สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในไอร์แลนด์ ในช่วงวันที่ 1 - 15 ม.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในไอร์แลนด์ ในช่วงวันที่ 1 - 15 ม.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,903 view

๑. ภาพรวม/ทิศทางเศรษฐกิจไอร์แลนด์

    ๑.๑ ภาพรวม นักวิเคราะห์มีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไอร์แลนด์จะปรับตัวในทิศทางบวก
จากสถิติสถาบันวิจัย ศก. และสังคมไอร์แลนด์ (Economic & Social Research Institute) ตัวเลข GDP ปี ๒๕๖๓ไอร์แลนด์ปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ ๓.๔ (สูงกว่าที่ประเมินว่าคือร้อยละ ๒.๓) และในปี ๖๔ ประมาณการณ์ว่า GDP จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ ๔.๙[1]

   ๑.๒ ความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกของไอร์แลนด์ขับเคลื่อนการฟื้นตัวทาง ศก. แม้ว่าไอร์แลนด์ (เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป) จะยังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 และต้องบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ทั่ว ปท. ซึ่งกระทบภาคธุรกิจค้าปลีก ภาคบริการและการท่องเที่ยวอย่างยิ่ง แต่ไอร์แลนด์ยังมีภาคการส่งออกที่เข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจรุดหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์การแพทย์ และคอมพิวเตอร์ ล้วนเป็นสินค้าที่โดดเด่นและตอบรับอุปสงค์ตลาดโลกในยุคปกติใหม่[2] (ในอุตสาหกรรมยา ไอร์แลนด์จัดเป็นเป็นผู้ส่งออกยาอันดับ ๓ ของโลก โดยมีการลงทุนหลักจาก GlaxoSmithKline และ Pfizer)

  ๑.๓ เม็ดเงินจากการลงทุนจากต่างประเทศยังคงเป็นกลจักรที่สำคัญต่อการขยายตัวทาง ศก.
แม้ไอร์แลนด์จะมีเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่เม็ดเงินจากการลงทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนประกอบสำคัญในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของการจ้างงานในภาคเอกชน หรือประมาณ ๒๔๕,๐๐๐ ตำแหน่ง) โดยจากสถิติ Organisation for Economic Cooperation and Development (OECD) ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการลงทุนจาก ตปท. สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี ๖๓ มีมูลค่า ๗.๕ หมื่นล้านยูโร (สูงกว่าจีน (๖.๘ หมื่นล้าน
ยูโร และสหรัฐฯ (๖.๒ หมื่นล้านยูโรป)) ทั้งนี้ ไอร์แลนด์เป็นจุดหมายการลงทุนสำคัญบริษัทระดับโลก อาทิ Apple, Google, Facebook และ Microsoft จากจุดแข็งด้านแรงงานทักษะ การใช้ภาษาอังกฤษ การเป็นสะพานเชื่อมโยงไปยัง EU และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนิติบุคคลที่ต่ำ (อัตราร้อยละ ๑๒.๕)

       นอกจากนั้น ภาคเอกชนไอร์แลนด์ยังมีความเชื่อมั่นว่า การเข้ารับตำแหน่งของ ปธน. Joe Biden และการที่ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ มีเชื้อสายไอริชจะกระตุ้นพลวัตการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจและการลงทุนในทางที่เป็นคุณต่อไอร์แลนด์ยิ่งขึ้น

    ๑.๔ ภาวะการว่างงาน ภาคส่วนต่าง ๆ ต่างกังวลถึงสภาวะการว่างงานสะสมในไอร์แลนด์ ซึ่งสูงถึงร้อยละ ๒๐ ในไตรมาสสุดท้ายของปี ๖๓ (เทียบกับร้อยละ ๔.๘ ช่วง ก.พ. ๖๓ ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19)[3] และประมาณการณ์ว่าจะยังอยู่ในระดับร้อยละ ๑๐ ในปี ๖๔ โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวเปราะบางที่สุดและอาจประสบภาวะว่างเงินอีก ๑๖๐,๐๐๐ ตำแหน่งในปีนี้

๒. ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

    ๒.๑ ภาพรวม รบ. ไอร์แลนด์บังคับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในระดับที่ ๕ (ซึ่งเทียบเท่า

