สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 – 30 พ.ย. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 – 30 พ.ย. 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,317 view

๑. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ สายการบิน EasyJet สายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดใน สอ. รายงานว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุนในปี งปม. นี้ (ต.ค. ๖๒ – ก.ย. ๖๓) คิดเป็นมูลค่า ๑.๒๗ พันล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ ๒๕ ปี โดยมีสาเหตุจากการล็อกดาวน์ในช่วงครึ่งแรกของปีเป็นเวลา ๑๑ สัปดาห์ ทั้งนี้ EasyJet คาดว่าในสถานการณ์ปัจจุบันจะมีผู้ใช้บริการในไตรมาสที่ ๔ จนถึงต้นปีหน้าเพียงร้อยละ ๒๐ หากมีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนต้านโควิดน่าจะช่วยให้มีอุปสงค์การเดินทางมากขึ้นและจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจการบินทั้งหมด ซึ่งในส่วนของ EasyJet นาย Johan Lundgren หัวหน้าฝ่ายบริหารของ EasyJet ให้ข้อมูลว่า ยอดขายบัตรโดยสารของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ ๕๐ ในช่วง ๑ สัปดาห์หลังจากที่ บ. Pfizer/BioNTech ประกาศผลสำเร็จในการทดสอบวัคซีนชนิด mRNA ที่ได้ผลกว่าร้อยละ ๙๕ (ปัจจุบัน สอ. ให้การรับรองคุณภาพวัคซีนดังกล่าวแล้วและอยู่ระหว่างการผลิตเพื่อแจกจ่ายใน ปชก. กลุ่มเป้าหมายระยะแรกในเดือน ธ.ค. ๖๓) ทั้งนี้ เดิม EasyJet มีแผนเลิกจ้าง พนง. ประมาณ ๔,๕๐๐ ตำแหน่ง (รวมนักบินประมาณ ๗๐๐ คน) ในช่วงแรกของวิกฤต แต่หลังจากที่สามารถกู้เงินช่วยเหลือจาก รบ. สอ. ได้ประมาณ ๖๐๐ ล้านปอนด์เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา บริษัทได้ยกเลิกแผนเลิกจ้างดังกล่าวแล้วโดยสามารถบรรลุข้อตกลงกับ พนง. บริการบนเครื่องบินจำนวน ๑,๕๐๐ รายให้ทำงานแบบบางช่วงเวลาแทนเนื่องจากจำนวนเที่ยวบินลดลงร้อยละ ๘๐
    ๑.๒ แฟชั่น . Edinburgh Woollen Mill Group (EWM) ประกาศนำกิจการร้าน Peacocks และร้าน Jaeger เข้าสู่กระบวนการล้มละลายเนื่องจากยังไม่สามารถหาผู้เข้าซื้อกิจการทั้งสองได้ (ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาหาข้อสรุปกับผู้ที่สนใจเข้าซื้อกิจการ) ทั้งนี้ Peacocks มีกิจการทั้งหมด ๔๒๓ สาขาทั่ว สอ. และมี พนง. จำนวน ๔,๓๖๙ ตำแหน่ง ในขณะที่ Jaeger มีกิจการทั้งหมด ๗๖ สาขา และมี พนง. จำนวน ๓๔๗ ตำแหน่ง นอกจากนี้ บ. Arcadia Group ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้ายี่ห้อ Topshop, Topman, Miss Selfridge, Dorothy Perkins และ Evans and Burton (มี พนง. รวม ๑๓,๐๐๐ คน) กำลังประสบปัญหาขาดทุนสะสมและอยู่ระหว่างการเข้ากระบวนการล้มละลาย ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนว่าสินค้าแฟชั่นใน สอ. ได้รับความนิยมลดลงมากอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตโดยเฉพาะการเลือกซื้อจากห้างร้านโดยตรงและการขาดหายไปของ นทท. ต่างชาติใน สอ.

