สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ส.ค. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ส.ค. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ส.ค. 2565

| 1,158 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ การคมนาคม บ. Avanti West Coast ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งทางรถไฟ ๑ ใน ๒ รายหลักของ สอ. ที่ให้บริการเส้นทางระหว่างกรุงลอนดอนและเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือของอังกฤษ เช่น เมืองเบอร์มิงแฮม ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ รวมถึงแคว้นสกอตแลนด์ ประกาศปรับลดจำนวนการให้บริการจาก ๗ เที่ยว เป็น ๔ เที่ยวต่อ ชม. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ส.ค. ศกนี้ เป็นต้นไป จนกว่าจะประกาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังยกเลิกการจำหน่ายบัตรโดยสารชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑๔ ส.ค. - ๑๑ ก.ย. ๖๕ ด้วยเพื่อป้องกันการยกเลิกการให้บริการอย่างกะทันหัน ซึ่งสาเหตุหลักจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่ทำให้ พนง. ที่ติดเชื้อต้องหยุดงาน รวมถึงจำนวน พนง. ขับรถไฟที่อาสาทำงานล่วงเวลาในวันหยุดลดลงกว่าร้อยละ ๕๐ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบริษัทเชื่อว่าเป็นการประท้วงขอปรับขึ้นค่าแรงดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี RMT และ ASLEF ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ดูแลสวัสดิการของ พนง. รถไฟได้ตอบโต้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่สาเหตุมาจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและสภาพการจ้างงานที่ไม่ดีพอของบริษัทเอง[1] ทั้งนี้ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (๑๓ – ๑๔ ส.ค. ๖๕) สมาชิกสหภาพ ASLEF ได้นัดประท้วงหยุดงานตามความเห็นของสมาชิกส่วนใหญ่ (industrial action) ส่งผลให้รถไฟของ Avanti และอื่น ๆ ต้องยกเลิกการบริการเพิ่มเติมอีกหลายเที่ยว[2]
    ๑.๒ แรงงาน สวัสดิภาพของแรงงานแทบทุกแขนงใน สอ. ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาประสบปัญหาค่าครองชีพสูงส่งผลให้มีข่าวว่า พนง. ในหลายบริษัทและภาคอุตสาหกรรมของ สอ. ประกาศหยุดงานประท้วงเพื่อขอปรับขึ้นค่าแรงเป็นระยะๆ เนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าค่าแรงได้ อาทิ พนง. ประจำคลังสินค้าของ บ. Amazon ทั่ว สอ. หลายร้อยคนได้นัดหยุดงานประท้วงในช่วงสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากบริษัทไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงตามข้อเรียกร้อง โดยปรับขึ้นเพียง ๓๕ เพนซ์ต่อ ชม. หรือคิดเป็นร้อยละ ๓ มาอยู่ที่ ๑๐.๕๐ ปอนด์ หรือ ๑๑.๔๕ ปอนด์ต่อ ชม. ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด/ภูมิภาค ในขณะที่ พนง. ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ Amazon ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น ๑๕ ปอนด์ต่อ ชม.[3]  ส่วน พนง. ของ บ. ไปรษณีย์ Royal Mail จำนวนกว่า ๑๑๕,๐๐๐ คน ได้วางแผนหยุดงานประท้วงในช่วงสิ้นเดือน ส.ค. (๒๖ - ๓๑ ส.ค.) และต้นเดือน ก.ย. (๘-๙ ก.ย.) เช่นกันเพื่อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรงมากกว่าร้อยละ ๒ ทั้งนี้ Royal Mail พยายามคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวโดยเสนอปรับขึ้นค่าแรงร้อยละ ๕.๕ แบบมีเงื่อนไข แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันกับสหภาพ Communication Workers Union (CWU) ได้[4]
    ๑.๓ พลังงาน บ. Centrica ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ British Gas ได้ทำสัญญาสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas - LNG) เป็นเวลา ๑๕ ปี กับ บ. Delfin Midstream ของสหรัฐฯ รวมมูลค่า ๗ พันล้านปอนด์ โดยจะนำเข้าก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๙ เป็นต้นไป จำนวน ๑ ล้านตันต่อปี เพื่อครอบคลุมการใช้งานในช่วงฤดูหนาวสำหรับ ๑.๕ ล้านครัวเรือน ก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. บริษัทได้ทำสัญญากับ บ. Equinor ของนอร์เวย์เพื่อสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติเพื่อครอบคลุมการใช้งานในช่วงฤดูหนาวใน ๓ ปีข้างหน้านี้สำหรับ ๔.๕ ล้านครัวเรือนของ สอ. ด้วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนความมั่นคงทางพลังงานของ รบ. สอ. ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใน สอ. นำเข้าพลังงานจาก ปท. พันธมิตรและลดการพึ่งพารัสเซีย (ปัจจุบัน สอ. ใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียประมาณร้อยละ ๔ จากความต้องการใช้ทั้งหมด) ข้อมูลจาก บ. Wood Mackenzie ซึ่งเป็นบริษัททำวิจัยและให้คำปรึกษาพบว่า ในปีนี้ สอ. นำเข้าก๊าซ LNG ประมาณ ๑๘ ล้านตันในขณะที่ ปท. ยุโรปอื่นนำเข้ารวมกันกว่า ๗๕ ล้านตันในช่วง ม.ค. - ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่ายุโรปยังพึ่งพาพลังงานนอกประเทศจำนวนมาก โดยนาย Kwasi Kwarteng รมว. ก. ธุรกิจ พลังงาน และแผนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมของ สอ. มองว่า สอ. จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและหลากหลายมากขึ้นจาก ปท. พันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของ สอ. ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ และสแกนดิเนเวีย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว นอกเหนือจากการผลิตพลังงานหมุนเวียนด้วยตนเอง ทั้งนี้ ปัจจุบัน สอ. มีคลังเก็บก๊าซ LNG ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปถึง ๓ แห่ง[5]
    ๑.๔ ธุรกิจบริการ (Hospitality) ยังคงอยู่ในช่วงขาลงจากทั้งปัญหาขาดแคลน พนง. และการเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภค จากการเก็บข้อมูลของ บ. AlixPartners และ บ. CGA พบว่าในช่วงเดือน มี.ค. ๖๓ - มิ.ย. ๖๕ มีร้านอาหารที่ปิดกิจการถาวรในย่านธุรกิจใจกลางกรุงลอนดอน (Square Mile/the City of London) ร้อยละ ๑๔ เมืองเบอร์มิงแฮมซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับที่สองรองจากกรุงลอนดอนร้อยละ ๑๔ และเมืองกลาสโกว์ร้อยละ ๑๐ ของจำนวนร้านอาหารทั้งหมดในย่านเดียวกัน โดยมีปัจจัยจากผู้บริโภคซึ่งเป็นวัยทำงานเดินทางมาทำงานในตัวเมืองน้อยลงตามนโยบายของบริษัทหลายแห่งที่อนุญาตให้ พนง. ทำงานที่บ้านสลับกับการทำงานที่ สนง. มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการเดินทางจากแอปพลิเคชั่นของ บ. Google ที่พบว่าในช่วงต้นเดือน ส.ค. ๖๕ ปชช. เดินทางไปทำงานที่ สนง. ในย่านธุรกิจใจกลางกรุงลอนดอนลดลงร้อยละ ๓๓ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ และข้อมูลของ บ. Springboard (จากฐานข้อมูลการใช้บัตรเครดิต/เดบิต) พบว่าอัตราเฉลี่ยของผู้ที่เดินทางไปยังย่านธุรกิจใจกลางกรุงลอนดอนในทุกวันจันทร์ของเดือน ก.ค. ๖๕ มีจำนวนต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ เกือบร้อยละ ๓๐ ทั้งนี้ บ. The City of London Corporation ซึ่งดูแลพื้นที่ย่านการเงินในกรุงลอนดอนได้ใช้เงินลงทุนจำนวน ๒.๕ ล้านปอนด์เพื่อช่วยภาคธุรกิจ hospitality และพัฒนาพื้นที่เพื่อดึงดูดให้ ปชช. เดินทางมาในย่านดังกล่าวมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้[6]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    - เมื่อวันที่ ๑๕ ส.ค. ๖๕ นาง Anne-Marie Trevelyan รมว. การค้า รปท. ของ สอ. ประกาศใช้มาตรการ Developing Countries Trading Scheme (DCTS) ซึ่งเป็นมาตรการภาษีใหม่หลัง Brexit สำหรับการนำเข้าจากกลุ่ม ปท. กำลังพัฒนาจำนวน ๖๕ ประเทศทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย โอเชียเนีย และอเมริกา (เดิมใช้มาตรการ GSP ของ EU) โดยครอบคลุมสินค้าเพิ่มหลายรายการโดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารที่ไม่สามารถผลิตได้ใน สอ. ตลอดปีหรือได้ในบางฤดู เช่น น้ำมันมะกอก มะเขือเทศ และแตงกวา เป็นต้น ซึ่งสินค้าดังกล่าว โดยเฉพาะจากแอฟริกาประมาณร้อยละ ๙๙ จะได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าตลอดปี มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุนและขยายระบบห่วงโซ่อุปทานให้แก่ภาคธุรกิจนำเข้าของ สอ. อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีระหว่าง สอ. กับ ปท. Non-EU ภายใต้นโยบาย Global Britain ของ สอ. ด้วย นอกจากนี้ สอ. ยังมีโครงการ Platinum Partnerships ที่จะริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าและความร่วมมือด้านการลงทุนที่เป็นมิตรต่อ สวล. ระหว่าง สอ. กับ ปท. ในเครือจักรภพของ สอ. โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งทาง ศก. ช่วยปรับตัวเข้ากับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดการพึ่งพาเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา รวมทั้งได้จัดตั้ง Trade Centre of Expertise เพื่อให้คำปรึกษา รบ. ของ ปท. หุ้นส่วนในการปรับตัวเข้ากับระบบการค้าโลกในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าหัวใจสำคัญของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของ สอ. ในระยะต่อไปจะเน้นด้านการค้าและด้าน สวล.[7]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ สมาคมธุรกิจค้าปลีกของ สอ.