สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 พ.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 พ.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,510 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    - กระทรวงการค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT) ให้ข้อมูลว่า คตล. การค้าหลัง Brexit ระหว่าง สอ. กับ ปท. อื่นจำนวน ๒๓ ปท. (จากทั้งหมด ๖๖ ปท.) เช่น แคนาดา นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และแม็กซิโก (ไม่รวม EU และตุรกี) มีข้อกำหนดให้ยกเว้นสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าสำเร็จรูป (finished products) ที่ส่งออกไปยัง ปท. ข้างต้น จากผู้ส่งออก สอ. ที่ตั้งในเขตธุรกิจพิเศษปลอดภาษีของ สอ. (freeports) [1] ซึ่งได้แก่ East Midlands Airport /Felixstowe and Harwich /Humber region /Liverpool City /Plymouth /Solent /Thames /Teesside (ในขณะที่ผู้ประกอบการนอกเขต freeports จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีนำเข้าจาก คตล. การค้า) [2] ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้รับการวิจารณ์จากพรรคฝ่ายค้านนำโดยนาง Emily Thornberry รมว. การค้า รปท. เงาของพรรคแรงงาน ที่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข้อบกพร่องของ รบ. สอ. ที่ไม่สามารถเจรจาตัดข้อบังคับดังกล่าวออกไปได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการในเขต freeports เสียเปรียบผู้ประกอบการอื่น ๆ ในการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว อย่างไรก็ดี DIT ยังคงยืนยันว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่บาง ปท. เห็นว่าการได้รับการยกเว้นภาษีซ้ำซ้อนจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในเขต freeports สามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องได้ กล่าวคือ การเลือกรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีภายใน สอ. หรือภาษีนำเข้าตาม คตล. การค้ากรณีใดกรณีหนึ่งตามที่จะเป็นประโยชน์กับบริษัทมากกว่ากันได้ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าเสียเปรียบ [3]

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
     ๒.๑ ธุรกิจค้าปลีก บ. Amazon ประกาศแผนจ้างงานเพิ่มจำนวน ๑๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ใน สอ. เช่น ด้านแฟชั่น การตลาดดิจิทัล เทคโนโลยี และ AI รวมถึง พนง. ประจำคลังเก็บสินค้า/ศูนย์กระจายสินค้าใหม่ที่เมือง Dartford /Gateshead/ Hinckley/ Swindon และ Doncaster ของ สอ. ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มี พนง. ทั้งหมดกว่า ๕๕,๐๐๐ คน ใน สอ. ภายในสิ้นปีนี้[4] ทั้งนี้ บริษัทฯ ให้ข้อมูลว่า การขยายธุรกิจดังกล่าวเป็นการปรับตัวรับกับแนวโน้มการจับจ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากวิกฤตโควิด ซึ่งทำให้ผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มี.ค. - พ.ค. ๖๔) คิดเป็นมูลค่า ๕.๗๖ พันล้านปอนด์ (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ ๑.๗๖ พันล้านปอนด์) นอกจากนี้ Amazon ยังมีแผนพัฒนาทักษะอาชีพแก่พนักงานด้วย โดยจะสนับสนุน งปม. มูลค่า ๑๐ ล้านปอนด์ เพื่อจัดหลักสูตรฝึกทักษะด้านการบัญชี การขับรถระบบ HGV และด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้แก่ พนง. จำนวน ๕,๐๐๐ คน ภายใน ๓ ปี และมีนโยบายสนับสนุนค่าเล่าเรียนร้อยละ ๙๕ ของค่าเล่าเรียนผู้ใหญ่ (หรือสูงสุดไม่เกิน ๘,๐๐๐ ปอนด์ต่อราย) ในระยะ ๔ ปีข้างหน้า ทั้งนี้ นาย Kwarsi Kwarteng รมว. ธุรกิจฯ มีความเห็นสนับสนุนแผนการขยายการลงทุนด้านคลังสินค้าใน สอ. และการพัฒนาทักษะแรงงานของ Amazon ดังกล่าวซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นใน ศก. สอ. และสอดคล้องกับนโยบายของ รบ. สอ. โดย Amazon ได้รับ งปม. สนับสนุนการฝึกงาน (เมื่อเดือน ก.พ. ๖๔ ประกาศรับการฝึกงานจำนวน ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง) และการฝึกทักษะอาชีพเสริมจาก รบ. สอ. ด้วย
