วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ส.ค. 2567

| 1,366 view

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์กันมากว่า ๔๐๐ ปี โดยปรากฏหลักฐานการติดต่อกันเป็นครั้งแรกตามที่บริษัทอีสต์ อินเดีย (East Indian Company) ของอังกฤษได้เดินทางมาที่ประเทศสยามเมื่อปี ๒๑๕๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ (King James I)

สำหรับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการนั้นเกิดขึ้นในปี ๒๓๙๘ เมื่อครั้งที่มีการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับราชอาณาจักรสยาม (Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam) หรือที่เป็นรู้จักกันในนามสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๓๙๘ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria)

จากนั้นสหราชอาณาจักรได้จัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในประเทศไทย (สยาม) เมื่อปี ๒๓๙๙ และในปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เชิญ พระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ที่ปราสาทวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๐๐ ถือเป็นราชทูตไทยแห่งสหราชอาณาจักรคนแรก จากนั้น ฝ่ายไทยได้จัดตั้งสถานราชทูตสยาม (Siamese Legation) แห่งแรกที่กรุงลอนดอน เมื่อปี ๒๔๒๕ โดยมีหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย ทรงดำรงตำแหน่งราชทูต

ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรในภาพรวมดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ลงมา

สำหรับกลไกในการดำเนินความสัมพันธ์ ปัจจุบัน ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรมี “การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร” (Thailand - United Kingdom Strategic Dialogue) เพื่อหารือประเด็นทวิภาคี ภูมิภาค รวมถึงประเด็นระดับโลกที่สองฝ่ายสนใจร่วมกัน โดยมีหัวหน้าคณะผู้แทนในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ/ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ การหารือครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่กรุงเทพฯ ส่วนการหารือครั้งล่าสุดเป็นการหารือฯ ครั้งที่ ๔ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่กรุงลอนดอน โดยมีนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและ Dame Amanda Milling รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านเอเชีย) เป็นประธานร่วมของการหารือฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย – สหราชอาณาจักรเพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการสร้างเครือข่ายรัฐสภาระหว่างกัน

ในด้านความมั่นคง มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยนอกจากความร่วมมือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทหารชองไทย ทั้งสองประเทศยังมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ทั้งในประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบเดิม ความร่วมมือด้านกิจการทางทะเล และความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และการร่วมมือกันในรูปแบบการฝึกปฏิบัติการผสมทางทหารในนาม ‘Panther Gold’ และการฝึก ‘Cobra Gold’ (ซึ่งเป็นการฝึกแบบพหุภาคีที่มีประเทศเข้าร่วมและสังเกตการณ์จำนวนมาก ถือเป็นการฝึกร่วมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย) และเมื่อปี ๒๕๖๕ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ (MoU on Defence Cooperation) เพื่อเป็นกรอบในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันต่อไป ทั้งในด้านการฝึกร่วม การหารือทวิภาคี และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ

นอกจากความร่วมมือในระดับทวิภาคีแล้ว ไทยกับสหราชอาณาจักรยังมีความร่วมมือในระดับภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมืออาเซียน ตามที่สหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมเป็น Dialogue Partner ของอาเซียนเมื่อปี ๒๕๖๔ และมีความร่วมมือในระดับพหุภาคี ทั้งในกรอบสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศและเวทีการเจรจาหารือในกรอบพหุภาคีอื่น ๆ

สำหรับพัฒนาการล่าสุด ไทยและสหราชอาณาจักรประกาศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเอกสารแผนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร (Thailand-UK Strategic Partnership Roadmap) ซึ่งเป็นแผนแม่บทของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การเกษตร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึงการท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรม ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศในขณะนั้น (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร และ Lord Cameron of Chipping Norton) เป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๗ เมื่อครั้งที่ Lord Cameron ได้ไปเยือนไทยในวันเดียวกัน การยกระดับความสัมพันธ์ไทย-สหราชอาณาจักรเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ถือเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งจะครบรอบ ๑๗๐ ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี ๒๕๖๘