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๒.๑ ด้านการค้า รปท. หลัง Brexit เมื่อวันที่ ๒๑ พ.ย. ๖๓ ก. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade “ DIT) ประกาศความสำเร็จของ สอ. ในการบรรลุข้อตกลงกับแคนาดาเพื่อคง คสพ. ทางการค้าระหว่างกันภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับ คตล. ทางการค้า Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ระหว่างแคนาดากับ EU ต่อไปหลังสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่านของ Brexit ในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ศกนี้ โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเจรจากันเพิ่มเติมในปีหน้าเพื่อจัดทำ คตล. การค้าแบบทวิภาคีที่ส่งเสริมผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายเป็นการเฉพาะมากขึ้น เช่น ในด้านดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ การคงเงื่อนไขการค้าดังกล่าวต่อไปมีผลให้ภาษีนำเข้าสินเข้าจาก สอ. ไปยังแคนาดาประมาณร้อยละ ๙๘ เป็นศูนย์ จึงคาดว่าจะช่วยลดภาษีนำเข้าได้มูลค่าประมาณ ๔๒ ล้านปอนด์ต่อปี ที่ผ่านมา สอ. ส่งออกสินค้าและบริการไปยังแคนาดาคิดเป็นมูลค่า ๑.๑๔ หมื่นล้านปอนด์ต่อปี โดยธุรกิจ สอ. ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสถิติการส่งออกปี ๖๒ ระบุว่า สอ. ส่งออกรถยนต์ และผลิตภัณฑ์อาหาร (agri-food goods) ไปยังแคนาดาคิดเป็นมูลค่า ๗๕๗ ล้านปอนด์ และ ๓๔๔ ล้านปอนด์ตามลำดับ[1]
    อนึ่ง ปัจจุบัน สอ. ได้ลงนาม FTA กับ ปท. ต่าง ๆ ไปแล้ว ๒๓ ฉบับ (รวมทั้งญี่ปุ่นที่ลงนามเมื่อวันที่ ๒๒ ต.ค. ๖๓ ซึ่งใน คตล. FTA สอ. – ญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นได้ประโยชน์ด้านการส่งออกและการลงทุนในด้านยานยนต์ใน สอ. ในขณะที่ สอ. ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดเนื้อวัว/เนื้อหมู/เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ของญี่ปุ่น ซึ่งมีรายละเอียดเปิดกว้างสำหรับภาคการบริการมากกว่า คตล. การค้าญี่ปุ่น - EU) และอยู่ระหว่างการเจรจากับ ปท. คู่ค้าในกลุ่มแรกอีก ๑๖ ฉบับ (อาทิ สรอ. อต. นซ. สป. วน.) ซึ่งยังไม่มี ปทท. รวมอยู่ด้วย
    ๒.๒ ด้านการคลังของ สอ. เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย. ๖๓ นาย Rishi Sunak รมว. กค. แถลงต่อสภาสามัญถึงแผน งปม. ฉุกเฉินประจำปี ๒๕๖๔ มูลค่า ๕.๕ หมื่นล้านปอนด์เพื่อฟื้นฟู ศก. สอ. จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-๑๙ โดยจะมุ่งเน้นการช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และควบคุมอัตราการว่างงาน ซึ่งมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
    - มาตการควบคุมอัตราการว่างงาน เช่น การขยายมาตรการช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) มาตรการช่วยหางานและเพิ่มทักษะให้แก่ผู้ที่ว่างงานนานกว่า ๑ ปี (Restart Scheme) และมาตรการสนับสนุนการจ้างงานผู้ที่มีอายุ ๑๖ - ๒๔ ปี ออกไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. ๖๔ เป็นต้น
    - การเพิ่ม งปม. ด้านกลาโหมมูลค่า ๑.๖๕ หมื่นล้านปอนด์ในช่วง ๔ ปีต่อจากนี้ โดยมุ่งเน้นการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Artificial Intelligence (AI) อวกาศ และการป้องกันการก่ออาชญากรรมออนไลน์ รวมทั้งการก่อการร้ายซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการจ้างงานในช่วง ๔ ปีได้มากถึง ๔๐,๐๐๐ ตำแหน่ง
    - การเพิ่มเงินสนับสนุนด้านสาธารณสุขจำนวน ๖ พันล้านปอนด์ และเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ NHS อีก ๓ พันล้านปอนด์ เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ และใช้ งปม. มูลค่า ๑.๘ หมื่นล้านปอนด์สำหรับการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิค-๑๙ อุปกรณ์ PPE และวัคซีนต้านโควิค-๑๙ เป็นต้น
    - การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับบุคคลที่มีอายุ ๒๓ ปีขึ้นไปร้อยละ ๒.๒ จาก ๘.๗๒ ปอนด์ มาอยู่ที่ ๘.๙๑ ปอนด์ต่อ ชม.
    - เพื่อควบคุมวินัยการคลัง แผน งปม. ดังกล่าวกำหนดให้ระงับการปรับขึ้นเงินเดือน จนท. ของภาครัฐ (ประมาณ ๑.๓ ล้านคน) ชั่วคราวในปี ๖๔ อย่างไรก็ดี จนท. ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า ๒๔,๐๐๐ ปอนด์ต่อปี และ จนท. บางส่วนของ NHS จะยังได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตราอย่างน้อย ๒๕๐ ปอนด์ต่อปี รวมทั้งปรับลดวงเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา รปท. (aid budget) จำนวนอย่างน้อย ๔ พันล้านปอนด์ทำให้สัดส่วนเงินช่วยเหลือ ตปท. ต่อรายได้ของ ปท. ลดลงจากร้อยละ ๐.๗ เป็น ๐.๕ ชั่วคราว โดยจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาความเท่าเทียมในแคว้นอื่น ๆ ของ สอ. (leveling up) แทน
    อนึ่ง รบ. สอ. ได้กู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้น ศก. และควบคุมอัตราการว่างงานต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาแล้วกว่า ๓ แสนล้านปอนด์ จากการประเมินของ Office for Budget Responsibility (OBR) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในการประเมินวินัยการคลังของ สอ. คาดว่า หนี้สาธารณะของ สอ. ประจำปี งปม. ๖๓ โดยรวมจะมีจำนวนสูงถึง ๓.๙ แสนล้านปอนด์ หรือเกินร้อยละ ๑๐๐ ของ GDP ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ ๖๐ ปีที่ผ่านมาและอาจต้องใช้การตัดงบ/ลดรายจ่ายหรือเพิ่มภาษีมูลค่าประมาณ ๒-๓ หมื่นล้านปอนด์ต่อปีในช่วง ๔ ปีข้างหน้าเพื่อไม่ให้ยอดหนี้สาธารณะสะสมสูงขึ้นอีก [2]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๓.๑ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office for Nationals Statistics – ONS) รายงานว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ ๖ โดยยอดขายในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๒ เนื่องจาก ปชช. วางแผนในการจับจ่ายสินค้าสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและกักตุนสินค้าจำเป็นบางประเภทล่วงหน้าก่อนการล็อกดาวน์ในเดือน พ.ย. โดยยอดขายออนไลน์ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่าร้อยละ ๖๐ ของยอดขายรวมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ในช่วงปลายปีนี้ยอดขายในภาคค้าปลีกยังจะยังอยู่ในระดับดีต่อไปแม้จะมีการล็อกดาวน์รอบที่ ๒ เนื่องจากกำลังซื้อภายใน ปท.ได้รับการกระตุ้นโดยมาตรการ Furlough Scheme กอปรกับเป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายประจำปี
    ๓.๒ จากผลการล็อกดาวน์รอบที่สอง OBR คาดว่า GDP ของ สอ. โดยรวมในปีนี้จะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ ๑๑.๓ ซึ่งถือว่าปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ ๓๐๐ ปี นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของ สอ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๗.๕ (ประมาณ ๒.๖ ล้านคน) ในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๖๔ ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการ Furlough Scheme ในเดือน มี.ค. ๖๔ (ปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ ๔.๘) และหาก สอ. และ EU ไม่สามารถบรรลุ คตล. ทางการค้าร่วมกันได้ จะทำให้ ศก. สอ. ปี ๖๔  หดตัวลงจากเดิมอีกอย่างน้อยละร้อยละ ๒ และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๘.๓ โดย ศก. จะฟื้นตัวเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ๖๖