     ๒.๒ อาหาร บ. Pret a Manger ประกาศปรับแผนการตลาดใหม่โดยจะทดลองเช่าพื้นที่ร้านค้าภายในซุปเปอร์มาร์เก็ต Tesco เพื่อทดสอบตลาดก่อนจำนวน ๔ แห่งในกรุงลอนดอน โดยจะเปิดกิจการแรกที่ Tesco สาขา Kensington ในเดือน มิ.ย. ศกนี้[1] นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสนใจขยายกิจการตามจุดให้บริการรถยนต์ (motorway service) ใน สอ. การให้บริการแบบสมาชิกรายเดือนในราคา ๒๐ ปอนด์ต่อเดือน (ลูกค้าสามารถสั่งกาแฟได้วันละไม่เกิน ๕ แก้ว) และการวางขายสินค้า ได้แก่ สินค้าเบเกอรีและกาแฟบดใน Tesco เป็นต้น ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ต้องปิดกิจการใน สอ. แล้วจำนวน ๗๔ แห่งและในสหรัฐฯ อีก ๒๒ แห่ง โดยเฉพาะกิจการในย่านธุรกิจ สถานีรถไฟ และสนามบินต่าง ๆ และทำให้ต้องเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง (มากกว่า ๑ ใน ๓ ของจำนวน พนง. ทั้งหมด) อย่างไรก็ดี บริษัทฯ คาดว่าหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ปชช. จะทำงานที่บ้านและที่ สนง. ควบคู่ไปด้วยกันมากขึ้น ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งปรับแผนธุรกิจให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
     ๒.๓ อสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลดัชนีราคาบ้านพักอาศัยของ Royal Institution of Chartered Surveyors (RICS) พบว่า ราคาบ้านพักอาศัยของ สอ. ในเดือน เม.ย. ๖๔ ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ โดยดัชนี house price gauge ซึ่งใช้วัดอัตราเงินเฟ้อของราคาบ้านพักอาศัย เพิ่มขึ้นที่ระดับ +๗๕ (ขึ้นจาก +๖๒ ในเดือน มี.ค.)[2] โดยมีปัจจัยจากการขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษีบ้าน (Stamp Duty) สำหรับการซื้อบ้านที่มีราคาไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์ จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. ศกนี้ [3] และการใช้มาตรการค้ำประกันการกู้ยืมเงินสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก[4] เพื่อกระตุ้น ศก. สอ. ทั้งนี้ RICS ประเมินว่า การขึ้นราคาดังกล่าวเกิดจากปริมาณอุปทานบ้านพักอาศัยที่มีขายลดลงไปมากกว่าอุปสงค์ที่มีในตลาด โดยแบบสำรวจของ RICS พบว่าผู้ต้องการประกาศขายบ้านมีจำนวนลดลง (-๔ จาก +๒๑ ในเดือน มี.ค.) ทั้งนี้ ในระยะยาวเชื่อว่า ปริมาณอุปสงค์จะปรับลดลงระดับหนึ่งหลังเดือน มิ.ย. ๖๔ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือของ รบ. สอ. จะค่อย ๆ สิ้นสุดลง แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการล็อกดาวน์น่าจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การซื้อขายและราคาบ้านพักอาศัยยังอยู่ทรงตัวในระดับสูงต่อไปในปีหน้า

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    - 
เมื่อวันที่ ๔ พ.ค. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน (Enhanced Trade Partnership) มูลค่า ๑ พันล้านปอนด์ระหว่าง สอ. – อินเดีย[5] โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานใน สอ. กว่า ๖,๕๐๐ ตำแหน่งในอนาคต ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการค้าและการลงทุนสองฝ่ายในระยะสั้นที่เดิมจะมีการประกาศในระหว่างการเยือนอินเดียของ นรม. สอ. (แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อนจากวิกฤตโควิดในอินเดีย) เพื่อยกระดับ คสพ. ทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีและสาธารณสุข เช่น การจัดตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสต่าง ๆ ของสถาบัน Serum Institute of India ใน สอ. และการส่งออกอุปกรณ์ผ่าตัดระบบหุ่นยนต์ (‘Versius’) ของ สอ. ไปยังอินเดีย และการขจัดอุปสรรคทางการค้าเพื่อเพิ่มโอกาสด้านการส่งออกอาหาร บริการ และ life sciences ของ สอ. ในอินเดียด้วย นอกจากนี้ ข้อตกลงนี้ถือเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการลงทุนระหว่าง สอ. – อินเดียอีกเท่าตัว (ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ ๒.๓ หมื่นล้านปอนด์ต่อปี) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเจรจา คตล. การค้าเสรีระหว่าง สอ. – อินเดียอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ต่อไป
