สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 มี.ค. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 มี.ค. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2565

| 9,556 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ การค้า รปท. ในช่วงครึ่งแรกของเดือน มี.ค. ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ. ได้ทยอยประกาศยกเลิกการดำเนินธุรกิจในรัสเซียและระงับการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียทั้งแบบชั่วคราวและถาวรเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการคว่ำบาตรทาง ศก. ของ รบ. สอ. ต่อรัสเซีย อาทิเช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้แก่ บ. Jaguar Land Rover (JLR) / General Motors / Aston Martin และ Rolls-Royce ยกเลิกการส่งออกรถยนต์ไปยังรัสเซีย ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ บ. JCB (ผลิตยานยนต์/อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างและการเกษตร) ประกาศหยุดการดำเนินงานของ สนง. สาขาและศูนย์ผลิตในรัสเซีย รวมถึงการระงับการส่งออกเครื่องจักรและอะไหล่เครื่องยนต์ไปยังรัสเซียชั่วคราว ภาคการบริการ เช่น บริษัทที่ปรึกษาที่มี สนงญ. ใน สอ. ได้แก่ Deloitte / KPMG / EY / PwC และ Freshfields ประกาศระงับการให้บริการในรัสเซีย นอกจากนี้ ห้าง Marks & Spencer (M&S) และ บ. British American Tobacco ได้ยกเลิกการส่งออกสินค้าของตนไปจำหน่ายในรัสเซีย[1]
          ในส่วนของตลาดสินค้าใน สอ. ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เช่น Co-op / Morrisons / Sainsbury’s / Aldi / Asda และ Waitrose ได้ประกาศยกเลิกการจำหน่ายสินค้านำเข้าจากรัสเซีย เช่น วอดกา และเมล็ดทานตะวันดำ (Karpayskiye) ทั้งนี้ Asda ได้ยกเลิกการจำหน่ายสินค้าของรัสเซียประมาณ ๑๐๐ รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ ปลา และขนมหวาน ในขณะที่ บ. JJ Whitley ผู้ผลิตวอดกาวางจำหน่ายใน สอ. มีแผนย้ายฐานการผลิตออกจากรัสเซียมาที่เขต Lancashire ของ สอ. ภายในสิ้นเดือน มี.ค. ศกนี้เพื่อให้จำหน่ายใน สอ. ได้ต่อไป[2]
          อนึ่ง นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรทาง ศก. ของ สอ. จะส่งผลสะท้อนถึงการฟื้นตัวทาง ศก. ใน สอ. ด้วย โดยอาจทำให้การส่งออกและการเติบโตของ GDP ของ สอ. ปีนี้ลดลงเหลือร้อยละ ๑.๙ (เดิมคาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ ๔.๒) และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นถึงร้อยละ ๘.๓ ภายในกลางปีนี้[3]
    ๑.๒ อาหาร National Farmers' Union (NFU) ประเมินว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียมีแนวโน้มทำให้ราคาอาหารของ สอ. เพิ่มสูงขึ้นโดยมีปัจจัยจากต้นทุนน้ำมันและก๊าซเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ใน สอ. เช่น ข้าวโพด และข้าวสาลี เนื่องจากยูเครนและรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีร้อยละ ๓๐ ของโลก ข้าวโพดร้อยละ ๒๐ ของโลก และน้ำมันพืชที่สกัดจากเมล็ดของดอกทานตะวันร้อยละ ๘๐ ของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านปศุสัตว์[4] ในขณะที่ บ. 2 Sisters ซึ่งเป็นโรงงานสัตว์ปีกขนาดใหญ่ของ สอ. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงไก่มีราคาสูงกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ ๕๐ และคาดว่าต้นทุนราคาอาหารจะปรับขึ้นอีกร้อยละ ๑๕ ในปีนี้[5]                     นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียยังอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมเนื่องจากแรงงานชาวยูเครนคิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของแรงงานเกษตรกรรมชั่วคราวตามฤดูกาลของ สอ. (Seasonal Workers Scheme) โดย NFU เสนอให้ รบ. สอ. เพิ่มโควตาวีซ่าทำงานชั่วคราวภายใต้โครงการ Seasonal Workers Scheme ให้แก่ชาว EU ที่ประสงค์ทำงานใน สอ. เพิ่มอีก ๑๐,๐๐๐ ราย (เดิมมีโควตา ๓๐,๐๐๐ ราย) อย่างไรก็ดี ก. สวล. อาหาร และกิจการชนบท (DEFRA) ประเมินว่า สอ. ยังไม่มีแนวโน้มประสบปัญหาขาดแคลนอาหารในอนาคต แต่ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมแผนรับมือล่วงหน้าหากเกิดวิกฤตที่เป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย - ยูเครนแล้ว