การล็อคดาวน์) มาตั้งแต่ช่วงเทศกาลคริสมาสต์ ซึ่งปิดสถานศึกษา ร้านค้าปลีก และธุรกิจการบริการทุกประเภท รวมทั้งเพิ่มมาตรการการเดินทาง รปท. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ภาคการท่องเที่ยว และการบินของไอร์แลนด์ (ซึ่งมีการจ้างงานสูงถึง ๒๖๐,๐๐๐ ตำแหน่ง) ได้รับผลกระทบต่อธุรกิจรุนแรงที่สุดโดยสูญเสียรายได้กว่า ๖ หมื่นล้านยูโร ที่ผ่านมา รบ. ไอร์แลนด์ได้จัดสรร งปม. ภาครัฐจำนวนมหาศาลในรูปเงินช่วยเหลือภาคธุรกิจแบบให้เปล่าเพื่อพยุงความอยู่รอดทางธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งปิดกิจการ
ไปเป็นจำนวนมาก

    ๒.๒ โครงการ “Tourism Business Continuity Scheme” ล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค. ๖๓
นาง Catherine Martin รมว.กิจการท่องเที่ยวไอร์แลนด์ ได้ประกาศโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งจะอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวของไอร์แลนด์ โดยภาคธุรกิจที่สูญเสียรายได้เกินร้อยละ ๒๕ สามารถขอรับเงินช่วยเหลือจาก รบ. ได้มูลค่าระหว่าง ๓,๗๕๐-๒๐๐,๐๐๐ ยูโร[1] โดยจะเริ่มเปิดให้ภาคธุรกิจเปิดขอรับเงินช่วยเหลือดังกล่าวในวันที่ ๑๑ ก.พ. นี้เป็นต้นไป

    ๒.๓ ภาคธุรกิจการบิน ยังประสบภาวะขาดทุนเรื้อรังครั้งรุนแรง โดย Ryan Air ระบุว่า สำหรับปีงปม. ๒๐๒๐ ภาวะขาดทุนสูงถึง ๘๕๐-๙๕๐ ล้านยูโร และในไตรมาสแรกของปี ๖๔ ซึ่งมีการปรับมาตรการเดินทาง รปท. ให้เข้มงวดขึ้นอีก ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอีกถึงร้อยละ ๗๘ และขาดทุนถึง ๓๐๖ ล้านยูโรปแล้ว โดยธุรกิจการบินส่วนใหญ่มองว่า ภาวะขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการชะลอการเดินทาง รปท. เกิดจากความล่าช้าในการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ให้กับ ปชก. ซึ่ง รบ.ควรเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด[2]

    ๒.๔ ภาวะหนี้เสียในระบบการเงินไอร์แลนด์เพิ่มสูงขึ้น การขยายมาตรการล็อคดาวน์ระดับประเทศของไอร์แลนด์ไปจนถึงเดือน มี.ค. ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไอร์แลนด์แสดงความกังวลต่อภาวะหนี้เสียในระบบการเงินไอร์แลนด์ที่จะพอกพูนขึ้นอีก โดยธนาคารหลักของรัฐทั้ง ๕ รวมถึง Permanent TSB, Ulster Bank และ KBC Bank Ireland ได้เตรียมเงินชั่วคราวไว้รวมเป็นจำนวน ๒.๖ พันล้านยูโรในครึ่งแรกของปี ๖๔ เพื่อรับหนี้เสียจากวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เรื้อรัง เนื่องจากในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ ๗.๗ ของลูกหนี้ยังไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้แม้จะมีการผ่อนผันกำหนดชำระหนี้แล้วก็ตาม

    ๒.๕ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และปรับตัวได้เป็นอย่างดี โดยจากผลสำรวจของ The Society of Chartered Surveyors Ireland (SCSI) ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ในไอร์แลนด์กว่าร้อยละ ๖๖ มีความเชื่อมั่นว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไอร์แลนด์จะขยายตัวต่อเนื่องในปี ๖๔ เนื่องจากความต้องการซื้อเคหสถานของชาวไอริชเพิ่มสูงขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ขณะที่อุปทานในไอร์แลนด์มีจำกัดประเมินว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ร้อยละ ๓ (ในกรุงดับลิน) และสูงถึงร้อยละ ๖ ในเขตที่พักอาศัยที่เป็นที่นิยม เช่น Connacht และ Ulster[3]