     อนึ่ง สถาบัน Serum Institute of India มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ สอ. ในด้านการทดลองและผลิตวัคซีนต้านโควิด (ของ AstraZeneca) รวมทั้งอยู่ระหว่างการร่วมกันทดลองวัคซีน (แบบพ่นทางจมูกโดสเดียว) ระยะแรกใน สอ. ด้วย (โดยร่วมกับบริษัท Codagenix[6]) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมการลงทุนตั้ง สนง. ใน สอ. ของ Serum Institute มูลค่า ๒๔๐ ล้านปอนด์ด้วย

๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
     ๔.๑ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติ[7] (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๖๔ หดตัวเพียงร้อยละ ๑.๕ โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวในภาคค้าปลีกร้อยละ ๒.๑
ในเดือน มี.ค. ๖๔ ซึ่งถือเป็นการขยายตัวรายเดือนที่รวดเร็วที่สุดตั้งแต่เดือน ส.ค. ๖๓ อย่างไรก็ดี ศก. สอ. ยังมีขนาดเล็กกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงร้อยละ ๘.๗ และถือว่าขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในกลุ่ม ปท. G7 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ ๔ แต่นักวิเคราะห์มองว่า การขยายตัวในเดือน มี.ค. ดังกล่าวที่ สอ. เพิ่งเริ่มเข้าสู่การออกจากมาตรการล็อกดาวน์ขั้นแรก สะท้อนการตอบรับที่ดีของผู้บริโภคและน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่า ศก. สอ. อาจจะขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ ๕ ในช่วง เม.ย. - มิ.ย. ๖๔[8] ในขณะที่ธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England - BoE) คาดการณ์ว่า ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและมาตรการช่วยค่าจ้าง (Furlough Scheme) ที่ขยายไปถึงเดือน ก.ย. นี้ จะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นให้ ศก. สอ. โดยรวมในปีนี้ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า ๗๐ ปี โดยอาจสูงถึงร้อยละ ๗.๒๕ ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวขึ้นมาเทียบเท่ากับขนาด ศก. สอ. ในปี ๒๕๖๒ ล่าสุด BoE ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ ๐.๑ ต่อไปจนกว่า ศก. สอ. จะฟื้นตัวขึ้นอย่างคงที่[9]
    ๔.๒ จากข้อมูลการใช้บัตรเดบิต/บัตรเครดิตของ Barclaycard ซึ่งครอบคลุมประมาณร้อยละ ๕๐ ของการใช้จ่ายบัตรเดบิต/เครดิตทั้งหมดใน สอ. พบว่า มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยใน สอ. ในเดือน เม.ย. ๖๔ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดเป็นครั้งแรกในปีนี้ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๔ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ในเดือน มี.ค. ๖๔ หดตัวประมาณร้อยละ ๗.๒)[10] ซึ่งมีปัจจัยจากการออกจากล็อกดาวน์ขั้นแรกเมื่อวันที่ ๑๒ เม.ย. เป็นต้นมา โดยพบว่าการจับจ่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์/เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กลางแจ้งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๒๕ การจองห้องพัก (resorts and accommodation) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๖ และการจับจ่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -๖.๖ (จากร้อยละ -๒๙ ในเดือน มี.ค.) อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาค Hospitality โดยเฉพาะร้านอาหารพบว่ามีการจับจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ -๘๓ ในเดือน มี.ค. เป็นร้อยละ -๗๔ ในเดือน เม.ย. โดยมีปัจจัยจากสภาวะอากาศหนาวเย็นที่ไม่เอื้ออำนวยให้ ปชช. นั่งรับประทานอาหารภายนอกร้านอาหาร ทั้งนี้ ปชช. สามารถรับประทานอาหารภายในร้านอาหารต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พ.ค. ๖๔ เป็นต้นไป ตามแผนการออกจากล็อกดาวน์ขั้นที่สองของ สอ.