. ความคืบหน้าเรื่อง Brexit
    ๔.๑ ในสัปดาห์นี้คณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งที่กรุงลอนดอนหลังจากที่หยุดชะงักไปในกลางสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากมีสมาชิกในทีมเจรจาของฝ่าย EU ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-๑๙ โดยทั้งสองฝ่ายมีท่าทีมุ่งเน้นไปที่การหาข้อสรุปในประเด็นสิทธิทำการประมงในน่านน้ำ สอ. และกฎระเบียบการแข่งขันทางการค้าเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ดูจะมีความคืบหน้าในประเด็นหลังเท่านั้น แต่ยังมีความแตกต่างกันมากในประเด็นสิทธิทำการประมงในน่านน้ำ สอ. ทั้งนี้ หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อสรุปได้ภายในสัปดาห์ที่สองของเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นกำหนดจัดการประชุมสภายุโรป (วันที่ ๑๐ - ๑๑ ธ.ค.) อาจทำให้แนวโน้มของ No-deal Brexit ยิ่งเด่นชัดขึ้น
    อนึ่ง บ. KPMG ได้ประเมินอัตราการขยายตัวทาง ศก. สอ. ในปี ๖๔ หลังพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านของ Brexit โดยแบ่งเป็น ๓ กรณี ดังนี้

ภายใต้ คตล. ทางการค้า
รูปแบบเดิม

ภายใต้ คตล. ทางการค้ารูปแบบใหม่
ที่มีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น

