สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ส.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ส.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,492 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ โทรคมนาคม . Vodafone ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของ สอ. รายที่สองที่ประกาศแผนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตข้ามเขต (roaming) ใน ปท. กลุ่ม EU จำนวน ๔๗ ปท. (ยกเว้นไอร์แลนด์) อย่างเป็นทางการ ในอัตราขั้นต่ำ ๑ ปอนด์ต่อวัน สำหรับสมาชิกรายใหม่ใน สอ. และสมาชิกรายเดิมที่เปลี่ยนแพ็คเกจหลังวันที่ ๑๑ ส.ค. ๖๔ โดยการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค. ๖๕ เป็นต้นไป[1] ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย. ๖๔ . EE เป็นรายแรกที่ประกาศแผนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเก็บค่าธรรมเนียม roaming ถือเป็นผลกระทบจากปัจจัย Brexit เนื่องจาก คตล. Withdrawal Agreement ระหว่าง สอ. – EU ไม่ครอบคลุมการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวดังเช่นที่เคยเป็นมาในช่วงที่ สอ. ยังอยู่ใน EU ส่งผลให้บริษัทผู้ให้บริการของทั้งสองฝ่ายต่างทยอยปรับเปลี่ยนนโยบายการให้บริการ roaming ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป
    ๑.๒ การส่งออก ข้อมูลจาก Irish Maritime Development Office (IMDO) ระบุว่า สถิติการขนส่งสินค้า (roll-on roll-off cargo) ระหว่างไอร์แลนด์และ สอ. ในครึ่งแรกของปี ๖๔ มีจำนวน ๓๕๕,๐๐๐ หน่วย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี ๖๒ (ก่อน Brexit) คิดเป็นร้อยละ ๒๙ โดย IMDO ให้ข้อมูลว่า ปัจจัย Brexit ทำให้ผู้ประกอบการของไอร์แลนด์เปลี่ยนเส้นทางการขนส่งสินค้าจากไอร์แลนด์ไปยัง EU โดยตรง (เดิมส่งสินค้าไป EU ผ่าน สอ. ทางถนนและราง) เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นจากขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าที่จุดผ่านแดนระหว่าง สอ. กับเกาะไอร์แลนด์และ EU ทั้งนี้ บริษัทเรือขนส่งข้ามฟาก เช่น บ. Stena Line ของ สอ. บ. Irish Ferries ของไอร์แลนด์ และ บ. Brittany Ferries ของฝรั่งเศส ได้ประกาศเส้นทางการเดินเรือใหม่จากไอร์แลนด์ไปยังเมืองท่าสำคัญของ EU โดยตรงเพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี บ. Stena Line เปิดเผยว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าจากไอร์แลนด์ไปยัง สอ. ผ่านไอร์แลนด์เหนือปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังการออกจากล็อกดาวน์แต่ยังไม่เทียบเท่ากับปริมาณก่อนช่วงวิกฤตโควิด[2]

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ อาหาร . Greggs ซึ่งเป็นร้านขายแซนวิชและเบเกอรีของ สอ. ประกาศยืนยันแผนเปิดสาขาเพิ่มจำนวน ๑๐๐ แห่งทั่ว สอ. และจ้าง พนง. เพิ่มจำนวนอย่างน้อย ๕๐๐ ตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ แผนธุรกิจดังกล่าวได้ประกาศไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลังบริษัทประกาศผลประกอบการขาดทุนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี ๒๕๒๗ เนื่องจากมีการปรับตัวลดลงของค่าเช่าพื้นที่ในย่านการค้าสำคัญ กอปรกับมีความเชื่อมั่นว่า ศก. สอ. จะฟื้นตัวได้ดีในระยะต่อไป โดยบริษัทมียอดขายโดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดคิดเป็นกำไรมูลค่า ๕๕.๕ ล้านปอนด์ (เทียบกับปีที่แล้วที่ขาดทุนจำนวน ๖๕.๒ ล้านปอนด์) ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ตามแผนของ รบ. สอ. ที่ช่วยให้ยอดขายในไตรมาสที่สองปรับตัวสูงขึ้นกว่าการคาดการณ์และมากกว่าช่วงเดียวกันของปี ๖๒ คิดเป็นร้อยละ ๒.