๕. พัฒนาการที่มีนัยสำคัญต่อไทย
    - สคต. กรุงลอนดอน ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคใน สอ. จากวิกฤตโควิดโดยอ้างอิงข้อมูลการสำรวจของ Speciality Food Magazine ซึ่งคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในระยะต่อไป ดังนี้
      ๑) การซื้อสินค้าออนไลน์และในห้างร้าน (in-store) – คาดว่าผู้บริโภคจะกลับมาซื้อสินค้าภายใน
ห้างร้านมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดการซื้อของออนไลน์จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด นอกจากนี้ คาดว่าผู้บริโภคจะเดินทางไปจับจ่ายสินค้าบ่อยขึ้นแทนการจับจ่ายสินค้าจำนวนมากรายสัปดาห์
      ๒) การซื้อสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ – พบว่า ๙ ใน ๑๐ ของผู้บริโภคใน สอ. เลือกรับประทานอาหาร
ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดการบริโภคน้ำตาล และซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมากขึ้น
      ๓) ผู้บริโภคใส่ใจกับรายละเอียดและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้า - ผู้บริโภคต้องการทราบรายละเอียดของอาหารที่บริโภค โดยเฉพาะแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตของสินค้า นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพของสัตว์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตด้วย
      ๔) ผู้บริโภคทำอาหารรับประทานที่บ้านมากขึ้น – จากการสำรวจของ บ. Nestlé พบว่า ร้อยละ ๖๕ ของผู้ที่ทำการสำรวจจะยังคงจะทำอาหารรับประทานเองที่บ้านต่อไปหลังจากวิกฤตโควิด
      ๕) Home Barista – ร้อยละ ๕๐ ของผู้ที่ทำการสำรวจจะยังคงชงกาแฟสดดื่มเองที่บ้านต่อไปด้วยถึงแม้จะไม่ได้ทำงานที่บ้านแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตโควิดพบว่ายอดขายของร้านกาแฟอิสระปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒ เนื่องจากผู้บริโภคดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับรสชาติและแหล่งผลิตในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
                         

[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-57070368
[2] https://www.reuters.com/article/us-britain-economy-houseprices/uk-house-price-gauge-hits-highest-since-1988-rics-idUKKBN2CT323?edition-redirect=uk
[3] https://www.gov.uk/guidance/stamp-duty-land-tax-temporary-reduced-rates
[4] https://www.gov.uk/government/news/new-95-mortgage-scheme-launches
[5] https://www.gov.uk/government/news/prime-minister-announces-1-billion-of-new-uk-india-trade
[6] https://codagenix.com/
[7] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpfirstquarterlyestimateuk/januarytomarch2021
[8] https://www.bbc.co.uk/news/business-57083394
[9] https://www.bbc.co.uk/news/business-57008220
[10] https://www.ft.com/content/7d5a290d-088e-4f09-aec2-401a0edbde6b
[11] https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-8823/CBP-8823.pdf
[12] https://www.theguardian.com/business/2021/may/10/post-brexit-trade-deals-mean-firms-will-miss-out-on-freeport-benefits
[13] https://www.gazettelive.co.uk/news/teesside-news/government-denies-catastrophic-blunder-freeport-20563441
[14] https://www.bbc.co.uk/news/business-57109282