     ๑.๓ โทรคมนาคม . OneWeb ซึ่งเป็นบริษัทดาวเทียมโทรคมนาคมที่มี รบ. สอ. ถือหุ้นบางส่วนประกาศระงับแผนการส่งกระสวยอวกาศเพื่อใช้กระจายสัญญาณเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในอวกาศจำนวน ๓๖ ลำจากฐานส่ง Baikonur ที่ดำเนินการโดยรัสเซียในคาซัคสถานเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยบริษัทจะพิจาณาหาฐานการปล่อยกระสวยใหม่ทดแทนต่อไป จึงส่งผลให้โครงการสร้างเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตในอวกาศ ซึ่งต้องใช้กระสวยอวกาศทั้งหมดกว่า ๖๕๐ ลำในการวางเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก (ปัจจุบันส่งขึ้นแล้ว ๔๒๘ ลำ) ล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวประสบปัญหาล่าช้ามาระยะหนึ่งก่อนแล้วโดยฝ่ายรัสเซียชะลอการอนุมัติการปล่อยกระสวยดังกล่าวไว้ก่อนเพื่อเรียกร้องให้ บ. OneWeb ยุติการใช้ระบบเพื่อประโยชน์ทางการทหารและขอให้ รบ. สอ. ขายหุ้นออกจากบริษัทเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติ ตต.[6]
     ๑.๔ การลงทุน บ. GlaxoSmithKline (GSK) บริษัทผลิตยาและเวชภัณฑ์ของ สอ. ประกาศแผนแยกกิจการในส่วนที่เกี่ยวกับเวชภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคออกจาก บ. GSK โดยจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ บ. Haleon และจะเริ่มดำเนินกิจการในเดือน ก.ค. ศกนี้ ถือเป็นแผนการแยกกิจการ (demerger) ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปในรอบ ๒๐ ปี ทั้งนี้ บ. Haleon เป็นการร่วมทุนของ บ. GSK กับ บ. Pfizer มีแผนเปิดใช้ สนงญ. และศูนย์วิจัย (R&D) ที่เมือง Weybridge ของ สอ. ในช่วงสิ้นปี ๖๗ โดย บ. GSK คาดว่าจะสามารถรักษาแนวโน้มการเติบโตของตลาดเวชภัณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ต่อไป โดยหวังให้ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔ - ๖ ในระยะกลาง หรือเฉลี่ยประมาณ ๑ หมื่นล้านปอนด์ต่อปี[7]             นอกจากนี้ GSK ยังได้ประกาศนโยบายไม่ขยายการทดลองยาเพิ่มเติมในรัสเซีย (การทดลองที่มีอยู่แล้วยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ) ซึ่งเป็นท่าทีเดียวกับบริษัทคู่แข่งในตลาดโลก เช่น AstraZeneca และ Pfizer เพื่อร่วมกันตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซียด้วย แต่บริษัทยังคงจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์จำเป็นในรัสเซียต่อไป และจะบริจาคกำไรจากการจำหน่ายให้กับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในยูเครน ทั้งนี้ GSK เชื่อมั่นว่าปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของบริษัทและแผนการแยกกิจการข้างต้น[8]
     ๑.๕ Brexit ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของ นทท. ใน สอ. และ EU ของ บ. Global Blue ซึ่งเป็นบริษัทที่รับดำเนินการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT refund) จากการซื้อสินค้าปลอดภาษีที่สนามบินและร้านค้าต่าง ๆ ให้แก่ นทท. ต่างชาติระบุว่า การที่ รบ. สอ. ยกเลิกการซื้อสินค้าปลอดภาษี (tax-free shopping) ใน สอ. หลัง Brexit ทำให้ สอ. สูญเสียสถานะแหล่งชอปปิงสินค้าราคาแพงสำหรับ นทท. ต่างชาติให้แก่ EU และส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องเลิกจ้าง พนง. ประมาณ ๒๐,๐๐๐ รายทั่ว สอ. โดยผลการสำรวจพบว่า ในปี ๖๔ นทท. ใน ตอ. กลางอย่างน้อยร้อยละ ๒๐ หยุดซื้อสินค้าใน สอ. ในขณะที่ซื้อสินค้าปลอดภาษีใน EU มากขึ้นเฉลี่ยรวม ๒๒,๐๐๐ ยูโร/ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐ เทียบกับปี ๖๒) 