๘ ปัจจุบัน บ. Greggs มีกิจการทั้งหมด ๒,๑๑๕ แห่ง และมีแผนขยายกิจการเพิ่มให้ถึงขั้นต่ำ ๓,๐๐๐ แห่งทั่ว สอ. โดยแผนการตลาดของบริษัทจะมุ่งเน้นกิจการในบริเวณที่รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ (drive-throughs) เนื่องจากเป็นกิจการที่มียอดขายสูงที่สุด ในขณะที่ บ. Pret A Manger ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งของ Greggs ประกาศแผนขยายกิจการจำนวน ๑๐๐ แห่งในเมืองขนาดกลางทั่ว สอ. และในบริเวณที่รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ด้วยเช่นกัน เพื่อกระจายฐานลูกค้า[3]
    ๒.๒ ห้างสรรพสินค้า John Lewis ประกาศแผนเปิดคลังเก็บสินค้าใหม่ขนาด ๑ ล้านตารางฟุตในเมือง Milton Keynes ภายในฤดูร้อนของปีหน้า และมีแผนจ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๕๐๐ ตำแหน่ง รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาด้าน automation ภายใน ๒ ปีข้างหน้านี้ เพื่อรองรับปริมาณการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของยอดขายโดยรวมทั้งหมด (จากเดิมคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด) โดย John Lewis ได้ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าดังกล่าวจาก บ. Tesco เป็นเวลา ๑๑ ปีและจะกลายเป็นคลังสินค้าขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ ๒ ของ John Lewis นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำสัญญาเช่าคลังเก็บสินค้าขนาด ๓๐๐,๐๐๐ ตารางฟุต ที่เมือง Bardon ใน Leicestershire เป็นเวลา ๓ ปี เพื่อรองรับเทศกาลลดราคาสินค้า Black Friday ในช่วงปลายเดือน พ.ย. เพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ John Lewis เชื่อมั่นว่าธุรกิจการตลาดออนไลน์จะเติบโตต่อเนื่องแม้ว่า สอ. จะออกจากล็อกดาวน์แล้วโดยแผนข้างต้นเป็นแผนการลงทุน ๕ ปี มูลค่า ๑๕๐ ล้านปอนด์สำหรับการขยายตลาดออนไลน์ระยะแรกที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว
   ๒.๓ การจ้างงาน ข้อมูลจาก บ. Reed ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดหางานของ สอ. รายงานว่า ประกาศโฆษณาตำแหน่งงานว่างที่ระบุให้ พนง. ทำงานที่บ้าน (remote working) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤตโควิดคิดเป็นร้อยละ ๕  ในปี ๖๔ ในขณะที่ประกาศที่ระบุให้ พนง. สามารถสลับทำงานที่ทำงานและที่บ้าน (hybrid working) ในเดือน ก.ค. คิดเป็นร้อยละ ๕.๖ ลดลงจากเดือน ม.ค. ที่ระดับร้อยละ ๙.๒ โดย บ. Reed มองว่า สถิติข้างต้นสะท้อนว่าบริษัทบางรายอาจไม่ต้องการให้ พนง. สลับทำงานที่ทำงานและที่บ้านอย่างถาวร แต่วิกฤตโควิดถือเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานที่บ้านเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าตำแหน่งงานที่ระบุให้ พนง. สามารถทำงานที่บ้านได้มีจำนวนผู้สมัครมากกว่าตำแหน่งที่ไม่ได้ระบุถึงสองเท่า[4]

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    เมื่อวันที่ ๕ ส.ค. ๖๔ นาย Rishi Sunak รมว. กค. สอ. ประกาศโครงการ Live Events Reinsurance Scheme[5] มูลค่า ๗๕๐ ล้านปอนด์ ภายใต้มาตรการกระตุ้นการจ้างงาน (Plan for Jobs[6]) ของ รบ. สอ. เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจบันเทิงและวัฒนธรรมและกระตุ้นให้เกิดการจัดกิจกรรมสำหรับสาธารณชน (live events) หลังการออกจากล็อกดาวน์โดยสมบูรณ์แล้ว เช่น การจัดเทศกาลคอนเสิร์ต และการจัดนิทรรศการต่าง ๆ เป็นต้น โดยผู้จัดกิจกรรมจะได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ต้องยกเลิกกิจกรรมตามข้อบังคับภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดของ รบ. สอ. โครงการดังกล่าวจะเริ่มมีผลตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ๖๔ - สิ้นเดือน ก.