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๔.๕ ต่อรายเนื่องจากเพดานต้นทุนพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา[9]
    ๓.๒ ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ส่งผลให้ ศก. ชะลอตัวลงใน สอ. และทั่วโลก ทำให้ OECD[10] ปรับรายงานการประเมิน ศก. โดยคาดการณ์ว่า ศก. โลกจะเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้จากร้อยละ ๔.๕ มาเป็นร้อยละ ๓ ในปีนี้ และคาดการณ์ว่า ศก. ของ สอ. จะเติบโตร้อยละ ๓.๖ ในปีนี้และร้อยละ ๐ ในปีหน้า โดยมีปัจจัยจากอัตราค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ย และอัตราภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นที่ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนลดการบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้ สอ. กลายเป็น ปท. ที่มี ศก. เติบโตช้าที่สุดในกลุ่ม ปท. G7 และอยู่ในอันดับรองสุดท้ายใน G20 (รัสเซียอยู่ลำดับสุดท้าย) นอกจากนี้ OECD ประเมินว่า หากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานและปัญหาขาดแคลนแรงงานยังยืดเยื้อเป็นเวลานาน อาจทำให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตลงในระยะยาวด้วย หรืออาจส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อในส่วนของค่าแรงเพิ่มขึ้นอีก[11] ทั้งนี้ รบ. สอ. ได้พยายามใช้นโยบายการเงินบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าวแล้วแต่ยังไม่ได้ผลมากนัก ทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออาจสูงเกินร้อยละ ๑๐ ได้ในช่วงสองไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๖ มิ.ย. ๖๕ ธนาคารอังกฤษ (Bank of England – BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ ๕ ติดต่อกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๐.๒๕ มาอยู่ที่อัตราร้อยละ ๑.๒๕ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ ๑๓ ปีที่ผ่านมา[12]



[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-61729890
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-61656681
[3] https://www.thetimes.co.uk/article/asos-warns-on-profits-amid-inflationary-pressure-fnf05r7xn
[4] https://www.ft.com/content/d1f38d3c-e21e-4ad0-af91-1a9429e7d686
[5] https://www.ft.com/content/2f63ef97-8d49-47a4-accd-4fb2e7ee9a5a
[6] https://www.gov.uk/government/news/government-introduces-bill-to-fix-the-northern-ireland-protocol
[7] https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-61790248
[8]https://brc.org.uk/news/corporate-affairs/squeezed-consumers-cut-spending/
[9] https://www.ft.com/content/b7ec07c4-56ae-4ead-8598-502b9d2c7838
[10]https://www.oecd.org/economic-outlook/
[11] https://www.bbc.co.uk/news/business-61729892
[12] https://news.sky.com/story/fifth-consecutive-hike-as-interest-rate-raised-to-1-25-by-bank-of-england-12634875