๓. ผลกระทบของ Brexit ต่อไอร์แลนด์

    ๓.๑ อุปสรรคการขนส่งสินค้าระหว่างไอร์แลนด์-สอ. หนึ่งเดือนนับแต่ สอ. ออกจาก EU (Brexit) โดยสมบูรณ์ตั้งแต่ ๑ ม.ค. ๖๔ หลายฝ่ายในไอร์แลนด์แสดงความกังวลต่อความขลุกขลักในการเคลื่อนย้ายสินค้าช่วงรอยต่อพรมแดนระหว่าง สอ.-ไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญเข้าสู่ EU ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ สอ. และไอร์แลนด์ยังคงอยู่ในช่วง “grace period” แต่ขั้นตอนด้านเอกสารและมาตรการด้านศุลกากรเริ่มบังคับใช้แล้ว โดยที่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับหรือมีความเข้าใจเพียงพอทำให้การขนส่งสินค้าเกิดปัญหาติดขัดและล่าช้าเป็นจำนวนมาก ในช่วง ม.ค. ๖๔ จำนวนสินค้าที่ขนส่งจาก สอ.เข้าไอร์แลนด์ลดลงถึงร้อยละ ๕๐[4] หรือผู้ซื้อสินค้าบางรายเกิดปัญหาจากการบริการจัดส่งสินค้าจากบริษัทของ สอ. ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบางรายจะต้องหาวิธีการจัดส่งด้วยตนเอง และจ่ายค่าจัดส่งเพิ่มเติมเอง[5]

     ๓.๒ แนวโน้มการขนส่งจากไอร์แลนด์ตรงไปภาคพื้นยุโรปโดยตรง ความตระหนกจากความไม่แน่นอน ขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยากมากขึ้น และความขลุกขลักในช่วงเปลี่ยนผ่านของ Brexit ส่งผลให้ความต้องการในการเคลื่อนย้ายสินค้าจากไอร์แลนด์ไปยังภาคพื้นยุโรปโดยตรง (โดยไม่ผ่าน สอ.) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๐๐ โดยมีรายงานว่าท่าเรือ Rossalare Europort ของไอร์แลนด์ มีความหนาแน่นของการจราจรเส้นทางเชื่อมโยงภูมิภาคยุโรปสูงขึ้นถึงร้อยละ ๔๕ ในช่วง ม.ค. ๖๔ โดยเปรียบเทียบกับการจราจรของ สอ. ซึ่งลดลงร้อยละ ๔๙ ทั้งนี้ บริษัทขนส่งสินค้าจำนวนมากให้ความสนใจบริการขนส่งสินค้าเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างไอร์แลนด์กับฝรั่งเศส (เส้นทาง Rossalare-Dunkirk-Cherbourg) ซึ่งหลีกเลี่ยงเส้นทางขนส่งทางบกผ่าน สอ. และขั้นตอนที่ยุ่งยาก นอกจากนี้ ท่าเรือ Rossalare ยังเพิ่มการเดินทางไปยังเส้นทางอื่นๆ ในยุโรปเป็น ๓๐ เที่ยว/สัปดาห์ (จากเดิม ๕ เที่ยว/สัปดาห์) และมีแผนการลงทุนเพื่อมูลค่า ๓๕ ล้านยูโร[1] เพื่อขยายการให้บริการและสาธารณูปโภคให้ทันสมัยและครบวงจรยิ่งขึ้น

 

[1] https://www.rte.ie/news/business/2021/0131/1194166-rosslare-freight/

[1] https://www.rte.ie/news/business/2021/0201/1194197-tourism-fund/

[2] https://www.rte.ie/news/business/2021/0201/1194221-ryanair-quarterly-results/

[3] https://www.irishtimes.com/business/economy/irish-house-prices-forecast-to-rise-by-4-as-supply-struggles-to-meet-demand-

[4] https://www.rte.ie/news/business/2021/0201/1194220-brexit-freight-ireland-britain/

[5] https://www.ft.com/content/5d100427-cc85-4b78-ae65-580a450ac503