วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ก.ย. 2565
๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๑.๑ วิกฤตพลังงาน ข้อมูลการศึกษาของ บ. Red Flag Alert ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการฟื้นฟูกิจการพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่ใน สอ. (มีผลประกอบการมากกว่า ๑ ล้านปอนด์) ประมาณ ๓๕๕,๐๐๐ ราย ที่กำลังได้รับผลกระทบจากต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเนื่องจากต้องใช้ไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มในการผลิตจำนวนมาก เช่น บริษัทในภาคการผลิตวัสดุ/ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเหล็ก แก้ว คอนกรีต และกระดาษ ในส่วนนี้มี ๗๕,๙๗๒ บริษัท (หรือประมาณร้อยละ ๒๐) ที่มีความเสี่ยงอาจล้มละลายหรือปิดกิจการในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทประเมินว่าภาคธุรกิจบริการ (hospitality) มีแนวโน้มสูงที่อาจต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมากโดยมีปัจจัยจากปัญหาต้นทุนราคาพลังงาน วัตถุดิบ และค่าจ้าง พนง. ที่เพิ่มสูงขึ้นหากปราศจากการช่วยเหลือจาก รบ. สอ. ล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ ก.ย. ๖๕ นรม. Liz Truss ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือวิกฤตด้านพลังงานสำหรับภาคธุรกิจแล้วโดยจะกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมก๊าซหุงต้มแบบขายส่งเบื้องต้นเป็นเวลา ๖ เดือนเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานซึ่งอาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจได้ในระยะสั้น[1]
๑.๒ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ข้อมูลจาก บ. Kantar[2] ระบุว่ายอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ต Aldi ในช่วง ๑๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา (จนถึงวันที่ ๔ ก.ย. ๖๕) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘.๗ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ Aldi มีส่วนแบ่งการตลาดใน สอ. เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๙.๓ ในขณะที่ยอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ต Morrisons ปรับตัวลดลงร้อยละ ๔.๑ และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดใน สอ. ลดลงมาที่ระดับร้อยละ ๙.๑ ส่งผลให้ Aldi กลายเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๔ แทนที่ Morrisons ซึ่งตกลงมาเป็นอันดับที่ ๕ ตามด้วย Lidl ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐.๙ ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็นร้อยละ ๗.๑ (ส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งเป็นของ Tesco ร้อยละ ๒๗ Sainsbury’s อันดับ ๒ ร้อยละ ๑๕ และ Asda อันดับ ๓ ร้อยละ ๑๔) โดย บ. Kantar มองว่า ผลดังกล่าวมีปัจจัยจากการที่ภาคครัวเรือนพยายามลดค่าใช้จ่ายท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าประเภทเดียวกันที่มีราคาถูกกว่ามากขึ้น กอปรกับการที่ Aldi ขยายกิจการครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่ว สอ. มากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่เริ่มลดราคาสินค้าให้เทียบเคียงกับของ Aldi และ Lidl เพื่อรักษาฐานผู้บริโภคแล้ว นอกจากนี้ บ. Kantar พบว่าราคาอาหารในเดือน ส.ค. ๖๕ ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑๒.๔ โดยเฉพาะนม เนย และอาหารสุนัขที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๑ ร้อยละ ๒๕ และร้อยละ ๒๙ ตามลำดับ ทำให้ค่าใช้จ่ายอาหารโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนปรับขึ้นถึง ๕๗๑ ปอนด์ มาอยู่ที่ ๕,๑๘๑ ปอนด์/ปี ซึ่งสะท้อนมาตรฐานการดำรงชีพที่ลดลงใน สอ.[3]
๑.๓ ธุรกิจค้าปลีก ปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบต่อยอดผลประกอบการของภาคธุรกิจค้าปลีกของ สอ. โดยรวม เช่น บ. John Lewis ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้า John Lewis และซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose เปิดเผยว่าบริษัทประสบผลขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรกคิดเป็นมูลค่า ๙๙ ล้านปอนด์[4] เช่นเดียวกับ บ. DFS ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่มีผลกำไรลดลงประมาณร้อยละ ๑๐[5] มีปัจจัยจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายสินค้าที่มีราคาแพงหรือสินค้าไม่จำเป็นลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่น เช่น บ. H&M, Primark และ Asos ต่างรายงานว่าผลประกอบการในช่วงไตรมาสที่สามของปีอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้[6] อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจค้าปลีกในภาพรวมยังเชื่อมั่นว่าเทศกาลคริสมาสต์ในช่วงปลายปีนี้อาจช่วยให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้นและช่วยพยุงผลประกอบการให้ดีขึ้นได้[7]