          นอกจากนี้ สมาคมการค้าปลีกนานาชาติ (Association of International Retail – AIR) ของ สอ. ให้ข้อมูลว่า ในปี ๖๒ นทท. non-EU มียอดการใช้จ่ายทั้งหมด ๑.๗๘ หมื่นล้านปอนด์ใน สอ. โดยแบ่งเป็นการซื้อสินค้าปลอดภาษีมูลค่า ๓ พันล้านปอนด์ และการใช้จ่ายอื่น (non-retail) มูลค่า ๑.๔๘ หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งสร้างรายได้ทางภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ รบ. สอ. จำนวน ๓ พันล้านปอนด์ AIR ประเมินว่าหากยอดการใช้จ่ายในส่วน non-retail ข้างต้นลดลง (โดยเป็นผลจากการยกเลิก tax-free shopping) ร้อยละ ๑๕ จะทำให้ รบ. สอ. สูญเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ ๔๐๐ ล้านปอนด์ จึงเรียกร้องให้ รบ. สอ. ทบทวนมาตรการดังกล่าวหรือดำเนินนโยบายดึงดูด นทท. ต่างชาติกลุ่มใช้จ่ายสูงมากขึ้น เช่น การยกเว้นวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ระยะสั้นเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อแข่งขันกับ EU[9]      

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ. 
     - เมื่อวันที่ ๑๔ มี.ค. รบ. สอ. ได้ประกาศเปิดโครงการบ้านเพื่อ ยค. (Homes for Ukraine scheme) เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลที่ประสงค์ให้ที่พักอาศัยแก่ชาวยูเครนที่ลี้ภัยเป็นเวลา ๖ เดือนขึ้นไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สมัครขอเป็นผู้ค้ำประกัน (sponsor) ได้โดย รบ. สอ. ให้เงินตอบแทนจำนวน ๓๕๐ ปอนด์ต่อเดือน/sponsor สูงสุดไม่เกิน ๑๒ เดือน รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือหน่วยงานปกครองท้องถิ่นอีกหน่วยละ ๑๐,๕๐๐ ปอนด์ต่อรายเพื่อจัดหาสวัสดิการให้[10] ทั้งนี้ ชาวยูเครนที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยใน สอ. ภายใต้มาตรการดังกล่าวจะสามารถพำนักและทำงานใน สอ. ได้ในเบื้องต้นเป็นเวลา ๓ ปี รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ตามสวัสดิการพื้นฐานของรัฐทุกประการ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้สมัครเป็น sponsor แล้วกว่า ๑.๒ แสนราย ในขณะที่ รบ. สอ. อนุมัติคำขอลี้ภัยแล้วประมาณ ๕,๕๐๐ คน (จากคำขอประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน)[11] ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า นโยบายดังกล่าวจะมีผลให้ในระยะสั้นตลาดซื้อขายบ้านซบเซาลงเนื่องจากอุปทานมีน้อยลงโดยค่าเช่าบ้านและค่าครองชีพในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ในระยะกลางจะส่งผลดีต่อตลาดแรงงานใน สอ. เนื่องจากจะช่วยเติมเต็มจำนวนตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ประมาณ ๑.๓ ล้านตำแหน่ง[12] อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมมีความกังวลว่าปัญหาสังคมและการเอาเปรียบผู้อพยพจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้อพยพไม่มีญาติใน สอ.[13]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพใน สอ. ยังคงเพิ่มขึ้นทั้งจากปัจจัยสภาพ ศก. ที่เริ่มฟื้นตัวและปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยรายงานการวิเคราะห์ของ Centre for Economics and Business Research (CEBR) ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรทาง ศก. จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่ออัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้ ศก. สอ. จะขยายตัวเพียงร้อยละ ๑.