[8] (British Retail Consortium - BRC) ให้ข้อมูลว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกโดยรวมในเดือน ก.ค. ๖๕ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. ร้อยละ ๒.๓ (แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ปรับขึ้นร้อยละ ๖.๔) โดยมีปัจจัยจากสภาพอากาศร้อนที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าสำหรับฤดูร้อนและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต/บัตรเครดิตในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ของ บ. Barclaycard ที่พบว่า ผู้บริโภคซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะพัดลมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๖ เครื่องแต่งกายฤดูร้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สุขภาพ และยาเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๑ อย่างไรก็ดี BRC และ KPMG ประเมินว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่จำนวนสินค้าที่จำหน่ายได้โดยรวมนั้นปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณของการลดลงของอุปสงค์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะยิ่งปรากฏเด่นชัดขึ้นหลังจากพ้นช่วงวันหยุดฤดูร้อนนี้จากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง[9]
    ๓.๒ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติ สอ.[10] (Office for National Statistics – ONS) รายงานว่า ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้หดตัวลงร้อยละ ๐.๑ โดยมีปัจจัยจากการลดลงของธุรกรรมด้านการบริการสาธารณสุขต่าง ๆ ที่ปรับตัวลดลงหลังพ้นจากวิกฤตโควิด-๑๙ แม้ว่ากิจกรรมด้านสันทนาการและการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเดือน มิ.ย. ๖๕ ที่หดตัวถึงร้อยละ ๐.๖ นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๙.๔ ในเดือน มิ.ย. ๖๕ เป็นร้อยละ ๑๐.๑ ในเดือน ก.ค. เนื่องจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ ๔๐ ปี[11] นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ในไตรมาสที่สามและสี่ แนวโน้ม ศก. น่าจะยังหดตัวเพิ่มเติมจากปัจจัยความยืดเยื้อของปัญหาเงินเฟ้อและภาวะชะงักงันของการขนส่งสินค้าอาหารที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน จึงมีความเป็นไปได้ว่า สอ. จะเข้าสู่ภาวะ ศก. ถดถอยเต็มตัว (ก่อนหน้านี้ยังไม่ถือว่า สอ. เข้าสู่ภาวะ ศก. ถดถอยอย่างเป็นทางการเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่หนึ่ง ศก. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๘) ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England – BoE) โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของ สอ. จะปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดมาอยู่ในระดับร้อยละ ๑๓ ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะทำให้ สอ. ตกอยู่ในภาวะ ศก. ถดถอยไปจนถึงปีหน้า BoE จึงพยายามแทรกแซงด้วยนโยบายการเงินโดยการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๐.๕ จากปัจจุบันร้อยละ ๑.๒๕ เป็นร้อยละ ๑.๗๕ ในเดือน ส.ค. ๖๕ เพื่อชะลอการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทาง ศก. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของการลงทุนและการกู้ยืมในภาพรวม[12]

 

[1] https://www.bbc.co.uk/news/uk-england-62469126
[2] https://news.sky.com/story/rail-passengers-facing-more-disruption-as-train-drivers-announce-strike-on-busy-weekend-12666621
[3] https://www.theguardian.com/technology/2022/aug/09/gmb-calls-for-15-an-hour-minimum-pay-at-amazon-warehouses-in-uk
[4] https://www.theguardian.com/business/2022/aug/09/post-workers-strike-royal-mail-wage-pay-dispute
[5] https://www.thetimes.co.uk/article/centrica-signs-7bn-agreement-for-us-gas-to-secure-future-supplies-kh8h0w30s
[6] https://www.ft.com/content/f5f59e08-1dd4-41bb-a6f0-714e5c3ae47e
[7] https://www.gov.uk/government/news/new-trading-scheme-cuts-tariffs-on-hundreds-of-everyday-products
[8] https://brc.org.uk/news/corporate-affairs/sales-heat-up-but-volumes-still-down/
[9] https://www.theguardian.com/business/2022/aug/09/july-could-be-lull-before-the-storm-for-retailers-and-consumers
[10] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpfirstquarterlyestimateuk/apriltojune2022
[11] https://www.bbc.co.uk/news/business-62562025
[12] https://www.bbc.co.uk/news/business-62405037