๑.๔ การค้า รปท. ภาวะค่าครองชีพสูงจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ สอ. มีสภาวะขาดดุลการค้ามากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่าในช่วง พ.ค. - ก.ค. ๖๕ สอ. นำเข้าพลังงานจาก ตปท. เพิ่มขึ้นจำนวนมาก กอปรกับราคาต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้นทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการโดยรวม (ยกเว้นโลหะมีค่า) ปรับขึ้นเป็น ๒.๗ หมื่นล้านปอนด์ จาก ๑.๒ พันล้านปอนด์ในไตรมาสก่อนหน้านี้ จึงส่งผลต่อเนื่องให้ สอ. ขาดดุลทางการค้าเพิ่มขึ้นใกล้ระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า สอ. จะมีแนวโน้มขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นในสัดส่วนร้อยละ ๗.๕ ของ GDP ในช่วงไตรมาสที่สี่ (จากร้อยละ ๔.๗ ของ GDP ในไตรมาสที่สอง)
อนึ่ง ปัจจัยจากการที่รัสเซียยกเลิกการส่งก๊าซธรรมชาติไปยัง EU ทำให้ สอ. กลายเป็นแหล่งแปรรูปก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้ามาจาก ตปท. ที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ และกาตาร์ ให้เป็นก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งออกไปยัง EU ผ่านท่อส่งก๊าซใต้ทะเลจากเมือง Norfolk ของอังกฤษไปยังเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ทำให้มูลค่าการส่งออกภาพรวมจาก สอ. ไป EU ในช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. ๖๕ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๙ มาอยู่ที่มูลค่า ๑.๗๔ หมื่นล้านปอนด์ ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์[8] ทั้งนี้ รบ. สอ. ภายใต้การนำของ นรม. Truss ได้ประกาศเป้าหมายการยกระดับ สอ. เป็นผู้ส่งออกพลังงานภายในปี ค.ศ. ๒๐๔๐ จึงเริ่มมีการทบทวนมาตรการเพิ่มอุปทานโดยการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันบนบกเพิ่มเติมได้อีกครั้ง (เคยระงับการออกใบอนุญาตเพิ่มเติมไว้ตั้งแต่ปี ๕๒) และการเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนจากลมและนิวเคลียร์
๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
- เมื่อวันที่ ๘ ก.ย. ๖๕ รบ. สอ. โดย นรม. Truss ประกาศมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน (Energy Price Guarantee) มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ โดย รบ. สอ. จะออก กม. ใหม่เพื่อใช้ระงับการเก็บภาษี green levies ชั่วคราว (คาดว่าจะลดค่าพลังงานครัวเรือนได้เฉลี่ย ๑๕๐ ปอนด์/เดือน) และจำกัดเพดานค่าธรรมเนียมพลังงานแบบครัวเรือนโดย รบ. สอ. อุดหนุน งปม. เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นครัวเรือนจ่ายค่าพลังงานเฉลี่ยไม่เกิน ๒,๕๐๐ ปอนด์/ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค. ๖๕ เป็นเวลา ๒ ปี (ก่อนหน้านี้ องค์กรควบคุมราคาพลังงานของ สอ. หรือ Ofgem ได้ประกาศปรับขึ้นเพดานค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็น ๓,๕๔๙ ปอนด์/ปี เริ่มในเดือน ต.ค. ๖๕ เป็นต้นไป) นอกเหนือจากการให้เงินส่วนลดค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มจำนวน ๔๐๐ ปอนด์/ครัวเรือน ที่จะเริ่มแจกจ่ายตั้งแต่เดือน ต.ค. ศกนี้ ตามแผนที่ รบ. ชุดก่อนประกาศไว้
ในส่วนการช่วยเหลือองค์กรและภาคธุรกิจต่าง ๆ รบ. สอ. จะกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมก๊าซหุงต้มแบบขายส่งเบื้องต้นเป็นเวลา ๖ เดือนเพื่อช่วยลดต้นทุนพลังงานเช่นกัน (รายละเอียดยังรอกระทรวงธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมประกาศเพิ่มเติม) นอกจากนี้ จะร่วมกับธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England - BoE) ช่วยเหลือด้านเงินกู้ระยะสั้นแก่บริษัทผู้ให้บริการพลังงานเพื่อรักษาสภาพคล่องและความมั่นคงทางพลังงานไว้ในช่วงวิกฤตต้นทุนพลังงานนี้[9]
๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
๓.๑ ONS[10] ประเมินว่า ศก. ของ สอ. ในเดือน ก.ค. ๖๕ ขยายตัวร้อยละ ๐.๒ (ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ ๐.๓) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๖ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการที่ขยายตัวร้อยละ ๐.๔ โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากการเพิ่มขึ้นของธุรกรรมในกลุ่มธุรกิจบริการด้าน IT และการบัญชี รวมถึงธุรกิจบริการแบบ consumer facing รวมถึงด้านกิจกรรมการกีฬาและสันทนาการ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ สอ. เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์ยุโรปและการแข่งขันกีฬาในกลุ่ม ปท. เครือจักรภพ (Commonwealth Games) ในเดือน ก.ค. ๖๕ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าการหยุดยาวในช่วงการไว้ทุกข์หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ เป็นเวลา ๑๐ วัน รวมถึงการประกาศเพิ่มให้วันที่ ๑๙ ก.ย. ๖๕ เป็นวันหยุดราชการพิเศษทำให้ ปชช. หยุดอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่และมีผลชะลอการเติบโตของ ศก. สอ. ซึ่งอาจทำให้ สอ. เข้าสู่ภาวะ ศก. ถดถอยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ในไตรมาสที่สามนี้
อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อใน สอ. เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจของ ONS ที่พบว่าดัชนี Consumer Price Index (CPI) ในเดือน ส.ค. ๖๕ ชะลอตัวครั้งแรกในรอบ ๘ เดือน โดยลดจากร้อยละ ๑๐.๑ ในเดือน ก.ค. ๖๕ มาอยู่ที่ร้อยละ ๙.๙ เนื่องจากปัจจัยต้นทุนพลังงานที่ทรงตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความเป็นได้สูงที่ BoE จะเลือกปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ ๗ ติดต่อกันในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งถัดไปในวันที่ ๒๒ ก.ย. ศกนี้เพื่อลดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเติม[11]
๓.๒ กระแสความนิยมการบริโภคอาหารเจ มังสวิรัติ และอาหารที่ทำมาจากพืช (plant based) มีมากขึ้นใน สอ. อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย บ. The Grocer รายงานว่า ในปี ๖๔ ยอดขายของสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์ (plant-based meat) ของ สอ. มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง ๕๗๘.๙ ล้านปอนด์ โดยยี่ห้อ Quorn ถือเป็นผู้นำในตลาดสินค้าอาหารดังกล่าวโดยมียอดขายคิดเป็นมูลค่า ๑๕๗ ล้านปอนด์ ในส่วนผู้ผลิตรายใหม่ เช่น สินค้ายี่ห้อ Richmond และ Birds Eye Green Cuisine มียอดขายเพิ่มขึ้นมูลค่า ๓๕.๔ ล้านปอนด์ และ ๑๘.๗ ล้านปอนด์ตามลำดับ ในขณะที่ร้านอาหารสะดวกซื้อ (fast food) เช่น KFC Greggs และ Burger King รวมถึงร้านจำหน่ายอาหารประเภท on-the-go เช่น แซนวิช เริ่มจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของ plant-based meat มากขึ้นเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าของตนแล้ว ซึ่งสะท้อนการเปิดกว้างของตลาด สอ. และศักยภาพการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ นอกจากนี้ บ. Redefine Meat ซึ่งเป็นผู้ผลิต plant-based meat ด้วยเทคโนโลยี 3D printing รายแรกใน สอ. เห็นว่า เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่มีส่วนช่วยให้รสชาติ เนื้อสัมผัส รูปลักษณ์ และกลิ่นของสินค้าใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี 3D printing ที่ตนใช้ในการเข้าตลาด จึงเอื้อให้ผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหาร plant based มากขึ้น รวมทั้งเอื้อให้มีการแข่งขันมากขึ้นด้วยซึ่งจะส่งผลให้สินค้า plant based มีแนวโน้มราคาลดลงมากยิ่งขึ้นต่อไป
[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-62813782
[2] https://www.kantar.com/uki/inspiration/fmcg/2022-wp-big-four-line-up-changes-as-grocery-price-inflation-accelerates-again
[3] https://www.bbc.co.uk/news/business-62887477
[4] https://www.johnlewispartnership.co.uk/media/press/y2022/John-Lewis-Partnership-unaudited-interim-results-for-the-26-weeks-ended-30-July-2022.html
[5] http://ir.q4europe.com/Tools/newsArticleHTML.aspx?solutionID=3898&customerKey=DFS&storyID=15551855
[6]
[7] https://www.theguardian.com/business/2022/sep/09/asos-sales-weaker-than-expected-as-cost-of-living-crisis-bites
[8] https://www.ft.com/content/47fe0d2a-6e87-4f30-8212-3b37f7f099e4
[9] https://www.gov.uk/government/news/government-announces-energy-price-guarantee-for-families-and-businesses-while-urgently-taking-action-to-reform-broken-energy-market
[10] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/july2022
[11] https://www.ft.com/content/04edffac-85c0-4ce9-8ef6-0539d537ce08