๙ (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ ๔.๒) และจะขยายตัวร้อยละ ๐ ในปี ๖๖ (จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ ๒) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นสูงที่สุดที่ระดับร้อยละ ๘.๗ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และจะคงตัวอยู่เหนือระดับร้อยละ ๗ จนถึงต้นปี ๖๖ ทั้งนี้ ปัจจัยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ของภาคครัวเรือนของ สอ. ในปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ ๔.๘ หรือลดลงคิดเป็นมูลค่า ๒,๕๕๓ ปอนด์/ครัวเรือน และคาดว่าจะลดลงเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๔ ในปี ๖๖ ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ของ ปชช. สอ. มากที่สุดในรอบ ๖๗ ปี[14] อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England – BoE) ได้พยายามใช้นโยบายการเงินเพื่อบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าวบางส่วนแล้วโดยมีมติเมื่อวันที่ ๑๗ มี.ค. ๖๕ ให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๐.๕๐ เป็นร้อยละ ๐.๗๕ พร้อมกับแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอีกครั้งในพิจารณารอบถัดไปในเดือน พ.ค. ศกนี้ 
    ๓.๒ ในด้านการท่องเที่ยวของ สอ. มีแนวโน้มดีขึ้นหลัง สอ. ออกจากภาวะวิกฤตโควิด-๑๙ อย่างสมบูรณ์และกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเทศกาลอีสเตอร์ สนง. ททท./ลอนดอน ประเมินว่า สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการบินหลักระหว่าง สอ. กับไทย เช่น การบินไทย / Emirates / Qatar / Etihad, Singapore Airlines และ Scoot (ซึ่งไม่ได้ทำการบินผ่านน่านฟ้าของรัสเซียและยูเครน) และจากการสอบถาม Tour Operator ในพื้นที่ได้รับข้อมูลว่าการยกเลิกการจองมีน้อยมากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการเดินทางในช่วงไตรมาส ๓ และ ๔ อย่างไรก็ดี พบการชะลอตัวของการจองใหม่ในช่วงนี้เล็กน้อยจากความกังวลว่าสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวอาจยืดเยื้อออกไป




[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-60571133
[2] https://www.foodmanufacture.co.uk/Article/2022/03/04/Distiller-pulls-out-of-Russia-as-food-sector-backs-Ukraine
[3] https://www.export.org.uk/news/598429/What-impact-have-sanctions-had-on-the-Russian-economy-after-Biden-says-its-starting-to-crater.htm
[4] https://www.bbc.co.uk/news/business-60691116
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-60734384
[6] https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-60602512
[7] https://www.ft.com/content/a757bcdc-381f-47a9-8653-ae88b97884e7
[8] https://www.theguardian.com/business/2022/mar/17/glaxosmithkline-says-it-will-not-start-any-new-clinical-trials-in-russia
[9] https://www.ft.com/content/446dfa43-a7f1-4885-91f4-49ffb21f34e5
[10] https://www.gov.uk/government/news/homes-for-ukraine-scheme-launches
[11] https://www.theguardian.com/world/2022/mar/16/thousands-of-refugees-expected-in-uk-next-week-under-homes-for-ukraine-scheme
[12] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/jobsandvacanciesintheuk/march2022
[13] https://www.theguardian.com/world/2022/mar/15/uk-refugee-scheme-could-lead-to-exploitation-of-ukrainians-say-experts
[14] https://www.theguardian.com/business/2022/mar/08/russia-sanctions-to-cut-uk-living-standards-by-2500-a-person