No-deal Brexit
ภายใต้ WTO

ศก. สอ. ขยายตัว
ร้อยละ ๑๐.๑

ศก. สอ. ขยายตัว
ร้อยละ ๗.๒

ศก. สอ. ขยายตัว
ร้อยละ ๔.๔

    ทั้งนี้ KPMG มองว่าผลสำเร็จของการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-๑๙ จะเป็นปัจจัยกำหนดความเร็วในการฟื้นตัวของ ศก. สอ. และ ศก. โลกให้เติบโตได้อีกครั้ง โดยเฉพาะกรณีของ สอ. หากเป็น No-deal Brexit จะทำให้ ศก. สอ. ฟื้นตัวกลับสู่สภาวะก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่ม OECD ถึง ๒ ปี (ภายในปี ๖๖) และหากมี คตล. ทางการค้ากับ EU จะทำให้ ศก. สอ. ฟื้นตัวกลับ สู่สภาวะ ก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ได้ภายในปี ๖๕ [3]
    ๔.๒ สอ. พร้อมที่จะใช้มาตรการคนเข้าเมืองแบบใหม่หลังพ้นกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน Brexit ตั้งวันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นไปแล้วหลัง กม. ตรวจคนเข้าเมืองใหม่ (Immigration Act 2020) มีผลเป็น กม. สมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของคนภายใต้ EU จะสิ้นสุดลงและ สอ. ใช้การคัดกรองคนเข้าเมืองตามทักษะจำเป็นและความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก (คล้ายกับของออสเตรเลีย) โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาหางานทำและพำนักระยะยาวใน สอ. (สำหรับ นทท. จากชาติ EU EEA และชาวสวิส จะได้รับยกเว้นวีซ่าเพื่อพำนักระยะสั้นไม่เกิน ๖ เดือนต่อปี) [4]

. ผลกระทบต่อไทย
    ๕.๑ ปัจจัยจากวิกฤตโควิด-๑๙ และแนวโน้มการเกิด No-deal Brexit ทำให้เกิดการกักตุนสินค้าล่วงหน้าก่อนการสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่านของ Brexit มากขึ้นและได้เริ่มส่งผลกระทบต่อท่าเรือสำคัญใน สอ. โดยพบว่า ท่าเรือบางแห่งไม่สามารถจัดการกับกระบวนการนำเข้าสินค้าได้ทันจากปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว นอกจากนี้ บริษัทขนส่งทางเรือบางรายยังเรียกเก็บค่าระวางและค่าบริการในราคาสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยใน สอ. และในไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับความล่าช้าจากการขนส่งสินค้าในช่วงเดือน ธ.ค. ๖๓ ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี ๖๔ กอปรกับควรเร่งศึกษาข้อมูลด้านการขนส่งและระเบียบพิธีการศุลกากรในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านหลังวันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ เพื่อให้การขนส่งสินค้าเข้า สอ. เป็นไปตามกำหนด
    ๕.๒ การใช้มาตรการตรวจคนเข้าเมืองแบบใหม่ของ สอ. โดยรวมมิได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวใน สอ. ของคนไทยมากนักเนื่องจากยังต้องมีการขอรับการตรวจลงตราและการเก็บข้อมูลชีวภาพเช่นเดิม แต่ในส่วนของการเข้ามาทำงานจะมีอุปสรรคมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไทยทั่วไปในภาคการบริการและธุรกิจร้านอาหารที่ สอ. จะพยายามส่งเสริมให้จ้างงานคนใน สอ. ก่อนและให้ความสำคัญกับทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ต้องพูดสื่อสารได้ รวมทั้งต้องมีคุณวุฒิการศึกษาอย่างน้อยต้องเทียบเท่า A Level ของ สอ. และมีเงินเดือนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ๒๐,๔๘๐ ปอนด์ต่อปี สำหรับ นศ. ไทยที่จบการศึกษาระดับ ป.ตรี/ป. โท ใน สอ. ตาม กม. ใหม่นี้จะสามารถอยู่ทำงานต่อได้ไม่เกิน ๒ ปี และ ๓ ปีสำหรับ ป. เอก จากเดิมที่ไม่อนุญาตให้อยู่ต่อเพื่อทำงานได้ (ซึ่งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาของ สอ.) 

 

[1] https://www.gov.uk/government/news/immigration-act-receives-royal-assent-free-movement-to-end-on-31-december-2020
[2] https://www.theguardian.com/business/2020/nov/18/failure-to-seal-post-brexit-deal-would-more-than-halve-uk-growth-says-kpmg
[3] https://www.gov.uk/government/news/uk-secures-vital-rollover-trade-deal-with-canada-and-agrees-to-start-negotiating-more-advanced-deal-next-year
[4] https://obr.uk/efo/economic-and-fiscal-outlook-november-2020/