ย. ๖๕ ซึ่งบริษัทผู้จัดกิจกรรมสามารถซื้อประกันภัยที่เป็นการรับประกันจาก รบ. สอ. ผ่านบริษัทประกันภัยในเครือของ ธ. Lloyd’s อาทิ บ. Arch บ. Beazley บ. Dale บ. Hiscox และ บ. Munich Re เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทในภาคธุรกิจบันเทิงหลายรายออกมาตอบรับต่อข่าวดังกล่าวด้วยความยินดีและมองว่ามาตรการนี้จะช่วยรักษาการจ้างงานและฟื้นฟูบทบาทผู้นำของ สอ. ในกิจกรรมด้านความบันเทิงและวัฒนธรรมได้ นอกจากนี้ รบ. สอ. ยังออกมาตรการให้เงินช่วยเหลือบริษัทในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดภายใต้โครงการ Film and TV Production Restart Scheme มูลค่า ๕๐๐ ล้านปอนด์ มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการกีฬาและสันทนาการมูลค่า ๑ พันล้านปอนด์ และมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูด้านวัฒนธรรม (Culture Recovery Fund - CRF) มูลค่า ๒ พันล้านปอนด์ด้วย

๔. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๔.๑ รายงานการวิเคราะห์ของ บ. BDO[7] ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและบัญชีของ สอ. ระบุว่า การออกจากล็อกดาวน์ของอังกฤษในเดือน ก.ค. เป็นปัจจัยกระตุ้นให้อัตราการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ hospitality ซึ่งสะท้อนจากดัชนีวัดการจ้างงานของบริษัทที่ปรับตัวขึ้นจากระดับ ๑๐๖.๐๕ ในเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ ๑๐๗.๖๒ ในเดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี BDO มองว่า ปัจจัย Brexit และวิกฤตโควิดที่ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ ศก. สอ. ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ บริษัทหลายรายให้ข้อมูลว่าบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากมาตรการกักตนเองกรณีเป็น close contact กับผู้ติดเชื้อโดยได้รับการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชัน NHS COVID-19 (อย่างไรก็ดี สถานการณ์หลังจากนี้น่าจะดีขึ้นเมื่อข้อบังคับนี้ผ่อนคลายลงสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ ส.ค. ๖๔ เป็นต้นไป[8])
   ๔.๒ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office of National Statistics – ONS)[9] รายงานว่า GDP สอ. ในไตรมาสที่ ๒ (เม.ย. - มิ.ย.) ของปี ๖๔ ขยายตัวร้อยละ ๔.๘ โดยเป็นการกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ ๑.๕ จากปัจจัยการล็อกดาวน์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีแต่ประเมินว่าอัตราการเติบโตนี้ที่ได้รับอิทธิพลจากการที่ธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มฟื้นตัวและยอดการใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้น จะทยอยลดลงจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ๖๔ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของ รบ. สอ. จะสิ้นสุดลงตามลำดับและน่าจะเกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจอีกครั้ง



[1] https://www.vodafone.co.uk/roamingupdate22
[2] https://www.ft.com/content/1a2f7736-f949-48b2-b5c5-6fd7e4f1fcb8
[3] https://www.ft.com/content/5d81b9b0-32b3-4f8d-a161-cef717137768
[4] https://www.bbc.co.uk/news/business-58160245
[5] https://www.gov.uk/government/news/government-backed-insurance-scheme-to-give-boost-to-events-industry
[6] https://www.gov.uk/government/topical-events/plan-for-jobs
[7] https://www.bdo.co.uk/en-gb/home
[8] https://www.gov.uk/government/news/self-isolation-to-be-eased-for-fully-vaccinated-adults-in-step-4
[9] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpfirstquarterlyestimateuk/latest